Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 16 ปีตากใบ 'ผสานวัฒนธรรม' เสนอยกเลิกใช้ กม.พิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้ - ตร.ปรับนักกิจกรรม หลังติดป้ายผ้ารำลึก 'ตากใบ 2547' ผิด พ.ร.บ.ความสะอาด แถมถูกค้นบ้าน-มือถือ

26 ต.ค.2563 เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 78 ราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ผ่านมาแล้ว 16 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดพิธีทำบุญและรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบมองว่าการจัดงานรำลึกขึ้นทุกๆ ปี จะทำให้ผู้คนไม่ลืมและยังคงจดจำเหตุการณ์ตากใบได้ แม้ว่าการเข้าร่วมงานรำลึกจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกเศร้า และเหมือนกับว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานก็ตาม

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 16 ปี แต่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ แม้ว่าฝ่ายรัฐจะระบุว่ามีการลงโทษไปแล้ว คือ การย้ายผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในวันนั้น ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วนการเยียวยาก็มีการจ่ายเงินให้ผู้เสียชีวิตทั้งหมด(รายละ) 7.5 ล้านบาท ตามมติ ครม. และมีการเยียวยาทางด้านจิตใจที่สำคัญ คือ หลังรัฐประหารปี 2549 นายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มาขอโทษชาว จ.ปัตตานีในวาระหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม

"คดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุ ซึ่งต้องเป็นคดีไต่สวนการตาย ซึ่งมีทั้งหมด 6 คน แต่กระบวนการยุติธรรมส่วนนี้ไม่ได้ถูกดำเนินการ ส่วนที่สองก็คือ กรณีไต่สวนการตายผู้ที่เสียชีวิต 78 คน จากการขนย้ายจากหน้า สภ.ตากใบ ไปที่ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี มีการไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดสงขลา ผลของการไต่สวนการตายที่เขียนไว้ในคำพิพากษาว่าเป็นการขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้ไม่มีการดำเนินคดีนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หลายส่วนก็มองว่าคำพิพากษานี้มีปัญหา และเป็นการตอกย้ำถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีการสูญเสียของผู้ชุมนุม และเกิดจากการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปี 47" พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า อีกคดีที่เกี่ยวข้องก็คือ คดีของผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาเรื่องการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ มีทั้งหมด 58 ราย ต่อมาหลังรัฐประหาร ได้มีความเห็นของอัยการถอนฟ้องไป เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงของเหตุการณ์ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะการกระทำที่เกินกว่าเหตุเกิดจากรัฐมากกว่าผู้ชุมนุม โดยทั้งภาพและบันทึกต่างๆ ที่เผยแพร่ออกไป มีการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น ให้ถอดเสื้อ ให้เอามือไขว้หลัง ให้นอนราบ ให้คลาน มีการใช้ความรุนแรงที่หลายฝ่ายคิดว่าเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นการทรมานด้วย แต่กระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งปัจจุบัน

"การกระทำที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ อาจเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ถ้าจะพูดถึงในบริบทของประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ การเยียวยาผู้สูญเสีย แม้ว่าจะเกิดการชดเชยด้านตัวเงินและคำขอโทษ แต่โดยภาพรวมแล้ว โครงสร้างหลักของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการกับการชุมนุมและการปฏิบัติต่อชาวมลายู มุสลิมใน 3 จังหวัดดีขึ้นเป็นลำดับ แต่กลับเกิดความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งคือการใช้กฎหมายพิเศษอย่างไร้หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม เป็นความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังทำให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือผู้ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิ หรือบางส่วนอาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เป็นธรรม มีการจับกุมควบคุมตัว ใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการดำเนินคดีที่อาจทำให้มีผู้บริสุทธิ์ติดหลงเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก" พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ตากใบและสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งยังต้องการสิ่งที่เรียกว่า "เสรีภาพในการแสดงออก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน และบทบาทของภาคประชาสังคมในการสื่อสารความทุกข์โศก และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น การจัดการความขัดแย้งต้องดำเนินด้วยวิธีสันติวิธีอย่างเคร่งครัด การยกเลิกประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็น่าจะเป็นจุดที่ทางราชการต้องพิจารณาเป็นลำดับแรก เพราะกฎอัยการศึกใช้มา 16 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใช้มา 15 ปีเต็มแล้ว ทั้งที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงเป็นลำดับด้วยปัจจัยต่างๆ

"สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 7 วัน ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเวลา 15 ปี ก็อยากให้หน่วยงานความมั่นคงพิจารณาเรื่องการลดหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษ และนำกฎหมายปกติมาใช้ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุลที่เป็นธรรมมากกว่า แล้วก็เรื่องเสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งในทุกพื้นที่" ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

ปรับนักกิจกรรม หลังติดป้ายผ้า 'ตากใบ 2547' ผิด พ.ร.บ.ความสะอาด แถมถูกค้นบ้าน-มือถือ

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (26 ต.ค.63) เมื่อเวลา 17.30 น.กรณีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา เชิญตัวเยาวชนนักกิจกรรมจากไปติดป้ายผ้าในพื้นที่สาธารณะ เพื่อรำลึกถึง 16 ปี โศกนาฏกรรมตากใบ โดยมีข้อความว่า 'ตากใบ 2547' ในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.บันนังสตา จ.ยะลาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่อง พ.ร.บ.ความสะอาด และมีการค้นโทรศัพท์มือถือ, บัญชีเฟซบุ๊กและตรวจค้นบ้านตามกฎอัยการศึก 

เยาวชนนักกิจกรรมดังกล่าว ออกจาก สภ.บันนังสตา โดยการเสียค่าปรับเนื่อด้วยข้อกล่าวหา พ.ร.บ.ความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยมีเพื่อนๆ (PerMAS) ได้ไปร่วมให้กำลังใจที่สภ.บันนังสตา บรรยากาศผ่านไปด้วยดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net