Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม ตำรวจนอกเครื่องแบบไปเคาะประตูห้องของโรงแรมที่นักศึกษาและนักกิจกรรมการเมือง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “รุ้ง” ที่พักอยู่ระหว่างที่ทำการประท้วงในกรุงเทพฯ มาสองวันแล้ว ตำรวจได้อ่านหมายจับรุ้ง และนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งคือ ณัฐชนน ไพโรจน์ ประกาศให้ทราบถึงสิทธิของผู้ต้องหา รุ้งฉีกหมายจับก่อนที่จะถูกรวบตัวโดยกำลัง ทั้งรุ้งและ ณัฐชนน ถูกจับใส่เก้าอี้เข็น ลากไปลงลิฟท์ ออกประตูหลังของโรงแรม

ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองไทยคาดว่า การจับแกนนำการชุมนุมเข้าคุกนี้ จะเป็นการจบการชุมนุมประท้วงได้อย่างง่ายดาย ในการเรียกร้องให้ยกเลิกระบอบเผด็จการและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ผลก็คือ เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธวิธีนี้ การประท้วงกลับเบ่งบานแตกยอดออกไปเหมือนดอกเห็ดตั้งแต่สุดสัปดาห์ และสองสามวันที่ผ่านมาในอาทิตย์นี้ กระบวนการที่เริ่มต้นเป็นแค่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ที่ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย กลับเปลี่ยนแปรไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการยกระดับการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่รับบทบาทใหม่ โดยเอาประชาชน มิใช่กษัตริย์ เป็นศูนย์การของระบบทางการเมือง

การที่รุ้งโดนจับ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ทุกๆ วันนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมเป็นต้นมา เธอก็คาดหมายว่าจะมีตำรวจมาเคาะประตูห้อง ในเย็นวันดังกล่าว เธอได้ขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นครั้งแรกในการประกาศตัวของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แล้วอ่านประกาศ 10 ข้อ ท่ามกลางเกล็ดแวววาวที่โปรยตัวลงมาบนเวที รุ้งใส่แว่นตาอ่านข้อเรียกร้องให้จำกัดอำนาจของกษัตริย์ รวมทั้งเลิกการลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารครั้งใดในภายภาคหน้า, ให้มีการตรวจสอบงบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์ และยกเลิกข้อห้ามการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

คำประกาศอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ได้ยกเพดานการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ด้วยการพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยพูดได้ นับตั้งแต่ความพยายามที่จะสิ้นสุดการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มิได้เป็นการตัดทอนอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สาเหตุที่ทำให้คณะราษฎร์ปฏิวัติไม่สำเร็จ ประกอบด้วยกันสองประการคือ การเทอดทูนบูชาอย่างสูงส่งที่ กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ ธงชัย วินิจจะกูล ได้อธิบายไว้ว่า เป็นการคลั่งเจ้า ประกอบกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันมีบทลงโทษอย่างหนักหนาสาหัส ได้ปิดปากผู้วิพากษ์ ให้ไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถาม จนกระทั่งบัดนี้ ด้วยความหาญกล้าขึ้นมาพูด รุ้ง จึงถูกแจ้งข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยก ใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงโดยมิได้รับอนุญาต และล่วงละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อฯ 

หลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 - ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 13 นับตั้งแต่สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นต้นมา - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลทหารของเขา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้การปกครองที่กดขี่มากที่สุดนับตั้งแต่ฝ่ายปกครองในยุคสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ในคริสตทศวรรษที่ 1960 และ 1970 เป็นต้นมา รัฐประหารในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการผ่านต่อจาก ร.9 ผู้ทรงชรา มายังโอรส ผู้หาได้สืบทอดความศรัทธาเช่นพ่อไม่ ภายใต้การกุมอำนาจของ คสช. ผู้เห็นต่าง ต่างพากันถูกคุกคามข่มขู่ ติดตาม กระทั่งจับกุมคุมขัง การลงทัณฑ์อย่างสาหัสที่สุด สงวนไว้สำหรับผู้ที่บังอาจวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างการตัดสินโทษโหดที่สุด คือการจำคุกถึง 35 ปี จากการโพสต์ลงเฟซบุ๊ก 10 โพสต์ ในคดีหนึ่ง ภายหลังการสวรรคตของ ร.9 ในปี พ.ศ. 2559 และต้นรัชสมัย ร.10 การดำเนินคดีหมิ่นฯ ก็ลดจำนวนลง แต่การลอบสังหาร และอุ้มหาย ของผู้เห็นต่างจนต้องลี้ภัย กลับเพิ่มมากขึ้น 

หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 ที่หมองมัวไปด้วยการแทรกแซงจากฝ่ายทหาร เป็นการล้มเหลวต่อคำว่า จะคืนประชาธิปไตยให้ปวงชน คนหนุ่มสาว และประชาชนทั่วไป เริ่มรวมตัวจัดการแสดงออกถึงความไม่พอใจ แรกๆ ด้วยทางออนไลน์ จนกระทั่งนำไปสู่การลงถนน เย้ยข้อห้ามการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นแหล่งที่มีการพูดถึงสถาบันอย่างออกรส นับตั้งแต่การก่นประณามการจราจรที่ต้องหยุดชะงักเพื่อเปิดทางให้ขบวนเสด็จของพวกเจ้า ที่ไปไหนมาไหนทั่วกรุงเทพฯ จนถึงขั้นกล้าถามว่า มีกษัตริย์ไว้ทำไม?

นักเรียนมัธยม และนักศึกษาทั่วประเทศ พากันประท้วงในต้นปี พ.ศ. 2563 โดยมีข้อเรียกร้องหลายประการ รวมถึงยกเลิกระบบอำนาจนิยมในระบอบการศึกษา และให้สิทธิของนักเรียนในกลุ่มเพศทางเลือก โดยมีเป้าหมายกว้างออกไปที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตย ในประเทศที่พวกเขากำลังเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นประชาชน แต่การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการควบคุมอย่างเคร่งครัดของรัฐบาลทหารนิยม เมื่อกลางเดือนมีนาคม ได้หยุดชะงักการลงถนนประท้วงที่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นมา

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ผู้วิจารณ์รัฐบาลที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้หายตัวไป – นับเป็นรายที่ 9 ที่สันนิษฐานว่าถูกได้สังหารไปในระหว่างที่พำนักอาศัย หรือกำลังเดินทางในประเทศ กัมพูชา ลาว หรือ เวียดนาม กรณีทั้งเก้า ยังคาราคาซัง ด้วยความหวังอันริบหรี่ว่า ผู้ลงมือจะได้รับการชี้ตัวสืบหาและนำมาขึ้นศาลดำเนินคดีเอาความ สำหรับหลายๆ คน การที่ไม่มีการสอบสวนทำคดีเหล่านี้ เป็นตัวชี้ว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปิดกั้นการสืบสวนพระมหากษัตริย์

ความหวาดกลัวต่อกฎหมายนี้ ได้สกัดกั้นการแสดงออกทางสาธารณะ ให้จำกัดอยู่แค่ของญาติผู้สูญหาย และผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเล็กๆ จวบจนมาถึงกรณีอุ้มหายของ วันเฉลิม ซึ่งเป็นเหยื่อรายที่ 9 ประกอบกับการที่ ภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เบาบางลงไปแล้ว จึงได้จุดประกายให้คนกลับมาลงถนน เพื่อเรียกร้องให้หาคำตอบกรณีการใช้ความรุนแรง และความอยุติธรรมที่ดำรงมาช้านาน

กิจกรรมของพวกเขา สะท้อนว่า พวกเขาได้เริ่มประจักษ์แล้วว่า หากประชาชนไม่สามารถถามคำถามต่อผู้ทรงอำนาจ - ไม่ว่าจะในเครื่องแบบสีเขียวของทหาร หรือเสื้อผ้าขลิบทองของเจ้านาย – โดยไม่ต้องเสี่ยงถูกจับหรือถูกฆ่าแล้ว การได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ก็คงจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

ในช่วงเวลา 85 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ถึง 10 ต.ค. ได้มีการประท้วงอย่างน้อย 246 ครั้ง ใน 62 จังหวัดทั่วทั้งประเทศ ด้วยความรอบรู้ทันสถานการณ์ และอารมณ์ติดตลก แกนนำได้เอาเพลงประกอบการ์ตูนหนูแฮมสเต้อร์ แฮมทาโร่ มาเปลี่ยนเนื้อร้องเสียดสีพวกเผด็จการ และมีการใช้หนังแฟนตาซี หนังสือเรื่อง แบบจำลอง และภาพฉายฮอโลแกรมของอนุสรสถานของคณะราษฎร์ที่หายไป ข้อเรียกร้องที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องมีสามประการคือ หยุดคุกคามประชาชนที่วิพากย์วิจารณ์รัฐบาล, ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และยุบสภา, เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกเสริมขึ้นมาภายหลังเมื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค. แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 65 คน ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดี และอีก 179 คน ถูกติดตาม คุกคามทำร้าย จากการที่ได้ร่วมกิจกรรมประท้วงลงถนนหรือบนสื่อออนไลน์

ในขณะที่การประท้วงได้ขยายใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งได้เริ่มมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขึ้นมาอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยรายละเอียดชัดเจน ก็ได้เริ่มมีการจับกุมแกนนำของผู้ประท้วง รวมทั้งการจับกุมนักศึกษาผู้ประท้วง ภาณุพงศ์ จาดนอก และทนายนักกวี อานนท์ นำภา ทุกครั้งที่ตำรวจจับใครก็ตาม ชาวประชาต่างพากันแห่ไปล้อมชุมนุมประท้วงหน้าสถานีตำรวจ ศาล หรือเรือนจำตามแต่พวกเขาจะถูกควบคุมตัวไปที่ใด จนต่างได้รับการประกันตัวปล่อยออกมาไม่นานหลังจากถูกจับกุม

แต่การประท้วงรายวันอย่างต่อเนื่องที่เริ่มมาตั้งแต่อาทิตย์ก่อน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ ร.9 ที่ทำให้เกิดการประจัญหน้าระหว่างประชาชน รัฐ และสถาบันกษัตริย์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
 
การโต้กลับไปมา เริ่มจากที่ได้มีผู้ประท้วงสาดสีใส่ตำรวจ แล้วตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” ในขณะที่รถพระที่นั่งของ ร.10 กำลังขับตรงไปสู่พระบรมมหาราชวัง โดยเสด็จไปทำพิธีรำลึกถึงวันสวรรคตของพระบิดา เขาเพิ่งมาถึงเมืองไทยพร้อมด้วยภรรยาหลวงและภรรยาน้อย จากประเทศเยอรมนี อันเป็นที่ที่เขาพอใจที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นั่น (หนึ่งในข้อเรียกร้องของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม คือ ให้สิ้นสุดการปกครองจากนอกราชอาณาจักรของกษัตริย์ พร้อมกับประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาล ที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายรองรับการใช้ชีวิตหรูหราของเขาและเหล่าบริวารในยุโรป ในขณะที่สามัญชนชาวไทยตกอยู่ในภาวะยากแค้นทางเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมจากภัยการแพร่โรคไวรัส) ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมไปทั้ง จตุภัทร “ไผ่” บุญภัทรรักษา อดีตนักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรมประท้วงและทนาย ที่ได้รับการปล่อยตัวใน พ.ศ. 2562 หลังจากที่ติดคุกอยู่สองปีครึ่ง จากการแชร์บทความของบีบีซีเกี่ยวกับ ร.10 ก็ถูกรวบตัวจับกุมไปด้วยในครั้งนี้

ในคืนวันต่อมา ผู้ร่วมชุมนุมได้เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสลายการชุมนุมโดยฝ่ายตำรวจในเวลาเช้ามืด ตอนตีสี่ ได้มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง ให้การชุมนุมเกิน 5 คนเป็นการผิดกฎหมายอาญา โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อเจ้าหน้าที่ ในการจับกุม ตรวจค้น และควบคุมตัว ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ก็มีการจับกุม รุ้ง และ ณัฐชนน  และผู้ประท้วงอีกหลายคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมทั้งแกนนำ แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อีกคนคือ พริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ โดยหมายจับส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้งของรุ้งด้วย ลงวันที่มีการประท้วงในเดือน สิงหาคม และกันยายน ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่คงจะรอโอกาสเหมาะๆ มาจับ แต่ฝ่ายนั้นคาดการณ์ผิดไป เพราะมันไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหวประท้วงเลยทั้งๆ ที่แกนนำถูกจับไปแล้ว

ก่อนหน้าที่จะถูกคุมขัง รุ้งได้เขียนจดหมายบนกระดาษที่เธอวาดสายรุ้งประกอบด้วยข้อความว่า “ถ้าหากในวันนี้ รุ้ง ไม่ได้กลับไปหาทุกคนขอให้ทุกคนจงอย่าเสียขวัญไปนะคะ นี่คือสิ่งที่หนูพร้อมจะแลกเพื่อการต่อสู้ของพวกเรา ไม่ต้องห่วงหนู ขอให้ทุกคนมีกำลังใจสถานการณ์ในตอนนี้ ทุกคนอาจจะเห็นว่าแกนนำหายไปทีละคน แต่แท้จริงแล้ว เราทุกคนอยู่กับคุณเสมอในรูปแบบของอุดมการณ์”

ยามเย็นของวันที่ 15 ตุลาคม ผู้คนนับหมื่น ส่วนมากเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ยังอยู่ในเครื่องแบบ มารวมตัวกันแน่นหนาอย่างท้าทาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กันที่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจทั้งช้อปปิ้ง และการเงิน เจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็วด้วยรถฉีดน้ำผสมสารเคมีกำลังสูง เข้าใส่หมู่นักเรียนในที่ชุมนุม แต่ผลก็เช่นเดียวกันกับการกวาดจับ การกดดันสลายการชุมนุมกลับทำให้การประท้วงขยายตัวในวันต่อมา มีการประกาศแถลงการณ์มากมาย ก่นประณามด้วยความโกรธแค้น โดยรวมทั้งจากกลุ่มประชาชนที่ก่อนหน้านี้ยังอิงสถาบันกษัตริย์ และเลี่ยงการเกี่ยวข้องทางการเมือง เช่นกลุ่มแพทย์ ก็หันมาประณามการใช้สารเคมีมาทำร้ายการชุมนุมอย่างสันติที่ไร้อาวุธ

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดการชุมนุมประท้วงที่ไร้ผู้นำตามมาเป็นระลอก โดยได้แรงดลใจจากการประท้วงในฮ่องกงปีที่แล้ว ที่ทำตัวเหมือนสายน้ำเลื่อนไหลไปยังจุดที่มีแรงต้านน้อย เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งหมด เป็นการชุมนุมโดยสันติ จัดขึ้นโดยปราศจากการขึ้นพูดอย่างเร่าร้อน อันเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมก่อนหน้านี้ และยังปรากฏชัดถึงความใส่ใจ มีวินัยในการแจกจ่ายเสื้อกันฝน หมวกกันน็อค และของกินเล่นขบเคี้ยว พวกเขาไปชุมนุมกันตามทางแยกหลักๆ เปล่งคำพูดพร้อมๆ กัน และร้องเพลงประท้วงทั้งเก่าและเพลงใหม่ๆ

การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ที่มาบรรจบกับการแสดงออกถึงความกังวลใส่ใจและความสามัคคีของฝูงชน ส่อแววให้เห็นถึงอนาคตทางประชาธิปไตยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย ประชาชนเอาตัวเป็นโล่กำบังภัยให้กันและกัน แทนที่จะหันมาทำร้ายกันเองเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ดังเช่นที่เคยเป็นเมื่อสมัย 6 ตุลาคม 2519 ที่ผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย และขอให้ทำรัฐประหารเพื่อพิทักษ์สถาบันกษัตริย์ เช่นที่เคยเป็นมาในการทำรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 หรือนั่งเฉยๆ อยู่บ้าน ไม่รู้หนาวรู้ร้อนไปกับการที่กองทหารเข่นฆ่าผู้ประท้วงเสื้อแดง ที่บ่อยครั้งจะถูกป้ายสีว่า ไม่มีความจงรักภักดีพอ ในเดือน เมษา และ พฤษภา 2553

อย่างไรก็ดี ในขณะที่การประท้วงเริ่มย่างเข้าอีกหนึ่งสัปดาห์ ผลจะออกมาอย่างไรก็ยังยากที่จะคาดเดาให้แน่ชัด ความกล้าหาญชาญชัยของประชาชนยังมิได้ถดถอย และพวกเขายังสานต่ออุดมการณ์ขึ้นมาให้เป็นจริง ดังที่รุ้งเขียนเอาไว้ก่อนถูกกักขังจองจำ มีคำประกาศใหม่ออกมาว่า ทางกองทหาร ได้จัดตั้งศูนย์คุมขังผู้คน สำหรับผู้ประท้วงที่ไม่เชื่อฟัง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ยังไม่อาจหยุดยั้งผู้คนมิให้ลงถนน ในตอนบ่ายวันจันทร์นี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาล เรียกร้องให้ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีทั้งชุดลาออกทันที ให้แก้รัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขที่ประชาชนเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 87 ราย นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. เป็นต้นมา มีเพียง 8 คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว สำหรับรุ้งนั้น ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัววันที่ 20 ต.ค. แต่ถูกอายัดตัวต่อไปยังตชด.ภาค 1 พร้อมกับ พริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ ด้วยข้อหาอีกชุดหนึ่ง และจะมีการรอศาลพิจารณาคดีความในวันพุธ

รัฐบาลกำลังข่มขู่ด้วยมาตรการเด็ดขาด แต่เลือกปฏิบัติอย่างไม่ทั่วถึง เมื่อเช้าวันจันทร์นี้ ยังได้มีการประกาศปิดสื่ออิสระ 4 แห่งกับเพจข่าวของกลุ่มนักศึกษา ต่อมาในวันอังคาร มีคำสั่งศาลให้ระงับการออกอากาศของ ว้อยซ์ทีวี สื่ออีกสี่แห่งยังดำเนินการออกอากาศเผยแพร่ข่าวอยู่ จากประวัติศาสตร์การทำรัฐประหารของประเทศไทย และการสนับสนุนความรุนแรงโดยสถาบันกษัตริย์ ได้ผลักดันให้ประชาชนออกมาลงถนน ซึ่งก็หมายความว่า พวกเขายังไม่ปลอดภัยอยู่ในวันนี้ และคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้ จนกว่าที่สถาบันกษัตริย์ จะเลิกมาเป็นศูนย์กลางความเป็นไปทางการเมือง

 


เกี่ยวกับผู้เขียน: ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ฝ่ายศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในนิตยสารออนไลน์ Dissent เมื่อนวันที่ 21 ตุลาคม 2563


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net