Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

18.45 น. หน้าห้างมาบุญครอง ขณะที่กำลังเรียบเรียงเหตุการณ์ที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ปราศรัยวงย่อยและวาดรูปให้กับผู้ชุมนุมรายหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิดปีที่ 31 ที่จะมาถึงในวันที่ 19 ต.ค. (ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลง HBD ด้วย น่ารักดี ระหว่างนั้นฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่พร้อมกับมวลชนที่วิ่งกรูแตกตื่นมาจากแยกปทุมวัน 

ผมวิ่งสวนเข้าไปพลางหยิบหมวกนิรภัยจากกระเป๋ามาสวม เดินเข้าไปก็ถามคนไปเรื่อยก็ไม่ได้ความอะไร จนกระทั่งถึงแยกปทุมวันที่ยังมีมวลชนกับสื่อปักหลักกันอยู่ ถามสื่อกับคุณป้าตรงนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แกนนำที่อยู่บนรถเครื่องเสียงคันน้อยๆ พยายามตะโกนให้กลับมารวมกัน เน้นย้ำเรื่องการฟังการสื่อสารจากรถเครื่องเสียง แต่แถวหลังไม่ได้ยินหรอก ไปเดินตรงนั้นมาก็ไม่ได้ยิน หลังจากนั้นราว 2 นาที มวลชนก็วิ่งกรูมาจากฝั่ง BTS สยาม มีคนตะโกนว่าตำรวจจะใช้รถฉีดน้ำสลายการชุมนุม

ผมวิ่งสวนไปอีก ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมคนหนึ่ง สวมเสื้อกันฝนวิ่งตามมา ตะโกนว่า "เป็นกำแพงเหรอ เอาสิวะ" พอวิ่งเข้าไปใกล้สถานีรถไฟฟ้าก็เห็นแนวตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเต็มยศ ทั้งโล่ (ส่วนมากเห็นแปะตัวอักษร ตชด. ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนมากก็เป็น ตชด.) หมวก สนับแข้ง (ตอนอยู่ราชประสงค์เห็นมีเกราะอ่อน) กระบอง ประจำอยู่น่าจะหนึ่งกองร้อยได้ มองไม่เห็นชัด ด้านหลังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงจอดอยู่หนึ่งคัน 

ผู้ชุมนุมพากันตั้งแนวป้องกันจากอะไรที่หาได้จากตรงนั้น เท่าที่เห็นมีรั้วเหล็กกับร่ม เครื่องแต่งกายก็แน่นอน เสื้อลำลอง อย่างมากหมวกกันน็อก เสื้อกันฝน มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง อายุก็หลากหลาย หลายคนหน้ายังละอ่อน หลังๆ ตอนปะทะเห็นหลวงพี่แครอทหนึ่งรูปด้วย ไม่รู้มาตั้งแต่เมื่อไหร่

"เหลือเวลา 2 นาที" คือเสียงจากเครื่องขยายเสียงของตำรวจ จากที่ถามคนแถวนั้นพบว่าตำรวจให้เวลา 3 นาทีให้ผู้ชุมนุมล่าถอยจากพื้นที่ตรงนั้น เพื่อให้ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ ระหว่างนั้นตำรวจก็พูดเกลี้ยกล่อม อนาคตยังอีกไกลบ้าง ให้นึกถึงพ่อแม่บ้าง "นี่เป็นความรัก ความห่วงใยจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ" อันนี้จำได้เลย 

ระหว่างนั้นนักข่าว ช่างภาพ ใครก็ตามที่หวังถ่ายรูปด้านหน้าก็วิ่งเข้าไประหว่างสองแนว บางคนไลฟ์และถ่ายภาพอยู่บนบันไดรถไฟฟ้าและฟุตบาธซึ่งมีแผงเหล็กกั้นระหว่างมันกับถนนเอาไว้

"เหลือเวลา 1 นาที" ผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีล่าถอย ตั้งแนวป้องกัน บางคนห้าวเต็มที่ ยืนท้าทายตำรวจ ไม่รู้กี่คนตรงนั้นที่โดนจับไปทีหลัง เวลานับถอยหลังไปเรื่อยๆ จนถึงเลข 0 รถฉีดน้ำเริ่มทำงาน ฉีดเป็น 3 มุมตามลำดับ มุมแรกฉีดสูงใส่แพลตฟอร์ม BTS ให้ละอองน้ำกระเซ็นใส่ผู้ชุมนุม ทางผู้ชุมนุมตรงแนวป้องกันไม่มีท่าทีล่าถอย มุมสองยิงให้ไปตกด้านหลังผู้ชุมนุม และมุมที่ 3 ฉีดเข้าตรงแนวป้องกันของผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมกำลังเจอเรื่องที่พวกเขาจะไม่เจอในเทศกาลสงกรานต์และในชีวิตทั่วไปของพลเรือน...ถ้าการเมืองดี

ตำรวจเริ่มขยับเข้าใกล้แนวป้องกันของผู้ชุมนุม ระหว่างเดินเข้าไปก็เอามือทุบโล่สร้างเสียงเป็นนัยทำลายขวัญกำลังใจ จากนั้นไม่นานก็ปะทะกัน มีการดันโล่ ทางผู้ชุมนุมขว้างปาขวดน้ำใส่ด้านหลังตำรวจ (พี่นักข่าวที่รู้จักนับได้ 3 ขวด) ถ้าดูจากวัตถุขว้างกับอุปกรณ์ป้องกันที่ตำรวจมีก็ไม่น่าเจ็บคัน ปะทะไปรถก็มียิงไป แนวป้องกันของผู้ชุมนุมถอยร่น สักพักการปะทะหยุดลง สื่อ ช่างภาพวิ่งลงไปเหมือนเดิม

รถฉีดน้ำแรงดันสูงคันที่ 2 มาถึง การปะทะดำเนินต่อไป เห็นลุงเสื้อดำคนนึงพยายามดันโล่ตำรวจตลอดเวลา มารู้ทีหลังว่าเขาคือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ซึ่งปกติเขาจะใส่เสื้อแดงไปชุมนุม วันนี้ใส่เสื้อดำ (เคยเขียนข่าวและต้องคุยกับเขา แต่ตอนนั้นจำไม่ได้เลย) เห็นหลวงพี่แครอทด้วยตรงแนวปะทะ หลวงพี่มีท่าทีสุขุม เคลื่อนไหวไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับมูฟเมนท์การปะทะที่ดำเนินไป 

จากนั้นเริ่มมีการใช้น้ำสีน้ำเงินที่ จนท. บอกเอาไว้ติดตามตัวเพื่อจับกุม (จำไม่ได้ว่าใช้ตั้งแต่คันแรกเลยไหม) จากนั้นรถคันที่ 3 เข้ามา รถ 3 คันปิดพื้นที่ถนนพระราม 1 ได้พอดี ผมย้ายฝั่งมาอยู่หน้าสยามเซ็นฯ เก็บภาพและวิดีโอสักพักก็ถูกเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงยิง (วินาทีที่ 13) ครั้งแรกยิงเข้ากลางลำตัว เจ็บเหมือนโดนต่อย เหมือนเวลาเราใช้สายฉีดตูดที่แรงมากๆ ล้างตูดโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว 

พอโดนน้ำก็แสบตา แสบผิวหนังไปหมด น้ำตาไหล ไอ ด้วยความตกใจและจุก ผมหันหลังที่สะพายกระเป๋าอยู่ให้แทนแล้วก็โดนยิงอีกดอกตรงกระเป๋านั่นแหละ เลยถอยออกมาหาน้ำล้างตา ต้องโน้ตว่าตอนโดนยิงน้ำใส่ ผมใส่ปลอกแขนสื่อสีขาวที่สมาคมสื่อฯ ออกให้ ใส่ป้ายห้อยคอ PRESS พร้อมบัตรนักข่าว และยืนอยู่ข้างฟุตบาธที่สื่อยืนๆ กันอยู่ แต่ผมยืนอยู่หน้าแผงเหล็ก หลังจากนั้นมีรายงานว่าสื่ออีกหลายคนโดนยิงเหมือนกัน รถไทยรัฐโดนไปสองดอก 

เมื่อล้างตาพอหายแสบ ผมเดินถอยไปที่ลิโด้เพื่อเช็คสภาพอุปกรณ์ มือถือเปียก กล้องเปียกน้ำ เลนส์เปียกน้ำ ก็เลยจะหยิบผ้าเช็ดแว่นในกระเป๋ามาเช็ดเลนส์ ตอนนั้นเลยพบว่าแรงจากเครื่องฉีดน้ำทำให้ซิปเปิดแทบทุกอัน หูฟังราคา 1,990 หล่นหาย น่าตกใจมากที่พวงกุญแจมินเนี่ยนปลอมๆ ที่ปกติหลุดง่ายมากยังอยู่ยงคงกระพัน (ตอนพิมพ์อยู่มันยังไม่แห้งเลย)

ส่วนอื่นของร่างกายก็ยังแสบ แสบยันไข่ เลยเดินหาน้ำ ตั้งแต่ตอนที่มีการฉีดน้ำผสมสารแสบๆ (ไม่รู้ผสมแก๊สน้ำตาหรืออะไร ตำรวจบอกว่าเป็นสารอื่น) ผู้ชุมนุมก็เริ่มหาน้ำมาจากทางแยกปทุมวัน แถวนั้นจึงมีน้ำเยอะ ผสมฝนที่ตกลงมาด้วย ผมเอามาล้างตัว ล้างไข่หนึ่งขวด 

ผมเดินขอกระดาษทิชชู่ ผ้าเพื่อเช็ดเลนส์ไปเรื่อย ไม่มีเลย ทุกคนที่ถามบอกว่าเปียกหมด ระหว่างนั้นหลวงพี่แครอทเดินกลับมาจากแนวปะทะ ถามหาน้ำ ผู้ชุมนุมรายหนึ่งตะโกนช่วยถามหาน้ำให้หลวงพี่ ผมที่ล้างเสร็จแล้วก็เลยเอาน้ำขวดที่ผมใช้นั่นแหละเอาไปให้หลวงพี่ล้างหน้า หลวงพี่พูดแบบเย็นๆ ว่าแสบตรงตา ตรงหน้า ตอนนั้นการปะทะเงียบลง นึกเสียดายหูฟังก็เลยกลับไปเดินเขี่ยๆ หาตามฟุตบาธ ระหว่างนั้นการปะทะก็ดำเนินต่อไป

"กระโดด จับกุม" "ปีกซ้าย ปีกขวา หน้า เดิน" "รื้อรั้วเหล็ก" คือคำสั่งที่ได้ยินจากทางตำรวจ ผู้ชุมนุมบางคนตะโกน "ภาษีพวกกู" หลายคนรั้งคนที่จะไปวิวาทกับตำรวจ บางช่วงของการปะทะผมเห็นตำรวจแถวสองใช้กระบองออกมาใส่ผู้ชุมนุม

ผมเก็บภาพเท่าที่ทำได้ หลังจากนั้นก็ถ่ายวิดีโอพร้อมพากย์เป็นภาษาอังกฤษ (ผมทำข่าวภาษาอังกฤษ) ตอนนั้นอุปกรณ์คือเละ กลัวของเสียหายอีก กลัวโดนยิงอีก เลยยืนถ่ายอยู่ด้านหลังแนวปะทะประมาณ 10-20 เมตร เดินไปเดินมา 

กลับมาย้อนดูพบว่าฟุตเทจห่วยมาก ถ่ายวิดีโอห่วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมตอนนั้นตกใจ ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กล้องเอียง ส่ายไปมา จะเก็บอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ไม่มี ถ่ายไปพูดไป สักพักได้ยินเสียง ปัง ทีละนัด น่าจะสองปัง จากนั้นอากาศก็หายใจยาก ได้กลิ่นสารเคมี ไอ น้ำตาไหล ผมวิ่งหนี ผู้ชุมนุมก็วิ่งหนี ตอนนั้นมือถืองอแงแล้ว สื่อสารอะไรก็ไม่ได้ ผมตัดสินใจถอยไปตั้งหลักแยกปทุมวัน

พอถึงตรงแถวๆ หอศิลป์ฯ เห็นผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ตรงแนวของตำรวจตรงสะพานหัวช้างบ้าง ยืนกระจัดกระจายบ้าง สักพักได้ยิน "ไปจุฬาฯ ช่วยกันบอกด้วย ไปทางจุฬาฯ" จากนั้นผู้ชุมนุมก็เดินไปทางจุฬาฯ ผมเอาเสื้อกันฝนมาห่อกล้องเอาไว้ ตอนนั้นมือถือคือน้ำเข้า ซิมใช้ไม่ได้ ดีที่ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ด้วย wifi ก็เลยเดินไปทางห้างมาบุญครองเพื่อเอาสัญญาณเน็ตและดูสถานการณ์ต่อ

ตอนนั้นเหนื่อยมาก ขาล้า น้ำตาลตกด้วย ไม่ได้กินข้าวเย็น พอเดินไปถึงมาบุญครองก็เห็นแถวมวลชน มีรถเครื่องเสียงคอยประกาศนำทาง มีผู้ชุมนุมคล้องแขนเดินเป็นกำแพงด้านหน้า มีคนหนึ่งใส่ชุดนักเรียนอยู่เลย ตอนนั้นเข้าถึง wifi ก็พบว่าคนติดต่อมาเยอะมากว่าเป็นอะไรมั้ย (ต่อมาพอมีนักข่าวประชาไทโดนจับก็ติดต่อมาเยอะมาก ขอบคุณที่เป็นห่วง แต่เป็นคนละคน น้องคนนั้นได้รับการปล่อยตัวแล้ว และปรับ 300 บาทจากการทำหน้าที่ของเขาอย่างซื่อตรง) 

ที่น่าแปลกใจคือรถร้านค้าก็ยังชิล จอดนิ่งตามรายทาง ผู้ชุมนุมที่ล่าถอยมาก็ซื้อกันบ้าง ผมหิวและล้า ก็เลยแวะซื้อขนมเบื้อง ผมถามว่าพี่ไม่กลัวเหรอ เขาสลายการชุมนุมกันแล้ว คนขายตอบว่า ก็ต้องตามๆ เขาไป ทำไงได้ ต้นทุนของมันสูง ก็ต้องขาย ตอนกินพบว่าขนมเป็นฟิวชั่นระหว่างขนมเบื้องกับขนมถังแตก ถ้าเป็นเวลาปกติจะอร่อยมาก แต่ตอนนั้นหิวน้ำ ฝืดคอไปหมด เคี้ยวยาก ก็เดินเคี้ยวตุ้ยๆ ไป ได้น้ำตาลแล้วรู้สึกมีแรงขึ้น ระหว่างนั้นเจอคนที่รู้จักที่กำลังเดินไปทางแยกปทุมวัน

"โห ดูไม่เครียดเลยนะ เคี้ยวตุ้ยๆ เลย" เขาถาม+แซว

"ไม่เครียดเหี้ยไรพี่ โคตรเครียดเลย เหนื่อยด้วย แต่หิว ต้องแดกก่อน" ผมตอบ+เคี้ยว แล้วเดินต่อไป

ราว 19.45 พอไปถึงหน้าประตูคณะสถาปัตย์ฯ มีการประกาศยุติการชุมนุม ให้มวลชนกลับบ้าน หมอทศพรช่วยประกาศด้วยเสียงแบบนุ่มๆ เหมือนหมอบอกคนไข้ (แบบดีๆ อ่ะนะ) ด้วยโทรโข่งตัวเดียวกับที่ปราศรัยก่อนมีการสลายฯ นั่นแหละว่าการชุมนุมยุติแล้ว ให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน อาบน้ำอุ่นๆ ระหว่างนั้นผมเดินเข้าไปในจุฬาฯ

มาทราบทีหลังว่ามีการเปิดประตูให้คนเดินไปออกทาง ถ.อังรีดูนังต์ เส้นทางที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมที่เปิดให้บริการ (บริบท: รถ BTS ปิดให้บริการในพื้นที่รอบๆ การชุมนุม และถ้าจุฬาฯ ไม่เปิดประตู มวลชนจะเดินไปบน ถ. พญาไทเท่านั้น ซึ่งสถานีใต้ดินสามย่านปิด จะต้องเดินไปอีกสักพักถึงจะถึงสีลม หรือหัวลำโพง ซึ่งไกลเมืองออกไปอีก ตอนนั้นฝนยังตกต่อเนื่อง)

บุคลากรและนิสิตหน้างานคอยประกาศและบอกทางคนตลอด ส่วนตัวผมดีใจที่มหา'ลัยที่เรียนมาตัดสินใจอำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงโดยรัฐในตอนกลางคืน สำหรับผมมันถูกต้องแล้ว
ตอนนั้นผมอยู่ในจุฬาฯ แล้ว มี wifi อ่อนๆ รีบติดต่อคนอื่นๆ ตามหาทีมที่ลงสนามจนเจอ

ผมไม่กล้าออกจากจุฬาฯ เพราะไม่ใช่นิสิต กลัวออกไปแล้วกลับเข้าไปไม่ได้ อยากดูความเป็นไปข้างใน พอเจอเพื่อนก็ตกลงแบ่งงานกัน ระหว่างนั้นก็เดินไปดูสถานการณ์ด้านใน ตอนนั้นเงียบมาก เครียดจนน้ำตาคลอ ไม่คิดว่าสถานการณ์จะออกมาหน้านี้ ด้านที่ไม่ใช่สื่อมวลชนของผมคิดว่า การชุมนุมวันนั้นไม่มีอะไรคู่ควรกับกระบอง โล่ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงและน้ำผสมสารเคมี หลายคนเป็นนักเรียน นักศึกษา 

อะไรในการชุมนุมแบบนี้กันที่เป็นภัยต่อความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินสาธารณะถึงขั้นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่เขาพูด

ผมติดตามสถานการณ์ภายในสักพักก็เดินออกมาจากจุฬาฯ ไปทางแยกปทุมวันปริ๊นเซส ผู้ชุมนุมยังคงหลงเหลือ รถเครื่องเสียงก็บอกให้คนกลับบ้านพลางปราศรัย ผมคิดในใจว่ามึงทำแบบนั้นเขาก็ยิ่งอยู่ฟังมึงน่ะสิ ใจผมอยากให้พวกเขากลับกันแล้ว ผมเหนื่อย ผมไม่อยากเห็นการปะทะอีกแล้วในคืนนี้ รถอาสาพยาบาลหลายคันยังอยู่ตรงนั้น มอเตอร์ไซค์หลายคันขี่กรูออกไปจากพื้นที่ ไม่แน่ใจว่าไปรับผู้ชุมนุมหรือไปเอาของ หรือกลับบ้าน ผมออกจากพื้นที่หลังจากนั้นไม่นาน

ของในกระเป๋าเปียกหมด หลายอย่างใช้ไม่ได้ หูฟังหาย (อันนี้แค้นมาก หูฟังนี้เหมือนมีวิบากกรรม แมวกัดสายไฟขาดไปครั้งหนึ่งแล้ว มารอบนี้เจอเครื่องยิงอีก) ตอนนี้มือถือเจ๊งไปแล้ว

วันที่เขียนอยู่คือวันที่ 18 ต.ค. มีการชุมนุมอย่างใหญ่หลวงในหลายพื้นที่ของ กทม. ติดต่อกันแล้ว 2 วัน เซเลบฯ หลายคน สถาบันหลายแห่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยตำรวจ นี่คือคำตอบส่วนหนึ่งจากสังคมต่อการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ส.ค. ที่พอจะบอกได้ว่าสิ่งที่รัฐทำมันเกินไปมากๆ ระบอบจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรถ้าทำเหมือนเสียงเหล่านี้ไม่มีตัวตนในทางการเมือง แต่ไปไล่ตีเขาบนท้องถนนแทน

ผมมานั่งนึกดูว่าสภาพการกดทับ การแก้ไขสถานการณ์ด้วยความรุนแรงแบบนี้จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

พวกเขาจะโตไปเป็นเจเนอเรชันที่ไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมในสังคมอีกต่อไปหรือไม่ หรือจะก้มหัวมือกุมต่ำ อยู่เป็น เพราะรู้แล้วว่าอำนาจก็คืออำนาจและมันพร้อมที่จะบดบี้สิ่งที่ท้าทายมัน

ผู้ที่ที่ถูกตี ถูกยิงด้วยน้ำน้ำ บางคนถูกตัดขาดจากครอบครัวเพราะมาชุมนุม จะโตไปเป็นพ่อแม่ที่ห้ามลูกไม่ให้ออกไปชุมนุมเพราะพวกเขาเคยแพ้มาแล้ว หรือจะโตไปพร้อมความคิดที่ว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบที่พวกเขาเจอมานั้น "ให้มันจบที่รุ่นเรา"

อาชีพสื่อมวลชน นักการเมือง เอ็นจีโอ หรืออาชีพอะไรที่อนุญาตให้แพสชั่นการสร้างสังคมที่ดีกว่าได้โลดแล่นจะมีที่ทางขึ้นไหม ในเศรษฐกิจบ้านเรา

ประท้วง/ การเมือง/ ประชาธิปไตย/ สถาบันพระมหากษัตริย์/ ชาติ/ ตำรวจ/ กระบวนการยุติธรรม/ รัฐสวัสดิการ/ นิติรัฐ/ เสื้อแดง/ กปปส. และอีกหลายคำที่พูดก็คงไม่หมด จะมีความหมายแบบไหนสำหรับคนที่จะมีอายุต่อไปอีกยาวนานถ้านับกันตามอายุขัย

ปีหน้าย้อนมาอ่านคงพอเห็นคำตอบ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา เป็นผู้สื่อข่าวประชาไทอิงลิช มีความสนใจเรื่องสถานการณ์เสรีภาพสื่อไทย การเมืองและข่าวต่างประเทศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net