Skip to main content
sharethis

ส.ส. พรรคก้าวไกล เผยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการสมรสเท่าเทียม พร้อมบรรจุเข้าสู่วาระของรัฐสภาต้นเดือน พ.ย. 63 นี้แล้ว

25 ต.ค. 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟสบุ๊ค ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ - Tunyawaj Kamolwongwat ระบุว่าวันนี้ (25 ต.ค.) การรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าดัวยการสมรส #สมรสเท่าเทียม นั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว และในวันนี้ก็ได้มีการเผยแพร่ลงในเวปไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20201012123103_2_94.pdf (เอกสารรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. .... เสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ)

ธัญวัจน์ ระบุว่าได้สอบถามกับสำนักเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ทางสำนักเลขานั้นพร้อมเสนอบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาต้นเดือน พ.ย. 2563 นี้ภายหลังเปิดสมัยประชุม และผู้แทนราษฎรทุกท่านก็จะได้อ่านเอกสารการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และหน่วยงานรัฐที่ได้ให้ความเห็นไว้ในเอกสารดังกล่าว และจากขั้นตอนในการบรรจุแล้ว ก็จะต้องขึ้นอยู่ทางฝ่ายวิปรัฐบาลและในการประชุมวิปจะสรุปว่าจะนำวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาเมื่อไหร่

สรุปข้อมูล

มีเพศชายแสดงความคิดเห็น 18%
มีเพศหญิงแสดงความเห็น 82%
จากผู้แสดงความเห็น 54,445 คน
และมีผู้เข้าเยี่ยมเวปไซต์ 1,247,531 คน

อายุผู้แสดงความเห็น

ต่ำกว่า 20 จำนวน 26,655 คน
21-30 ปี. จำนวน 20,381 คน
31-40 ปี จำนวน 4,263 คน
41-50 ปี จำนวน 1,455 คน
51-60 ปี จำนวน 480 คน
61 ปีขึ้นไป จำนวน 211 คน

สรุปประเด็นการรับฟังความคิดเห็น

1. ควรแก้ไขบุคคลไม่ว่าจะเป็น ชาย หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถหมั้นกันได้หรือไม่ มีความคิดเห็นเห็นด้วยด้วยเหตุผลความเสมอภาค และเปิดกว้าง ส่วนไม่เห็นด้วยนั้น ส่วนใหญ่ให้เหตุผลเรื่องขนบธรรมเนียม

2. ควรแก้ไขบุคคลไม่เพียงระหว่างชาย หญิง แต่รวมถึง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถ “สมรส” กันได้ มีความคิดเห็นเห็นด้วยด้วยเหตุผลความเสมอภาค และเปิดกว้าง รวมถึง การดูแลอภิบาลกันนั้นที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน และควรต้องได้รับสิทธิหน้าที่เหมือนคู่สมรสชายหญิงทั่วไป ส่วนความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม และ ความผิดบาป จึงควรแยกกฎหมายเฉพาะ

3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะกระทำการสมรสต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปหรือไม่ มีความคิดเห็นเห็นด้วย ด้วยเหตุผลอายุ 18 ปี อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และ เลือกตั้งได้ สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ ส่วนความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า 17 ปีเหมาะสมอยู่แล้ว และ ไม่เห็นด้วยเพราะว่า 20 ปี เหมาะสมในการสมรสมากกว่า

4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ระหว่างสามีภรรยาหรือไม่ ความคิดเห็นเห็นด้วยด้วยเหตุผลเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิเช่น คู่สมรส สามารถดำเนินชีวิต และได้รับการปกป้องจากรัฐในกฎหมาย รวมถึงทรัพย์สินที่หาร่วมกันมาที่จะได้รับความเสมอภาคเช่นกับคู่สมรสชายหญิง ส่วนความเห็นที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลกลัวมิจฉาชีพอ้างจากการสมรสหาประโยชน์

ข้อสังเกตุเพิ่มเติม

1. เห็นชอบด้วยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสมรสกันได้ มีแนวทางและหลักการที่ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ร่างโดยกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ กรมบัญชีกลาง และ สำนักงานยุติธรรม

2. เห็นด้วย เพราะจะทำให้ให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย

3. มีความเห็นว่าควรมีกฎหมายแยกเฉพาะ และแก้ไขภายหลังจะกระทำได้สะดวกกว่า และไม่กระทบสิทธิชายหญิง

4. ต้องมีการแก้ไขกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อกับสิทธิของราชการ ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสมรสกันได้

5. ควรมีการตั้งหรือพัฒนาให้มีสถาบัน องค์กรในการดำเนินการเรื่องบุตรบุญธรรม

ความสอดคล้องของร่างพระราชบัญญัติ

1. มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน / ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน/ การเลือกปฏิบัตโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือ สุขภาภ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ /มาตราการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือ เพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก้เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือ ผู้ด้วยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรค 3

ธัญขอสรุปสาระเพียงแค่บางประเด็นจากเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพรวม แต่ในรายละเอียดกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น ประชาชนทุกท่านสามารถเข้าไปอ่านในทุกประเด็นทุกรายละเอียด ทุกข้อเสนอแนะจากลิงค์ดังกล่าวได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net