เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: ‘จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม’ ความสุขของฉันที่มองไม่เห็นความทุกข์ของคนอื่น

เมื่อ ‘นิ้วกลม’ แสดงออกมาทางการเมือง คำถามก็เกิดขึ้น จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมคืออะไร? กระแสความคิดแบบนิ้วกลมส่งผลอย่างไรต่อการมองโลก? เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่เริ่มใช้คำนี้จะมาวิพากษ์และชวนเราให้มองโลกหม่นมืดกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่การเจาะจงตัวบุคคล แต่คือกระแสความคิดต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกันกับนิ้วกลม

  • จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมคือการเสนอว่าเป้าหมายในชีวิตเราคือการมีความสุข แต่เป็นความสุขที่เราสามารถหาได้ในชีวิตประจำวัน และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับการตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่กว่าตนเอง
  • แนวคิดว่าด้วยความสุขในสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากทุนนิยมแบบอเมริกา ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของ positive psychology ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990
  • วิธีคิดหรืองานเขียนแบบนิ้วกลมวางอยู่บนความกลัว หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามถึงประเด็นใหญ่ๆ เนื่องจากการตั้งคำถามจะทำให้จักรวาลของตนที่อยู่อย่างมีความสุขพังทลาย
  • จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมเป็นการตัดขาดการมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น
  • เก่งกิจเสนอว่าเราควรมองโลกให้มืดกว่าที่เรามองเห็น เพื่อที่จะร่วมกันจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า เพราะหากมองว่าโลกนี้ดีอยู่แล้ว เราจะไม่มีวันมองเห็นความเฮงซวยในสังคม

 

‘นิ้วกลม’ หรือ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังที่เรียกว่าเป็นไอคอน ไอดอล และไอเดียของคนจำนวนมากจากงานเขียนจำนวนมาก พลันที่เขาแสดงตัวออกมายืนฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’

แต่เราจะชวนทัวร์อีกแบบ ด้วยการสำรวจวิธีคิดของนิ้วกลม ผ่านมุมมองของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตั้งข้อสังเกตต่อวิธีคิดดังกล่าวและสรุปรวบยอดออกมาเป็นคำว่า ‘จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม’

‘จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลอย่างนิ้วกลม แต่เก่งกิจกำลังหมายรวมถึงกระแสความคิดที่สะท้อนผ่านงานเขียน หนังสือฮาว ทู คอร์สอบรม หรือพ็อดแคสต์ ที่หมกมุ่นกับความสุขเชิงปัจเจก กระทั่งหลงลืม ‘ความเฮงซวย’ ที่ปรากฏทนโท่อยู่ในสังคม

จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม

เก่งกิจให้นิยาม จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม ว่า...

“ผมใช้คำว่า จริยศาสตร์แบบนิ้วกลม มันก็เป็นความคิดทางจริยศาสตร์แบบภาพกว้าง เพียงแต่ว่าในสังคมไทยเรานิ้วกลมเป็นไอคอนหรือคนที่มีอิทธิพลทางความคิดที่เผยแพร่ไอเดียแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วเราจะเห็นความคิดแบบนี้ในไลฟ์โค้ช ในโฆษณา ในรายการทีวี คือต้องมีความสุข ทุกคนต้องแสดงความสุข ไอเดียแบบความสุขคือเป้าหมายของการมีชีวิต การประสบความสำเร็จ การค้นพบตัวเอง”

ในอดีต ความสุขในชีวิตเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรา เช่น ด้านจิตวิญญาณ การทำบุญ การบริจาค ทว่า จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมกำลังบอกว่า เป้าหมายของชีวิตคือการมีความสุขโดยตัวมันเอง

“จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมหรือความสุขแบบนิ้วกลมคือการเสนอว่าเป้าหมายในชีวิตเราคือการมีความสุข แต่เป็นความสุขที่เราสามารถหาได้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าชีวิตทั้งหมดที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันจะเฮงซวยหรือไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย แต่คุณก็มีความสุขได้ ถ้าคุณมีถ้วยกาแฟที่ดี สวย หรือมีอากาศดี ลักษณะอย่างนี้ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยแต่เป็นลักษณะร่วมกันในหลายสังคม”

เก่งกิจอธิบายว่า รากที่มาของกระแสความคิดทำนองนี้เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกหรือ positive psychology ที่เชื่อว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ต้องทำหน้าที่ให้คนบรรลุความสุขในชีวิตประจำวันจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว

ผลที่ตามมาคือการถอยห่างจากการตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำ ต่อโครงสร้าง ต่อความทุกข์ยากในสังคมโดยภาพรวม และมุ่งไปที่ชีวิตประจำวันของตนเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากกระแสการออกกำลังกาย โยคะ การรับประทานอาหารสุขภาพ หรือการอ่านหนังสือที่ปลอบประโลมจิตใจ แนะนำการใช้ชีวิต รายการพี่อ้อยพี่ฉอด ซึ่งเก่งกิจมองว่านี่เป็นลักษณะที่แพร่กระจายอยู่ทั่วสังคมไทย

ปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับการตัดสินใจ

เมื่อจริยศาสตร์แบบนิ้วกลมคือการแสวงหาความสุข หมายความว่าในระบบจริยศาสตร์นี้ คนที่ไม่มีความสุขคือคนที่มีบางสิ่งผิดปกติ คนที่ไม่มีความสุขจะต้องแก้ปัญหาตัวเอง และพยายามที่จะมีความสุข เก่งกิจ อธิบายว่า

“ผมคิดว่าด้านหนึ่งมันไปกำหนดความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนอื่น เราพยายามบอกคนอื่นว่าคุณต้องมีความสุขหรือเราพยายามที่จะมีความสุขต่อหน้าคนอื่น แต่ผมเป็นคนที่มีความทุกข์ ผมคิดว่าการมีทั้งความสุขและความทุกข์เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ดำรงอยู่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นบางครั้งมันก็เป็น dilemma ว่าความสุขของเราจะเป็นความทุกข์ของคนอื่น หรือความทุกข์ของคนอื่นแล้วเป็นความสุขของเรา ในแง่มุมของผม จริยศาสตร์คือการตัดสินใจบนสภาวะที่ตัดสินใจได้ยากคือเป็น dilemma ว่าเราจะเอายังไง ถ้าเรามีความสุข แต่คนอื่นมีความทุกข์จากความสุขของเรา

“แต่จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมคือการให้ความสำคัญกับความสุขของปัจเจกบุคคล โดยปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับ dilemma เพราะการเผชิญหน้ากับภาวการณ์ตัดสินใจไม่ได้ทำให้คนเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่นิ้วกลมพูดว่าเขากลัวที่จะถูกเกลียด ขี้ขลาดที่จะแสดงตัวทางการเมือง ก็คือการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับ dilemma ซึ่งผมคิดว่าการเผชิญกับ dilemma หรือสภาวะที่ตัดสินใจได้ยาก มันคือพื้นฐานของจริยศาสตร์ การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัดสินใจไม่ได้ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องตัดสินใจ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการอยู่กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ หรือชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องมีความเปลี่ยนแปลงหรือเผชิญหน้ากับเรื่องที่ใหญ่ไปกว่าเรื่องของตัวเอง ผมคิดว่านี่เป็นลักษณะพื้นฐานของจริยศาสตร์แบบนิ้วกลม”

ผิดด้วยหรือที่จะแสวงหาความสุขให้กับตัวเอง?

แน่นอนว่าจะต้องเกิดคำถามลักษณะนี้ เก่งกิจ กล่าวว่า เวลาที่พูดถึงความสุข มันมักถูกทำให้เป็นคำที่เป็นสากล ทั้งที่จริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องความสุขหรือการหมกมุ่นกับความสุขเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ทุกสังคมที่สอนให้มนุษย์มีความสุข เขายกตัวอย่างพุทธศาสนาที่สอนเรื่องความทุกข์ เพื่อให้มนุษย์รู้ว่าการมีชีวิตอยู่ในโลก การเวียนว่ายในวัฏสงสาร มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นมนุษย์จำเป็นต้องหาเหตุแห่งความทุกข์เพื่อที่จะพ้นจากทุกข์

“ผมคิดว่าไอเดียเรื่องความสุขมีความเป็นอเมริกันมากๆ ตัวอย่างตอนนี้มีซีรีส์เรื่องหนึ่งใน Netflix เรื่อง Emily in Paris ที่น่าสนใจมากคือตัวเอมิลี่เป็นคนอเมริกันที่ไปทำงานในปารีส ก็จะพบว่ามันเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างความเป็นอเมริกันกับความเป็นฝรั่งเศส ตัวละครก็จะถกเถียงกันตลอด ขณะที่คนฝรั่งเศสบอกว่าหนังที่ดีคือหนังที่จบอย่างโศกนาฏกรรม ต้องไม่มีความสุข ตัวเอกต้องตายหรือไม่ก็พลัดพราก แต่เอมิลี่บอกว่าหนังอเมริกันที่ดีต้องจบแบบ happy ending ต้องมีคนออกมาช่วยหรือแก้ปัญหาชีวิตได้

“ผมคิดว่าไอเดียเรื่องความสุขเป็นไอเดียที่สังคมไทยรับมาจากทุนนิยมแบบอเมริกัน แต่คนจำนวนมากในสังคมไม่สามารถที่จะหาความสุขได้ ความสุขแบบอเมริกันจึงเป็นความสุขที่มีไว้สำหรับคนที่เข้าถึง pop culture ต่างๆ ที่อยู่ในโทรทัศน์หรือในสื่อต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก มากกว่าที่จะเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมโลก แต่แน่นอนว่าความคิดแบบอเมริกันหรือ positive psychology มันมีอิทธิพลมากในหนังสือต่างๆ ที่สอนให้เรารู้จักความสุข อย่างเช่นนิ้วกลมก็จะบอกว่าความสุขโดยสังเกตหรือคำว่าดีต่อใจ ซึ่งผมเข้าใจว่ามาจากนิ้วกลม ถ้าผิดก็ขออภัย แต่คำว่าดีต่อใจคือเห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อใจ ผมคิดว่าอันนี้เป็นไอเดียที่ชัดเจนมากในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาในสังคมไทย”

ตัดขาดตัวเองจากความทุกข์ของคนอื่น

เก่งกิจ เล่าว่า วัยเด็กเขาชอบดูรายการฝันที่เป็นจริง พอดูแล้วก็เกิดความรู้สึกสงสารคนต้นเรื่อง ซึ่งต่างจากความคิดแบบ positive psychology เพราะอย่างน้อยเราก็รับรู้ถึงความทุกข์ แม้จะผลักให้เป็นความทุกข์ของคนอื่นและมีความรื่นรมย์ที่จะเห็นความทุกข์ของคนอื่น

“แต่จริยศาสตร์แบบนิ้วกลมมันหนักไปกว่านั้นอีก คือมันตัดการเห็นความทุกข์ของคนอื่น แล้วมาโฟกัสความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองหรือของสิ่งรอบข้าง โดยที่ไม่สนใจความทุกข์ของคนอื่นเลยด้วยซ้ำ เวลาที่ผมโตมาแล้วรู้สึกเกลียดรายการฝันที่เป็นจริงเพราะมันเอาคนจนมาขาย มันไม่ได้แก้ปัญหา มันแค่เป็นการช่วยเหลือ แต่ถ้าเราอ่านหนังสือของนิ้วกลม เราจะไม่เห็นความทุกข์แบบนี้ เราจะเห็นแต่ความสุข แม้กระทั่งความทุกข์ของคนพิการหรือคนที่มีความยากลำบากในชีวิตที่ถูกเล่าในหนังสือหรือเล่าในพอดแคสต์ของนิ้วกลมก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นความสวยงามหรือความสุขเล็กๆ น้อยๆ”

การใส่ใจกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง ตัดขาดจากความทุกข์ยากของคนอื่น ส่งผลให้เกิดความคิดที่พยายามหลีกเลี่ยงการเมือง

“สเตตัสของคุณนิ้วกลมที่บอกว่า การที่เขาเลือกจะไม่สนใจการเมืองหรือไม่พูดการเมืองเกิดจากความกลัวถูกเกลียดและความขี้ขลาด ผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจมาก แสดงว่าสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นนิ้วกลมที่เลือกจะไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะสำหรับนิ้วกลม การเมืองเป็นสิ่งที่น่ากลัวและการเมืองอาจจะทำให้เขามีภัยได้ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นลักษณะของสลิ่มอย่างมากที่ไม่ยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้เพราะเดี๋ยวจะทำให้ตัวเองลำบาก

“ผมคิดว่าคำพูดของนิ้วกลมเป็นการยืนยันว่าวิธีคิดหรืองานเขียนของนิ้วกลมทั้งหมดวางอยู่บนความกลัว หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามถึงอะไรที่ใหญ่กว่า เพราะมันจะทำให้จักรวาลหรือกะลาที่เขาอยู่อย่างแคบๆ อย่างมีความสุข มันพังทลาย

“มันคือความเป็นสลิ่ม การรังเกียจการเมืองคือไม่อยากพูดถึงการเมืองเชิงโครงสร้าง ในขณะเดียวกันถามว่ารู้หรือไม่ว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยความเฮงซวย ความเหลื่อมล้ำ รู้ แต่ไม่อยากยุ่ง ในเมื่อฉันอยู่ได้ เอาตัวรอดได้ ผมคิดว่าแฟนคลับหรือคนที่อ่านหนังสือแบบนิ้วกลมหรือลักษณะ positive psychology ก็คือคนที่มีสถานะทางสังคมค่อนข้างจะโอเค อย่างน้อยก็เป็นคนชั้นกลางขึ้นไปที่สามารถจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถเข้าถึงคอร์สของไลฟ์โค้ช เพราะฉะนั้นก็จะมีความฝันว่าฉันจะประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้ก็จะไม่อยากให้กะลาของตัวเองพังทลาย การตั้งคำถามต่อสังคมมันอาจนำไปสู่การสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ตัวเองมีอยู่ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของสังคม หรืออย่างน้อยก็ทำให้เขามีความทุกข์ใจ ความอึดอัด ความรำคาญ ความโกรธ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นวิธีจัดการความโกรธ แม้ว่าคนชั้นกลางในประเทศนี้ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้”

เก่งกิจเสริมว่า การทำงานหนักอาจจะไม่ใช่ลักษณะสำคัญของจริยศาสตร์ของชนชั้นกลางแบบนิ้วกลม แต่การจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ซึ่งจะเห็นลักษณะนี้ในไลฟ์โค้ชอย่างฐิตินาถ ณ พัทลุง ฌอน บูรณะหิรัญ ที่จะบอกว่าคนเราประสบความสำเร็จได้แค่ปรับเปลี่ยนความคิดและมีทัศนคติแง่บวกต่อสิ่งต่างๆ

ควรมองโลกอย่างหม่นมืดกว่าที่เป็นจริง

ตรงกันข้ามกับจริยศาสตร์แบบนิ้วกลม เก่งกิจเสนอว่า เราควรมองโลกอย่างหม่นมืดกว่าที่เป็นจริง

“ผมคิดว่าเราแต่ละคนมีตำแหน่งแห่งที่ที่จะมองโลกมืด โลกสว่าง โลกสวย โลกไม่สวยต่างกัน คนรวยก็คงคิดว่าจะทำยังไงให้ได้เงินเยอะๆ ขณะที่คนจน ความสำเร็จหรือความรวยอาจจะไม่ใช่ปัญหาของเขา แต่อยู่ที่การจะทำยังไงให้มีชีวิตรอดไปวันๆ เพราะฉะนั้นการมองโลกมืด โลกสว่าง ของแต่ละคนมันมีเพดานที่แตกต่างกันไปตามสถานะทางสังคม

“สำหรับผม ผมคิดว่าผมมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องมองโลกให้มืดกว่าที่เราเห็น เราอาจจะเห็นความทุกข์ ความยากลำบาก แต่มันเป็นความยากลำบากที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเทียบไม่ได้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ที่มีชีวิตที่แย่ที่เขาเผชิญอยู่ เราจึงต้องมองโลกให้มันเลวร้ายไปกว่าโลกที่เราอยู่ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง ผมคิดว่าเราไม่มีทางที่จะเห็นโลกตามความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์หรอก ถ้าเราไม่ถูกยิงตายที่ม็อบหรือถ้าเราไม่อดตาย ดังนั้น ถ้าเรายังไม่ถึงจุดนั้นเราต้องจินตนาการถึงโลกที่เราจะถูกยิงตายและนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าทำให้คนจำนวนมากออกมาต่อสู้ เพราะเขารู้ว่าสังคมนี้ไม่มีอนาคต การที่คนออกมาประท้วงตอนนี้เป็นเพราะเขามองโลกมืดกว่าที่เขาเห็น

“การหาความสุข การมองโลกสวยจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน มันยิ่งแย่กว่าการมองโลกมืดจากความเป็นจริงที่เราเห็นอีก ข้อเรียกร้องของผมตอนนี้คือให้เรามองโลกมืดกว่าที่เรามองเห็น เพื่อที่เราจะร่วมกันจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่าวันนี้ได้ ถ้าเรามองว่าโลกมันดีอยู่แล้ว เราจะไม่มีวันมองเห็นความเฮงซวยในสังคมว่าเป็นยังไง ผมคิดว่ามันเป็นเงื่อนไขของการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เราต้องไม่โลกสวย”

แล้วคุณคิดอย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท