สุทธวรรณ ชี้กรณีขบวนเสด็จฯ เป็นความผิดของรัฐบาล ขอหยุดสร้างละครแขวนคอภาค 2

หยุดสร้างละครแขวนคอภาค 2 ! "สุทธวรรณ" เผยหลักฐานกรณีขบวนเสด็จฯ เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ - เลิกโยนผิดปลุกความเกลียดชังม็อบ นศ .- จี้ ผบช.น. - ผบ.ตร. - นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ

26 ต.ค. 2563 ทีมสื่อสารพรรคก้าวไกล รายงานว่า ที่รัฐสภา สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ร่วมอภิปรายในญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยวิสามัญ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชแผ่นดิน โดยกล่าวถึงความบกพร่องของเจ้าหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบกรณีดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่ไปสร้างความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนดังที่เกิดขึ้น

สุทธวรรณ กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครนั้น รัฐบาลให้เหตุผลกล่าวอ้างว่า 'กลุ่มผู้ชุมนุมมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล' แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสด็จฯ ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่ว่าจะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนพิษณุโลก ทั้งๆ ที่ ผบช.น.ก็อยู่ด้วย แต่ไม่ได้แจ้งผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ทั้งที่คือขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งเสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ และเป็นการเสด็จฯ แทนพระองค์นี้ต้องมีการถวายการอารักขาด้วยความปลอดภัยในระดับสูงสุด แต่กลับไม่มีการเตรียมพื้นที่ล่วงหน้าตามหลักปฏิบัติในการถวายความปลอดภัย ไม่มีการเคลียร์รถที่อยู่ข้างทาง หรือแม้แต่ผู้คนที่ไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ก็ยังอยู่บนสะพานลอย ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องการจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ ซึ่งมีจุดหมายปลายทางคือวัดราชโอรสาราม ซึ่งโดยปกติการจัดเส้นทางนั้นต้องมีเส้นทางสำรองไว้เสมอ ดังเช่น เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเห็นได้ว่ามีเส้นทางสำรอง

สุทธวรรณ ยังได้ตั้งคำถามถึง เส้นทางสำรองในการจัดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ถวายการอารักขาถึงตัดสินใจเลือกเส้นทางเสด็จฯ เป็นถนนพิษณุโลก และพาขบวนเสด็จฯ มาในพื้นที่ที่อาจได้รับความไม่สะดวก แทนที่จะเลือกเส้นทางอื่นที่สะดวกมากกว่า ซึ่งมีตัวเลือกทั้งในเส้นทางถนนศรีอยุธยา และถนนหลานหลวง ในเมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่าเส้นทางนี้ไม่สะดวก มีประชาชนชุมนุมอยู่ อีกทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในขบวนเสด็จฯ จะต้องมีการรายงานชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร แผนถวายความปลอดภัยในครั้งนั้น กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติไว้อย่างไร เพราะตามหลักปฏิบัติ จะต้องมีการตรวจสอบความเรียบร้อยในเส้นทางก่อนเวลาเสด็จฯ ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง หากพบปัญหาที่อาจจะกระทบต่อการเสด็จฯ ก็สามารถประสานงานเพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางได้

"ผลสืบเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ ในครั้งนี้ คือ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และมีการดำเนินคดีประชาชน 3 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และจากเอกสารขอเปิดอภิปรายทั่วไปนี้ ที่นายกรัฐมนตรีแจ้งว่ามีปัญหาอยู่ 3 ข้อ ดิฉันเห็นว่า รัฐบาลจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง ไปจนถึงให้ร้าย ดำเนินคดีกับประชาชน เพื่อปกปิดความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการจัดเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัย และโยนความผิดเหล่านั้นมาให้ประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในวันถัดมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการสั่งย้ายนายตำรวจ 3 นายเป็นการเร่งด่วน ได้แก่ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จริงๆ แล้วความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ จึงเห็นว่าผู้ที่ควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ คือ ผบช.น. , ผบ.ตร. และนายกรัฐมนตรี มากกว่า เพราะเมื่อการจัดเส้นทางเสด็จฯ และการถวายความปลอดภัยมีข้อผิดพลาด นายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้"  สุทธวรรณ กล่าว

สุทธวรรณ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีความพยายามนำกรณีขบวนเสด็จฯ มาบิดเบือนความจริง ใช้กรณีนี้ปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน เผชิญหน้ากัน และในวันหนึ่งอาจนำไปสู่การฆ่ากัน ซึ่งไม่อยากให้เหตุการณ์ดำเนินไปถึงจุดนั้น อีกทั้งยังมีความกังวลว่ารัฐบาลเองจะใช้เหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา สร้างเป็นละครแขวนคอภาค 2 อีก เหมือนเมื่อครั้งสมัยเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ออกมารับผิดชอบ และเลิกบิดเบือนความจริง การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ ไม่ส่งผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน รัฐบาลควรมีหน้าที่ธำรงสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกฝ่าย ไม่ใช่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาสร้างความเกลียดชังและสร้างความชอบธรรมให้ประชาชนฝ่ายหนึ่งออกมาทำร้ายประชาชนอีกฝ่ายที่เห็นต่าง

"สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผูกขาดความจงรักภักดี และผลักอีกฝ่ายออกไปในตอนนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหา เราควรหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงอยู่อย่างสง่างามภายใต้รัฐธรรมนูญ"  สุทธวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท