Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ เติมพลังใจพร้อมสู้ต่อ กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

27 ต.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กว่า 10 คน เดินทางไปยังบ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อลงพื้นที่เรียนรู้บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถอดบทเรียนการต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับภาคประชาชนกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

สำหรับการทำเหมืองแร่ทองคำบนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 ซึ่งหลังจากดำเนินการได้เพียงไม่นานก็เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำและขอให้มีการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมของเหมืองแร่ทองคำต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของชุมชนปนเปื้อนด้วยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และแมงกานีส และยังมีการตรวจพบสารพิษปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดของชาวบ้านเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้การทำเหมืองแร่ทองคำยังก่อให้เกิดความขัดแย้งจนเกิดความแตกแยกในชุมชน การละเมิดสิทธิชุมชน การทำร้ายร่างกาย บังคับ ข่มขู่ ตลอดจนการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งถึง 27 คดี

อย่างไรก็ตามเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว การปิดเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 ได้ยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวในข้อหาฐานความผิดกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ โดยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ศาลได้พิพากษาให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชาวบ้าน 149 ราย รายละ 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ม.ค. 2561) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจะมีสภาพที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับภาคประชาชนขึ้น เพื่อเป็นกรอบคิดริเริ่มในการเชิญชวนภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาปรึกษาหารือและร่วมผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาให้ได้ในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูว่า “คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกิน หนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน” ในขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้พยายามจัดทำแผนและเสนอแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่กลับละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า “การต่อสู้ของพี่น้องเรากว่าจะมาถึงวันนี้ เราได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายแร่ เรียนรู้สิทธิและได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกรณีเหมืองแร่หลายพื้นที่ จนได้นำบทเรียนและประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนใช้ในการต่อสู้ ขณะที่ได้เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน จนถึงการฟ้องศาล ทั้งศาลปกครองและศาลอาญา มีทั้งแพ้คดีและชนะคดี แต่เราก็ยังสู้ต่อไป”

ด้านวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ฯ หลังจากนี้ ควรมีกิจกรรมรณรงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อระดมทุนในการเคลื่อนไหวต่อไป”

ขณะที่เพียงยล พุทธบุญยัง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เผยถึงความรู้สึกว่า “พื้นที่เหมืองแร่ทองคำใหญ่มาก ใหญ่ขนาดนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังปิดได้ การมาเห็นความสำเร็จในการสู้ครั้งนี้ทำให้มีไฟในตัวเพิ่มขึ้นและยังมีกำลังใจในการสู้ต่อไป และเราต้องทำให้ได้แบบที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำเหมือนกัน”

และนัฐวุฒิ ภาโนมัย ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนไปเห็นประตูทางเข้าแล้วรู้สึกว่ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมีการจัดระบบที่ดีมาก ได้เห็นการเฝ้าเหมืองของแม่ ๆ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็รู้สึกประทับใจ การมาครั้งนี้ได้พบได้เห็นแล้วมีพลังที่จะสู้ต่อ เหมือนได้เติมพลังใจ ถ้ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำได้เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน”

ทั้งนี้การลงพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย นับว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ชุมนุมปิดเหมืองและโรงโม่หิน และคาดว่าในอนาคตเร็ว ๆ นี้ จะมีครั้งที่ 3 เนื่องจากยังมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ อีกจำนวนมากที่ต้องการลงพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net