องค์กรแรงงาน ตปท. ชี้การตัดสินจำคุก พนง.รถไฟของไทย คือการทำลายสหภาพแรงงาน

25 ต.ค. 2563 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากจากเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ที่สถานีเขาเต่าจนเป็นเหตุให้ขบวนรถไฟต้องตกรางทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บเกือบ 100 คน จากสภาพรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ ห้องขับไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศในวันดังกล่าวฝนตกสาดเข้าในห้องขับพนักงานขับรถและช่างเครื่องต้องปิดกระจกข้างกันฝนสาดทำให้ในห้องขับอากาศไม่ถ่ายเทประกอบกับซีลยางระหว่างห้องขับกับห้องเครื่องที่อยู่ติดกันฉีกขาดทำให้ควันไอเสียไหลเข้าห้องขับทำให้พนักงาขับรถและช่างเครื่องหมดสติ 

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่าซึ่งความจริงแล้วเมื่อพนักงานหมดสติไม่ตอบสนองใดๆระบบห้ามล้ออัตโนมัติจะต้องทำงานเมื่อการไม่ตอบสนองเกิน 2 นาที แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดทาง สร.รฟท.จึงเริ่มรณรงค์เรื่องความ ”ขอให้การรถไฟฯดำเนินการซ่อมบำรุงรถไฟให้สมบูรณ์ก่อนนำไปทำขบวนให้บริการประชาชน” ซึ่งเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่การรถไฟได้ทำกับ สร.รฟท.และเป็นข้อตกลงที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทำให้ขบวนรถบางขบวนล่าช้า เพราะไม่สามารถซ่อมได้ทัน 

เป็นเหตุให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวหาผู้นำ สร.รฟท.13 คน (หาดใหญ่ 6 คน ส่วนกลาง 7 คน) ว่ายุยงปลุกปั่นทำให้การรถไฟเสียหาย และฟ้องศาลแรงงาน จนคดีถึงที่สุดให้เลิกจ้างทั้ง 13 คน พร้องเรียกค่าเสียหายจาก 7 คนที่ส่วนกลางเป็นเงิน 15 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 (ซึ่งปัจจุบันทั้ง 7 คนถูกบังคับคดีหักเงินนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและสาธารณะ) แม้ว่าในปี 2557 การเจรจาระหว่างการรถไฟ กับ สร.รฟท.โดยมติคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ให้รับกลับทั้ง 13 คนเข้าทำงานโดยยกเว้นความผิดให้ ทำให้ทุกคนกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง

แต่การรถไฟฯก็ได้ไปยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปกระทำในลักษณะทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐคือการรถไฟฯเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย ปปช.และ กฎหมายอาญา มาตรา 166 ปปช.เห็นว่าคดีมีมูลตามคำร้อง จึงส่งเรื่องให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลได้ทำการไต่สวนมาตั้งแต่ต้นปี 2563 และนัดฟังคำตัดสินในวันนี้ 21 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่าผลของคำตัดสิน คือคำโต้แย้งของ ทนายและทั้ง 13 คนฟังไม่ขึ้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 166 ให้จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และประตัวมาในศาลชั้นต้นวงเงินประกัน คน ละ 100,000 บาท รวม 1,300,000 บาท โดยขั้นตอนต่อไปก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา 

องค์กรแรงงานต่างประเทศชี้การตัดสินจำคุก พนักงานรถไฟของไทย คือการทำลายสหภาพแรงงาน

ต่อกรณีนี้ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ได้ออกแถลงการร่วม เรื่อง 'การตัดสินจำคุกคนงานรถไฟของไทยคือการทำลายสหภาพแรงงานที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพการสมาคมและรวมตัว' ระบุว่าการตัดสินจำคุกผู้นำแรงงานทั้ง 13 คนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการทำลายสิทธิแรงงาน ผู้นำเหล่านี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดและลงโทษให้จำคุก 3 ปีจากการเปิดโปงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยของระบบรถไฟในประเทศไทย ซึ่งความพยายามที่จะทำให้การคมนาคมทางรางเป็นสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับคนงานและผู้โดยสารเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมไม่ใช่ถูกลงโทษ

ผู้นำสหภาพฯ เหล่านี้ถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งที่มีการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยหลังเหตุการณ์รถไฟตกรางในเดือน ต.ค. 2552 ที่สถานีรถไฟเขาเต่า รวมทั้งถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐผ่านทาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

ผู้นำสหภาพฯ ตกเป็นแพะรับบาปจากอุบัติเหตุซึ่งทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และจากการสืบสวนภายในพบว่าอุบัติเหตุเกิดจากการดูแลรักษาหัวรถจักรที่ไม่ได้มาตรฐาน และ รฟท.ใช้การดำเนินคดีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความไร้ประสิทธิภาพของตัวเองในการดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถ

เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ ปปช. มีเจตนาในการทำลายกิจกรรมของสหภาพแรงงานที่ชอบธรรมและหลักการด้านเสรีภาพการสมาคม ทั้ง รฟท. และ ปปช. ควรจะสนับสนุนความพยายามที่ทำให้เกิดความปลอดภัยทางรางไม่ใช่มาทำลายชีวิตของผู้นำสหภาพฯ และครอบครัว

ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 ได้มีการหักเงินเดือนของผู้นำสหภาพ ฯ เจ็ดคน (ตามคำสั่งของศาลฎีกาแรงงานในปี 2558) เพื่อมาจ่ายค่าปรับ 24 ล้านบาทให้กับ รฟท. จากกิจกรรมรณรงค์เมื่อปี 2552 ซึ่งนี่การลงโทษทั้งผู้นำสหภาพ ฯและครอบครัวของพวกเขา รฟท.ต้องยุติการหักเงินเดือนและชดใช้เงินที่ปรับคืนผู้นำสหภาพฯ ทั้งเจ็ดคน และต้องคืนเงินเดือนและสวัสดิการที่ผู้นำสหภาพ ฯ เหล่านี้ไม่ได้รับหลังจากถูกเลิกจ้างและได้กลับเข้าทำงาน ITF และ ITUC จะยังคงสนับสนุนผู้นำสหภาพฯ ทั้ง 13 คนและครอบครัว ซึ่งได้มีการยื่นประกันตัวเพื่อมาต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (The International Transport Workers' Federation - ITF) เป็นสหพันธ์สหภาพแรงงานสากลที่มีสมาชิกเป็นสหภาพแรงงานในภาคขนส่งกว่า 700 สหภาพ ฯ และมีสมาชิกกว่า 20 ล้านคนจาก 150 ประเทศ  ITF ให้การสนับสนุนคนงานขนส่งทั่วโลก รวมทั้งให้การสนับสนุนและจัดตั้งให้เกิดความสมานฉันท์ของสมาชิก ITF ยังได้เป็นตัวแทนเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับสหภาพแรงงานในภาคขนส่งและตัดสินใจในกรณีต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการจ้างงาน สภาพการทำงาน และความปลอดภัยในอุตสาหกรรมขนส่ง 

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (The International Trade Union Confederation - ITUC) เป็นสหพันธ์สหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิก 207 ล้านคนจาก 163 ประเทศ และ 331 สหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท