ทำไมผู้ประท้วงชาวไทยถึงปรับใช้ยุทธวิธีแบบของผู้ประท้วงฮ่องกง

สื่อต่างประเทศมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการประท้วงในไทย คือการที่มีการใช้ยุทธวิธีคล้ายคลึงกับการประท้วงต่อเนื่องในฮ่องกงก่อนหน้านี้ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ การใช้ภาษาใหม่ที่สื่อสารระหว่างผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีการเรียกเสียงสนับสนุนจากผู้คนต่างประเทศได้ รวมถึงนักเคลื่อนไหวชื่อดังจากฮ่องกงที่คอยโพสต์สนับสนุนผู้ประท้วงไทยทางอินเตอร์เน็ต

23 ต.ค. 2563 สื่อต่างประเทศบีบีซีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยไทยตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วมาจนถึงสัปดาห์นี้ โดยมีการชุมนุมโดยไม่สนใจกฎห้ามชุมนุมจากรัฐบาล รวมถึงมีการปรับใช้ยุทธวิธีต่างๆ ที่เอามาจากการประท้วงในฮ่องกง เช่น ในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น มีการใช้ร่มในการป้องกันตนเองจากเครื่องมือปราบปรามของรัฐบาลชวนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังใช้หมวกกันน็อกและหน้ากากกันแก็สน้ำตาไปจนถึงวิธีการใช้แฟลชม็อบคือการนัดชุมนุมแบบพร้อมเพรียงกันอย่างกระทันหันและแยกย้ายหลังจากเวลาผ่านไปไม่นานนัก รวมถึงการใช้สัญญาณมือในการสื่อสารต่างๆ ในม็อบด้วย สื่อบีบีซีระบุว่ามี 3 อย่างใหญ่ๆ ที่ชวนให้การประท้วงในไทยมีส่วนคล้ายคลึงกับการประท้วงในฮ่องกง เช่น การเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ, การใช้ภาษาใหม่และสัญญาณมือในการชุมนุม และ การเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนที่เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้คนในต่างประเทศได้เช่นแฮชแท็ก #StandWithThailand

ในเรื่องการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำเป็นกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งภายใต้คำขวัญว่า "ทุกคนคือแกนนำ" นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมหลายคนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อปลาในการประท้วงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบอกว่า "พวกเขาคิดว่าการจับกุมแกนนำจะหยุดพวกเราได้ ...มันไม่ได้ผลหรอก พวกเราทุกคนคือแกนนำในวันนี้"

บีบีซีระบุว่าเรื่องนี้คล้ายกับการประท้วงต่อเนื่องในฮ่องกงที่ไม่มีแกนนำที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเรื่องนี้เองมีหลายคนพูดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในฮ่องกงดำเนินต่อเนื่องมาได้ยาวนาน

ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะเป็นหัวหอกแต่ในนาม ในความเป็นจริงแล้วมีลักษณะการตัดสินใจที่เน้นให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นกันผ่านทางกระดานข่าวออนไลน์และแอพพลิเคชันส่งข้อความ รวมถึงเป็นที่ๆ ใช้ในการรวมกลุ่มนัดหมายชุมนุมด้วย มีผู้ใช้งานโปรแกรมส่งข้อความอย่างเทเลแกรมเพิ่มมากขึ้นและมีผู้คนสมัครเข้ากลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ชุมนุมจนล้นขีดจำกัดผู้สมัคร 200,000 ราย และหลังจากนั้นทางการไทยก็ประกาศสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อกแอพพลิเคชันเหล่านี้

นอกจากการนัดชุมนุมแล้วยังมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในโลกออนไลน์เพื่อการวางแผนประสานงานกันเช่นบอกว่ามีตำรวจอยู่ที่จุดไหน รวมถึงมีการตัดสินใจด้วยการโหวตซึ่งเป็นลักษณะแบบเดียวกับกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้ประท้วงฮ่องกง เช่นในหน้าเพจเฟสบุคของเยาวชนปลดแอกมีการให้โหวตโดยอาศัยการกดปุ่มอีโมติคอนโต้ตอบระหว่าง "แคร์" กับ "ว้าว" เพื่อวัดว่าจะหยุดพักหรือจะชุมนุมในวันนั้น

เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้ศึกษาด้านการเมืองดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่าผู้ประท้วงไทยพยายามทำให้โครงสร้างในการเคลื่อนไไหวเป็นแนวระนาบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงเปิดให้มีส่วนร่วมทางการนำทำให้มีผู้นำมาแทนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ต่างจากการประท้วงในอดีตที่มักจะมีการเน้นตัวบุคคลของแกนนำที่มักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงอิทธิพลอยู่แล้ว การเน้นขบวนการแบบที่สุดคนคือผู้นำยังกลายเป็นการปกป้องตัวเองจากการปราบปรามของรัฐได้ด้วย

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือการใช้สัญญาณมือในการสื่อสาร ที่เป็นการยืมมาจากขบวนการประท้วงในฮ่องกงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการไขว้นิ้วที่สื่อว่ามีคนบาดเจ็บ ถูกทำร้าย หรือถูกอุ้ม หรือการชูนิ้ววนเป็นวงกลมเป็นการเตือนว่ามีการสลายการชุมนุม เป็นต้น การใช้สัญญาณมือเช่นนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการสื่อสารกับฝูงชนจำนวนมากซึ่งการประท้วงในฮ่องกงเคยทำมาก่อน และในไทยก็นำมาใช้โดยให้ข้อมูลในเรื่องสัญญาณมือนี้ผ่านทางอินโฟกราฟฟิกที่แชร์ตามโซเชียลมีเดีย

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์กล่าวว่าการที่ผู้ชุมนุมถูกยึดเครื่องขยายเสียงไปทำให้พวกเขาต้องใข้เครื่องมือสร้างสรรค์แบบใหม่

ทั้งนี้ในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาผู้ประท้วงในไทยยังใช้วิธีการที่เรียกว่า "โทรศัพท์ป่า" คือการสื่อสารบอกต่อกันเป็นทอดๆ เช่นตอนที่มีคนตะโกนว่ารถฉีดน้ำปราบผู้ชุมนุมกำลังมาก็จะมีกการตะโกนต่อกันเป็นทอดๆ จากผู้ชุมนุมด้านหน้าไปจนถถึงผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหลัง ทำให้ผู้ชุมนุมสลายตัวก่อนที่รถปราบผู้ชุมนุมจะมาถึง

ข้อสังเกตใหญ่ๆ อย่างที่สามคือการประท้วงที่สื่อข้ามพรมแดนไปถึงต่างประเทศอื่นๆ จนทำให้เกิดแฮชแท็กสนับสนุนการประท้วงในไทยจากผู้คนประเทศอืนๆ ถึงแม้ว่าการประท้วงในไทยและฮ่องกงจะมาจากความเจ็บปวดไม่พอใจจากประเด็นในประเทศตัวเองแต่นักกิจกรรมก็เล็งเห็นว่าสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญมีความคล้ายคลึงกัน

บีบีซีระบุว่าในไทยต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกและมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีอำนาจอิทธิพลและมีกฎหมายคอยปกป้อง ในฮ่องกงมีการเรียกร้องให้ผู้ว่าการฮ่องกงแคร์รี แลม ลาออกและเรียกร้องให้มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงประท้วงต่อต้านการที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นทำให้ทั้งสองพื้นที่ต่างก็มองเห็นการต่อสู้ดิ้นรนเรียกร้องประชาธิปไตยของกันและกันจนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "พันธมิตรชานม" ที่เป็นการผูกพันธมิตรจากในโลกออนไลน์ระหว่าง ไทย, ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งสื่อถึงเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในทั้งสามพื้นที่

แกนนำการชุมนุมในไทยเองก็มักจะบอกว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากขบวนการเคลื่อนไหวในฮ่องกง และนักกิจกรรมฮ่องกงก็แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วงไทยโดยให้คำแนะนำเรื่องเครื่องป้องกันที่ควรจะสวมใส่ เรื่องความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต และเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

นอกจากนี้นักกิจกรรมชื่อดังในฮ่องกงคือโจชัว หว่อง มักจะทวีตในเชิงสนับสนุนการประท้วงไทยอยู่เป็นประจำพร้อมแฮชแท็ก #StandWithThailand เช่นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาทวีตข้อความว่า "ประชาชนไม่ควรจะกลัวรัฐบาล รัฐบาลควรจะกลัวประชาชนของตัวเอง"

มีการตั้งข้อสังเกตจากมักวิชาการอีกว่าผู้ประท้วงคนรุ่นใหม่ทั้งสองแห่งเก่งมากในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ วาสนา ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าวัฒนธรรมการประท้วงในไทยปี 2563 เป็นวัฒนธรรมที่มีพื้นเพมาจากอินเทอร์เน็ต การที่มีนักเรียนนักศึกษาออกมาต่อสู้กับรถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก็สน้ำตาเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว

บริดเจต เวลช์ ผู้ช่วยนักวิจัยเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมในมาเลเซียกล่าวว่า ลักษณะการประท้วงกำลังเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทยกับฮ่องกง หรืออินโดนีเซีย และมาเลเซีย นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ต้องปรับตัวกับอำนาจนิยมที่กำลังเติบโตมากขึ้นในโลกโลกาภิวัตน์ทำให้พวกเขาต้องนำยุทธวิธีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยพลังของเทคโนโลยีและการนำเสนอด้วยภาพมาใช้

เรียบเรียงจาก
Thailand protest: Why young activists are embracing Hong Kong's tactics, BBC, 22-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท