ศาลแพ่งยกฟ้อง กรณีทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส ชี้กองทัพบกไม่ต้องชดใช้

ทนายความและญาติชัยภูมิ ป่าแส เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง หลังศาลแพ่งยกฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" ชี้กองทัพบกไม่ต้องชดใช้ ขณะที่ทนายเปิดหลายประเด็นที่เห็นต่าง เช่น ศาลให้น้ำหนักกับคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวนของพงศนัย แสงตะหล้า ซึ่งไม่ได้มาเบิกความในศาล และเป็นคำให้การหลังจากเกิดเหตุ ไม่ใช่คำให้การในวันที่เกิดเหตุ อีกทั้ง ศาลไม่ได้หยิบยกประเด็นดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่ปรากฎบนหีบห่อของยาเสพติดที่ไม่ใช่ของชัยภูมิมาพิจารณาประกอบร่วมด้วย รวมถึงประเด็นกล้องวงจรปิดที่เป็นพยานหลักฐานที่มีคุณค่าก็ไม่ได้รับการเปิดเผยจากกองทัพบก พร้อมจี้เปิดกล้องวงจรปิดที่จะคลี่คลายคดีได้ทุกอย่าง ขณะที่แม่ชัยภูมิระบุ ลูกชายถูกฆ่าจากกระบวนการยุติธรรมซ้ำสอง

26 ต.ค. 2563 ที่ห้องพิจารณา 503 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ประกอบด้วยนาปอย ป่าแส มารดาชัยภูมิ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ผู้ดูแลชัยภูมิ รัษฎา มนูรัษฎา และทีมทนายความในคดี ได้เดินทางเข้ารับฟังคำการอ่านคำพิพากษาจากศาลแพ่งรัชดา กรณียื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ชัยภูมิ ป่าแส ชาติพันธุ์ลาหู่เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม พร้อมเพื่อนหนึ่งคนขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงชัยภูมิฯ จนเสียชีวิต โดยภายหลังระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพชัยภูมิฯ ว่า “พฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 นางนาปอย ป่าแส แม่ของชัยภูมิ ป่าแส ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.2591/2562  และวันที่ 21 – 22 ม.ค.2563 ศาลแพ่งได้ส่งประเด็นให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยมีญาติของชัยภูมิ ครูประจำชั้น และเพื่อนในโรงเรียนของ ชัยภูมิ ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ รวมถึงพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง มาเบิกความที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ 4-5 ส.ค. 2563  ศาลแพ่งรัชดาได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยอีกครั้ง  จนนำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษาที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ในวันนี้ (26 ต.ค.63)

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายของครอบครัวชัยภูมิกล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ยกฟ้องในคดีที่ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหายต่อกองทัพบก ตาม พระราชบัญญัติความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ครอบครัวและทนายเห็นต่างในหลายประเด็น โดยศาลพิพากษาว่าการที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิงชัยภูมิเป็นไปเพื่อป้องกันตัวและไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ โดยศาลเห็นว่าชัยภูมิมีระเบิดแบบว้าเสตทและจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นครอบครัวชัยภูมิและทนายที่ต่อสู้มาตลอด โดยมีประเด็นหลักๆ เห็นต่างจากคำพิพากษาในวันนี้มีดังนี้

ศาลยกคำให้การของพงศนัย แสงตะหล้า ในชั้นพนักงานสอบสวนมากเป็นพิเศษ ซึ่งพงศนัยไม่ได้มาเบิกความในศาลในคดีนี้  โดยพงศนัยในวันเกิดเหตุนั้นเป็นคนขับรถคันที่ชัยภูมินั่งมา ข้อสังเกตคือ คำให้การของพงศนัย เป็นคำให้การที่ให้การหลังเกิดเหตุ ซึ่งคดีนี้เกิดเหตุเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 แต่คำให้การที่ให้ไว้ในชั้นสอบสวนเป็นฉบับที่ให้การเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2560 ดังนั้นคำให้การในวันที่เขาถูกควบคุมต่างหากที่มีความสำคัญ ว่าเขาให้การไว้อย่างไร

ต่อข้อถามที่ว่า พยานที่นั่งมาในรถคันเดียวกันกับชัยภูมิถูกปล่อยตัวโดยที่ไม่มีความผิด และคำให้การของพยานหลังเกิดเหตุที่พนักงานสอบสวนส่งให้กับศาลในส่วนนี้มีความผิดปรกติตรงไหนหรือไม่รัษฎา กล่าวว่า เหมือนที่ตั้งข้อสังเกตไปตั้งแต่แรกถ้าคนที่นั่งมาร่วมกันในรถคันเดียวกันแล้วรถคันนั้นมีของกลางเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย โดยปรกติทั่วไปเขาจะต้องถูกตั้งข้อหาร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายถ้ามีเป็นจำนวนมาก แต่คดีนี้มันไม่เป็นแบบนั้นเราก็เลยมีข้อสังเกตุว่าเราต้องมาดูว่าทำไมคนหนึ่งตายแต่อีกคนที่มีชีวิตอยู่และนั่งอยู่ในรถไม่ถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกัน  

ทนายความของครอบครัวชัยภูมิ ยังกล่าวถึงกรณีของกล้องวงจรปิดว่า  กล้องวงจรปิดพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารยืนยันว่าใช้ได้มีจำนวนทั้งหมด 9 ตัวใช้ได้ 6 ตัว ชำรุดไป 3 ตัวและตัวที่ใช้การได้มันส่องไปถึงจุดที่มีการตรวจค้นรถคันเกิดเหตุ ดังนั้นมันถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีคุณค่าควรแก่การรับฟังแต่คดีนี้ได้พยามทั้งที่มีหนังสือไปถึงกองทัพบกให้เปิดเผยความจริงเหล่านี้ซึ่งเจ้าหน้าที่เบื้องต้นในตอนแรกก็บอกว่าต้องรอไปชั้นกระบวนการยุติธรรม แต่นี่จนถึงการสืบพยานตัดสินแล้วก็ยังไม่ปรากฎ ซึ่งกล้องเหล่านี้มันอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ทหารก็เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าไปไม่ถึง เมื่อกล้องใช้การได้ ไม่เสีย สามารถส่องไปถึงจุดที่เกิดเหตุได้ก็ควรเอามาเปิดเผยเพราะการเปิดเผยจะทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีความจำเป็นจะต้องทำร้ายชัยภูมิหรือไม่ ซึ่งที่ทหารให้การว่าชัยภูมิมีมีดเขาจึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัว ซึ่งกล้องวงจรปิดจะทำให้แห็นว่ามันเป็นความจริงตามการต่อสู้ของทหารหรือไม่ หรือทหารจำเป็นต้องยิงชัยภูมิ เพราะชัยภูมิมีระเบิด ดังนั้นกล้องวงจรปิดเหล่านี้มันจะฟ้องได้ว่าชัยภูมิไปหยิบระเบิดมายังไง เมื่อมันไม่ปรากฏกล้องวงจรปิดมันก็ปิดไปเรื่อย มันก็ปิดไปตลอดมันไม่เปิดก็เลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็เลยไปเชื่อตามคำให้การของพยาน ซึ่งพยานหลักฐานมันมีหลายอย่างมันมีคำให้การของบุคคล คำให้การของพยานวัตถุ และหลังจากนี้ฝ่ายครอบครัวก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน เมื่อเราได้คำพิพากษาแล้วเราก็จะต่อสู้กันต่อไปจนถึงที่สุด

ในประเด็นนี้ ศาลกลับให้น้ำหนักแก่เอกสารของ สนง. ตรวจพิสูจน์วัตถุพยาน ที่ระบุผลการตรวจสอบว่าไม่พบข้อพิรุธสงสัยว่าจำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำลายข้อมูลที่ปรากฎในเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด โดยผลการตรวจพิสูจน์และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เครื่องบันทึกภาพกล้องบันทึกวงจรปิดและฮาร์ดดิสก์ที่ติดตั้งอยู่ ภายในสามารถใช้งานได้ และมีการตั้งค่าวันที่และเวลาปัจจุบัน แต่ตรวจไม่พบข้อมูลภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์จริงในวันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น. และตรวจไม่พบข้อมูลการลบหรือการเพิ่มแฟ้มข้อมูลภาพยนตร์ในเครื่องบันทึกแต่อย่างใด

ทำให้เกิดคำถามต่อว่า เหตุใดคำพิพากษาไม่ได้ตั้งประเด็นถามต่อว่า ภาพบันทึกในกล้องวงจรปิดของช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว หายไปไหน และเหตุใดศาลจึงเชื่อพยานเอกสารของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานมากกว่า และได้ให้น้ำหนักพงศนัยมาก ในฐานะพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ  และได้ใช้คำให้การของพงศนัยแทนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่บันทึกในกล้องวงจรปิด

               นอกจากนี้ในส่วนประเด็นเรื่องของยาเสพติดของกลางศาลยังไม่ได้หยิบยกเรื่องของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมหรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝง ซึ่งพยานวัตถุของกลางเหล่านี้ถ้ามันเชื่อมโยงกับชัยภูมิจริง ทั้งลายพิมพ์นิ้วมือที่ฝาหม้อกรองก็ดีที่อ้างว่ามีการไปปิดกั้นคดี  หรือลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่ปรากฎที่หีบห่อของยาเสพติดสิ่งเหล่านี้มันไม่เชื่อมโยงเลยกับสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของชัยภูมิ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ประเด็นเหล่านี้มันอยู่ในสำนวนคดี แต่ศาลท่านไม่หยิบยกขึ้นมา

ศาลยังไม่ได้ยกคดียาเสพติดในอีกคดีที่เกี่ยวข้องกันมาพิจารณาร่วมด้วย โดยหลังจากที่ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่  17 มีนาคม 2560 นางสาวนาหวะ จะอื่อ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และครอบครัวผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชัยภูมิและครอบครัว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับหน่วยต่างๆ กว่าร้อยนายเข้ามาแสดงหมายจับในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 โดยนาหวะให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน  และชั้นศาลมาโดยตลอดว่าเธอไม่รู้เห็นกับเรื่องนี้  เธอถูกจองจำที่ทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24  เมษายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนาหวะ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

รัษฎา ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า เรื่องการตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกัน 4 ฝ่ายโดยเร็วที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่การตั้งด่านตรวจก็ดีตนยังเห็นว่าภารกิจเหล่านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขามีการฝึกฝนมา เขารู้ว่าแค่ไหนอย่างไรที่จะเหมาะหรือสมควร เพราะคดีของชาวบ้านที่เกิดเหตุที่ด่านรินหลวงก็มีคดีของก่อนชัยภูมิอีก 1 ศพ คือคดีของอะเบ แซ่หมู่ ซึ่งตอนเสียชีวิตก็มีระเบิดวางไว้ที่ข้างศพเหมือนกัน โดยคดีของอะเบศาลตัดสินให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งคดีนั้นเกิดก่อนคดีของชัยภูมิไม่ถึง 15 วัน

ทนายตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า การเข้าตรวจที่สถานที่เกิดเหตุในกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 150 วรรค 2,3,4 ระบุว่าในเหตุการณ์ที่มีการวิสามัญฆาตกรรม จะต้องมีฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ ตำรวจ ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง ครอบครัวญาติ เข้ามาร่วมตรวจสอบในจุดเกิดเหตุทันที เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ในกรณีนี้ หลังจากเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงคือ ทหารได้เข้ามากั้นจุดเกิดเหตุไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาในจุดเกิดเหตุได้โดยทันที

                 ซึ่งภายหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นทำให้ญาติของชัยภูมิที่เข้ามาฟังคำตัดสินน้ำตาคลอ และเสียใจต่อการคำตัดสินดังกล่าวเป็นอย่างมาก  ขณะที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล  ผู้ดูแลชัยภูมิกล่าวว่า พวกเราค่อนข้างช็อคกับคำตัดสินของศาล เราคาดหวังว่าความจริงจะปรากฏ แต่ความจริงที่ปรากฏออกมานั้นไม่ใช่ความจริงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความจริงที่ทุกคนฟังแล้วมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ซึ่งตนไม่กล้าพูดว่า สิ่งที่เขาตัดสินนั้นถูกหรือไม่ แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึก ในคำพิพากษาน่าจะมีคำตอบให้เรามากกว่านี้ ไม่ใช่ฟังแต่พยานของเขาฝ่ายเดียว  พยานสำคัญที่เราต้องการให้เขาหยิบยกมาใช้ด้วยคือกล้องวงจรปิด เพราะกล้องโกหกไม่เป็น เลือกข้างไม่เป็น กล้องจะถูกบันทึกตามภาพที่เกิดขึ้นและเราอยากจะเห็นตรงนั้นซึ่งจะเป็นพยานที่ชัดเจนว่าน้องชัยภูมิถูกสังหารนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ซึ่งเราอยากเห็นตรงนั้น ซึ่งหลังจากนี้ถ้ายังมีช่องทางให้พวกเราสู้เราก็จะสู้

“แต่ถ้าถามว่าพวกเราท้อมั้ยก็ต้องพูดความจริงว่ามันท้อแล้วทำไมการตามหาความยุติธรรม สำหรับคนอย่างพวกเรามันเหนื่อยและยากลำบากอย่างนี้ แต่ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ เขาก็จะเอาปืนไปไล่ยิงเด็กคนไหนโดยไม่ผิดได้อีกก็ได้ พวกเราก็ต้องสู้ต่อไป เราจะสู้ต่อครับ” ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ผู้ดูแลชัยภูมิกล่าว

ด้านนางนาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า หลังฟังคำจากศาลที่ยกฟ้องตนรู้สึกเจ็บปวดหัวใจอย่างมากลูกชายตายทั้งคน สุดท้ายก็ยังถูกทำให้พ่ายแพ้จากกระบวนการยุติธรรมซ้ำอีก แต่ตนก็พร้อมที่จะสู้ไม่ยอมแพ้ถ้ามีหนทางก็พร้อมที่จะสู้ต่อไป

ด้านนางสาว ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International ซึ่งเข้าร่วมสังเกตุการณ์การตัดสินคดีในครั้งนี้กล่าวว่าจากผลของคำพิพากษาวันนี้ ยิ่งตอกย้ำว่าในสังคมไทย ตราบใดที่ความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมยังคงมีและดำรงอยู่ เราไม่สามารถที่จะหยุดต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมกลับมาได้เลย เราต้องจำกันให้ได้ว่าความหวังเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นความจำเป็นที่ทรงพลังในสถานการณ์ที่เราไม่เหลือความยุติธรรมใดๆเช่นนี้  ครอบครัวของชัยภูมิยังคงมีหวังในการอุธรณ์คดีนี้ ซึ่งหากมองประเทศไทยตอนนี้ประชาชนโหยหาการเปลี่ยนแปลงและหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำพาประเทศไปสู่หนทางที่ดีกว่า ดังนั้นขอให้เราทุกคนร่วมกันสนับสนุนและเคียงข้างครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ได้ดำเนินการอุธรณ์ในคดีดังกล่าวและช่วยกันทำให้แน่ใจว่าพวกเขาและเธอจะได้รับความยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท