ศศิภา พฤกษฎาจันทร์: ...ในประเทศที่ไม่มีกระดูกสันหลังทางกฎหมาย

ประเทศที่ไม่มีกระดูกสันหลังทางกฎหมายเป็นอย่างไร คำอธิบายต่อจากนี้จะช่วยให้เห็นคำตอบ แต่ใช่ว่าสังคมไทยไม่มีหลักกฎหมาย มี แต่มันคืออำนาจนิยมทางกฎหมายที่มองกฎหมายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ มากกว่าบรรทัดฐานที่ควบคุมคนในสังคมอย่างเสมอหน้า

  • แนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นในบริบทที่อังกฤษกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ขณะที่ในสังคมไทยนำแนวคิดนี้เข้ามาเพื่อรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
  • สังคมไทยมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมทางกฎหมาย กล่าวคือตีความกฎหมายตามอำเภอใจและมองกฎหมายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ
  • ความย้อนแย้งสำคัญประการหนึ่งคือ ในสภาวะปกติ เรามักอ้างความคิดแบบสำนักกฎหมายธรรมชาติหรือสิ่งที่อยู่นอกระบบเพื่อล้มระบบ แต่ในสภาวะไม่ปกติ เรามักอ้างความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองว่าทุกคนต้องทำตามกฎหมาย
  • นิติรัฐคือการจำกัดอำนาจรัฐให้อยู่ภายใต้กฎหมาย หากการใช้กฎหมายไม่รับใช้วัตถุประสงค์ของนิติรัฐ แต่ใช้เพื่อขยายอำนาจรัฐ ย่อมไม่สามารถเรียกว่าเป็นนิติรัฐได้

 

ทฤษฎีทางนิติปรัชญาที่นักศึกษานิติศาสตร์ทุกคนต้องเรียนย่อมหนีไม่พ้นสำนักกฎหมายบ้านเมืองและสำนักกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งเป็น 2 สำนักกฎหมายที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดก็ว่าได้ เมื่อสำนักแรกให้นิยามว่ากฎหมายคือกฎหมายที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ไม่อาจนำคุณค่าอื่นนอกระบบเข้ามาแทรกแซงได้ ขณะที่สำนักหลังเชื่อว่ามีบางสิ่งที่มีคุณค่าเหนือกว่ากฎหมาย และหากกฎหมายขัดต่อคุณค่าดังกล่าวก็ย่อมไม่ใช่กฎหมาย

ย้อนกลับมาในประเทศไทย ถ้าถามว่าสังคมที่เราพักพิงอยู่นี้ยึดแนวคิดทางกฎหมายของสำนักใด คำตอบที่ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้คือ ไม่ยึดแนวคิดใดเลย

หากพอจะมีแนวคิดทางกฎหมายใดที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ยึดถือคงเป็นสิ่งที่เรียกว่า อำนาจนิยมทางกฎหมาย

ศศิภา กล่าวว่า วิธีใช้กฎหมายของไทยผันแปรไปตามผู้ถืออำนาจ พร้อมจะบิดผันได้ทุกเมื่อ กฎหมายจึงไม่ใช่หลักการหรือบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจ ซึ่งมันก็เป็นมาเช่นนี้นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การกล่าวว่า เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีกระดูกสันหลังทางกฎหมาย ...คงไม่ผิดจากความเป็นจริงสักเท่าใด

สำนักกฎหมายบ้านเมือง

ศศิภาที่ทำการศึกษาแนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง เพื่อแจกแจงให้เห็นว่าแนวคิดของสำนักนี้ไม่ใช่ผู้ร้ายดังที่สังคมไทยมักคิดไปในทางนั้น จอห์น ออสติน (John Austin) ผู้ที่อาจเรียกว่าเป็นต้นธารของแนวคิดนี้บอกว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งกลายเป็นภาพจำต่อสำนักกฎหมายบ้านเมืองในไทย

ประเด็นที่ศศิภาค้นพบคือ แนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองมีการพัฒนาไปจากยุคของออสตินมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักกฎหมายนำเอาแนวคิดของออสตินมาใช้กลับเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อการเกิดเป็นอำนาจนิยมทางกฎหมาย

“ทำไมสถานการณ์ในไทยจึงเป็นแบบนี้ หนึ่ง บริบทของประเทศไทยตอนที่รับเอาความคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองแบบออสตินผ่านทางพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เรารับมาในบริบทที่ต่างจากอังกฤษในช่วงนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองกำเนิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 ยุโรปในสมัยนั้นกำลังได้รับอิทธิพลจากความคิดแบบรัฐสมัยใหม่ กำลังมีการปฏิรูปรัฐชาติ กำลังทำให้เป็นรัฐโลกวิสัย ไอเดียที่เกิดขึ้นมาแล้วคือประชาธิปไตยเริ่มก่อร่างสร้างตัว”

อังกฤษใช้เพื่อประชาชน ไทยใช้เพื่อรักษาอำนาจ

“สภาพสังคมของอังกฤษในสมัยนั้น ออสตินคิดในบริบทที่ว่า กฎหมายบ้านเมืองให้ยึดเฉพาะกฎหมายที่ใช้อยู่ ณ เวลานั้น ฐานคิดคือเพราะอำนาจนิติบัญญัติมาจากประชาชน มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะฉะนั้นความคิดแบบกฎหมายบ้านเมืองของออสติน ในแง่หนึ่งมันรับใช้ประชาธิปไตยด้วย แต่ตอนที่เรารับเข้ามา ประเทศไทยกำลังเป็นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบสมัยใหม่ คือรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดังนั้น ความคิดตั้งต้นของเราจึงต่างจากอังกฤษคนละขั้ว มันไปรับใช้การรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติที่เรามองสำนักกฎหมายบ้านเมือง”

ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง แม้ออสตินจะแยกกฎหมายออกจากศีลธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายจะถูกตรวจสอบผ่านจุดยืนทางศีลธรรมหรือตั้งคำถามต่อความยุติธรรมไม่ได้ เพียงแต่ต้องเป็นการตรวจสอบผ่านจริยศาสตร์ไม่ใช่นิติศาสตร์

“ออสตินมองว่าการตรวจสอบกฎหมายไม่ใช่ภารกิจของนักนิติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องทางจริยศาสตร์ ถามว่าศีลธรรมที่เอามาตรวจสอบกฎหมายคืออะไร ก็คือหลักอรรถประโยชน์นิยม

“ท่อนนหลังนี้ที่เราไม่ได้เอามา ทำให้เรารู้สึกว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองบอกแค่ว่ากฎหมายย่อมเป็นกฎหมายแล้วจบ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ นักคิดในสำนักกฎหมายบ้านเมืองแค่บอกว่าอะไรคือกฎหมาย ส่วนที่ว่าเมื่อเป็นกฎหมายแล้วเราจะทำอย่างไรกับมันเป็นคนละประเด็น ถ้ากฎหมายมันสมบูรณ์ แต่เนื้อหาไม่ยุติธรรม ขัดต่อมโนสำนึกของเรา ไม่ใช่ว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองจะบอกให้ปล่อยมันไป แล้วต้องทำตาม นักคิดในสำนักกฎหมายบ้านเมืองหลายคนยืนยันว่าเราตั้งคำถามได้ เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เคารพเชื่อฟังกฎหมายที่อยุติธรรมอย่างร้ายแรงได้เพียงแต่ว่าการที่เราจะท้าทายหรือใช้สิทธิ์ของเราในการไม่เคารพเชื่อฟังกฎหมาย เขามองว่ามันเป็นสิทธิ์ทางศีลธรรมหรืออาศัยจุดยืนทางศีลธรรมไม่ใช่จุดยืนทางกฎหมายซึ่งต่างจากสำนักกฎหมายธรรมชาติที่คิดว่ามันไม่เป็นกฎหมายเลย ถ้ามันไม่ยุติธรรม”

สำนักกฎหมายบ้านเมืองสมัยใหม่

แนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองของออสติน ณ เวลานี้ต้องใส่คำคุณศัพท์พ่วงท้ายว่า แบบดั้งเดิม เนื่องจากปัจจุบัน แนวคิดสำนักนี้ถูกพัฒนาไปมาก ขณะที่แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมลงไปทุกที

จุดตัดที่แบ่งสำนักกฎหมายบ้านเมืองแบบดั้งเดิมกับแบบสมัยใหม่ ศศิภา ระบุว่าคือช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักว่า เราไม่สามารถนิ่งเงียบต่อเนื้อหาของกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมได้ เพราะเหตุการณ์ที่ระบบกฎหมายถูกละเมิดและถูกปรับใช้อย่างผิดเพี้ยนสร้างโศกนาฏกรรมไว้

“นักคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองสมัยใหม่จึงคำนึงถึงองค์ประกอบด้านเนื้อหามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เอามาเป็นสาระสำคัญ เพียงแต่คลายความแข็งกระด้างลงจากเดิมที่บอกว่าพอกฎหมายออกมาจากรัฏฐาธิปัตย์ก็ถือว่าเป็นกฎหมาย อย่างเคลเซ่น (Hans Kelsen) จะอธิบายฐานคิดต่างจากออสติน เคลเซ่นบอกว่ากฎหมายเป็นนอร์มหรือบรรทัดฐาน ส่วนหนึ่งเป็นการท้าทายทฤษฎีของออสติน เขาอธิบายไปอีกทางหนึ่งเลยว่ากฎหมายเป็นระบบของบรรทัดฐาน กฎหมายในลำดับล่างจะสมบูรณ์ต้องขึ้นกับหรือสอดคล้องกับกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าขึ้นไปเป็นลำดับชั้น

“เคลเซ่นบอกว่ามีกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นไปอีก คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังสืบสาวไปได้อีกว่าได้ฐานมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าไล่ย้อนกลับไปเรื่อยๆ จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ก่อตั้งระบบ เคลเซ่นบอกว่าพอไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก เราจะไม่สามารถหาอะไรที่อยู่ก่อนหน้ามันได้แล้ว แต่เคลเซ่นก็ยังบอกว่ามันต้องมี เขาเลยสมมติความคิดที่เรียกว่า Grundnorm หรือ Basic Norm เป็นจินตภาพทางกฎหมายที่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ต้องยอมรับว่ามันมีอยู่จริงเพื่อให้มันเป็นรากฐานของระบบกฎหมายทั้งระบบ”

เราจะหยุดไว้แค่ตรงนี้ เพราะการถกเถียงทางนิติปรัชญานั้นกว้างและลึกเกินกว่าจะบรรจุไว้ในบทสนทนานี้

อำนาจนิยมทางกฎหมาย เมื่อกฎหมายถูกใช้อย่างไม่เสมอหน้า

“ข้อสรุปของตนที่ได้จากการศึกษาทฤษฎีกฎหมายบ้านเมือง โดยไม่ต้องพูดถึงความคิดแบบสมัยใหม่ก็ได้ แค่ทฤษฎีกฎหมายบ้านเมืองแบบเก่าของออสตินก็มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือบ้านเราไม่ได้มีทฤษฎีกฎหมายของสำนักไหน มันเหมือนเป็นอำนาจนิยมทางกฎหมาย บริบทที่เราอยากจะใช้ความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง เราก็ใช้ หรือว่าบางทีเราอยากใช้ความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติหรือสำนักประวัติศาสตร์ เราก็ใช้ คือไม่มีเหตุผล”

กล่าวคือมันมีความไม่คงที่ กลับไปกลับมา และแปลกประหลาด ศศิภาอธิบายว่า

“ความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองจะเน้นเรื่องความมั่นคง เวลาอ้างแนวคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองจะอ้างในเวลาที่ต้องการรักษาระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องการรักษาสิทธิ์ของประชาชน ในเวลาที่ระบบกฎหมายปกติ ความคิดที่ครอบงำอยู่คือความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง แต่ถ้าห้วงเวลาไม่ปกติ อยู่ในรัฐที่ใช้อำนาจเถื่อนหรือเป็นรัฐที่ละเมิดหรือทำร้ายประชาชน ในสภาวะแบบแบบนี้ ถึงจะอ้างสิ่งที่อยู่นอกระบบซึ่งก็คือความยุติธรรม

“แต่ว่าบ้านเรามันกลับกัน เวลาที่เราอยู่ในสภาวะปกติ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ระบบยังเดินได้ เราจะชอบอ้างสิ่งที่อยู่นอกระบบเพื่อล้มระบบ เราจะเริ่มอ้างเรื่องคนดี จารีต เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในเวลาที่ไม่ปกติ ที่รัฐบาลมาจากคณะรัฐประหารหรือสืบทอดอำนาจ เราจะอ้างความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง สังเกตได้ว่าเขาจะพูดบ่อยมากว่าต้องทำตามกฎหมาย ถ้าไม่พอใจก็ไปแก้กฎหมาย”

ตีความตามใจฉัน

ว่ากันด้วยเนื้อหาของกฎหมาย ศศิภาเห็นว่าส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่การใช้กฎหมาย

“ในหลายๆ ครั้งไม่จำเป็นต้องไปถึงการแก้กฎหมาย เอาแค่ขั้นแรกก่อนว่าปรับใช้กฎหมายยุติธรรมหรือเปล่า ปรับใช้กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า ส่วนใหญ่ในบ้านเรา มันอยู่แค่ปัญหานี้ คือไม่ได้ปรับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค บิดผันกฎหมาย ตีความกฎหมายโดยไม่ใช้หลักนิติวิธีหรือวิธีการทางนิติศาสตร์ แต่ตีความตามใจฉัน

“เพราะเป็นอำนาจนิยมทางกฎหมาย เราไม่ได้มองกฎหมายเป็นบรรทัดฐานที่ควบคุมความประพฤติของคนที่บอกว่าควรหรือไม่ควรจะทำอะไร แต่เรามองกฎหมายเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่แรก เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ”

ศศิภาอ้างอิงคำอธิบายของ ฮาร์ท (H.L.A. Hart) ที่ว่ากฎหมายไม่ได้หมายถึงแค่บรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์ แต่รวมไปถึงการปรับใช้ด้วย การมีบรรทัดฐานที่สวยหรู รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จะไม่มีประโยชน์อันใดถ้าปรับใช้กฎหมายตามอำเภอใจแบบนี้

ใช้นิติรัฐเป็นแสงนำทาง

“ถ้าเราบอกว่าเราเป็นนิติรัฐ การใช้ การตีความกฎหมาย ต้องตีความแบบคุ้มครองสิทธิ ความคิดแบบนิติรัฐคือการจำกัดอำนาจรัฐให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะฉะนั้นจะตีความแบบขยายอำนาจรัฐตามอำเภอใจไม่ได้ มันไม่รับใช้วัตถุประสงค์ของนิติรัฐ เพราะเมื่อไหร่ที่เราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจรัฐ เมื่อนั้นเราก็เรียกไม่ได้แล้วว่าเราเป็นนิติรัฐ

“บางทีเราไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายก็ได้ แต่สามารถตีความให้รับใช้หลักนิติรัฐได้เพื่อคุ้มครองสิทธิ เช่น กฎหมายเก่ามาก ไม่ทันสมัย ถ้ามีประเด็นให้ต้องปรับใช้และเรามีหลักนิติรัฐเป็นแสงนำทาง เป็นอุดมการณ์ที่ครอบการตีความกฎหมายของเราอยู่ เราก็อาจจะตีความกฎหมายออกมาให้สอดคล้อง ให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ได้ เช่น ถ้ากฎหมายให้อำนาจรัฐมากๆ เราก็อาจตีความแบบแคบ ตีความแบบจำกัดตัวอักษรหรือกฎเกณฑ์ของกฎหมายอีกทีหนึ่งให้สอดคล้องกับระบบ”

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ผู้ใช้กฎหมายจะใช้เพื่อจำกัดอำนาจรัฐหรือใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดคนเห็นต่าง

แน่นอนว่าในสภาพสังคมปัจจุบัน เราเห็นคำตอบอย่างจะแจ้งแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท