Skip to main content
sharethis

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในไทยกลายเป็นแรงบันดาลใจชาวลาวในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการของตัวเอง ในระดับที่วิทยุเอเชียเสรี (RFA) ระบุว่าไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน โดยชาวลาวเหล่านี้วิจารณ์รัฐบาลลาวภายใต้แฮชแท็ก "ถ้าการเมืองลาวดี" #ຖ້າການເມືອງລາວດີ

อนุสาวรีย์หน้าพิพิธภัณฑ์สงครามไกสอน พมวิหาน กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว (แฟ้มภาพ: ปี 2010)

26 ต.ค. 2563 ในไทยมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองขนานใหญ่มาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมจนถึงตอนนี้ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวลาวที่รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการประท้วงในไทย ทำให้ชาวเน็ตในลาวต่างก็แสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงไทยผ่านโซเชียลมีเดีย และเริ่มรณรงค์ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองผ่านแฮชแท็ก #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (ถ้าการเมืองลาวดี)

ชาวเน็ตลาวอาศัยแรงบันดาลใจจากผู้ประท้วงชาวไทยในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตัวเองซึ่งสื่อเรดิโอฟรีเอเชียมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยครั้ง เพราะใครก็ตามที่วิจารณ์รัฐบาลตัวเองทั้งในเรื่องการไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาการรับสินบน และปัญหาทางสังคมอื่นๆ มักจะถูกกวาดต้อนจับกุม

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งชื่อ emergen ระบุว่า ในลาวเองรัฐบาลก็มักจะเอาผิดโดยอ้างว่ามีกลุ่มคนในหมู่พวกเขาพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ถ้าหากการเมืองในลาวดีจริงๆ ทำไมถึงต้องมีคนอยากออกมาเรียกร้องในเรื่องแบบนี้ "อย่าดูถูกความรู้ของเยาวชนชาวลาว พวกเรารู้ทุกอย่าง แต่พวกเราไม่สามารถพูดออกมาได้ดังๆ เท่านั้นเอง"

ชาวเน็ตอีกรายหนึ่งชื่อ zero ระบุว่าการประท้วงในไทยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ในลาวแสดงความคิดเห็นในแท็ก "ถ้าการเมืองลาวดี" แต่รัฐบาลก็มักจะเตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่สามารถทำได้ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะถูกจับเข้าคุก หรือแย่กว่านั้นอาจจะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

ชาวเน็ตรายอื่นๆ ยังพากันแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ว่าถ้าการเมืองลาวดีจะเป็นอย่างไร มีบางคนบอกว่าพวกเขาจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเปิดหน้าวิจารณ์ได้ บ้างก็บอกว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นพวกเขาเองและหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงของพวกเขา ทำให้หนึ่งในนักกิจกรรมไทยคือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์แสดงการสนับสนุนที่ชาวลาวออกมาวิจารณ์ปัญหาสังคมของตัวเองและวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวเองหลังจากได้เห็นการประท้วงในไทย

จนถึงเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมามีชาวเน็ตลาวโพสต์ในเรื่อง #ถ้าการเมืองลาวดี หลายแสนโพสต์ในทวิตเตอร์ โดยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลนำภาษีไปใช้ในทางมิชอบ, ปัญหาประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เพราะงบประมาณโรงเรียนมีน้อย ในขณะที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองส่งลูกหลานตัวเองไปเรียนเมืองนอกได้ เรื่องปัญหาการทำลายทรัยากรธรรมชาติ และไม่พอใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ

การเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตของชาวลาวทำให้เกิดกระแสโต้ตอบจากกลุ่มผู้ใช้งานชาวลาวอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ลาวรักชาติ" อยู่ในเฟสบุค พวกเขาประณามกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็น "พวกต่างชาติแทบทั้งหมด" และกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่ "พยายามสร้างความไม่สงบ" บ้างก็อ้างว่าไม่ควรเอาลาวไปเปรียบเทียบกับไทยเพราะ "ลาวเป็นประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพและประชาชนลาวมีความสมานฉันท์กันโดยไม่มีความแตกแยก"

แต่ก็มีชาวลาวบางส่วนเช่นกันที่สนับสนุนขบวนการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยบอกว่าประชาชนควรจะมีสิทธิในการพูดถึงปัญหาที่พวกเขาเป็นห่วง ชาวลาวคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่า "การประท้วงในไทยเป็นบทเรียนกับพวกเขาในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งปรากฏอยู่ในประเทศที่มีอารยะ" เขาบอกอีกว่า "ประชาชนชาวลาวควรจะสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ"

ชาวลาวอีกคนหนึ่งกล่าวว่าสาเหตุที่พวกเขามีความรู้สึกร่วมไปกับการประท้วงในไทยเพราะผู้นำลาวเองก็ปิดกั้นเสรีภาพชาวลาวในหลายแบบ เขาบอกว่าลาวควรจะเปิดกว้างกับโลกมาขึ้น

เรื่องนี้แม้แต่ข้าราชการรายหนึ่งจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ของลาวก็กล่าวสนับสนุนการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทางอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วคนที่แสดงออกแบบเสรีนิยมหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในลาวมักจะถูกจับกุมหรือแม้กระทั่งถูกอุ้มหาย ข้าราชการรายนี้บอกว่าเขาเห็ด้วยกับข้อความวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ต ตัวเขาเองก็มองว่าการประท้วงในระดับเดียวกับไทยยังเกิดขึ้นในลาวได้ยาก เพราะในลาวมีพรรคการเมืองพรรคเดียวคอยชี้สั่งซึ่งถือว่า "ไม่มีประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง" เมื่อเทียบกับไทย

วนิดา เอส เทพโสวันห์ ประธานขบวนการชาวลาวเพื่อประชาธิปไตยที่อยู่ในฝรั่งเศสกล่าวว่าเธอเชื่อว่าชาวลาวจะติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางใดแล้วถึงค่อยตัดสินใจว่าควรจะทำอะไรหลังจากนั้น

จากสถิติเมื่อต้นปี 2563 ที่รวบรวมโดย www.laoconnection.com ระบุว่ามีชาวลาวใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ล้านรายคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรลาวทั้งหมด ก่อนหน้านี้เรดิโอฟรีเอเชียก็เคยสัมภาษณ์ประชาชนลาวในเรื่องสื่อโดยที่ชาวลาวบอกว่าพวกเขาเกลียดสื่อจากรัฐบาลลาวและมักจะหาดูข่าวจากเว็บวิดีโอออนไลน์ยูทูบ เว็บโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุค หรือไม่ก็โทรทัศน์จากประเทศไทย

แต่อินเทอร์เน็ตลาวก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมเช่นกัน ในปี 2557 รัฐบาลลาวออกกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทางอินเทอร์เน็ตโดยวางโทษเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน ทั้งโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี และปรับ 4-20 ล้านกีบ (ราว 13,500 - 68,000 บาท)

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เคยมีกรณีที่ผู้หญิงอายุ 30 ปี ชื่อ ห้วยเฮือง ไซยะบูลี ถูกจำคุก 5 ปี เพราะไลฟ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องปัญหาน้ำท่วมผ่านทางเฟสบุค ในทวิตเตอร์ #ถ้าการเมืองลาวดี ก็มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอด้วย

ในปลายเดือนสิงหาคมที่่ผ่านมา มีนักกิจกรรมลาวอีกรายหนึ่งชื่อสังขาน พาจันทะวง ถูกจับกุมเพราะเขียนวิจารณ์การทุจริตของรัฐบาลในเฟสบุค เขาได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาหลังจากอยู่ในคุกมาแล้ว 1 เดือน แต่ยังคงต้องเผชิญข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ "กลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวนอกประเทศ" ซึ่งในลาวน้อยครั้งมากที่จะมีคนได้รับการประกันตัว

ประเทศลาวได้รับการจัดอันดับเสรีภาพสื่ออยู่ในระดับรั้งท้ายคืออันดับที่ 172 จาก 180 ประเทศ จากการจัดอันดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน องค์กรฟรีดอมเฮาส์ให้คะแนนเสรีภาพประเทศลาวปีล่าสุดไว้ที่ 14 จาก 100 คะแนน โดยมีคะแนนสิทธิทางการเมือง 2 จาก 40 คะแนนเท่านั้น

เรียบเรียงจาก

Thai Protests Inspire Rare Online Government Criticism in Neighboring Laos, Radio Free Asia, 23-10-2020 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net