ICJ กังวลต่อการใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่กว้างขวางตรวจสอบไม่ได้และขัดกติกาสากล

คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ออกบันทึกทางกฎหมายต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลไทยที่มีการจำกัดสิทธิด้วยมาตรการหลายอย่างที่ตัวกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางและไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการทางศาลและยังยากในการที่ทำให้เกิดการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเยียวยาผู้เสียหาย

22 ต.ค.2563 คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ออกบันทึกทางกฎหมายต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาควบคุมการชุมนุมประท้วงของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค.2563 ก่อนมีการสลายการชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลตอน 4.00 น.และมีการติดตามจับกุม

ICJ ระบุในบันทึกโดยให้ข้อเสนอแนะว่าผู้ประท้วงที่ถูกดำเนินคดีหรือมีความเสี่ยงว่าจะถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องไม่ถูกดำเนินคดีหรือปลอดจากความเสี่ยงว่าจะถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย

ICJ ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยรับรองว่าผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากกฎหมายที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินควรได้รับการเข้าถึงการเยียวยาโดยศาล ข้อกำหนด ประกาศ การตัดสินใจ หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินระหว่าง “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ควรจะได้รับการทบทวนโดยฝ่ายตุลาการ และประกันว่าผู้ที่รับผลกระทบนั้นจะมีสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

แฟ้มภาพ แนวตำรวจและรั้วลวดหนามของตำรวจที่ขวางขบวนผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 21 ต.ค.2563

บันทึกทางกฎหมายฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงข้อห่วงกังวลขององค์กรใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICCPR สิทธิบางประเภทจำเป็นต้องได้รับ ความคุ้มครองเต็มรูปแบบ ในขณะที่สิทธิบางประเภทอาจสามารถจำกัดหรือลดทอนได้ในสถานการณ์พิเศษ อย่างไรก็ตามการจำกัดดังกล่าว จะต้องกระทำเมื่อมีความจำเป็นอย่างเคร่งครัด และได้สัดส่วนต่อวัตถุประสงค์แห่งการจำกัดสิทธิ อีกทั้งการปรับใช้ และผลกระทบจะต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติ และมาตรการในการเลี่ยงพันธกรณี ดังกล่าวจะถูกปรับใช้ได้เท่าที่จำเป็นต่อภัยคุกคามโดยเฉพาะเจาะจง สภาวะฉุกเฉินจะต้องถูกประกาศอย่างเป็น ทางการ และมาตรการเลี่ยงพันธกรณีใด ๆ จะต้องแจ้งให้รัฐภาคีอื่นทราบผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ แต่ประเทศไทยยังมิได้ทำการแจ้งแก่เลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับ การจำกัดสิทธิที่เป็นผลมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนตุลาคม 

แฟ้มภาพ

นอกจากนั้นกติกาฉบับนี้อธิบายโดยชัดแจ้งว่าการเลี่ยงพันธกรณีไม่สามารถกระทำได้ในกรณีมาตรา 6 (สิทธิในชีวิต) มาตรา 7  (ห้ามทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย) มาตรา 8 (ห้ามถูกเอาตัวลงเป็นทาส การค้าทาส และการถูกบังคับให้ตกอยู่ใน ภาวะเยี่ยงทาส) มาตรา 11 (ห้ามถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้) มาตรา 15 (หลัก ความชอบด้วยกฎหมาย) มาตรา 16 (บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย) และมาตรา 18 (เสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา) ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เคยระบุไว้ว่า รัฐภาคีไม่อาจใช้มาตรา 4 ของ ICCPR มาเป็นเหตุเพื่ออ้างความชอบธรรม จากการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายบังคับเด็ดขาดภายใต้กฎหมายระหว่าง ประเทศได้เช่น การจับตัวประกัน การกำหนดโทษแบบเหมารวม การลิดรอนเสรีภาพโดยพลการ หรือการ เบี่ยงเบนหลักการพื้นฐานว่าด้วยการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ยังมีสิทธิอีกหลายประการที่แม้ว่าจะมิได้ถูกกำหนดให้เป็นสิทธิที่รัฐภาคีมิอาจเลี่ยงพันธกรณีได้ภายใต้กติกาฯ  แต่กลับได้รับสถานะดังกล่าว ได้แก่ สิทธิในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว (Harbeas Corpus) ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐไม่สามารถเลี่ยงพันธกรณีได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้กล่าวว่าสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง “เป็นสิทธิสมบูรณ์ที่ไม่อาจจะยกเว้นได้” อีกทั้งองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิทธิในการได้รับการ พิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะสิทธิที่รัฐภาคีมิอาจเลี่ยงพันธกรณีได้ 

นอกจากนั้น ภายใต้มาตรา 4 ของ ICCPR นั้นเหตุที่จะถูกใช้เพื่อนำมาจำกัดสิทธิคือสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามความอยู่รอดของชาติแต่ทว่าเหตุที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายไทยนั้นมีความกว้างขวางเป็นอย่างมากและไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ระหว่างประเทศ 

อีกทั้งในวันที่ 13 และ 14 ตุลาคม 2563 ระหว่างการชุมนุมใหญ่นั้น มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายโอกาส แต่มีรายงานว่าการชุมนุมโดยรวมนั้นถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ โดยในช่วงจังหวะหนึ่งผู้ชุมนุมได้ตะโกนและชูสามนิ้วในขณะที่ขบวนเสด็จของพระราชินีเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ดังกล่าวถูกอ้างอิงถึงในฐานะ หนึ่งสาเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ถูกประกาศออกมาเพื่อระงับการชุมนุมมีผลตั้งแต่เวลา 4.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และทันทีหลังจากการประกาศใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวนั้นผู้ประท้วงอย่างน้อย 22 คน  รวมถึงแกนนำถูกจับกุมตัว

แฟ้มภาพ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน หรือเติ้ล บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co ก่อนถูกจับกุมในคืนวันที่ 16 ต.ค.2563

2. การตรวจสอบอย่างมีข้อจำกัดของศาล โดยมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้จำกัดสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองไว้ นอกจากนั้นศาลปกครองที่มีเขตอำนาจครอบคลุมการกระทำของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครอง ได้ตีความพ.ร.ก.ฉุกเฉินในทางที่จำกัดมิให้หน่วยงานของตนนั้นสามารถทบทวนความชอบด้วยกฎหมายของมาตรการที่ ถูกบังคับใช้ตามพ.ร.ก.ได้ มาก่อนแล้วตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการฟ้องต่อศาลปกครองแต่ศาลปกครองก็ไม่รับฟ้องโดยระบุว่าไม่อยู่ในภายใต้อำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าศาลควรมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉิน รวมทั้งมาตรการที่บังคับใช้ ทั้งนี้อำนาจของตุลาการในด้านนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องด้วยอำนาจพิเศษ บางประการตามมาตรา 9 และมาตรา 11 นั้นได้ถูกกำหนดไว้อย่างกว้างขวางจนทำให้สามารถนำไปสู่การใช้อำนาจโดยพลการได้อย่างง่ายดาย 

3. การงดเว้นโทษในทางกฎหมายจากการถูกดำเนินคดี หากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือเป็นอาชญากรรม ภายใต้ กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็ว รอบคอบ และเป็นกลาง และนำ ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม45 หน้าที่ดังกล่าวถูกระบุไว้ใน ICCPR46 อนุสัญญาต่อต้าน การทรมาน (มาตรา 7) และได้มีการให้รายละเอียดในเรื่องนี้ไว้ในหลักการต่อต้านการยกเว้นโทษชุดปรับปรุงล่าสุดของ ส ห ป ร ะ ชาชาติ (UN Updated Set of Principles for the protection and promotion of human rights through action to combat impunity)

อย่างไรก็ตาม มาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับจำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หรือพลเรือน ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีการยืนยันสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดทางละเมิดโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสอทธิในการได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรา 17 นั้น จำกัดความรับผิดของบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายฉุกเฉินและข้อกำหนดต่าง ๆ โดยวิธีการให้การงดเว้นโทษ ทางกฎหมาย 

เท่าที่คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลรับทราบนั้นพบว่าในคดีส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงคดีที่ผู้เสียหายและหรือครอบครัวของผู้เสียหายนั้นได้รับค่าชดเชยในรูปแบบของค่าชดเชยที่เป็นตัวเงินจากหน่วยงานรัฐบาล จะพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมักจะมิได้ถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

4. มาตรการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มาก กล่าวคือเมื่อมีการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” เพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วง นายกรัฐมนตรีและ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้น53 จะได้รับอำนาจมากขึ้นในการออกข้อกำหนดภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉินตามที่ถูกกำหนด ไว้ในมาตรา 11 และ 12 ซึ่งเป็นอำนาจที่มากกว่ามาตรการที่ถูกกำหนดในมาตรา 9 การจำกัดสิทธิที่สามารถนำมา บังคับใช้ได้ภายใต้มาตรา 11 และ 12 ได้แก่ อำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ ให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจในการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกคำสั่ง ยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์หรือวัตถุอื่นใด และการประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความ ปลอดภัยของประชาชน

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 22 ตุลาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุม เป็นจำนวนอย่างน้อย 90 ราย ส่วนใหญ่นั้นถูกจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าด้วยการห้ามชุมนุม ผู้ถูกจับกุม 6  รายถูกปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลจึงให้ขอแสดงและเน้นย้ำถึงความกังวล รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ได้ ให้แก่รัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 2548 เกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะต่อมาตรา 9 11 และ 12 ที่เกี่ยวกับมาตรการ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถถูกนำมาใช้โดยนายกรัฐมนตรีในช่วง “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง”ได้ 

5.1 คำจำกัดความที่คลุมคือและอำนาจอย่างกว้างขวาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกอบด้วยบทบัญญัติหลายประการซึ่งคลุมเครือและกว้างขวางมากจนดูเสมือนว่ามอบอำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดแก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย (Principle of Legality)  โดย มาตรา 11(6) ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการ “ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแกการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน” เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดการกระทำใด ๆ ยังอาจรวมถึงการกระทำที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจของนายกรัฐมนตรี ข้อบทนี้จึงมีลักษณะคลุมเครือและกว้างจนเกินไป อีกทั้งละเมิดหลักความชอบด้วยกฎหมาย และเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามนั้นเป็นความผิดทางอาญาการปรับใช้บทบัญญัตินี้จึงอาจนำไปสู่การลงโทษฐานความผิดที่ไม่ถูกกำหนดในกฎหมายมาก่อน ถือเป็นการละเมิดมาตรา 15 ของ ICCPR ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ตามประกาศสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้

5.2 การจับกุมและคุมขังโดยพลการ ICJ มีความกังวลว่าเหตุเหล่านี้ถูกบัญญัติโดยใช้ข้อความที่กว้างขวางและ คลุมเคลือซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดได้ เหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้มีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ไม่มีความ เชื่อมโยงใกล้ชิดกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น และอาจถูกนำไปใช้เพื่อปราบปรามการใช้สิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพ ในการแสดงออก สมาคม และชุมนุม 

ในความเป็นจริงแล้วนอกจากผู้นำการชุมนุมและผู้ชุมนุมโดยสงบแล้ว บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวในเขต กรุงเทพมหานครเนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังรวมถึงบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมากกับ “ภัยความมั่นคง” ที่กล่าวอ้าง เช่นลูกจ้างกิจการให้เช่าเครื่องขยายเสียงและผู้สื่อข่าวประชาไท

5.3 เสรีภาพในการแสดงออก ชุมนุม และสมาคม  ICJ ยังเห็นว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศห้ามนำเสนอข่าวและการระงับการออกอากาศของสื่อ และการห้ามใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ชักชวนการชุมนุมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 19 แห่ง ICCPR เนื่องจากไม่ได้สัดส่วนและอาจถูกนำไปใช้เพื่อลิดรอนการแสดงออก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านสื่อ และการสื่อสารมวลชน ที่กระทำโดยชอบและได้รับการคุ้มครองตาม ICCPR 

รวมไปถึงการประกาศห้ามชุมนุมต่างๆ ของทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นไปตาม ICCPR อีกทั้ง ระหว่างวันที่ 13 ถึง 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 90 คนถูกจับกุม โดยส่วนมากเป็นการจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุม91 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุมหลายพันคนซึ่งรวมถึงเด็กนักเรียนจำนวนมาก ณ บริเวณแยกปทุมวันในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้ปืนน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสีฟ้าและสารก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ไม่เปิดเผยชนิด

แฟ้มภาพ ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงในการสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 16 ต.ค.2563

5.4 ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการโยกย้าย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถตรวจค้น ยึด ทำลายบ้านเรือน และตรวจสอบช่องทางการสื่อสารโดยไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากตุลาการตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ หรือโดยผู้มีอำนาจอิสระอื่น ๆ ถือเป็นการแทรกแซงล่วงล้ำอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว รวมถึงครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการติดต่อสื่อสาร ที่บัญญัติในมาตรา 17 ของ ICCPR ด้วย

ข้อเสนอแนะ 

  1. ประกาศ ข้อกำหนด การตัดสินใจ หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินระหว่าง สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงควรจะได้รับการทบทวนโดยศาล ซึ่งรวมถึงศาลปกครอง เพื่อประกันว่าผู้ที่รับ ผลกระทบนั้นจะมีสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ
  2. เจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายไม่ควรที่จะได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกดำเนินคดีทาง กฎหมายได้หากได้กระทำความผิดทางอาญาในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ 
  3. ผู้ประท้วงที่ถูกดำเนินคดีหรือมีความเสี่ยงว่าจะถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ใช้สิทธิ ในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย นั้น ต้องไม่ถูกดำเนินคดีหรือปลอดจากความเสี่ยงว่าจะถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว 
  4. ทำการยกเลิกหรือแก้ไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประกันว่าพ.ร.ก.นั้นจะมีความสอดคล้องกับพันธกรณีทางกฎหมาย ระหว่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งรวมถึง
  • ให้มีการประกันว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการคุกคามความอยู่รอด ของชาติ
  • ประกันว่าการจำกัดการใช้สิทธิซึ่งได้รับการประกันในทางระหว่างประเทศใด ๆ นั้นจะต้องมิได้ถูกทำใน ลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำแค่ในห้วงเวลาที่จำกัด อีกทั้งมีความจำเป็นและได้สัดส่วนอย่าง เคร่งครัดต่อภยันอันตรายที่เกิดขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามมาตรา 11(6) ซึ่งใช้คำที่เปิดกว้างและคลุมเคลือโดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการออกคำสั่งให้บุคคลใด ๆ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ 
  • เคารพกลไกการป้องกันตามมาตรา 9 ของ ICCPR และยุติการควบคุมตัวโดยใช้อำนาจทางปกครองในทุก รูปแบบ 
  • ยืนยันว่าบุคคลใดที่ถูกจับกุมตัวจะต้องถูกนำตัวไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาโดยเร็ว และผู้ถูกควบคุม ตัวทุกคนรวมทั้งตัวแทนของพวกเขามีสิทธิที่จะโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว (habeas corpus) ต่อศาลปกติ
  • ผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นสถานที่ ควบคุมตัว และมีการกำหนดขั้นตอนและความคุ้มครองให้กับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 7 และ 10 ของ  ICCPR และข้อกำหนดแมนเดลา 
  • ประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิที่จะเข้าถึงทนายความที่ตนเลือกได้ในทันทีมีสิทธิที่จะบอกกล่าวกับ ครอบครัวเกี่ยวกับการถูกจับกุม และได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์รวมถึงได้รับการเยี่ยมเยียนจาก ครอบครัว 
  • ประกันว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเท่านั้นที่ควรมีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวได้ ภายใต้พ.ร.ก. โดยต้องเคารพสิทธิของบุคคลนั้นในการที่จะไม่ให้การใด ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจภายใต้บทบัญญัติของพ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งกำหนดไว้อย่างกว้างขวางและคลุมเครือใน เรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และ 
  • ทบทวนอำนาจพิเศษที่กระทบต่อเสรีภาพในการโยกย้ายและสิทธิในความเป็นส่วนตัวและในทรัพย์สิน

สรุปจากบันทึกทางกฎหมายฉบับเต็ม ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท