Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้ประท้วงชาวไทย หน้าศาลโลก กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ กับข้อความที่ว่า ‘Ik ben ราษฎร’ หรือ ฉันคือราษฎร อยากบอกคนที่ไทยให้รู้ว่าไม่ได้สู้ตามลำพัง ชี้ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 สะท้อนความผิดปกติของประชาธิปไตยแบบไทยๆ พร้อมวิเคราะห์ความเหมือนที่แตกต่างของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ‘Ik ben ราษฎร’ ข้อความสีขาว แปลเป็นไทยว่า ฉันคือราษฎร ปรากฎบนเสื้อของคนไทยผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านเผด็จการหน้าศาลโลก พวกเขาจัดการชุมนุมครั้งนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการสลายการชุมนุมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย

“วันที่ 16 ที่มีข่าวว่ารัฐบาลฉีด water canon ใส่นักศึกษา ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมมากเลยครับ เพราะภาพที่ผมเห็นคือเพื่อน ๆ ทุกคนไปอย่างสันติ แม้ว่าตัวผมจะอยู่ที่นี่ แต่ผมนอนไม่หลับเลย เพราะวันนั้นความรู้สึกผมอยู่ที่ไทย” กฤษ เล่าความรู้สึกขณะติดตามข่าวในประเทศไทยในวันสลายการชุมนุมซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ แม้จะอยู่ไกล แต่คนรุ่นใหม่ที่นี่ก็ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และข้อเรียกร้องของกฤษก็ไม่ต่างจากคนที่ไทย

“ผมต้องการเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา รับผิดชอบต่อการกระทำของท่าน ตั้งแต่การยึดอำนาจและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ตนและพวกพ้องร่างขึ้น ส่งผลให้มีความได้เปรียบในระบบรัฐสภาอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ฝ่ายขั้วตรงข้ามทางการเมืองโดนดำเนินคดีอย่างหนัก แต่ฝ่ายตนเองกลับรอดพ้นทุกข้อกล่าวหาโดยไม่สนใจเสียงครหาของประชาชนแม้แต่น้อย ล่าสุดยังได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อใช้กำลังและทำการจับกุมประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาลโดยเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมได้ดำเนินอย่างสงบและสันติ นับเป็นการกระทำของรัฐบาลที่เกินกว่าเหตุเป็นอย่างมากครับ”

ภาพบรรยากาศการชุมนุมต่อต้านเผด็จการหน้าศาลโลก

รัฐธรรมนูญ 60 และความผิดปกติของประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

คนรุ่นใหม่ที่มาร่วมชุมนุมในวันนี้ เหมือนกับคนรุ่นใหม่อีกหลายคนในประเทศไทย พวกเขาไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้มานาน โดยเฉพาะการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ในสมัยคสช.และการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน

“จริง ๆ รอจังหวะนี้มานานแล้วนะคะ” ผึ้ง เกริ่นก่อนตอบคำถามว่าทำไมจึงตัดสินใจมาร่วมชุมนุมในวันนี้ 

“คือตั้งแต่ปี 2560 เราเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เราเห็นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ...มันเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป ถ้าเราจะพิจารณาแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะเห็นว่าเขาพยายามจะจำกัดอำนาจของประชาชน...มันกลายเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันแค่ผ่านพิธีกรรมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง คนที่อยู่ข้างบนสุดของอำนาจ”

เธอเป็นหนึ่งในคนปราศรัยเรื่องความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นภาษาอังกฤษ โดยหวังจะสื่อสารกับคนต่างชาติให้ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

“สิ่งที่เราทำได้คือ เรา call for action ว่ามันคือความผิดปกติของระบบ มันคือระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะกดให้คนอยู่ใต้อำนาจ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย หลาย ๆ คนบอกว่าประชาธิปไตยในเมืองไทยมันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเหมือนตะวันตก ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยตามแบบของกรีก หรือประชาธิปไตยตามแบบของสหรัฐฯ ใช่ มันไม่จำเป็น แต่สิ่งที่เราไม่มีเลย คือเราไม่มีหลักการประชาธิปไตย เราไม่ทำตามหลักการ มันไม่ใช่ fair game”

ความเหมือนที่แตกต่างของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เนเธอร์แลนด์และประเทศไทยมีระบอบการปกครองเดียวกันคือกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ที่สำคัญ เนเธอร์แลนด์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรปที่ยังคงมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี กฎหมายมาตรานี้เคยถูกถกเถียงในสภาฯ อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาในปี 2559 จากเหตุชาวดัตช์วัย 44 ปีถูกจำคุกเป็นเวลา 30 วันด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมากจนคนดัตช์จำนวนไม่น้อยแทบไม่รู้เลยว่าประเทศของตัวเองยังคงมีมาตราเก่าแก่นี้อยู่

“วันหนึ่งคุยกันเรื่องการเมืองไทย หนูก็หันไปถามเพื่อนคนดัตช์ว่า ‘ยูรู้ใช่ไหมว่าเนเธอร์แลนด์ก็มี Lèse-majesté law เหมือนกันนะ’ เพื่อนก็หันมามองด้วยสีหน้าว่างเปล่าแล้วบอกว่า ‘จริงเหรอ?’ (ขำ) เขาไม่รู้เลยเพราะไม่ค่อยมีใครได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ และสื่อที่นี่ก็วิจารณ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าใครตามข่าวดัตช์ตอนนี้ มีข่าวคนกำลังวิจารณ์ว่าคิงและครอบครัวไปพักผ่อนที่ประเทศกรีซ แล้วมันไม่เหมาะสม เพราะคุณเป็น Head of State คุณไม่ควรไปตอนช่วงโควิด สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือคิงออกมาขอโทษอย่างจริงใจ หนูคุยกับคนดัตช์เรื่องนี้ เขาบอกว่า เดี๋ยวเดือนหน้าคนก็ลืม เพราะอย่างน้อยมันเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้ และคนสัมผัสถึงความจริงใจ ความต้องการที่จะอยู่ร่วมกับประชาชนอย่างสันติและอย่างมีเหตุมีผล”

เกรซ อีกหนึ่งผู้ปราศรัยในการชุมนุมเล่า เธอออกมาร่วมชุมนุมวันนี้เพราะเธอให้คุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและต้องการเปิดพื้นที่การพูดอย่างเสรี สร้างสรรค์ และเป็นเหตุเป็นผล นอกจากเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่สองประเทศแตกต่างกันแล้ว เกรซให้ความเห็นว่า โครงสร้างขั้นพื้นฐานของทั้งสองประเทศก็แตกต่างกันมาก รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ประเทศเนเธอร์แลนด์สนับสนุนมากกว่า ต่างจากการผูกขาดของกลุ่มนายทุนใหญ่ในเมืองไทย

แม้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์โดยภาพรวมจะดีกว่า แต่กฤษก็ตั้งใจอยากกลับไปประเทศไทยหลังเรียนจบ

“ผมอยากเห็นสังคมไทยดำเนินไปด้วยความเท่าเทียม ยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง อยากให้การเมืองไทยมีความสร้างสรรค์ อยากให้การถกเถียงในสภาอยู่บนพื้นฐานของสาระซึ่งจะนำพาผลประโยชน์สู่ประชากรส่วนรวม เลิกพฤติกรรมการดิสเครดิต สาดสีสาดโคลน เพื่อทำลายฝั่งตรงข้าม นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการรับฟังความเห็นต่างอย่างเท่าเทียมกันในสังคมไทย ตั้งแต่ระดับครูอาจารย์กับนักเรียน หัวหน้าองค์กรกับพนักงาน จนถึงระดับนายกฯ กับประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่การที่นอกจากนักเรียนจะเคารพและให้เกียรติคุณครูแล้ว ผมอยากให้คุณครูเคารพและให้เกียรติ(ความคิดเห็น)นักเรียนด้วย ซึ่งจะทำให้ทุกคนกล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน ยอมรับฟังความเห็นต่าง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถหาจุดยืนร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมได้อีกด้วย”

อยากบอกคนที่ไทยให้รู้ว่าไม่ได้สู้ตามลำพัง

คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะในช่วงจังหวะนี้ที่คนในประเทศไทยกำลังต่อสู้อย่างหนัก ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง นลินี ‘รู้สึกผิด’ จนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจนกลายเป็นการรวมตัวกันของคนไทยในเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ เพื่อที่จะบอกเพื่อน ๆ ที่ไทยว่า พวกเขาไม่ได้สู้อยู่คนเดียว

“รู้สึกผิดมากจากการที่มาใช้ชีวิตพริวิเลจที่นี่ คือที่นี่คุณภาพชีวิตมันดีหมดเนอะ ปั่นจักรยาน รถก็หยุดให้เราข้าม เราไม่เคยเจอสิ่งนี้ในไทย แค่นี้มันก็พิสูจน์ว่าเขาเคารพมนุษย์และคนเดินเท้าธรรมดาทั่วไปมาก แล้วชีวิตที่นี่มันดีทุกอย่าง ดีจนพอดูไลฟ์ ดูข่าวในเฟซบุ๊กแล้วแบบ  เห้ย เราใช้ชีวิตที่ดีมาก ในขณะที่เพื่อนเราพูดอะไรก็โดนจับ รุ้ง เพนกวิน ใครก็ตาม มันใช้ความกล้ามากที่จะพูดตรงนั้น ในขณะที่อยู่เนี่ย ถ้าอยากจะพูดอะไรก็พูดไปดิ พูดเลย แล้วก็สบายด้วย ก็เลยรู้สึกผิดไปใหญ่... ทนไม่ไหว ต้องออกมา เพื่อบอกเพื่อนว่าไม่ได้สู้อยู่คนเดียวนะ กูสู้กับมึง แม้ว่าพลังที่นี่จะดูไม่เยอะเท่าแต่เราสู้ แล้วก็ขอบคุณทุกคนที่สู้อยู่ที่ไทย ไม่ว่าจะเป็นคนขายปลาหมึกย่างหรือใครก็ตาม เขาอยู่ตรงนั้นเขาสู้เพื่อประโยชน์ของทุกคน” นลินีกล่าว

การชุมนุมครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนไทยในต่างประเทศต้องการร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพร้อมกับคนไทยในบ้านเกิด โดยเน้นสื่อสารให้กับคนต่างชาติ นี่เป็นการชุมนุมต่อต้านเผด็จการครั้งแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์นับตั้งแต่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยนำโดยคนรุ่นใหม่ได้เริ่มขึ้น ในกิจกรรมนี้มีคนไทยที่มีอุดมการณ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมผู้จัดการชุมนุมโดยไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด และทางทีมผู้จัดการชุมนุมกำลังวางแผนความเป็นไปได้ที่จะจัดครั้งต่อไปในอีกไม่นาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net