COVID-19 อาจเป็นตัวเร่งให้ระบบอัตโนมัติแทนที่มนุษย์ในตลาดแรงงานมากขึ้น

รายงาน World Economic Forum ชี้ตลาดแรงงานเริ่มมีความนิยม 'ระบบอัตโนมัติ' มากขึ้น คาดจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ 85 ล้านตำแหน่งภายในปี 2568 เพราะมีการระบาดของโรค COVID-19 เป็นตัวเร่ง แต่กระนั้นก็ยังมีงานใหม่ผุดมา 97 ล้านตำแหน่ง รองรับมนุษย์อยู่


ที่มาภาพประกอบ: Kitmondo Marketplace (CC BY 2.0)

23 ต.ค. 2563 จากรายงาน The Future of Jobs Report 2020 ของ World Economic Forum (WEF) ได้คาดการณ์ถึงอนาคตของการจ้างงาน ว่าคนทำงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่ง ใน 15 อุตสาหกรรม ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ทั้วโลกจะถูกแทนที่ด้วย 'ระบบอัตโนมัติ' และ 'งานออนไลน์' 

แต่ WEF ยังประเมินว่าจะมีตำแหน่งงานเกิดขึ้นมาใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง ในภาคส่วนต่างอาทิ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้า ผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการตลาดดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (IoT) และงานในภาคเศรษฐกิจภาคการดูแลที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน WEF คาดการณ์ว่าจะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น 133 ล้านตำแหน่ง และตำแหน่งงานของมนุษย์ที่จะหายไปมีเพียง 75 ล้านตำแหน่ง

"โดยพื้นฐานแล้วอัตราการสูญเสียงานของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น และอัตราการสร้างงานก็ลดลงด้วย" ซาเดีย ซาฮีดี กรรมการผู้จัดการ WEF กล่าว "แต่ข่าวดีก็คือโดยรวมแล้วตำแหน่งงานที่สร้างขึ้นใหม่ก็ยังคงมีจำนวนมากกว่างานที่หายไป แต่จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดว่าบทบาทของมนุษย์ในตลาดแรงงานกำลังถูกท้าทาย"

ในขณะเดียวกันระบบอัตโนมัติกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจโลกโดยรวม

WEF คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ตำแหน่งงานของมนุษย์จะถูกแบ่งไปให้ระบบอัตโนมัติครึ่งหนึ่ง ในตำแหน่งงานอาทิ พนักงานออฟฟิศ เลขานุการ พนักงานบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี แรงงานประจำโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและบริการธุรกิจ พนักงานบริการลูกค้าและข้อมูลลูกค้า ผู้จัดการทั่วไป ช่างเครื่องและช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล เป็นต้น

รายงานซึ่งวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. 2563 พบว่าคนทำงานที่ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ผู้หญิง และคนทำงานที่มีค่าจ้างต่ำ

วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้จบการศึกษาในระกับสูงน้อยกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551 ซึ่งปรากฎการณ์นี้มีแนวโน้มที่จะสร้างความไม่เท่าเทียมกันทวีความรุนแรงมากขึ้น

WEF เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนทำงานให้มากขึ้น ด้วยการเสริมสร้างความปลอดภัยทางสังคม ส่งเสริมการศึกษา และให้แรงจูงใจในการลงทุนกับการสร้างงานในประเทศ 

สำหรับนายจ้างนั้น WEF เรียกร้องให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับพนักงานในองค์กรของตน เพื่อให้พนักงานมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดในตลาดงานในอนาคตได้ นอกจากนี้ WEF ยังพบว่ามีประมาณร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งหมดจากการสำรวจ (ประมาณ 4 ล้านคน) ที่จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานใหม่ภายใน 5 ปีข้างหน้า

อนึ่งรายงานชิ้นนี้ของ WEF ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทภาคเอกชน 300 แห่งทั่วโลก ที่มีพนักงานรวมกันประมาณ 8 ล้านคน

ที่มาเรียบเรียงจาก
The Future of Jobs Report 2020 (World Economic Forum, 20/10/2020)
Pandemic speeds up human vs. machine standoff over jobs, study says (japantimes.co.jp, 21/10/2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท