Skip to main content
sharethis

ไพบูลย์ ชี้ผู้ชุมนุมต้องการสาธารณรัฐ จึงต้องการให้ประยุทธ์ออก เพราะเป็นผู้จงรักภักดีอย่างไม่มีใครเทียบได้ ด้านประชาธิปัตย์ยืนยันเป็นพรรคการเมืองที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หวังตั้ง คกก.สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ส่วนเสรีพิศุทธ์แนะประยุทธ์ลาออก แลกม็อบยุติการชุมนุม

26 ต.ค. 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 แบ่งออกเป็นฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 5 ชั่วโมง และประธานสภาและรองประธาน 2 ชั่วโมง รวม 25 ชั่วโมง คาดว่าการประชุมในวันแรกจะจบเวลา 22.30 น. หรือ 23.00 น. หรืออาจจะ 00.00 น. ทั้งนี้การอภิปรายเป็นการถ่ายทอดสดสมาชิกสภาจึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง จึงต้องรับผิดชอบการอภิปรายในทางอาญา

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ก่อตัวและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยเฉพาะวันที่ 14 ต.ค. 2563 ผู้ชุมนุมได้เหิมเกริม บังอาจกระทำการขวางทางและหยุดขบวนเสด็จ ฯ มุ่งร้าย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของภาคประชาชน หรือ ฉบับไอลอว์ และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

“เป้าหมายของผู้ชุมนุม คือ ข้อที่ 3 เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงและลดสถานะสถาบัน และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ให้เป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ”

เมื่อไพบูลย์พูดมาถึงช่วงนี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เตือนไพบูลย์เป็นครั้งที่สอง “ขอให้ใช้ถ้อยคำในญัตติเท่านั้น” คำว่า ปฏิรูปสถาบันได้ แต่นอกเหนือจากนี้ “ขอ” เพราะจะไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้น

ไพบูลย์อภิปรายต่อไปว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผู้ชุมนุม คือ ข้อที่ 3 จึงต้องเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นเลิศในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดครับ และเป็นผู้ที่เข้มแข็ง มีความสามารถที่จะปกป้อง รักษาไว้ซึ่งสถาบัน อย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้ และพล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้โดยตลอดว่า อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดีต่อสถาบัน”

 

พอมาถึงช่วงนี้ พิเชษ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่า ขอประท้วงไพบูลย์ตามข้อบังคับข้อที่ 45 ท่านไม่ได้ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้เจ้าตัวพูดเอง ความจงรักภักดีเป็นเรื่องของบุคคล ท่านไม่ต้องพูดแทนเขา ให้เขาพูดเองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จงรักภักดีขนาดไหน

ไพบูลย์อภิปรายต่อว่า เมื่อผู้ชุมนุมคิดว่า เมื่อกดดันพล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพื่อให้ฝ่ายปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลง และรุกคืบไปสู่การปฏิรูปสถาบัน

“ผมจึงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ในตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงต่อไปและบริหารประเทศให้พ้นวิกฤตโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ อย่าไปลาออก ที่มีเพียงไม่กี่หมื่นคน ต้องคำนึงถึงคน 8.4 ล้านคน ที่เลือกท่านมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

ไพบูลย์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งคุ้มครองสถาบันไว้หลายประการ ยกเลิกที่เกี่ยวกับสถาบันหลาย ๆ จุด ชัดเจนมาก คือ การตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่ห้ามผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกเบิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ห้ามผู้ที่ต้องการพิพากษาให้จำคุก เพื่อเปิดช่องให้แกนนำและเครือข่ายผู้ชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบัน ที่เป็นอดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ให้เป็น ส.ส.ร. เพื่อใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองการเผยแพร่ลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบ

เมื่อมาถึงช่วงนี้ ชวนให้ถอนคำว่า อนาคตใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์ยอมถอน และอภิปรายต่อไปว่า ข้อเสนอ 3 ข้อของผู้ชุมนุมต้องเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก่อน เพื่อไปสู้ข้อที่ 2 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีปัญหากับสถาบัน เพื่อมุ่งไปสู่ข้อที่ 3 คือ ปฏิรูปสถาบัน

“การกระทำดังกล่าวนั้น คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญที่ 3 /2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เขียนไว้ชัดเจนครับ กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากปรากฎว่าพรรคการเมืองใด ผู้บริหารพรรคการเมืองใด หรือ ส.ส.ของพรรคการเมืองใด ไปเข้าร่วมชุมนุม หรือ เข้าร่วมกับผู้ชุมนุมด้วยวิธีใดก็ตาม รวมถึงการเสนอตั้งกรรมการปฏิรูปสถาบันด้วย ท่านจะเข้าข่ายสนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินคดีอาญา และพรรคการเมืองนั้นอาจจะถูกยุบ”

ไพบูลย์กล่าวว่า การเรียกร้องให้ยุบสภา ขอเสนอให้ตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การออกเสียงประชามติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภา จึงสามารถออกพ.ร.ก.ประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 เพื่อให้คนทั้งประเทศออกเสียงตัดสินว่า ประชาชน 66.5 ล้านคน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

ประชาธิปัตย์ยืนยันเป็นพรรคการเมืองที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หวังตั้ง คกก.สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

ด้านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตอนหนึ่งระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเทิดทูนชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้่น และทุกฝ่ายต้องลดเงื่อนไข กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องชักฟืนออกจากกองไฟเพื่อไม่ให้ลามออกไปโดยไม่จำเป็น และเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะถือเป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล 

"ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาในวาระที่ 1 ทันทีที่ทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขไปสู่การเข้าใจจากสังคมว่าเป็นการยื้อเวลาอีก เช่น การทำประชามติก่อนรับหลักการ เป็นต้น เพราะการทำประชามตินั้นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้ทำประชามติหลังผ่านรัฐสภาและก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติอีก และเพื่อให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปราบรื่น เห็นสมควรให้วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ร่วมกันหาทางออกว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้มีความสำคัญ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปมีความราบรื่น"

จุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ควรมีข้อสรุปและข้อเสนอสำหรับการหาทางออกร่วมกัน เห็นว่ารัฐสภาควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยให้ประธานรัฐสภาลงนามแต่งตั้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2552 คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าควรให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง โดยต้องมีหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1.ประกอบด้วยบุคคลทั้งในและนอกสภา ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ฝ่ายเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม และบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ให้มีหน้าที่แสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกให้กับประเทศ เน้นการคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อะไรที่ถอยกันได้ก็ถอยคนละก้าว เพื่อให้ดำรงเป้าหมายในการหาทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 3.ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ทั้งหมดหวังว่ารัฐสภาจะนำไปพิจารณาและไตร่ตรองต่อไป และขอเรียกร้องให้วิป 3 ฝ่ายเร่งหารือกัน หากทำได้เช่นนี้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ แม้บางเรื่องจะต้องใช้เวลาให้เกิดตกผลึกร่วมกันบ้างก็ตาม 

เสรีพิศุทธ์ แนะประยุทธ์ลาออก แลกม็อบยุติ

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า การเรียกร้องให้ถอยคนละก้าวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้จะดูดีในการให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ แต่เป็นเวทีให้รัฐบาลฟอกตัวมากกว่าแก้ ปัญหาให้ประชาชน ไม่ได้ประโยชน์ เพราะนักเรียน นักศึกษาไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็น กลายเป็นสภา คิดทำฝ่ายเดียว ไม่ได้ข้อยุติ เสียเวลาเปล่าๆ ขอเสนอควรใช้สันติวิธีเจรจากันให้เกิดข้อยุติ โดยตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับนัก ศึกษา คุยกันให้จบว่าจะยุติเหตุการณ์ให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภายใต้จิตใจเป็นธรรม เสียสละ ถอยคนละก้าว ในส่วนรัฐบาลควรให้แก้รัฐธรรมนูญ นำร่างฉบับประชาชนเป็นหลักในการพิจารณา แก้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องหมวดสถาบัน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรู้จักพอ อย่าเสพติดอำนาจ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ลาออก นักศึกษาต้องยุติชุมนุม ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก ขอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากรัฐบาลเพื่อให้ประเทศเดินต่อได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายพล.ต.อ.พิศุทธ์อภิปรายว่า ขณะนี้ไปที่ไหน ได้ยินแต่เพลง I hear too ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ตัดบทขอให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถอนคำพูดทันที เพราะเป็นการคำพูดไม่สุภาพ แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันไม่ถอนคำพูด โดยยอมยุติการอภิปรายของตัวเองลงเพียงเท่านี้

 

ที่มาจาก : ประชาชาติออนไลน์ , สยามรัฐออนไลน์ , กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net