Skip to main content
sharethis

ขยายผลจ้างงาน 9 จังหวัด ให้อาชีพแรงงานกลับภูมิลำเนาพัฒนาบ้านเกิด

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ กล่าวว่าโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจ และสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทอง หลังพระ ภายหลังเกิดความสำเร็จเป็นอย่างดีจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ในเวลาเพียง 5 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ค.2563

สำหรับโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ จะจ้างแรงงานผู้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาทั้งหมด 9 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบของปิดทองหลังพระ ได้แก่ น่าน อุทัยธานี เพชรบุรี อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประมาณ 450 โครงการที่แตกต่างกันตามสภาพท้องถิ่น ปัญหาความต้องการ ความพร้อมของชุมชนผ่าน การทำประชาคมของแต่ละจังหวัด อาจรวมถึงจังหวัดอื่นที่มีความต้องการและพร้อมดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาของปิดทองหลังพระมีการศึกษาวิเคราะห์ผลลัพธ์ และผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ทั้ง 9 จังหวัด คาดว่าแหล่งน้ำที่จะได้รับการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพ 450 โครงการ คาดว่า 22,500 ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จะสามารถมีน้ำทำการเกษตรลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 3,266 บาท ต่อเดือน เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 126,000 ไร่ น้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 99 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีรายได้ 882 ล้านบาทต่อปี

โดยรูปแบบการทำงานปิดทองหลังพระ เป็นผู้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ประชาชนมีส่วนร่วมสละแรงงาน ส่วนงานที่ยาก และใช้เวลาสามารถใช้เครื่องจักรกลได้ หรือกรณีต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเฉพาะก็สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดำเนินการได้ เป็นการทำงานตามแนวทางในพื้นที่ต้นแบบ และประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่

“จากประสบการณ์จ้างงานพื้นที่ 3 จังหวัดอีสานรวม 352 คน ลงทุนไป 65 ล้านบาท ชาวบ้านได้ประโยชน์ 217 ล้านบาท หรือลงทุน 1 บาท จะได้เงินคืนที่ชาวบ้าน 3.3 บาท และที่ สำคัญคนที่เราจ้างงานไว้ประมาณ 54% ไม่คิดจะกลับไปทำงานนอกพื้นที่ เราทำเล็ก แต่ได้ใหญ่ แหล่งน้ำบางแห่งใช้เวลา 8 วันเสร็จ ชาวบ้านได้ใช้น้ำทันที”

สำหรับคนเหล่านี้เป็นคนวัยทำงาน มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ก็นำความรู้ของเขามาช่วยงานของสถาบัน เป็นอาสาสมัครพัฒนาพื้นที่ช่วยประสานงานทำโครงการร่วมกับคนในหมู่บ้าน บางคนเป็นบ้านเกิดของตนเอง จึงพูดคุยหารือกับคนในหมู่บ้านได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสให้คนเหล่านี้ได้มาเรียนรู้แนวพระราชดำริ หลักการทรงงานแท้จริงโดยลงมือปฏิบัติ และมีโอกาสกลับมาช่วยเหลือบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง ถือเป็นงานที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งนี้ พอระบบน้ำสำเร็จ ก็มีการเดินหน้าทำงานต่อด้วยการวางแผนการทำเกษตรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับระบบน้ำที่ได้ตลอดทั้งปี อาทิ การทำนาหลังการเก็บเกี่ยวแล้วจะปลูกพืชหลังนาอะไรบ้างที่ทำรายได้ให้กับครัวเรือน เป็นการวางแผนตลอดปี

“เขาจะมีรายได้ตลอดปี เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักก็ได้ อย่างน้อยก็มีพืชผักอาหารไว้กินที่บ้านไม่ต้องซื้อ เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ จะไปสร้างมูลค่าต่อด้วยการหาตลาด ทำส่งขายก็สามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง ...การทำงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายหลักก็คือ ครัวเรือน ชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการพัฒนาต้องขึ้นอยู่กับความต้องการชาวบ้านเป็นหลัก ไม่ได้มีใครไปบังคับ เขามองเห็นปัญหาของตนเองแล้วร่วมมือแก้ไข สุดท้ายก็เกิดประโยชน์กับตัวเอง” คุณชายดิศกล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/10/2563

หนุนธุรกิจฟู้ดทรัคสร้างอาชีพให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมนำโมเดลธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) มาช่วยแก้ปัญหาการว่างงานสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งการเป็นเจ้าของประกอบกิจการเอง และเป็นลูกจ้างในธุรกิจเบื้องต้น โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าประสานผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มฟู้ดทรัคร่วมกันผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถช่วยเหลือผู้ที่กำลังว่างงาน หรือกำลังมองหาโอกาสในการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งผลักดันให้ธุรกิจฟู้ดทรัคเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยการนำกิจการมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งกิจการฟู้ดทรัคมีราคารถยนต์และอุปกรณ์ที่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการรับกิจการฟู้ดทรัคเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อทำได้ง่าย สะดวก เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจเตรียมจัดงานฟู้ดทรัคมาร์ท (Food Truck Mart ) ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการจัดงานเกี่ยวกับธุรกิจฟู้ดทรัคครั้งแรกของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้และความเข้าใจในรายละเอียดของธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างถ่องแท้ ภายในงานแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การให้ความรู้แก่ผู้สนใจจะประกอบธุรกิจฟู้ดทรัค โดยกูรูด้านฟู้ดทรัคโดยเฉพาะ คือ อาจารย์ญาณเดช ศิรินุกูลชร ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์องค์กร/เครือข่าย/ธุรกิจฟู้ดทรัค ให้ความรู้และบรรยายในหัวข้อ ?เริ่มธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างไร...ให้สำเร็จ? ณ ห้องม่วงมงคล ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

2) การออกงานแสดงสินค้า 'ฟู้ดทรัคมาร์ท' ณ บริเวณเต้นท์ตลาดนัด ภายในกระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี โดยมีผู้ประกอบการฟู้ดทรัคทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า เพื่อแสดงศักยภาพและให้เห็นถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินเข้าร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจที่ต้องการลงทุนในธุรกิจฟู้ดทรัค เช่น ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน เอสเอ็มอีดีแบงก์ ฯลฯ เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจฟู้ดทรัคกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศเริ่มเข้าสู่ตลาด ขยายสาขา และขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปของฟู้ดทรัคมากขึ้น เนื่องจากมีองค์ประกอบการดำเนินธุรกิจที่คล่องตัว เคลื่อนที่ไปหากลุ่มลูกค้า (ผู้บริโภค) ได้ทุกที่ในลักษณะการตลาดเชิงรุกที่สามารถกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้น และไม่ต้องจัดหาสถานที่ในการตั้งร้านที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชาชนต้องมีความระมัดระวังทั้งการเดินทาง การสัมผัสสิ่งของ และสุขอนามัย ทำให้ธุรกิจฟู้ดทรัคมีอัตราการขยายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ง่ายต่อการจดจำของผู้บริโภค เป็นการยกระดับจากร้านอาหารแผงลอยสู่ร้านอาหารเคลื่อนที่ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจฟู้ดทรัคกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดทรัคทั่วประเทศประมาณ 2,500 คัน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,600 ล้านบาทต่อปี

"ขอเชิญชวนผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจเข้าร่วมงานฟู้ดทรัคมาร์ท โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4939 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th" นายวีรศักดิ์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 23/10/2563

แกนนำแรงงานพบ รมว.แรงงาน ติดตามข้อเรียกร้องตามยุทธการ 3 ขอ+1 ขอ (ขอคืน ขอกู้ ขอเลือก+ของานทำ)

22 ต.ค. 2563 นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย แกนนำกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม และคณะ จำนวน 30 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามข้อเรียกร้องตามยุทธการ 3 ขอ + 1 ขอ (ขอคืน ขอกู้ ขอเลือก+ของานทำ) และความคืบหน้าเรื่องร้องขอความช่วยเหลือกรณีลูกจ้าง บริษัท ยูนิสัน แพน (เอเซีย) จำกัด จ.นครราชสีมา และ บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมมอบกระเช้าแสดงความขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 วันนี้ เมื่อผู้ใช้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ลงมารับฟังสภาพปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้วยตนเอง

"สำหรับการหารือในประเด็นข้อเรียกร้องและการขอความช่วยเหลือต่างๆ ของกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมในวันนี้ ผมได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงประเด็นการขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการแก้ไขกฎหมาย ส่วนประเด็นการหางานให้ผู้ว่างงาน ได้มอบหมายให้ นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ประสานข้อมูลรายชื่อผู้ถูกเลิกจ้างที่ต้องการมีงานทำ พร้อมทั้งได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจ้างงานตามโครงการจ้างงานเร่งด่วนต่อไป ขณะที่ประเด็นการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกรณีว่างงานได้ทันทีนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะได้ชี้แจงหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และขัด พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ หรือไม่"นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีอดีตลูกจ้างบริษัทแห่งหนึ่ง ร้องขอความช่วยเหลือกรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามคำสั่งจากนายจ้าง จึงมอบหมายให้ กสร.ดำเนินการ และเสนอแนะให้เพิ่มบทลงโทษนายจ้าง ส่วนขอร้องเรียนกรณีบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งปิดกิจการชั่วคราว แต่ยังให้ลูกจ้างมาทำงานตามปกติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้มอบหมายให้ กสร.เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/10/2563

อสมท. จ่อเปิดเออร์รี่รีไทร์ ลดพนักงานให้เหลือ 700 คน

22 ต.ค. 2563 นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน อสมท. มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจการของ อสมท. ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินจากการโฆษณา ซึ่งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลทำให้เม็ดเงินดังกล่าวถูกตัดแบ่งออกไปสู่ช่องทีวีรายใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนผู้ชมโทรทัศน์และผู้ฟังวิทยุลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ถูกโยกไปสู่สื่อดิจิทัลอื่นๆ เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ทำให้มีความจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง

โดยกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ประมินธุรกิจลักษณะดียวกับ อสมท. ว่าจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในอนาคตคือ 700 คน ในขณะที่ปัจจุบัน อสมท. มีพนักงานมากถึง 1,300 กว่าคน ไม่รวมถึงลูกจ้าง ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ อสมท. พิจารณาจัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) เพื่อปรับลดพนักงานให้เหมาะสม โดยฝ่ายบริหารแนะนำให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ควรมีเป้าหมายในการบริหารจัดการเงินที่ได้รับจากโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อสมท. ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนิน โครงการ MSP โดยฝ่ายบริหารจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ภายหลังจากการดำเนินโครงการ MSP ในทันที

"คณะกรรมการและฝ่ายบริหารของ อสมท. จะมุ่งมั่น พลิกฟื้นให้ได้ในอนาคต และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมโครการ MSP เพราะท่านคือผู้เสียสละที่จะทำให้ อสมท. สามารถปรับตัวและอยู่รอดต่อไปได้และขอขอบคุณพนักงานที่ยังอยู่กับ อสมท. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ผ่านพันวิกฤตินี้ไปได้" นายสิโรตม์ กล่าว

ที่มา: TNN, 22/10/2563

รมว.แรงงานสั่ง สปส.ช่วยเหลือผู้ประกันตนเจ็บ/ตายจากเหตุท่อก๊าซฯ ระเบิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเหตุท่อส่งก๊าซระเบิดที่ จ.สมุทรปราการ ในวันนี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเสียใจมายังญาติผู้เสียชีวิต และมีความห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบสถานะความเป็นผู้ประกันตนของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมประสานญาติเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นายสุชาติ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.10 น. ขณะลูกจ้างของโครงการก่อสร้างได้บังคับรถแบ็กโฮขุดเจาะไปโดนท่อส่งแก๊ส NGV ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่บริเวณริมถนน ส่งผลให้ท่อก๊าซรั่วไหล ก่อนจะเกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้ขึ้นมา ที่โครงการก่อสร้างขยายถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ถนนเทพราช-ลาดกระบัง) ตรงบริเวณด้านหน้าโรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าที่โรงพยาบาลบางบ่อ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ผู้ประกันตน ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย เป็นผู้ประกันตน 1 ราย ชื่อนางสุมิตรา ชิตามอร์ ทำงานที่สำนักงานการประถมศึกษา พื้นที่ 6 แพทย์ให้นอนพักรักษาตัว ที่โรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1 ราย ชื่อ นางสาวสุรีวรรณ สนเจริญ แพทย์ให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ไม่ใช่ผู้ประกันตน ที่โรงพยาบาลบางเสาธง มีผู้บาดเจ็บ 8 ราย เป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1 ราย ชื่อคุณจิราภรณ์ เกตุศิริ อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลของแพทย์ ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/10/2563

เปิดรับสมัครคัดเลือกและจัดส่งคนหางานไปทำงานที่เกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 28 – 31 ต.ค. 2563 ไม่เสี่ยงถูกหลอกเสียเงินฟรี

แฟนเพจ ไทยคู่ฟ้า ได้โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์ถึงแรงงานที่ต้องการไปทำงานเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย และไม่เสี่ยงถูกหลอกว่า ทางกระทรวงแรงงานเปิดรับสมัครคัดเลือกและจัดส่งคนหางานไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยต้องผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงานตามที่ทางการเกาหลีใต้กำหนด

ประเภทงานที่รับสมัคร คือ งานก่อสร้าง รับเฉพาะเพศชาย งานเกษตร/ปศุสัตว์ รับทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุ 18 – 39 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญา ไม่เคยถูกปฏิเสธการเข้าเกาหลีใต้ ฯลฯ โดยจะเปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 28 – 31 ต.ค. 63

สามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกประเภทกิจการ ศูนย์ที่จะสมัคร และวันที่สมัครได้ที่ toea.doe.go.th ได้จนถึงวันปิดรับสมัคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 0 2245 9429 หรือ 0 2245 6716 หรือ สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด หรือ โทร.สายด่วน 1506 กด 2

ที่มา: ช่อง 7, 22/10/2563

รมช.แรงงาน หารือตัวแทนคนพิการ 5 ประเภท หาแนวทางช่วยเหลือคนพิการ 3 มิติ ได้แก่ การฝึกอาชีพ การมีงานทำ และความเสมอภาคทางสังคม

21 ต.ค. 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือ ความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการรองรับการประกอบอาชีพ โดยมีผู้แทนคนพิการ 5 ประเภท เข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ ปัญหา อุปสรรค และความต้องการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพของคนพิการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย)

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยเหลือดูแลคนพิการ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือให้คนพิการและครอบครัว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นไปตามแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้ภารกิจของกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะให้กับคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินงานเพียงหน่วยงานเดียวนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือผู้พิการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างทั่วถึง จึงต้องบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมขึ้น โดยมีตัวแทนสมาคมคนพิการร่วมเป็นคณะอนุกรรมการร่วมดังกล่าวด้วย เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) พิจารณาแต่งตั้งอีกครั้ง และในวันนี้จัดประชุมขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่คนพิการ ความต้องการที่จะให้ภาครัฐช่วยเหลือ ทั้งการฝึกทักษะ การจ้างงานและการสร้างความเสมอภาค และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้

ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลและประเด็นต่างๆ เช่น ภาครัฐมีความต้องการจ้างงานคนพิการประมาณ 8,000 อัตรา แต่พบว่าไม่สามารถจัดหาคนพิการที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการได้ จึงเสนอให้มีการวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าวและหาแนวทางที่จะผลักดันให้คนพิการเข้าไปทำงานในภาครัฐได้ และภาครัฐควรเป็นตัวอย่างในการจ้างงานคนพิการ เพิ่มอัตราการจ้างให้สูงขึ้นเป็น 100 คน : 2 คน ขาดฐานข้อมูลการจ้างงานคนพิการ การส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานเมื่อมีการจ้างคนพิการเข้าทำงาน นายจ้างบางส่วนที่ยังไม่ดำเนินการ จึงอยากให้กระทรวงแรงงานสร้างความเข้าใจให้นายจ้างกลุ่มดังกล่าว ส่วนกลุ่มคนพิการที่ไม่เห็นเชิงประจักษ์ เช่น ออทิสติก กลุ่มนี้ต้องการการฝึกอบรมอาชีพ เช่น การฝึกอาชีพหลัง New Normal รวมถึงการมีระบบ Job coach (มีพี่เลี้ยง) / Job Club ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเสนอให้ช่วยผลักดันให้เอกชนจ้างงานคนพิการทุกประเภท เพื่อให้คนพิการที่ไม่เห็นประจักษ์ได้มีโอกาสเข้าทำงาน โดยต้องเป็นการจ้างงานอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การจ้างแบบปีต่อปี บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานฝึกอบรมคนพิการหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือองค์การคนพิการเข้ามาร่วมกำกับดูแล จัดการฝึกอบรมให้ได้มาตรฐาน พัฒนาทักษะอาชีพคนพิการให้มีทักษะอาชีพที่หลากหลายขึ้น เช่น คนตาบอด จะต้องประกอบอาชีพได้มากกว่าการเป็นพนักงานนวด เช่น อาชีพโปรแกรมเมอร์ การขายออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ หากคนพิการได้รับการฝึกอย่างจริงจัง จะสามารถเข้าทำงานในภาคเอกชนได้มากขึ้น ยกระดับคนพิการสู่ Social Enterprise มีการจัดมหกรรมสินค้าคนพิการเพื่อพิจารณาว่าสินค้าใดควรได้รับการสนับสนุนต่อไป โดยจัดหาตลาดรองรับการจำหน่ายสินค้าเหล่านั้น ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนในการจ้างงานคนพิการ ประเด็นด้านอื่นๆ หากสามารถช่วยผลักดันและนำเสนอต่อรัฐบาลคือ ในเรื่องเบี้ยยังชีพ ให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าถึงเบี้ยยังชีพคนพิการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนพิการ การแบ่งโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

“การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือคนพิการ จะสำเร็จได้เกิดจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย เบื้องต้นขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นหลักและนำเสนอรายงานปัญหาอุปสรรคด้านการจ้างงานคนพิการในภาครัฐ เช่น เรื่องกรอบอัตรา งบประมาณ ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป” รมช.แรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/10/2563

การบินไทย เปิดโครงการสละเพื่อองค์กร สมัครใจลาออก จ่ายชดเชย 14.33 เดือน หรือลายาว 6 เดือน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่านายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ได้ ออกประกาศบริษัทฯ เรื่อง "โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563" หลังปัจจุบันเงินสดที่บริษัทมีอยู่ ณ ขณะนี้อาจจะมีไม่เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานไปจนถึงเวลาที่ที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลล้มละกลางจะให้ความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการ จึงมีการออกประกาศโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

1. โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan A (MAP A)

- พนักงานที่สมัครใจลาออก จะได้รับค่าชดเชยสูงสุด 14.33 เดือน โดยเป็นเงินค่าตอบแทนตามค่าชดเชยตามกฏหมายแรงงาน บวกเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีก 1 เดือนขอเงินเดือนสุดท้ายของพนักงาน

- พนักงานที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าโครงการ การลาออกจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โดยพนักงานจะทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเงินตอบแทน จะแบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็นรายเดือนจำนวน 12 งวดในอัตราเท่ากัน จ่ายงวดแรกภายในเดือนมิถุนายน 2564 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน

2. โครงการลาระยะยาว (LW20) ซึ่งพนักงานที่ร่วมโครงการนี้จะมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B)

- พนักงานที่เสียสละสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และได้รับการอนุมัติจากบริษัท จะตกลงลาระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน2563 - วันที่30 เมษายน 2564 โดยบริษัทจะนับอายุงานของพนักงานต่อเนื่องตลอดระยะเวลาลา

- พนักงานจะได้รับเงินรายเดือนตลอดระยะเวลา ในอัตราร้อยละ20 ของเงินเดือนสุดท้าย หรือของเงินเดือนเดิมของพนักงานก่อนการปรับลด หากพนักงานเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของบริษัทพนักงานจะไม่ได้รับเงินสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่น ๆ นอกจากเงินรายเดือนดังกล่าวตลอดระยะเวลาลา

ขณะที่ร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B) จะให้สิทธิเฉพาะพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการ LW20 ซึ่งพนักงานจะได้รับค่าชดเชยสูงสุด 17.33 เดือน โดยเป็นเงินค่าตอบแทนตามค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีก 4 เดือนของเงินเดือนสุดท้ายของพนักงาน

ทั้งนี้บริษัทจะประกาศให้พนักงานสมัครใจเสียสละเข้าร่วมโครงการ MAP B อีกครั้งประมาณเดือน มีนาคม 2564 หลังจากศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ และบริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรและสภาพการจ้างแล้ว และบริษัทจะแจ้งผลการพิจารณาอนุมัติให้พนักงานทราบประมาณเดือน เมษายน 2564 ซึ่งการลาออกจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 โดยพนักงานจะทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยจะแบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็นรายเดือนจำนวน 12 งวดในอัตราเท่ากัน จ่ายงวดแรกภายในเดือนมิถุนายน 2564 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 16/10/2563

ครม. เห็นชอบ แผนการขับเคลื่อนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ 7 กลุ่มอาชีพ

20 ต.ค. 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนการขับเคลื่อนกำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อที่จะเป็นการสร้างมาตรฐานการวางคุณวุฒิของประเทศชาติ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จนถึง ปริญญาเอก วางมาตรฐานเป็นระดับและสามารถเปรียบเทียบได้ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำให้มาตรฐานของประเทศไทยสามารถเทียบเคียงได้กับประเทศเพื่อนบ้านในบางประเทศ ขณะเดียวกันภายในประเทศไทยเอง กรอบคุณวุฒิดังกล่าวจะทำให้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษา เปรียบเทียบได้กับมาตรฐานของแรงงานที่เป็นสายวิชาชีพ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนดังกล่าวจะครอบคลุมใน 7 อาชีพหลัก ได้แก่ 1.โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2.โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3.หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 5.อาหารและการเกษตร 6.ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ 7.แม่พิมพ์ เพื่อที่จะต่อยอดว่าเราจะมาสามารถกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในอาชีพอื่นๆ ได้อีกหรือไม่

“เรื่องนี้ผมมองว่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้เด็กที่จบการศึกษาสายอาชีพ สามารถไปเทียบฝีมือแรงงาน เพื่อรับประกาศนียบัตร ขณะเดียวกันเมื่อเด็กมีประสบการณ์การทำงานก็สามารถนำมาเทียบเคียงและใช้เป็นทักษะในการเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาต่างๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประเทศไทย” รมว.ศธ.กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 20/10/2563

ชง ครม.ปลดล็อค 'แรงงานเมียนมา' ตกค้าง 'แม่สอด' ทำงานต่อในไทย

19 ต.ค. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด19 ในอ.แม่สอด จ.ตากว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่อ.แม่สอด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ทำให้รับทราบในหลากหลายมิติ อย่างเช่น มีแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในพื้นที่อ.แม่สอดร่วมหมื่นคนแต่ไม่มีใครจ้างงาน เนื่องจากการเข้ามานั้นหากโดย บริษัท ก.เป็นคนนำเข้าก็ต้องทำงานกับบริษัท ก. ไม่สามารถไปทำงานกับบริษัทม ข.ได้ เมื่อบริษัท ก.ไม่จ้างงานจึงทำให้ว่างง่าน ทั้งที่บริษัท ข.มีความต้องการแรงงาน เป็นสิ่งที่กำลังเดินสวนทางกันอยู่

จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ในการพิจารณาจัดหาแหล่งทำงานให้แรงงานที่อยู่ในฝั่งไทยอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นผู้ที่ไม่มีเชื้อ แต่หากขอนำเข้ามาใหม่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้ามาและเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัมที่จะนำเข้าเพราะต้องจ่ายค่ากักกันตัวให้แรงงานที่เข้ามาใหม่ 14 วัน อย่างบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งขออนุญาตนำเข้าแรงงาน 3,000 คนก็ต้องมานั่งลุ้นอีกว่าจะปลอดเชื้อหรือไม่ ขณะที่มีแรงวงานอยู่ในไทยนั่งรออยู่แล้วแต่จ้างงานไม่ได้ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ต.ค. 2563 จะนำเข้าหารือเพื่อปรับระบบและจัดสรรสถานที่ทำงานในการรับช่วงแรงงาน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่าจากการคัดกรองผู้สัมผัสและการค้นหาเชิงรุกในชุมชนกว่า 4,900 คน พบการติดเชื้อที่รายงานแล้วคือ 2 สามีภรรยา ลูกและหลานรวม 5 คน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคนอื่นผลการตรวจหาเชื้อรอบแรกเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ แต่จะมีการตรวจซำอีกครั้งเนื่องจากอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวของโรคและจะมีการเฝ้าระวังจนครบ 14 วันและบางรายเข้าอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนดในพื้นที่แล้ว และอยู่ระหว่างคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตากพิจารณาว่าจะต้องตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนใดเพิ่มเติมหรือไม่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/10/2563

เห็นชอบร่างแรกทิปรีพอร์ต ประจำปี 2563 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ 109 คดี

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 6/2563 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแรกของรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2563 แล้ว มีผลการดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ

ดังนี้ 1.ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายมีการนำเสนอสถิติการปราบปรามดำเนินคดีค้ามนุษย์ 109 คดี เป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจำนวนมากที่สุด 95 คดี การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยึดหลักผู้เสียหาย เป็นศูนย์กลางในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

2.ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ : พัฒนาระบบการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย และการเตรียมการรองรับการดูแลกลุ่ม ผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ การพัฒนา Mobile Application “PROTECT-U” เป็นช่องทางช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายและการแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์

3.ด้านป้องกัน : การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด

นางพัชรีกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจะนำร่างดังกล่าวรายงานเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรี และส่งให้สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดระดับประเทศ ไทยในรายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 ต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/10/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net