การต่อสู้ด้วยสันติวิธี: ตอบคำถามสำหรับผู้เริ่มต้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีคืออะไร?

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือวิธีการที่สามัญชนเอาไว้ใช้ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมโดยปราศจากความรุนแรง ประชาชนที่เข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานกัน คว่ำบาตร การประท้วงมวลชน และปฏิบัติการอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในวงกว้าง ปฏิบัติการสันติวิธีมีชื่อเรียกหลากหลายแบบอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการสันติวิธี ปฏิบัติการทางตรง พลังประชาชน การขัดขืนทางการเมือง และการระดมพลังพลเมือง แต่ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไร พลวัตมูลฐานของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีล้วนมีแก่นอันเดียวกัน

ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นมีอำนาจเพราะสามารถชักจูงให้ประชาชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการต่อต้านการกดขี่ได้ ด้วยการนำเสนอวิสัยทัศน์สังคมที่เสรีและยุติธรรมมากขึ้น โดยอาจจะชักจูงให้คนที่เคยรับใช้ระบบเก่าให้หันมาสวามิภักดิ์กับระบบใหม่ด้วย เมื่อประชาชนเลือกหยุดให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ระบบจึงทำงานได้ลำบากขึ้น เมื่อประชาชนจำนวนมากพอเลือกที่จะไม่เชื่อฟัง ระบบก็จะไม่สามารถเสถียรตัวเองให้คงอยู่ได้ และถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายไป แม้แต่เวลาที่ขบวนการต่อสู้สันติวิธีเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับการติดอาวุธและเงินสนับสนุนมาเป็นอย่างดี บ่อยครั้งพวกเขาก็ไม่สามารถต้านทานการต่อต้านขัดขืนและการรบกวนขัดขวางโดยพลเรือนจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการขัดขืนด้วยสันติวิธีอย่างเป็นยุทธศาสตร์และแพร่หลายในวงกว้างได้

ด้วยเหตุผลนี้ ขบวนการและการรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธีหลายแห่งจึงเอาชนะศัตรูได้หลากหลายรูปแบบ ในทุก ๆ สิบปีของศตวรรษที่แล้ว ขบวนการประชาชนต่าง ๆ ที่ใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธีใน 6 ทวีปทั่วโลกได้โค่นล้มระบอบกดขี่ ขับไล่ทหารต่างชาติที่เข้ามายึดครอง และพัฒนาให้สังคมของตนมีเสรีภาพและความยุติธรรมมากขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การยุติระบบเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ ใช้เพื่อพัฒนาสิทธิผู้หญิง สิทธิพลเมือง และสิทธิแรงงานในสหรัฐอเมริกา ใช้โค่นล้มเผด็จการในฟิลิปปินส์ ชิลี อินโดนีเซีย เซอร์เบีย และที่อื่น ๆ ใช้ขัดขวางการยึดครองโดยกำลังทหารในเดนมาร์ก และติมอร์ตะวันออก เป็นเครื่องมือที่ชาวอินเดียใช้ทวงคืนอิสรภาพจากอังกฤษ นำไปสู่การล้มการเลือกตั้งสกปรกในยุโรปตะวันออก ยุติการยึดครองเลบานอนโดยซีเรีย และใช้เพื่อสถาปนาสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยในดินแดนอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน 

แนวคิดที่สำคัญ

การต่อสู้ด้วยสันติวิธี vs. สันติวิธีเชิงศีลธรรม

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง สันติวิธีเชิงศีลธรรมคือชุดหลักการต่าง ๆ ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง ผู้เข้าร่วมในขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จบางแห่ง เช่น การต่อสู้เพื่ออิสรภาพในอินเดีย และขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาก็เคยเชิดชูหลักการสันติวิธีเชิงศีลธรรม แต่กระนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรในคุณลักษณะของสันติวิธีที่ทำให้ผู้ปฏิบัติการจำเป็นต้องยึดถือในสันติวิธีด้วยตัวมันเอง ที่จริงแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่าผู้ที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีส่วนใหญ่ไม่ได้มีแรงจูงใจมาจากสันติวิธีเชิงศีลธรรม แต่มีแรงจูงใจเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นเป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ และเป็นเครื่องมือเดียวที่สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองอำนาจแบบขั้วเดี่ยว vs. หลายขั้ว

ในหลาย ๆ สังคม คนมักจะมองว่าอำนาจเป็นสิ่งที่มีขั้วเดียว (ภาพประกอบ 1) หมายความว่าสามัญชนถูกมองเป็นเพียงกลุ่มที่ต้องพึ่งพาเจตนาดี การตัดสินใจ และการสนับสนุนจากรัฐบาลของตนและสถาบันอื่น ๆ อำนาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในกำมือของคนไม่กี่คนที่ยืนอยู่บนยอดของปิรามิดบัญชาการ และเป็นผู้ที่มีอำนาจเงินตราและความสามารถในการใช้ความรุนแรงมากที่สุด ปิรามิดแห่งอำนาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง คงทน และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นวางอยู่ฐานคิดอีกแบบหนึ่ง คือ มุมมองต่ออำนาจแบบหลายขั้ว (ภาพประกอบ 2) ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลและระบบต่าง ๆ ที่ถือครองอำนาจอยู่นั้น โดยมากแล้วต้องพึ่งพาความเชื่อฟังหรือเคยชินของประชาชน ในมุมมองอำนาจแบบหลายขั้วนั้น อำนาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของการยกเหตุผลสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ภาคส่วนในสังคม อำนาจเป็นสิ่งที่ลื่นไหล และคงรูปอย่างแข็งแรงอยู่ได้ เพราะได้รับการเติมพลังจากแหล่งที่มาของอำนาจ ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือจากประชาชนและสถาบันต่าง ๆ จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ขบวนการสันติวิธีต่าง ๆ จึงพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยเชื่อว่าประชาชนที่สามารถจัดตั้งแนวร่วมสามัญชนขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อขัดขวางการกระทำของรัฐได้ จะสามารถทำให้เส้นทางการไหลเวียนของอำนาจหยุดทำงานหรือหมุนย้อนกลับได้ 

การละเว้นหน้าที่ และการทำหน้าที่

ผู้ที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีใช้กลยุทธ์หลายร้อยแบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลยุทธ์เหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท การละเว้นหน้าที่ คือ กลยุทธ์ที่ประชาชนหยุดกระทำการบางอย่างที่ปกติแล้วได้รับการคาดหวังหรือการบังคับให้ทำ ตัวอย่างของกลยุทธ์ประเภทนี้ ได้แก่ การประท้วงหยุดงาน การไม่จ่ายภาษี และการคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค ส่วนการทำหน้าที่คือกลยุทธ์ที่ประชาชนเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างที่ปกติแล้วไม่ได้ทำ หรือถูกห้ามไม่ให้ทำ ตัวอย่างของกลยุทธ์นี้ เช่น การประท้วง การชุมนุมใหญ่ การนั่งประท้วงกีดขวาง และการอารยะขัดขืนรูปแบบอื่น ๆ การจัดเรียงกลยุทธ์เหล่านี้อย่างมียุทธศาสตร์จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามของขบวนการรักษาสถานะเดิมของตนได้ยากขึ้น ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้สามัญชนสามารถเข้าร่วมในการต่อสู้ได้อีกด้วย เนื่องจากขอบเขตของกลยุทธ์เหล่านี้มีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ความเสี่ยงมากหรือความเสี่ยงน้อย ทำในที่ส่วนตัวหรือทำในที่สาธารณะ กระจุกตัวหรือกระจายตัว ทำให้ประชาชนจากหลายภาคส่วนของสังคมสามารถเข้าร่วมได้

เอกภาพ การวางแผน และวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง

หลักสำคัญสามประการของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี คือ เอกภาพ การวางแผน และวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง เอกภาพเกิดขึ้นได้ด้วยการระดมคนหลากหลายกลุ่มในสังคมให้หันมามีเป้าหมายที่ทำได้จริงร่วมกัน แม้ว่าในตอนแรกจะแค้นเคืองใจในเรื่องต่างกันก็ตาม การวางแผนหมายถึงการจัดเรียงลำดับการรณรงค์และกลยุทธ์ต่าง ๆ อย่างมียุทธศาสตร์ โดยผ่านการวิเคราะห์เงื่อนไขและโอกาสของการลงมืออย่างระมัดระวัง การวางแผนยังรวมถึงการคาดคะเนถึงอุปสรรคที่อาจบั่นทอนความก้าวหน้าและการเตรียมการรับมือเหตุสุดวิสัยเหล่านั้น วินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงคือการยึดมั่นเชิงยุทธศาสตร์ต่อการใช้กลยุทธ์สันติวิธีเท่านั้น เพราะความรุนแรงจะทำให้การมีส่วนร่วมของพลเรือนน้อยลง, เป็นอันตรายต่อความชอบธรรมของขบวนการ, ทำให้การสนับสนุนจากนานาชาติน้อยลง, และทำให้โอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามจะแปรพักตร์มาอยู่กับขบวนการน้อยลงด้วย

คำถาม 10 ข้อ 

1. ผู้ปกครองที่มีอำนาจพ่ายแพ้ต่อสามัญชนที่ใช้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้อย่างไร ?

ไม่มีผู้ปกครองคนไหนที่มีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองมีอำนาจขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จากประชาชนนับพันนับล้านคนในสังคมของตน ผู้ปกครองจะรักษาการควบคุมไว้ได้ ตำรวจ ทหาร ตุลาการ และราชการจะต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ประชาชนในสังคมจะต้องไปทำงานเป็นประจำทุกวัน ต้องจ่ายภาษี ต้องจ่ายค่าเช่า และซื้อสิ่งของในตลาดเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรือครอบครองโดยรัฐ ประชาชนที่ทำงานด้านการขนส่งสินค้าและการคมนาคม รวมไปถึง การสื่อสารและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ต้องดำเนินการขนส่งและทำงานให้บริการต่อไป นี่เป็นตัวอย่างของกลุ่มต่าง ๆ ที่การสนับสนุนของพวกเขาจำเป็นต่อการทำงานของระบบ

เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ผู้จัดขบวนการสันติวิธีจึงพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสั่นคลอนการสนับสนุนดังกล่าว และทำให้การรักษาสถานะเดิมของผู้ปกครองเป็นไปได้ยาก การระดมประชาชนจำนวนมากเพื่อต่อต้านและประท้วงสามารถลดความชอบธรรมของผู้ปกครองได้ โดยเฉพาะเวลาที่มีการใช้การปราบปรามกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง ด้วยการรบกวนและขัดขวางการควบคุมของรัฐเช่นนี้ ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจะสามารถทำให้การรักษาระบบต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้นได้ จนถึงจุดที่ผู้ปกป้องระบบเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตของระบบเสียเอง เมื่อการสวามิภักดิ์ถูกบั่นทอน การกดขี่รูปแบบต่าง ๆ จึงนำมาบังคับใช้ยากขึ้นตามไปด้วย

2. การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเริ่มต้นอย่างไร ?

การรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งเริ่มจากการพัฒนาความสามารถในการลงมือปฏิบัติการของสามัญชน กลยุทธ์ความเสี่ยงน้อยที่ใช้ในท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งประชาชนและสร้างเอกภาพเป็นเรื่องสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างเช่น ก่อนที่คานธีจะเริ่มการรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธีในอินเดีย เขาใช้เวลาแรมเดือนแรมปีไปกับการพบปะพูดคุยกับสามัญชนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความโกรธแค้น ความหวัง และความหวาดกลัวของพวกเขา เพื่อค่อย ๆ พัฒนาความเข้าใจขึ้นมาว่าต้องใช้อะไรบ้างถึงจะสามารถชนะใจและได้รับความร่วมมือจากคนเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้ประชาชน “ปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนา” –หมายถึงการบริการชุมชน เพื่อฝึกให้ประชาชนที่เคยสูญเสียความไว้วางใจรัฐไปแล้ว แต่รู้สึกไร้อำนาจที่จะลงมือทำอะไร กลับมาพึ่งพาและมั่นใจในตัวเองได้อีกครั้ง

เมื่อการรณรงค์ต่าง ๆ เพิ่มขีดความสามารถได้มากเพียงพอ จนทำให้สามัญชนพร้อมเข้าร่วมปฏิบัติการสันติวิธีรูปแบบทางตรงมากขึ้นแล้ว  ขบวนการเหล่านี้มักจะเริ่มด้วยปฏิบัติการที่มุ่งไปยังประเด็นต่าง ๆ ในท้องถิ่นซึ่งสะท้อนความรู้สึกของสาธารณะชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้จัดขบวนการโซลิดาริตี้ในโปแลนด์เริ่มด้วยการนัดประท้วงหยุดงานที่อู่ต่อเรือแห่งหนึ่ง เมื่อได้รับชัยชนะในประเด็นแรกและก่อตั้งสหภาพแรงงานอิสระขึ้นแล้ว ชัยชนะนั้นได้ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อชาวโปแลนด์ทั้งประเทศอย่างมหาศาลและทำให้ขบวนการแข็งแกร่งขึ้น ขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาก็จุดติดขึ้นมาได้ด้วยวิธีการในลักษณะเดียวกัน หลังจากบุกเข้าไปนั่งประท้วงกีดขวางและคว่ำบาตรการแบ่งแยกสีผิวในร้านค้าและรถขนส่งสาธารณะที่เมืองสองสามแห่งทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาจนเป็นผลสำเร็จ ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ ขบวนการได้แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี และได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่เหตุการณ์อื่น ๆ ตามลำดับ

3. ฉันจะจัดตั้งการประท้วงได้อย่างไร

นักวางแผนยุทธศาสตร์ของขบวนการควรระบุให้ชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายของขบวนการ อะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน และขีดความสามารถของขบวนการและคู่ต่อสู้ อะไรคือการสนับสนุนที่กลุ่มบุคคลที่สามและตัวแสดงภายนอกอาจหยิบยื่นให้ได้ เมื่อขบวนการนิยามเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้ชัดเจน และวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างเป็นระบบและละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ขบวนการดังกล่าวจะเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะกับตนได้ดีขึ้นมาก ถึงจุดนั้นแล้ว ถ้าขบวนการเลือกการประท้วงเป็นกลยุทธ์หลักและอยากเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ก็สามารถหาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับมิติด้านกลยุทธ์และด้านเทคนิคของการประท้วงก็มีรอให้อ่านอยู่นับไม่ถ้วนเพื่อใช้ประกอบการวางแผนในรายละเอียด 

4. ถ้าไม่ประท้วง แล้วทำอะไรดี

หลายคนอาจคิดว่าการประท้วงเป็นกิจกรรมหลักของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม การประท้วงเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์มากมายหลากหลายรูปแบบที่นักต่อสู้สันติวิธีสามารถใช้ในการต่อสู้ได้ กลยุทธ์การต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่เคยมีบันทึกไว้นั้นมีให้เลือกมากกว่า 200 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตร (โดยผู้บริโภค ทางการเมือง และทางสังคม) การนัดหยุดงาน การทำงานให้ช้าลง ปฏิเสธไม่จ่ายค่าเช่า ไม่จ่ายภาษี และไม่จ่ายค่าธรรมเนียม การยื่นคำร้อง การอารยะขัดขืน การเข้ายึดสถานที่ การปิดล้อม และการสร้างสถาบันคู่ขนานเป็นตัวอย่างไม่กี่อันของกลยุทธ์การต่อสู้ด้วยสันติวิธีรูปแบบอื่น ๆ

การเลือกและการเรียงลำดับกลยุทธ์ที่จะใช้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ ความสามารถ และเป้าหมายของขบวนการ ถ้าขบวนการยังไม่เข้มแข็งนัก ก็อาจจะต้องพิจารณาลองใช้กลยุทธ์ความเสี่ยงน้อยและเน้นการกระจายตัวของผู้เข้าร่วม เช่น การคว่ำบาตรหรือการแสดงสัญลักษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ปฏิบัติการเพื่อสร้างขีดความสามารถ ส่งสารของขบวนการ และ/หรือรบกวนขัดขวางฝ่ายตรงข้าม ในช่วงหลังจากนั้น เมื่อขบวนการเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ก็อาจจะสามารถใช้รูปแบบการต่อสู้ที่เน้นการกระจุกตัวของผู้เข้าร่วมมากขึ้นได้ เช่น การเดินขบวน การประท้วง และการอารยะขัดขืนในระดับมวลชน

สิ่งสำคัญที่ควรจำก็คือเพียงเพราะการประท้วงเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยที่สุดเกี่ยวกับสันติวิธี ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นวิธีการเดียวหรือวิธีการที่ดีที่สุด ยังมีกลยุทธ์รูปแบบอื่น ๆ อีกมากที่อาจให้ผลลัพธ์ดีกว่าและใช้ต้นทุนของขบวนการน้อยกว่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความสร้างสรรค์และการคิดอย่างเป็นยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการคัดสรรกลยุทธ์ที่จะเลือกใช้ 

5. ถ้าขบวนการไม่มีผู้นำที่น่าดึงดูด ฉันควรทำอย่างไร

ขบวนการหลายแห่งในอดีตใช้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ขบวนการเหล่านั้นจะไม่มีผู้นำที่น่าดึงดูด ขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ต่อสู้จนได้รับผลลัพธ์ดีอย่างมากในช่วงที่ผู้นำอยู่ในเรือนจำและถูกตัดขาดจากขบวนการ สิ่งที่สำคัญมากกว่าความน่าดึงดูดของตัวบุคคลหรือความสามารถในการพูดของผู้นำขบวนการพลเมืองนั้น คือ ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเป็นตัวแทนและรับฟังเสียงของผู้เข้าร่วมที่หลากหลายของขบวนการ ความรู้เกี่ยวกับการประเมินต้นทุนและความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกปฏิบัติการ และการแบ่งกระบวนการตัดสินใจให้กับผู้นำท้องถิ่น

นอกจากนี้ การพึ่งพาผู้นำที่น่าดึงดูดมากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นพิเศษขึ้นได้ บางครั้งผู้นำเหล่านี้อาจถูกเชิญไปเข้าร่วมกับฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อเสนอว่าจะแบ่งอำนาจให้ หรือไม่เช่นนั้นก็อาจถูกจับได้ เราก่อตั้งขบวนการที่สามารถฟื้นฟูรูปขบวนและเป็นตัวแทนของประชาชนได้ขึ้นมาก็เพื่อเวลาที่ผู้นำถูกดึงออกไปนอกสนามต่อสู้ ขบวนการจะได้สามารถนำผู้นำคนใหม่เข้ามาแทนได้  

6. ถ้าฉันคิดว่าสันติวิธีใช้ไม่ได้สำหรับประเทศของฉัน ฉันควรทำอย่างไร

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีไม่ได้ชัยชนะไปเสียทุกครั้ง แต่มันก็เป็นวิธีทีใช้ได้ผลในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” และคนอื่น ๆ รู้สึกว่ามันไม่มีทางก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้ พลเอกออกุสโต ปิโนเชต์ของชิลีได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่สุดในโลก หลายคนไม่คิดว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจะเป็นจุดพลิกผันในการขับไล่ปิโนเช่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็กลับเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คงมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดไม่ถึงว่าสโลโบดัน มิโลเชวิก เผด็จการของประเทศเซอร์เบียที่มีฉายาว่า “นักฆ่าแห่งบอลข่าน” จะถูกบีบให้ออกด้วยแรงกดดันเชิงสันติวิธี แต่เมื่อมิโลเชวิกสั่งให้กองกำลังทหารและตำรวจปราบปรามประชาชนนับแสนคนที่ออกมาประท้วงและเรียกร้องให้เขาลาออกใน ค.ศ. 2000 กองกำลังของเขากลับขอปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในสถานการณ์ที่มีการระดมประชาชนเพื่อนร่วมชาติมาชุมนุมเป็นจำนวนมหาศาล มิโลเชวิกไม่มีทางเลือกจึงต้องยอมลาออก

ถ้าคุณยังรู้สึกไม่มั่นใจว่าสันติวิธีใช้ได้ในสถานการณ์ของคุณหรือไม่ ก็จงมองหาทางเลือกอื่น ๆ ถ้าวิธีการเหล่านั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง:ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปการเมืองจากภายใน; การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง; การฟ้องร้องตามกฏหมาย; การเจรจาหารือกับฝ่ายศัตรู; การร้องขอให้ตัวแสดงนานาชาติสนับสนุน; พยายามต่อสู้โดยใช้อาวุธ; ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกที่เคยมีการลองใช้แล้วในหลายประเทศจากทุกมุมโลก แม้จะไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จของวิธีการอื่น ๆ เช่นเดียวกัน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายที่ไม่พอใจระบบที่เป็นอยู่จึงควรตัดสินใจเลือกวิธีการที่เปิดโอกาสให้มีคนเข้าร่วมได้มากที่สุด, ท้าทายความชอบธรรมของผู้กดขี่ได้มากที่สุด, หลีกเลี่ยงและทำลายการปราบปรามได้ดีที่สุด, และผลักดันให้กลุ่มที่ปกป้องระบบเก่าแตกแยกเป็นฝักฝ่ายให้ได้มากที่สุด กลุ่มต่อต้านหลาย ๆ กลุ่มในอดีตเคยพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ เหล่านี้และตัดสินใจใช้การต่อสู้ด้วยสันติวิธี แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะใช้วิธีการนี้ร่วมกับวิธีการเปลี่ยนแปลงการเมืองรูปแบบที่ความเป็นขนบจารีตมากกว่า เช่น การเลือกตั้ง การสู้ด้วยกฎหมาย การเจรจาต่อรอง และการปฏิรูปการเมืองจากภายใน

7. ถ้าฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฉันใช้ความรุนแรง ฉันควรทำอย่างไร

คุณควรเตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าถึงจุดหนึ่งแล้วฝ่ายศัตรูของคุณจะใช้ความรุนแรงเป็นแน่ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแทบจะทุกครั้ง แต่การที่ฝ่ายตรงข้ามใช้ความรุนแรงไม่ได้หมายความว่าขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีประสบความล้มเหลว ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีสามารถจัดการกับการปราบปรามที่ใช้ความรุนแรงได้หลากหลายวิธี วิธีการเหล่านี้ช่วยลดประสิทธิภาพของการปราบปรามให้น้อยลงได้ และ/หรือสามารถทำให้การปราบปรามนั้นย้อนกลับไปทำลายผู้กดขี่เองได้ด้วย

ประการแรก เพื่อหลีกเลี่ยงหรือสกัดการปราบปรามที่ใช้ความรุนแรง ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอาจเริ่มด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ยากจะปราบปรามด้วยความรุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค ซึ่งประชาชนเลือกไม่ซื้อสินค้าบางประเภทที่ตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ยากจะปราบปรามได้ เพราะผู้เข้าร่วมกระจัดกระจาย และรัฐบาลไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดได้เลยว่าใครเข้าร่วมในการคว่ำบาตรบ้าง และใครที่ไม่เข้าร่วมในการคว่ำบาตร ถ้าการประท้วงหรือกลยุทธ์อื่น ๆ ที่เน้นการกระจุกตัวของผู้เข้าร่วมถูกปราบปราม การต่อสู้ด้วยแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือเน้นการกระจายตัวของผู้เข้าร่วม หรือกลยุทธ์ที่ไม่ต้องใช้อะไรในเชิงกายภาพ เช่น การปฏิเสธไม่จ่ายค่าธรรมเนียม ไม่จ่ายภาษี หรือกระทั่งการนัดหยุดงานอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับขบวนการ

ประการที่สอง ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอาจใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ที่ทำให้การปราบปรามของฝ่ายตรงข้ามย้อนกลับไปทำร้ายตัวเองได้ การตีแผ่ข่าวการปราบปรามสู่สายตาชาวโลก และการเผยแพร่ภาพและเรื่องราวการปราบปรามภายในประเทศ สามารถทำให้การปราบปรามสร้างความสูญเสียต่อระบอบ มากกว่ากว่าที่ขบวนการต้องสูญเสีย ทั้งในแง่ของการลงทุนและภาพลักษณ์ในเวทีนานาชาติ การปราบปรามไม่ได้สะท้อนกลับไปเสียทุกครั้ง แต่การที่ขบวนการขัดขวาง ยื้อเวลา หรือตีแผ่การปราบปรามที่มีลักษณะน่ารังเกียจออกมา อาจส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียการสนับสนุนจากสาธารณชนและเวทีนานาชาติได้

ประการที่สาม การต่อสู้ด้วยสันติวิธีบางกรณี เช่น กรณีของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1986 ชิลีในปี 1988 เซอร์เบียในปี 2000 และยูเครนในปี 2004 นั้น เป็นกรณีที่สมาชิกของกองกำลังความมั่นคงแปรพักตร์มาอยู่กับฝ่ายต่อต้าน นำไปสู่การบั่นทอนหรือทำลายความสามารถของรัฐบาลในการปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การแปรพักตร์ของกองกำลังความมั่นคงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะขบวนการใช้ความพยายามอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นเวลายาวนาน ซึ่งความพยายามนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้กองกำลังความมั่นคงแปรพักตร์แยกตัวออกจากรัฐบาล

8. ถ้าฉันโน้มน้าวคู่ต่อสู้ไม่ได้ ฉันควรทำอย่างไร

เพื่อชัยชนะแล้ว เราไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวพวกสุดโต่งที่อยู่ในกลุ่มผู้กดขี่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะจำเป็นต้องโน้มน้าวกลุ่มผู้ที่สนับสนุนศัตรูให้ย้ายมาอยู่ข้างเรา

โปรดจำเอาไว้ว่า การต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นมีพลังอำนาจเพราะมันสามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลได้นับพันนับหมื่นคน ซึ่งการกระทำของปัจเจกบุคคลเหล่านี้นั่นเองที่สนับสนุนการกดขี่อยู่ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม เมื่อแหล่งอำนาจของฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอลง เราจะโน้มน้าวเขาสำเร็จหรือล้มเหลวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก อำนาจของฝ่ายตรงข้ามถูกลดลงถึงจุดที่เขาไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้อีกต่อไป เขาจึงถูกบีบบังคับให้ต้องขอเจรจาการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองแบบใหม่ไปโดยปริยาย 

ตัวอย่างเช่น ขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิวประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งคว่ำบาตรกลุ่มธุรกิจของคนขาวที่เมืองพอร์ตอลิซาเบธใน ค.ศ. 1985 ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากจนเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องยอมเปลี่ยนนโยบาย ขบวนการอาจจะไม่ได้โน้มน้าวกลุ่มธุรกิจเหล่านี้จนสำเร็จ แต่ย่อมเป็นการดีกว่าถ้ากลุ่มธุรกิจจะยอมต่อข้อเรียกร้องบางประการของขบวนการ แทนการสนับสนุนการปราบปรามของรัฐบาลต่อไปเรื่อย ๆ

9. สันติวิธีใช้เวลานาน ถ้าเรารอไม่ได้ ควรทำอย่างไร

การต่อสู้ด้วยสันติวิธีไม่ได้กินเวลายืดเยื้อยาวนานไปเสียทุกครั้งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่ขบวนการโซลิดาริตี้ของโปแลนด์ต้องใช้เวลาอีกเกือบสิบปีหลังจากก่อตั้งกว่าจะได้ขึ้นสู่อำนาจ ขบวนการต่อต้านในฟิลิปปินส์กลับใช้เวลาเพียงสองสามปีในการขับไล่เผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส สิ่งที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีไม่ใช่ระยะเวลา แต่ขึ้นอยู่กับว่าขบวนการมีความเป็นเอกภาพและลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นยุทธศาสตร์หรือไม่

10. เราจะชนะได้อย่างไร

คุณจะมีโอกาสชนะมากขึ้น ถ้าขบวนการหรือการรณรงค์ของคุณพัฒนาเอกภาพในหมู่ประชาชนผู้เข้าร่วม พัฒนาการวางแผนอย่างระมัดระวัง และพัฒนาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง

เอกภาพสำคัญอย่างยิ่งเพราะขบวนการต่อสู้จะมีพลังอำนาจก็ต่อเมื่อขบวนการเป็นตัวแทนเจตจำนงและความเชื่อมั่นของเสียงส่วนมาก เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำให้ขึ้นใจว่าการมีส่วนร่วมในขบวนการเป็นความสมัครใจของผู้เข้าร่วม ประชาชนจะเข้าร่วมและพร้อมเสี่ยงเพราะพวกเขาเชื่อในขบวนการ อย่างไรก็ตาม ถ้าขบวนการขาดเอกภาพ และถ้าเป้าหมายนั้นไม่ชัดเจนหรือถูกตั้งคำถาม ประชาชนหลายคนก็จะเลือกไม่เข้าร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้ว ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จจะรวมเอาผู้ชายและผู้หญิง เยาวชน ผู้ใหญ่วัยกลางคน และคนชรา ประชาชนจากกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาที่หลากหลาย นักศึกษา กรรมกร ปัญญาชน สมาชิกของประชาคมธุรกิจ และกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด

การวางแผนมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นการแข่งขันกันของกลุ่มผู้รณรงค์ ขบวนการ หรือกลุ่มพลเมือง ที่สู้กับฝ่ายศัตรู ในการแข่งขันดังกล่าว รูปแบบองค์กรและยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อหล่อหลอมและกำหนดทิศทางการใช้สรรพกำลังของขบวนการ ในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี กลุ่มผู้นำจะต้องตัดสินใจเลือกกลยุทธ์และยุทธศาสตร์จำนวนมาก เช่น การประเมินว่าจะหาทรัพยากรอย่างไร ควรใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดอย่างไร จะใช้ประโยชน์จากจุดเปราะบางของฝ่ายศัตรูอย่างไร และจะป้องกันการโจมตีสวนกลับอย่างไร การตัดสินใจที่ดีนั้นน้อยครั้งนักที่จู่ ๆ จะเกิดขึ้นมาเอง การวางแผนให้ดีนั้นต้องใช้ความรู้สองประเภทด้วยกัน ประการแรก นักวางยุทธศาสตร์จำเป็นต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ และต้องเข้าใจด้วยว่าผลประโยชน์และความปรารถนาของกลุ่มแต่ละกลุ่มในสังคมเป็นอย่างไร ประการที่สอง นักวางยุทธศาสตร์จะต้องรู้ด้วยว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นทำงานอย่างไร ซึ่งความรู้ที่ว่านี้สามารถเรียนได้จากประสบการณ์ส่วนบุคคล จากแหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ และอินเตอร์เน็ต และจากการสื่อสารกับคนอื่น ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีหรือการจัดขบวนการทางการเมือง

วินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน เพราะความรุนแรงที่กระทำโดยขบวนการนั้นจะบั่นทอนความมีประสิทธิภาพของการต่อสู้ และปกติแล้วจะเป็นชนวนให้เกิดหรือเป็นสิ่งที่มอบความชอบธรรมให้กับการปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุม ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้ความรุนแรง ขบวนการมักจะสูญเสียประชาชนในสังคมที่มาเข้าร่วมด้วย เพราะคนเหล่านี้ไม่อยากเผชิญความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วจากความรุนแรง ท้ายที่สุด เมื่อใช้ความรุนแรงกับตำรวจหรือทหาร การพยายามทำให้ผู้ปกป้องระบอบเก่าแปรพักตร์ย้ายข้างจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย ทั้งยังอาจทำให้ความเห็นอกเห็นใจที่ผู้ปกป้องระบอบเก่ามีต่อขบวนการแต่ไม่ได้แสดงออกมาเลือนหายไปด้วย นี่เป็นพลวัตที่ทำงานไปในทางตรงกันข้ามกับแนววิถีของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ที่ซึ่งเป้าหมายของขบวนการ (สังคมที่เสรีขึ้น ดีขึ้น และให้ประโยชน์กับทุกคน) และปฏิบัติการของขบวนการนั้น ได้เพรียกหาความกล้าของสามัญชนซึ่งมาจากปูมหลังทุกรูปแบบ และเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ปกป้องกลุ่มคนที่ถืออำนาจอยู่เช่นเดียวกับที่น่าดึงดูดสำหรับกลุ่มที่ต้องการจะนำระบอบเช่นนี้ไปสู่จุดจบ

ถ้อยแถลงต่าง ๆ

  • “ที่จริงแล้ว ขบวนการมวลชนเป็นผู้ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศแอฟริกาใต้...ขบวนการที่ว่านี้ได้กดดันรัฐ...ต้องยอมเปลี่ยนแปลงในที่สุด...และมาถึงทางตัน ซึ่งเป็นสภาวะที่รัฐไม่สามารถตอบโต้กลับได้” – ดร. เจเนท เชอร์รี่

  • “สิ่งที่เป็นหลักสำคัญของการต่อสู้คือการทำตัวให้เป็นที่สนใจ การต่อสู้อยู่ในซอกมุมที่ไม่มีใครสนใจถือเป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ ถ้าคุณต่อสู้ คุณต้องดึงดูดความสนใจให้มาอยู่ที่เป้าหมายของคุณให้ได้มากที่สุด” –มาคูเซลี แจ็ค

  • “ความยากของการพยายามใช้สันติวิธีคือคนที่ใช้ไม่เห็นความสำคัญของวินัยและการฝึกฝน ไม่เห็นความสำคัญของการคิดยุทธศาสตร์ การวางแผน การรวบรวมอาสาสมัคร และการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำเวลาที่จะทำขบวนการ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่จู่ ๆ จะเกิดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นระบบถึงจะเกิดขึ้นได้”—สาธุคุณ เจมส์ ลอว์สัน        

  • “นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการปราบปรามถึงกลับให้ผลในทางตรงกันข้าม เหมือนกับกฎข้อที่สามของนิวตันว่าด้วยเรื่องกิริยาและปฏิกิริยา เมื่อคุณเพิ่มระดับการปราบปราม ระดับการต่อต้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน” –อีวาน มาโรวิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท