Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณตั้งข้อสังเกต เจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการทางอาญาต่อ ปตท. กรณีท่อแก๊สระเบิดที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ชี้เป็นสิ่งที่ประชาชนและเอ็นจีโอกังวลและประท้วงมาตลอด ตั้งคำถามรัฐจะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน รายงานว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ท่อแก๊สระเบิด บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถ.เทพราช-ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ใกล้โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี เป็นเหตุให้เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีบ้านเรือนกว่า 34 หลัง รถยนต์ 62 คัน รถจักรยานยนต์ 59 คัน ร้านค้า 7 ร้าน และ สภ.เปร็ง ที่อยู่ใกล้ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด ผู้คนบาดเจ็บกว่า 52 รายและเสียชีวิตแล้ว 3 รายนั้น

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนให้ข้อมูลว่า หลังเกิดเหตุดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เข้าไปเผชิญเหตุเพื่อตัดแยกระบบการเดินท่อเพื่อควบคุมแก๊ส และสอบสวนหาเหตุของการระเบิด พร้อมเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทาง ปตท. ยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดบริษัทจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะได้ทำประกันไว้กับบริษัทประกันภัยไว้แล้ว

ศรีสุวรรณกล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อความเสียหายทางแพ่งนั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทมหาชนของรัฐอย่าง ปตท. จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ แต่ความรับผิดชอบทางอาญานั้น ดูเหมือนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางฝ่ายปกครองของ จ.สมุทรปราการ กรมธุรกิจพลังงาน จนถึงกรมควบคุมมลพิษ มิได้กล่าวถึงหรือมีความพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด โดยเฉพาะการปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ปตท. เข้าไปสอบสวนหาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมเจ้าหน้าที่ กองพิสูจน์หลักฐาน หน่วยกู้ภัยต่างๆ และกองทัพสื่อมวลชน

ศรีสุวรรณตั้งข้อสังเกตว่า กว่าจะกันพื้นที่เกิดเหตุให้เป็นเขตหวงห้ามก็อาจทำให้หลักฐานบางอย่างหมดไปได้ เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตถือเป็นเหตุทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บรวมรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมาประกอบสำนวนเอาผิดผู้บริหารหน่วยธุรกิจแก๊สธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วย

ทั้งนี้ ประมวลกหมายอาญา มาตรา 291 ระบุว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น เป็นผลพิสูจน์โดยประจักษ์ที่ภาคประชาชนและเอ็นจีโอ เคยชุมนุมประท้วงการวางท่อแก๊สของ ปตท. ในหลายเส้นทางที่รอนสิทธิประชาชนมาโดยตลอดว่า อาจสร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ตามแนวท่อแก๊ส แต่ ปตท. ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ตั้งแต่เริ่มวางท่อแก๊สเมื่อปี 2524 จนถึงปัจจุบันเกือบ 40 ปีไม่เคยเกิดเหตุถึงขั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ

ศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดว่า ข้อกังวลที่ประชาชนและเอ็นจีโอท้วงติง จนนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลมากมายมาโดยตลอดนั้นเกิดขึ้นจริงได้ ที่สำคัญหน่วยงานและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เห็นชอบ EIA โครงการท่อแก๊สที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้โครงข่ายสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. นั้น ถือเป็นความเสี่ยงที่อันตรายยิ่งทั่วประเทศ แต่ผู้ที่เห็นชอบ EIA จะสำนึกผิดและจะไถ่บาปกับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างไร หน่วยงานรัฐจะใช้ มาตรา 96-97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ฟ้อง ปตท. เป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไรต้องติดตามกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net