Skip to main content
sharethis

1 พ.ย.63 บัตรทองปรับบริการใหม่ 4 ด้าน กรุงเทพฯ นำร่องนโยบายแค่มีบัตรประชาชนรับบริการได้ทุกคลินิก-ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เครือข่ายที่อยู่ในเขต ถ้าอาการหนักเกินความสามารถถึงส่งให้โรงพยาบาลใหญ่ในเขต พร้อมยกเลิกระบบใบส่งตัวในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และส่งผู้ป่วยมะเร็งไป รพ.เฉพาะด้านหลังตรวจพบหวังลดแออัด

27 ต.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ในการแถลงข่าว “ไขข้อสงสัยรักษาปฐมภูมิทุกที่ ในเครือข่ายหน่วยบริการบัตรทองพื้นที่กรุงเทพมหานคร และยกระดับบริการบัตรทองอีก 3 ด้าน” นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการรับบริการปฐมภูมิภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยต้องลงทะเบียนที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ใดที่หนึ่งก่อน และต้องรับบริการที่หน่วยบริการที่ลงทะเบียนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนบางส่วนที่มีความสะดวกในการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น เพราะใกล้และสะดวกกว่า และหากต้องการไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นจะต้องมาลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ ที่เป็นข้อจำกัด และทำให้เกิดภาพบริการบัตรทองที่เป็นระบบอนาถา

ด้วยนโยบายของรัฐบาลและอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นควรแก้ไขปัญหานี้ ได้มอบ สปสช. ดำเนินการและเป็นที่มาของการปรับระบบบริการ “รักษาปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการ” โดยใช้หลักการใกล้บ้านใกล้ใจ ต้องย้ำว่าระบบนี้เฉพาะบริการปฐมภูมิเท่านั้น และในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ไม่ได้ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ เป็นเพียงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหา 190 คลินิกเอกชนถูกยกเลิกจากระบบบัตรทอง ทำให้ประชาชนไม่มีหน่วยบริการประจำรองรับ จึงนำนโยบายใหม่นี้มาทดลอง โดยประชาชนที่รับบริการขอให้นำบัตรประชาชนพกติดตัวไปด้วย เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และใช้สิทธิรับบริการ

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพให้กับชาว กทม. และได้หารือกับ สปสช. ในการแก้ไขปัญหา โดยให้ กทม. ทำงานร่วมกับ สปสช. อย่างเต็มกำลัง ขณะนี้สถานพยาบาลใน กทม. ที่รองรับสิทธิบัตรทองมี 136 แห่ง ที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ ในจำนวนนี้เป็นหน่วยบริการสังกัด กทม. 81 แห่ง โดยแบ่งเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย 69 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์อีก 11 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลวชิรพยาบาล อีก 1 แห่ง ที่สังกัด กทม. โดยตรง ซึ่งในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ประชาชนจะเข้ารับบริการยังหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายของตนได้       

ส่วนนโยบายยกระดับบัตรทองอีก 3 ด้านนั้น ในด้านการยกเลิกใช้ใบส่งตัวกรณีผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนั้น นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การยกเลิกใบส่งตัวตามนโยบายนี้ เฉพาะกรณีผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล โดยเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ร่วมกับ สปสช. นำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่ใหญ่มาก มีประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน และมีความพร้อมในการดำเนินการ โดยตั้งแต่ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ประชาชนในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา ในกรณีที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่หน่วยบริการประจำ และหากระบบดำเนินไปด้วยดีก็จะมีการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นเพิ่มเติม   

ในส่วนนโยบาย “มะเร็งส่งตรงถึงโรงพยาบาลเฉพาะด้านที่ไม่แออัด” นั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษามะเร็งเป็นสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจเกิดความไม่สะดวก มีปัญหาคิวรักษาและความแออัดบริการ ท่านรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จึงได้มอบให้กรมการแพทย์วางแผนบริการให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ซึ่งโรคมะเร็งอยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว สอดคล้องกับการปรับระบบบริการในครั้งนี้ โดยกรมการแพทย์มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็ง 7 แห่งทั่วภูมิภาคเข้าร่วม ทั้งนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการเข้ารับบริการทั้งหมด ทำให้เห็นภาพการเข้ารับบริการและสามารถกระจายคิวรักษาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตามในช่วง 2 เดือนนี้ กรมการแพทย์จะดำเนินการต่างๆ เพื่อรองรับ และวันนี้ 1 มกราคม 2564 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์จะมีความพร้อมดูแลผู้ป่วยตามนโยบายนี้    

“กรมการแพทย์มีแนวทางรักษามะเร็งอยู่แล้ว โดยจัดทำร่วมกับโรงเรียนแพทย์ เป็นมาตรฐานบริการผู้ป่วยมะเร็งโรงพยาบาลในสังกัด ดังนั้นทุกแห่งจึงเป็นมาตรฐานการรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งเดียวกัน ซึ่งสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาจากกองทุนบัตรทองได้”     

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบริการผู้ป่วยมะเร็งนั้น แต่เดิมผู้ป่วยมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาที่มาจากค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัย ทั้งการทำซีทีสแกนและเอกซเรย์ที่บัตรทองไม่ครอบคลุม ทำให้โรงพยาบาลต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย แต่ที่ผ่านมา สปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ โดยกองทุนบัตรทองจะเป็นผู้จ่ายชดเชยค่าบริการนี้ให้กับประชาชน

สำหรับการปรับระบบเพื่อให้ “ประชาชนได้รับสิทธิบริการทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ” นั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้วยปัญหาอุปสรรคที่ตามระบบเดิม กำหนดให้ผู้เปลี่ยนหน่วยบริการประจำต้องรอ 15 วัน จึงจะใช้สิทธิเข้ารับบริการได้นั้น ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ และการยืนยันตัวตนโดย Smart card ทำให้ สปสช. สามารถปรับระบบเพื่อแก้ไขช่องว่างนี้ได้ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป พร้อมกันทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net