Skip to main content
sharethis

สมชาย แสวงการ ส.ว. เผยไปสังเกตการณ์ไผ่ ดาวดิน จัดม็อบวันที่ 13 ต.ค. พบความรุนแรงเกิดขึ้นหลัง ตร. ขอให้เปิดทางให้ขบวนเสด็จ ย้ำผู้ชุมนุมไม่ได้มีแค่นักเรียน นักศึกษา แต่มีมวลชนของพรรคการเมืองด้วย  พร้อมถามทำไมไม่เสนอปฏิรูปนักการเมืองบ้าง เห็นเสนอแต่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขอการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลไกรัฐสภา อย่าเอามวลชนมากดดัน ด้านประยุทธ์พร้อมเดินหน้าแก้ รธน. คาดเสร็จไม่เกินเดือนธันวาคม

26 ต.ค.2563 สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายในการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินว่า มองประเด็นวิกฤต COVID-19 ว่าทุกฝ่ายช่วยกันด้วยดีมาตลอด โดยเปรียบเทียบกับสถิติผู้ติดเชื้อทั่วโลก และการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

สมชาย กล่าวว่า จากการไปสังเกตการณ์ชุมนุมมาแล้ว 3 วัน ในวันที่มีไผ่ ดาวดิน เมื่อเริ่มมีเจ้าหน้าที่มาขอเปิดพื้นที่ เพราะจะเป็นเส้นทางเสด็จ ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการสาดสี และสังเกตเห็นว่าทมวลชนที่ไปร่วม ไม่ได้มีแค่นักเรียน นักศึกษา แต่มีมวลชนของพรรคการเมืองด้วย

“เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา แต่ปัญหาคือนักการเมืองที่ส่งต่อความขัดแย้งสู่มวลชน”

สมชาย อ้างว่าไปการชุมนุมที่ราชประสงค์ และพบว่าผู้ชุมนุมเริ่มต้นจากนักเรียน คนทำงาน และกล่าวหาว่ามีการใช้คำปราศรัยรุนแรง จาบจ้วง และชักนำให้โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอ 3 ข้อของผู้ชุมนุมมองว่า การให้นายกฯลาออก ไม่เกิดประโยชน์ รายชื่อแคนดิเดตยังคงเดิม การลาออกเพียงอย่างเดียวไม่แก้ปัญหา เช่นเดียวกับการยุบสภาขณะที่มองการตั้งกรรมาธิการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงผู้ชุมนุมว่าเหตุใด จึงไม่เสนอปฏิรูปนักการเมือง กลับเสนอแต่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

สมชาย กล่าวเสนอทางว่า รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ ใช้ไม้นวม ไม้แข็งและอ้อมกอด เปิดเวทีพูดคุยหาทางออก ประเด็นแรก ควรมีเวทีพูดคุยเอาตัวแทนนักศึกษา ฝ่ายต่างๆ มาหาทางออก แต่ไม่เอาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาพูดถึง เพราะมีเรื่องต่างๆ ต้องปฏิรูปมากมาย ประเด็นต่อมา รัฐบาลต้องชี้แจงกับองค์กรระหว่างประเทศให้ดีกว่านี้ เพราะมีเอ็นจีโอที่ต้องการเอาแนวเข้ามาแทรกแซง

นอกจากนี้เห็นว่ารัฐบาล ต้องตั้งทีมจัดการข่าวปลอมในเชิงรุก เพราะรัฐบาลล้มเหลวทาง โซเซียล และขอให้รัฐสภาต้องร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ ในการปฏฺิรูปด้านต่างๆ และขอให้เปิดเวทีให้ผู้ชุมนุมได้แสดงความคิดเห็น แทนที่จะออกไปตามท้องถนน เช่น สนามกีฬา หรือมหาวิทยาลัย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้กลไกสภาไม่ให้การชุมนุมมากดดัน ส่วนการการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นสิ่งที่สุดโต่ง  

“นายกรัฐมนตรี ไม่ควรลาออก ต้องเร่งการปฏิรูปที่ยังค้างอยู่ และเห็นว่าถ้าทุกข้อทำไม่ได้ให้รัฐบาลจัดประชามติ โดยรับข้อเสนอจากประชาชนที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ”

นายกฯ ลุกแจง ยันหนุนแก้รัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้าเสนอ พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสภา

เมื่อเวลา 15.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงในการประชุมร่วมรัฐสภา ในการอภิปรายทั่วไป ถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลมีการพูดคุยหารือกันเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 หรือ 20 วันก่อนหน้านี้ โดยมีการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือว่าควรจะเดินหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรในสภาฯ รวมถึงแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบแล้ว

“ในเดือน พ.ย.นี้ สภาฯ ก็จะพิจารณารัฐธรรมนูญ น่าจะเสร็จในวาระที่ 1, 2 และ 3 ในเดือน ธ.ค. โดยประมาณ แต่ก็ยังคงประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอทำประชามติก่อน โดยสัปดาห์หน้านั้นรัฐบาลจะเสนอ พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสภาฯ ถ้า พ.ร.บ.เสร็จเมื่อใด ก็ต้องไปทำประชามติกันเมื่อนั้น อันนี้แสดงให้เห็นว่าผมให้ความสนับสนุนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

 

ที่มาจาก : ไทยพีบีเอสออนไลน์ , ไทยรัฐออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net