Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาเปิดไต่สวนอีกครั้ง ยกคำร้องปิดวอยซ์ทีวี ยันเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมถึง The Reporters The Standard ประชาไท และ เยาวชนปลดแอก 

21 ต.ค. 63 วันนี้ The Reporters รายงานว่า เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญานัดไต่สวนผู้แทนดีอีเอส เรื่องการขอระงับการแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของ Voice TV  ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยทนายได้ยื่นคัดค้านคำสั่งศาล  อ้างว่าการปิดสื่อมวลชนเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของไทย ปี 2560 มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทํามิได้  แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้นคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ คศ.349/63 และมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดการเสนอข่าวไปแล้วตามคำขอของ กระทรวงดิจิทัลฯ  เป็นคดีหมายเลข แดงที่ คศ339/63

ศาลไต่สวนแจ้งในห้องพิจารณาคดีว่า ทางกระทรวงฯ ได้ยื่นคำร้องมาและศาลเวรได้มีคำสั่งอนุญาตให้ตามขอ แต่ตามขั้นตอนสำนวนคดีนี้ต้องส่งให้อธิบดีศาลอาญาตรวจ  เมื่ออธิบดีตรวจแล้วพบว่ายังมีข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน ทั้งศาลเวรก็อาจไม่มีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงมอบหมายให้ผู้พิพากษาที่มีความรู้รับผิดชอบในการเรียกผู้ร้องมาสอบถาม ผู้ร้องมีพยานคือ ตำรวจที่ได้รับมอบอำนาจ และ ผอ.กองป้องกัน กระทรวงดิจิทัลฯ ทาง Voice TV ทราบเรื่องดังกล่าวจึงแต่งตั้งทนายความยื่นคัดค้านคำสั่งศาล ศาลจึงเปิดโอกาสให้เป็นการไต่สวนสองฝ่าย ตามหลักฟังความทุกด้าน ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับมอบอำนาจมาให้การในชั้นศาลเป็นพยานผู้ร้อง

โดยในวันนี้พยานผู้ร้องอ้างว่าต้องปิดช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่ voiceTV เผยแพร่ภาพ ข้อความที่กล่าวหาว่าตำรวจใช้ความรุนแรง เชิญชวนให้คนมาชุมนุมซึ่งผิดกฎหมาย (พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง) โดยเจ้าหน้าที่ต้องปิดระบบเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจากระบบภายนอก รวมทั้งเนื้อหาและข้อความที่เผยแพร่แต่ก่อนเกิดเหตุการชุมนุมด้วย แต่หากทาง Voice TV ให้ความร่วมมือปิดจากระบบภายใน ก็สามารถปิดได้บางรายการหรือบางข้อความ 

ต่อมาศาลอาญาพิจารณาและสั่งให้ยกคำร้องดีอีเอส โดยยืนยันเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 35 วรรค 2 และ มาตรา 36 วรรค 1 และให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลาย ซึ่งข้อมูลในคดีนี้ เพราะเห็นว่าคำสั่งศาลดังกล่าวไม่ถูกต้อง และเป็นการปิดกั้นการสื่อสาร โดยศาลระบุครอบคลุมถึง The Reporters The Standard ประชาไท และ เยาวชนปลดแอก ด้วย ตามที่ดีอีเอสเคยอ้างก่อนหน้านี้

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของ Voice TV กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวออกไปทางสื่อมวลชนว่า ศาลมีคำสั่งปิดวอยซ์ทีวีไปแล้ว ซึ่งศาลเห็นว่าคำสั่งนั้นมีการคาดเคลื่อน จึงมีคำสั่งจากอธิบดีศาลอาญาว่าเรื่องนี้จะต้องมีการไต่สวน เมื่อยื่นไต่สวนอีกครั้ง Voice TV จึงยื่นคำร้องขอคัดค้านเมื่อเช้านี้ ศาลให้โอกาสในการซักถามพยานทั้งสองปาก ผลสรุปศาลให้ความคุ้มครอง โดยศาลเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในการสื่อสารในช่องทางใดๆ ควรได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 36 วรรค 1 และที่สำคัญศาลได้วินิจฉัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9(3) แม้จะห้ามในการนำเสนอข่าว ก็ต้องเป็นการห้ามเฉพาะเจาะจง ข้อความใดผิดก็ปิดตรงนั้น ไม่ใช่ปิดทั้งสื่อ เป็นเรื่องน่ายินดีและขอขอบคุณศาลอีกครั้ง

"ศาลยังพูดเจาะจงเฉพาะกับสื่อมวลชน ว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้กระบวนการยื่นคำร้องไม่มีการระบุเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าเนื้อหาหรือข้อความใดผิดกฎหมาย เพราะศาลมองว่าการจะปิดได้จะต้องมีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงว่าข้อความใดผิดกฎหมาย จะปิดทั้งช่องทางไม่ได้ ไม่ว่าจะปิดสถานี ปิดเพจ ปิดยูอาร์แอลใดก็ตาม ถือว่าเกินขอบเขตของกฎหมาย" วิญญัติกล่าว

รายละเอียดคำสั่งศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารมาตรา 36 วรรคหนึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันการตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ก็ดีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3 ) ก็ดีจึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ทั้งนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า“ ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายถึงข้อมูลข้อความ ... ในระบบคอมพิวเตอร์ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาลห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 20 (1-3 ) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นข้อความส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3 )

ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้นกฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน

ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมายกฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทางซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย

ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STARNDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH

โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่า เป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้องเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดน้ำเสนอต่อศาลคำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับกาแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ยกคำร้อง

 

*เพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อเวลา 16.57 น. วันที่ 21 ต.ค. 2563

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net