จาก ห อ ม สู่ #ผู้หญิงปลดแอก (1) : เหตุใดประชาธิปไตยชายแท้จึงมองไม่เห็นบาดแผลของคนกลุ่มอื่น          

ชวนคุยไปกับ 'ชีรา ทองกระจาย' อาจารย์จาก มช. ผู้ศึกษาประเด็นเพศและสตรีศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ถึงปรากฏการณ์ 'ห อ ม' การต่อต้านของกลุ่มสตรีเพศในสังคมออนไลน์ และผู้หญิงยังเหลือแอกอะไรบ้างที่ต้องปลดออก

 

กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยต้องพบเจอกับเหตุการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ ตลอดจนเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน และการจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 80 คน

แต่หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และถือเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองพยายามขับเคลื่อนไปพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตย คือ ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งตลอด 1-2 สัปดาห์มานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการใช้คำว่า ห อ ม เป็นสิ่งที่ถูกนำมาพูดถึงและถกเถียงอย่างมากในสังคมออนไลน์ การปะทะทางขั้วความคิดระหว่าง กลุ่มผู้ชาย ที่เป็นคนคิดและริเริ่มการใช้คำนี้ กับกลุ่มผู้หญิง ที่ได้รับการสื่อสารคำนี้มาและรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดเป็นกระแส #ผู้หญิงปลดแอก ที่ต้องการต่อต้านและปลดแอกแห่งความไม่เท่าเทียมทางเพศขึ้นมาในทวิตเตอร์

ชีรา ทองกระจาย

ทำไมคำว่า ห อ ม ถึงกลายเป็นชนวนในการลุกฮือต่อต้านของกลุ่มสตรีเพศในสังคมออนไลน์ และผู้หญิงยังเหลือแอกอะไรบ้างที่ต้องปลดออก มาพูดคุยถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวไปกับ “ชีรา ทองกระจาย” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาในประเด็นเพศและสตรีศึกษามาอย่างต่อเนื่องและอาจไขข้อข้องใจเรื่องดังกล่าวให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้นได้

ห อ ม : เมื่อตลกของเราไม่เท่ากัน

“จริง ๆ คำว่า ห อ ม มันไม่ต่างอะไรจากการที่เราโดนแซว โดนมองหรือการโดนลวนลามด้วยสายตาที่เราเคยพบเจอในชีวิตจริง”

บทสนทนาเริ่มต้นจาก ชีรา ชี้ประเด็นให้เราเห็นว่า ปรากฏการณ์คำว่า ห อ ม ที่เป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์นั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสถานการณ์ที่เราทุกคนต่างเคยพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่ก่อนแล้ว เพียงแค่บริบทของมันถูกเปลี่ยนเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์

หากพิจารณาจากบริบทในชีวิตจริง เราอาจพบเจอคำพูดเหล่านี้ในรูปแบบของคำพูดเชิงหยอกล้อจากบรรดาเพื่อนสนิทและคนรู้จัก ขณะที่เมื่อเราพบเจอเหตุการณ์เดียวกันกับคนแปลกหน้า เราอาจมีปฏิกิริยาต่อต้าน และรู้สึกไม่ปลอดภัยจากคำพูดเหล่านั้นได้ ไม่ต่างอะไรกับปรากฏการณ์ ห อ ม ที่เกิดขึ้น เพียงแต่เราไม่อาจควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ได้เท่ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากบริบทพื้นที่ของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความทับซ้อนระหว่าง พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ พื้นที่ของสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ถูกสร้างขึ้นโดยมีสถานะเป็น Personal Page หรือ Personal Account แต่เมื่อเราตัดสินใจอัปโหลดรูปภาพ หรือข้อความลงไปในสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เท่ากับเราต้องการเผยแพร่สิ่งที่เราพบเห็น หรือความเป็นไปของเราให้คนอื่นรับรู้ และแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับเราได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกบนสื่อโซเชียลมีเดียได้ ยิ่งไปกว่านั้นโซเชียลมีเดียยังมีกลไกบางอย่างที่สามารถทำให้ข้อความหรือรูปภาพดังกล่าวที่เราเคยอัปโหลด ถูกส่งต่อและกลายเป็นที่พูดถึงในวงสังคมออนไลน์ได้เพียงชั่วพริบตา เฉกเช่นเดียวกับ กระแสคำว่า ห อ ม ที่ถูกใช้มาก่อนหน้าเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่กลับกลายมาเป็นกระแสชั่วข้ามคืน จากกรณีผู้ชายกลุ่มหนึ่งไปแสดงความคิดเห็นลงบนภาพของผู้หญิงคนหนึ่งใน Facebook และถูกนำถกเถียงว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการคุกคามทางเพศหรือไม่?

ความเท่าเทียมของเราเท่ากันจริงหรือ?

“การที่ขั้วตรงข้ามสองกลุ่มออกมาถกเถียงกันในเรื่องนี้ เห็นได้ชัดเลยว่า มุมมองในการตั้งคำถามของสองกลุ่มนี้อยู่บนฐานคิดที่ไม่เท่าเทียม”

ชีรา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทั้งหมด 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ สังคมเรายังไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง การจะนิยามว่า สิ่งใดคือความเท่าเทียมทางเพศ หรือไม่เท่าเทียมทางเพศ อาจต้องเชื่อมโยงกับการนิยามการกระทำว่า สิ่งใดคือการคุกคาม หรือไม่คุกคาม หากเราตัดมิติเรื่องเพศออกไป มนุษย์คนหนึ่งไม่ควรจะไปละเมิดสิทธิของใคร และการเคารพซึ่งกันและกันถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนสองคน

แต่เมื่อมีมิติทางเพศเข้ามา มุมมองต่อขอบเขตและการละเมิดสิทธิผู้อื่นกลับถูกบิดพริ้วไป การแสดงความคิดเห็นต่อการแต่งกาย กิริยาท่าทาง หรือแม้แต่รูปภาพของผู้หญิงในสื่อสังคมออนไลน์ถูกทำให้รู้สึกว่าสามารถกระทำได้ เมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้หญิง คำถามที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในรูปแบบคำถามว่า “มันก็เป็นคำธรรมดาคำหนึ่ง ทำไมพวกคุณต้องมาเรียกร้องอะไรด้วย?” “มันก็เป็นเรื่องปกติ พวกคุณจะอะไรนักหนา เรายังไม่ถูกเนื้อต้องตัวคุณ แล้วจะเป็นการคุกคามได้ยังไง?” ซึ่งคำถามดังกล่าวก็อาจสะท้อนมุมมองบางอย่างได้ว่า สิทธิการเคารพกัน สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากสังคมไทยอย่างมาก แม้จะไม่ถูกมองจากมิติเรื่องเพศก็ตาม

ประกอบกับ ประเด็นต่อมาคือ สังคมไทยไม่ได้ปลูกฝังให้ผู้คนตระหนักรู้เรื่องเพศ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวคือ สังคมไทยมักจะมองว่า การเรียกร้องในประเด็นปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าทั้งจากผู้หญิง หรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ นั้นถือเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขณะที่สังคมตะวันตกหลายประเทศมองว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกันเสียก่อน ถึงจะขยับไปแก้ปัญหาเรื่องอื่น

หากจะถามว่าทำไมสังคมถึงไม่ปลูกฝังให้ผู้คนตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการผูกโยงกับวัฒนธรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมไทยมีการยึดโยงกับแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ ที่แม้แต่ในองค์กรภาครัฐปัจจุบันก็ยังสามารถพบเจอแนวคิดเหล่านี้จากผู้บริหารที่เป็นชายได้

“เราเคยทำงานในกระทรวงที่ดูแลสิทธิสตรีมาก่อน เราเคยบอกผู้ใหญ่ว่า ควรผลักดันประเด็นนี้ แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายก็บอกเราว่า ‘ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ก็มีความเท่าเทียมอยู่แล้วนะ อย่างบ้านผม ผู้หญิงก็เป็นใหญ่ ผมทำงานได้เงินมา ผมก็ให้ภรรยาเก็บดูแล มันไม่ได้มีแค่คำว่าชายเป็นใหญ่นะ เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเองก็เป็นใหญ่แล้ว’”

แม้บทสนทนาดังกล่าวจะจบลงและไม่ถูกตอบกลับไปในเวลานั้น แต่ก็ทำให้ ดร.ชีรา มองเห็นภาพได้ชัดเจนถึงปัญหาดังกล่าวว่า เราอาจไม่แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมได้เลย หากภาครัฐที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว ไม่ได้มีทัศนคติ ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ว่า มันเป็นเรื่องของโครงสร้างทางอำนาจที่สังคมส่งทอดต่อกันมาอย่างไม่รู้ตัว

ชายเป็นใหญ่ในเชิงโครงสร้าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมโลกส่วนใหญ่มักให้คุณค่าและอำนาจกับเพศชายมากกว่าเพศอัตลักษณ์อื่นอยู่แล้ว แม้ว่าในบางสังคมอย่าง ล้านนา หรือล้านช้าง จะให้สิทธิกับผู้หญิงในการบริหารกิจการบางอย่างในครัวเรือนได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ผู้ชายวางไว้

ชีรา กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน เด็กไทยจะมีอัตราการเข้าเรียนที่แทบจะเท่ากันระหว่างชายหญิง แต่พอศึกษาต่อไปในบริบทอื่น อย่างเช่น การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนของส.ส.ที่เป็นเพศหญิงมักจะมีจำนวนน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย หรือเผด็จการก็ตาม

มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนารายงานว่า สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554-2557) มีสัดล่วนส.ส.หญิงในรัฐสภาอยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ภายหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา สัดส่วนส.ส.หญิงก็มีท่าทีลดน้อยลงไปอีก โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 (2562-ปัจจุบัน) มีสัดส่วน ส.ส.หญิงอยู่เพียงร้อยละ 14 แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงไทยในสภานั้นมีบทบาทที่น้อยมาก

“ปัญหาดังกล่าวมาจาก ราชการไทยยังมีระบบคิดที่แบ่งหญิงแบ่งชาย และเทอำนาจบทบาทที่สำคัญให้เพศใดเพศหนึ่ง ส่วนอีกเพศหนึ่งยังถูกมองว่าต้องอยู่ในบ้าน ดูแลกิจการในครอบครัว”

ชีรา ให้ข้อสังเกตว่า หากมองจากการทำงานของกระทรวง กระทรวงที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ และเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมากคือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จะมีผู้หญิงเข้าไปทำงานน้อย และมีหน้าที่เป็นเพียงเสมียน ไม่ได้มีบทบาทสำคัญ หรืออย่างตำรวจสืบสวนสอบสวนหญิงก็แทบจะถูกลดบทบาทไปจนหมดแล้ว และการไม่รับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแล้ว ทั้งๆ ที่ ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 แล้ว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรเหล่านี้เพียงแค่พื้นที่ให้ผู้หญิงบางส่วน ขณะที่พื้นที่หลายส่วนยังคงสงวนไว้ให้ผู้ชาย เพียงเพราะฐานความคิดของพวกเขาเชื่อว่า หากเป็นเรื่องการปกครอง การทหาร การพิทักษ์สันติราษฎร์เป็นเรื่องของเพศชาย

เมื่อการตื่นรู้ของผู้หญิงปรากฏ

“เราต้องยอมรับก่อนว่า กระแสเฟมินิสต์ในไทยมันเกิดขึ้นมาจากผู้หญิงในชนชั้นสูงที่มีการศึกษา”

ชีรา ให้ข้อมูลว่า กระแสของแนวคิดเฟมินิสต์ในไทยเกิดขึ้นจาก การที่ผู้หญิงในชนชั้นนำไปร่ำเรียนในต่างประเทศ และรับเราแนวคิดนี้กลับมาเผยแพร่ให้เกิดการตระหนักรู้ และผลักดันเรื่องนี้เข้าไปในนโยบายรัฐ เข้าไปสู่รากฐานความคิดของสังคม แม้ว่าแนวคิดเฟมินิสต์จะมีความสากล เพราะเป็นแนวคิดที่สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ตาม แต่บริบทในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสต์นั้นก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกเรื่อง หากผู้คนแต่ละกลุ่มมีประสบการณ์ชีวิตกับปัญหาที่แตกต่างกัน

“ถ้าเราจะรอให้เฟมินิสต์ชนชั้นสูงมาผลักดันประเด็นปัญหาอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะชนชั้นสูงก็อาจจะเห็นแค่ปัญหาของเขา ไม่ได้เห็นปัญหาของชนชั้นกลาง หรือชนชั้นรากหญ้า”

กระบวนการการเรียนรู้ทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้คนทุกกลุ่มมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นรากหญ้า หรือชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย หรือคนหลากหลายเพศ ต่างก็มีสิทธิและความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันได้ตามกรอบคิดของเฟมินิสต์

ดังนั้น เฟมินิสต์จึงก่อตัวขึ้นจากการศึกษา การเรียนรู้ของผู้หญิงในสังคมไทย เกิดเป็นกลุ่มที่ทำงานเรียกร้องเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ #ผู้หญิงปลดแอก ที่เป็นการรวบตัวกันของกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการจะปลดแอกตัวเองออกจากบทบาทผู้หญิงที่สังคมมอบให้ โดยเชื่อว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะคิด ทำและเลือกจะมีบทบาทหน้าที่เป็นของตนเอง โดยไม่ยึดโยงกับความคาดหวังของสังคม

หรือแม้แต่ กระแส No Bra Movement ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงต้องการปลดแอกอย่างเสื้อชั้นในออกไปจากเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เนื่องจากเสื้อชั้นในเป็นอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับและคงรูปทรงหน้าอกของผู้หญิงให้สวยงาม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับร่างกายของผู้หญิง

“เมื่อเรามีลูก เรารู้ได้ทันทีว่า หน้าอกนี้เป็นพื้นที่ของลูก หน้าอกนี้ถูกสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติของร่างกายเพื่อให้ลูกได้ดื่มกิน เพราะฉะนั้นหน้าอกไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชายเลย”

ชีรา อธิบายว่า เสื้อชั้นในเกิดขึ้นมาจาก พันธการทางเพศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาก ผู้หญิงทุกคนถูกบังคับให้ใส่เสื้อชั้นในรักษารูปทรงของหน้าอกตนเอง เพื่อตอบสนองความเป็นวัตถุทางเพศให้กับผู้ชาย ทั้งๆ ที่อวัยวะส่วนนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับในการเป็นพื้นที่อาหารให้ลูกน้อย

แต่อย่างไรก็ดี การเรียกร้องเพื่อขับเคลื่อนสิทธิสตรีในช่วงก่อนหน้านี้ มักถูกผลักดันโดยองค์กรที่ทำงานเพื่อผู้หญิง ภาพของผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องในสิทธิของตนเองจึงเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยครั้ง ประกอบกับ กระแสเฟมทวิตที่กำลังเป็นที่พูดถึงใน Twitter ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า การออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี โดยไม่ได้สร้างพื้นฐานความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับแนวคิดเฟมินิสต์ที่ยึดโยงกับความเท่าเทียมทางเพศ ก็นำมาซึ่งปัญหาการกล่าวโทษ การตีตราเพศอื่นว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่าง วาทกรรม Men are trash ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีความเป็นเพศชาย จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านเฟมทวิต ที่แม้แต่เฟมินิสต์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

กระแสต่อต้านเฟมินิสต์

อย่างที่ทราบกันดีว่า เฟมทวิต เกิดขึ้นในบริบทพื้นที่บนสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter และด้วยความรวดเร็ว และสั้นกระชับของ Twitter ทำให้ใจความในการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศจึงหายไป เหลือไว้แต่การผลักความผิดไปให้เพศใดเพศหนึ่ง จนทำให้ผู้ชายรู้สึกว่า ความเป็นเพศของตนเองกำลังถูกตีตราว่า เป็นต้นเหตุของทุกปัญหา ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากบทบาทของผู้ชายที่สังคมคาดหวังเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสการต่อต้านเฟมินิสต์จึงเกิดขึ้น ซึ่งบริบทของกระแสต่อต้านเฟมินิสต์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ ภายหลังกระแสของ #METOO ก็ทำให้ผู้ชายบางส่วนออกมาต่อต้านการเรียกร้องของสตรีเพศ เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่า เดิมทีพวกเขาเองก็ถูกกดอยู่ในสังคมอยู่แล้วจากการเกณฑ์ทหารในช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ได้พรากเวลาและโอกาสในหน้าที่การงานของพวกเขาไป หรือแม้แต่การเข้าเรียกมหาวิทยาลัยที่ผู้ชายไม่มีสิทธิเข้าเรียน มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาได้ ทั้งหมดทำให้พวกเขามองว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิของสตรีจึงเป็นเหมือนการลดทอนพื้นที่ที่มีอยู่เดิมของพวกเขาลงไปอีก

เวทีชุมนุมเพื่อความเท่าเทียม

“(เรื่องนี้) มันต้องเกิดจากการตระหนักรู้จริงๆ แล้วก็ออกมาเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม ถ้าเราต้องการกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ได้ เราต้องเปลี่ยนสังคมมโนทัศน์ ต้องมีการกระทำที่สามารถกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า แบบนี้ไม่โอเค”

ชีรา กล่าวถึงการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การออกมาชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูปการเมืองเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นการปฏิรูปเชิงสังคมวัฒนธรรมด้วย การที่กลุ่มนักเรียนไม่ยอมจำนนต่อระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนอีกต่อไป ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายสังคมไทยอย่างมาก และมันได้สร้างความหวังว่า เมื่อเขาตื่นตัวแล้ว เขาตระหนักแล้วว่าอะไรคือ สิ่งที่เขาไม่จำเป็นต้องยอมทนอีกต่อไป เขาก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติเพื่อตัวของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา และอนาคตของพวกเขา

แน่นอนว่า เวทีถูกเปิดเพื่อให้คนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นได้นำเสนอปัญหาของพวกเขาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมที่กดทับ แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็ยังเป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจผู้คนอยู่มาก

“เพราะเขาไม่รู้เรื่อง เขาไม่ถูกทำให้รู้สึกว่านี่เป็นประเด็นของเขา”

ชีรา ให้แง่คิดว่า ฝ่ายที่ดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางเพศอย่างถ่องแท้แล้วหรือไม่ เพราะความหลากหลายทางเพศประกอบไปด้วย ผู้ชาย ผู้หญิง และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เราไม่สามารถทิ้งใครไว้เบื้องหลังได้หากต้องการจะผลักดันประเด็นนี้

สิ่งที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงให้คนทุกกลุ่มสัมผัสได้ถึงปัญหาในเรื่องนี้ว่า มันเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจทางเพศ ที่มากำหนดบทบาทให้แต่ละเพศมีบทบาทที่แตกต่างกันไป ประเด็นเรื่องเกณฑ์ทหาร และการอุปสมบทเป็นภิกษุของผู้ชาย ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนไปพร้อมกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อทำให้ผู้ชายตระหนักรู้ร่วมกันว่า พวกเขาก็เป็นผลผลิตซ้ำของโครงสร้างอำนาจนิยมที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศเช่นกัน และพวกเขาก็มีสิทธิที่จะได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยปราศจากความคาดหวังของสังคมเช่นเดียวกับผู้หญิง และคนหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการเลี้ยงดูปลูกฝังเด็ก ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ควรถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะการเลี้ยงดูเป็นส่วนหนึ่งของส่งต่อแนวคิดชายเป็นใหญ่

“เราจะซื้อของให้ลูก สั่งซื้อกับแม่ค้าออนไลน์ แม่ค้าก็จะบอกว่า อันนี้ลดราคานะคะ เลือกไม่ได้ ให้บอกว่าน้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แล้วจะจัดของไปให้ ถ้าเป็นผู้ชายก็จะจัดสีฟ้า ผู้หญิงก็จะจัดเป็นสีชมพู”

ชีรา เผยถึงประสบการณ์การเป็นแม่ว่า แม้เราจะพยายามเลี้ยงลูกให้หลุดออกจากกรอบคิดทางเพศแบบชายจริงหญิงแท้มากที่สุด แต่สุดท้ายเราก็ต้องยอมจำนนให้กับบางสิ่งที่มันอยู่ในสังคม อย่างเช่น การระบุสีและสัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศ เพศชายใช้สีฟ้า เพศหญิงใช้สีชมพู หรือแม้แต่ภายในครอบครัว พ่อแม่ก็จะแสดงออกต่างกันเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชาย ทั้งหมดเป็นกระบวนการถ่ายทอดทางสังคมที่ครอบครัว และโรงเรียนปลูกฝังผู้คนมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ครอบครัว และระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่ผลิตซ้ำเรื่องกรอบคิดชายจริงหญิงแท้เยอะมาก ส่งผลให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่ถูกนำมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที

ปัญหาเหล่านี้จึงสมควรแก่เวลาที่ถูกนำมาพูดถึง และสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเล็งเห็นว่า เราทุกคนต่างอยู่ใต้ระบบอำนาจนิยมที่กดทับเราอยู่ และเราทุกคนมีหน้าที่จะต่อสู้ เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงได้ โดยตอนต่อไปจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับเพศชายมากขึ้นว่า โครงสร้างอำนาจนิยมทางเพศได้กดทับความเป็นผู้ชายมากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมผู้ชายถึงควรมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท