Skip to main content
sharethis

สปสช.ระดมข้อเสนอแนะผู้แทนจาก รพ.ทุกสังกัด กทม. “ปฏิรูประบบส่งต่อผู้ป่วย” จัดแบ่ง รพ. เป็น 6 กลุ่มเขตพื้นที่” รองรับเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพดูแลคน กทม. สิทธิบัตรทอง พร้อมแนวทางดึง รพ.เอกชน ร่วมบริการเพิ่ม สรุปความเห็นนำเสนอที่ประชุม อปสข. 20 ต.ค. นี้ 

 

20 ต.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ในการประชุมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดบริการใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข. กทม.) เป็นประธาน 

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อเสนอและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีสิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ 1.8 ล้านคน ที่ยังเป็นสิทธิว่างและยังไม่มีหน่วยบริการประจำรองรับ ที่ผ่านมา อปสข. กทม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อออกแบบระบบบริการใน กทม.รูปแบบใหม่ นอกจากเป็นการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการจัดบริการที่ส่งผลให้ผู้มีสิทธิบัตรทองในเขต กทม. เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นในทุกระดับ ทั้งระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ   

การจัดบริการใหม่นี้จะมีรูปแบบเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ โดยในส่วนบริการระดับปฐมภูมิเป็นเครือข่ายบริการภายในแต่ละเขตทั้ง 50 เขตใน กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นหน่วยบริการแม่ข่าย มีโรงพยาบาลที่จัดบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยร่วมบริการ อาทิ คลินิกแพทย์เฉพาะทาง คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด และร้านยา ขย.1 เป็นหน่วยบริการเครือข่าย ขณะที่บริการส่งต่อระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รูปแบบจะแบ่งโรงพยาบาลรับส่งต่อตาม 6 กลุ่มเขตพื้นที่ ซึ่งรูปแบบนี้นอกจากดูแลให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.8 ล้านคน มีหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับแล้ว ในอนาคตยังเป็นการลดการรับบริการในโรงพยาบาล กระจายผู้ป่วยนอกไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิแทน 

ขณะที่ในส่วนของ สปสช.เองต้องปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาระบบต่างๆ มากขึ้น อาทิ การยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการ เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ เบิกจ่ายค่าบริการโดยบันทึกข้อมูลน้อยที่สุดเพื่อให้คลินิกมีเวลาดูแลคนไข้ เป็นต้น ทั้งนี้ข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม อปสข. กทม.ในวันที่ 20 ต.ค. เพื่อพิจารณาต่อไป  

“สิ่งที่ผมขอเน้นย้ำในการประชุมนี้ คือทุกคนต้องมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ระบบมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนต้องอยู่ได้ รวมถึงประชาชนผู้รับบริการ โดยเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง” ประธาน อปสข. กทม. กล่าว 

          นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข. กทม.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือการจัดบริการปฐมภูมิใน กทม. ให้เพียงพอและมีศักยภาพ โดยดึงคลินิกเวชกรรมและหน่วยบริการร่วมในพื้นที่เข้าร่วมและจัดโรงพยาบาลให้มีความพร้อมรับส่งต่อ แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่ในทุกเขต ดังนั้นจึงวางรูปแบบบริการเป็นโรงพยาบาลประจำกลุ่มเขตพื้นที่ เพื่อรับส่งต่อแทน โดยแบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนใต้ และกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการและผู้ป่วยมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเพิ่มขึ้น     

หนุนหน่วยบริการจัดบริการรักษาระยะห่างทางสังคม 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า แนวทางการแนวทางการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2564 ของ สปสช. จะเน้นสนับสนุนการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคมและลดความแออัดในหน่วยบริการ ตลอดจนกำหนดแนวทางการจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ซับซ้อน  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในปีงบประมาณนี้ สปสช.ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เงินเหมาจ่ายรายหัวจาก 3,600 บาท/ประชากร เพิ่มเป็น 3,719.23 บาท/ประชากร กรณีผู้ป่วยในได้ประกันอัตราจ่าย fix rate เบื้องต้นที่อัตรา 8350/adjRW หรือค่าบริการตามน้ำหนักสัมพัทธ์เท่ากันทุกเขตและปรับอัตราการจ่ายสำหรับบริการผ่าตัดวันเดียว/ผ่าตัดเล็ก เพื่อส่งเสริมการลดวันนอนและสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ และในกรณีที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่พร้อม กล่าวคือในกรณีที่ต้องรอคิว เช่น ฉายรังสีรักษา ทาง สปสช.จะพยายามหาหน่วยบริการมารองรับให้เร็วที่สุด ส่วน กทม.สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือราคาจ่ายตามบริการสำหรับบริการ Non OP, Non IP หรือสำหรับผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินปกติเมื่อเทียบกับเงินชดเชยตาม DRG หรือกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนบริการเฉพาะทาง สปสช.ยังขับเคลื่อนเรื่องห้องฉุกเฉินคุณภาพ หรือ ER คุณภาพ เช่น กรณีมีผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินไปรับบริการแล้วถูกเรียกเก็บเงิน ขณะนี้ทาง สปสช.จ่ายชดเชยให้ 150 บาท/ครั้ง อีกเรื่องคือจ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายและโรคหายาก หรือ rare disease ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ปีนี้กรมควบคุมโรคต้องการฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุน้อยลง โดยเพิ่มการฉีดวัคซีน MMR หรือวัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน สำหรับอายุ 1 ปี 6 เดือน มีการขยายการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมไปยังหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ ขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้แบบ Fit test ไปยังทุกสิทธิ และยังได้นำร่องยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวีหรือ PrEP และเพิ่มจำนวนถุงยางอนามัยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ส่วนโรคไตวายเรื้อรัง จะเริ่มมีบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis :APD) จากนั้นจะพัฒนาระบบการบริหารจัดการมารองรับในอนาคต ส่วนกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ปรับเหมาจ่ายรายเคสผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นตามเงื่อนไขที่กำหนด 

สำหรับประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2564 ในส่วนของค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับบริการปฐมภูมิก็มีอีกหลายรายการ ประกอบด้วยการผลักดันบริการร้านยาสุขภาพชุมชนทั้ง 3 โมเดล บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน การจัดบริการ telehealth/telemedicine/ tele pharmacy บริการด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์และบริการด้านกายภาพบำบัด ตลอดจนบริการตรวจแล็บนอกหน่วยปฏิบัติการ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net