Skip to main content
sharethis

คุยกับ เนย ศุภณัฐ กิ่งแก้ว บัณฑิตจากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเฉพาะกิจ ‘บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร’ เพื่อรณรงค์ไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร อะไรอยู่เบื้องหลังการไม่รับปริญญา งานปริญญาควรเป็นแบบไหน และเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อพวกเขาออกมารณรงค์

เดิมทีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละปีนั้น จะมีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรราวร้อยละ 60-70 จากจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด ทว่ารายงานล่าสุดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงจำนวนผู้เข้ารับปริญญาในระดับปริญญาตรี ประจำปี 2563 ว่ามีทั้งหมด ทั้งหมด 7,756 คน โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าซ้อมย่อย 3,280 คนคิดเป็นร้อยละ 42.29 ขณะที่วันซ้อมรวม เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2563 มีจำนวน 3,763 คนคิดเป็นร้อยละ 48.52 อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาในวันจริงไม่มีโอกาสที่เพิ่มอีกเนื่องจากผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ จะต้องผ่านการซ้อมกับทางมหาวิทยาลัยเสียก่อน แต่อาจจะมีโอกาสที่จำนวนผู้เข้ารับจะลดลงไปอีก

ตัวเลขผู้เข้ารับพระราชปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ลดลงอย่างน่าตกใจ หลายคนประเมินกันว่า เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย หนึ่งคือ มาตรการในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด มีการกำหนดให้ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทุกคนต้องตรวจเลือดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้บางคนไม่สะดวก สองเดิมทีระยะห่างจากการจบการศึกษา และการรับปริญญาโดยปกติแล้วจะห่างกันเพียงไม่กี่เดือน แต่ในครั้งนี้ ทิ้งระยะห่างกันถึง 14 เดือน ซึ่งอาจจะทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่สามารถลางานได้แล้ว สามการประกาศวันพระราชทานปริญญาบัตรยังเกิดขึ้นอย่างกระชั้นชิดมีเวลาให้บัณฑิตเตรียมตัวล่วงหน้าไม่ถึง 1 เดือน และสี่ได้รับผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีการรณรงค์ให้ผู้สำเร็จการศึกษาไม่รับพระราชทานใบปริญญา

การรณรงค์ในลักษณะที่ว่า เปิดฉากขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้พระราชทานปริญญาบัตรคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนที่จะมาถึงคิวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้พระราชทานปริญญาบัตรคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประชาไทพูดคุยกับหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม บัณฑิตธรรรมศาสตร์ของราษฎร ซึ่งออกรณรงค์ไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และเขาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่คือ การส่งสาสน์ถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ที่ธรรมศาสตร์ยังมีคนไม่พอใจกับสถานะของสถาบันฯ ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ศุภณัฐ กิ่งแก้ว บัณฑิตจากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้รวมก่อตั้งกลุ่ม บัณฑิตธรรรมศาสตร์ของราษฎร

เนย ศุภณัฐ กิ่งแก้ว บัณฑิตจากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้รวมก่อตั้งกลุ่ม บัณฑิตธรรรมศาสตร์ของราษฎร เปิดเผยที่มาของกลุ่มว่า เริ่มต้นจากการที่ตัวเองเป็นคนที่ติดตามเรื่องการเมือง ความเคลื่อนไหวทาวงการเมืองมาโดยตลอด ทั้งยังเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง เมื่อพบว่าช่วงต้นเดือนตุลาคม ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศกำหนดการการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการรณรงค์ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้งจากราษฎร์ และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงรู้สึกว่าตัวเองในฐานะที่เป็นบัณฑิต มีสิทธิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ควรทำอะไรบางอย่าง จนได้ไปคุยกับกลุ่มเพื่อนๆ ว่าจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ชูเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ สุดท้ายได้ข้อสรุปมาว่า จะทำการรณรงค์ไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อเป็นหนึ่งในแรงกดดันให้เห็นว่า จำนวนคนที่เข้าไปในประชุมซึ่งจะน้อยลง จะเป็นส่งสาสน์ต่อสถาบันในทางอ้อมว่า มีบัณฑิต และนักศึกษาที่ไม่พอใจสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน 

“เราหวังว่าการณรงค์นี้จะเป็นการส่ง Message ถึงสถาบันกษัตริย์ว่า จากจำนวนคนในที่น้อยลง จะทำให้เห็นว่า ยังมีบัณฑิต และนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับสถานะของสถาบันในปัจจุบัน ซึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมีการถ่ายโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเดิมถูกดูแลโดยกระทรวงการคลัง และเป็นสมบัติของแผ่นดิน ไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แทน อันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องการสื่อออกมา”

เพจกลุ่ม บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร 

กิจกรรมการรณรงค์ของกลุ่มบัณฑิตธรรมศาสตร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23-24 ตุลาคม คือการนำสแตนดี้รูป สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งต้องลี้ภัยการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ไปอยู่ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส มาตั้งไว้ให้บัณฑิตที่เดินทางมาร่วมซ้อมเข้าพระราชทานปริญญาบัตร และมาร่วมถ่ายรูปกับเพื่อน และครอบครัว ได้มาถ่ายรูปคู่กับสแตนดี้ดังกล่าว นอกจากยังมีสแตนดี้ของบุคคลอื่นๆ เช่น ปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และตำนานที่ยังมีชีวิตแห่งธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์คือ ลุงเบอร์นาด คนขายถั่วในมหาวิทยาลัย และไม่เพียงแค่การนำสแตนดี้มาตั้งให้คนร่วมถ่ายรูปเท่านั้น พวกเขายังถือโทรโข่งรณรงค์ถึงเหตุผลที่จะไม่รับพระราชทานปริญญาบัตรด้วย 

จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้น เนยเล่าว่า ในวันที่ 23 พบว่ามีความพยายามจัดชุดเจ้าหน้าที่เข้ามาแย่งสแตนดี้ที่ทางกลุ่มเตรียมมาทั้งหมดไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเข้ามา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม มาแสดงความเป็นห่วงจากการทำกิจกรรม และต้องการทราบว่าทางกลุ่มจะทำอะไรในวันที่ 30-31 นี้ซึ่งเป็นวันพระราชทานปริญญาบัตร 

เนยยังเล่าต่อว่า ตัวเขาเองยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงเข้ามาคุกคามถึงที่บ้าน มีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ และข้อมูลส่วนตัว มีการข่มขู่กับครอบครัวว่าจะดำเนินคดี หรือออกหมายจับ เพราะมีการปราศรัยรณรงค์ไม่รับปริญญาที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ที่บ้านโทรเข้ามาหา พร้อมบอกหยุดพาดพิงสถาบันกษัตริย์ และหากกลับมาที่บ้านเมื่อไหร่ให้ไปรายงานตัวกับตำรวจ เพื่อที่จะได้จะเจ้าหน้าที่มาคุ้มครองความปลอดภัย 

“เขาบอกว่าเพื่อดูแลความปลอดภัย แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยมากกว่าเดิมอีกพอเขาบอกแบบนั้น เราเองก็ต้องระวังมากขึ้นไปไหนมาไหน ก็ต้องมองซ้ายมองขวาให้ดีว่ามีใครติดตามมาหรือเปล่า เพราะรู้จากเพื่อนที่ทำกิจกรรม เป็นแกนนำว่า เขาจะถูกเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องติดตามตลอด ส่วนเรื่องกิจกรรมในวันที่ 31 ก็ค่อนข้างเป็นห่วงว่าจะถูกขัดขวาง จะมีการเข้ามายึดสแตนดี้เราไปหรือเปล่า หรือจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามานำตัวผมออกมาจากมหาวิทยาลัย” 

เมื่อถามว่า สแตนดี้ที่จัดเตรียมมานั้นได้รับการตอบรับจากบัณฑิต หรือญาติๆ ของบัณฑิตอย่างไรบ้าง เนยด้วยความตื่นเต้นว่า ดีเกินคาด เพราะตอนแรกเขาคิดว่ากิจกรรมนี้ไม่น่าจะมีใครให้ความสนใจมาก แต่สิ่งที่พบคือ ในวันที่ 24 ซึ่งเป็นซ้อมใหญ่ เดิมทีตั้งใจจะเก็บสแตนดี้ทั้งหมดตั้งแต่เวลาบ่ายสาม แต่ก็ไม่สามารถเก็บได้ครบทั้งหมด เนื่องจากสแตนดี้บางตัวมีคนมารอคิวถ่ายรูปจำนวนมาก จนเวลาไล่เลยไปถึงห้าโมงเย็นก็ยังไม่สามารถเก็บสแตนดี้ตัวหนึ่งที่เหลืออยู่ได้ ซึ่งเป็นสแตนดี้สมศักดิ์ เจียมฯ 

“ประมาณบ่ายสามเราตั้งใจจะเก็บสแตนดี้ทุกตัว แต่ก็ไม่สามารถเก็บได้ เก็บได้เฉพาะบางตัวที่คนมาถ่ายรูปด้วยน้อย พอห้าโมงเย็นเรากลับมาใหม่ก็ยังเก็บไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสแตนดี้สมศักดิ์ เจียม ที่ทำท่ามอบใบปริญญา เราพยายามเข้าไปเก็บ 4-5 รอบ ก็เจอบัณฑิตมาขอว่าอย่าเพิ่งเก็บได้ไหม เพราะมีคนรอถ่ายรูปอีกหลายคน สุดท้ายกว่าจะเก็บได้ก็ประมาณหกโมงกว่า แม้แต่ขณะที่เราขนไปเก็บก็ยังมีบัณฑิตเรียก พี่ๆ อย่าเพิ่งเอาไป เอามาตั้งตรงนี้ก่อน ขอถ่ายรูปก่อน”

“เรารู้สึกว่าปรากฎการณ์นี้มันกำลังบอกเราว่า การพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์มันไม่เป็นสิ่งที่ต้องปกปิด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเหนียมอายอีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าในปี 2563 การพูดว่าเราไม่โอเคกับสถาบันเป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ทั่วไป และเป็นสัญญาณที่ดีว่าเสรีภาพในการพูดของสังคมไทยมันมีมากขึ้น แม้เรื่องทางกฎหมายจะไม่เอื้อแต่อย่างน้อยเราได้เห็นปฏิกิริยาของคนในสังคมกล้าลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา”

เนย กล่าวต่อด้วยว่า Big surprise ใหญ่ๆ เบิ้มๆ ที่ได้ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กไปนั้น จะไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับผลัน แต่จะเป็นกิจกรรมที่จะเป็นให้กับบัณฑิตธรรมศาสตร์ที่อย่างมีส่วนร่วมทางการเมืองบ้าง ได้เข้ามาร่วมกันเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามกิจกรรมที่วางไว้ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองแบบเข้มข้น เพราะเข้าใจดีว่าในวันรับปริญญาทุกต่างต้องการมาร่วมงานด้วยความสบายใจ และกลับไปอย่างสบายใจ กิจกรรมที่ออกมาก็จะเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสนุกสนานออกแนวขายขำ 

“สำหรับงานรับปริญญาหากให้เลือกได้ ผมอยากให้มันเป็นงานที่ไม่ใช่พิธีซึ่งเป็นการอัพเกรดสถานะทางสังคมอย่างนั้น คือสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้การเข้ารับปริญญาไม่ใช่แค่ การแสดงให้เห็นว่าคุณเรียนจบแล้ว แต่มันเป็นการบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ คุณเป็นปัญญาชน คุณกำลังมีสถานะบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น เพราะคุณได้เข้าไปใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ และคุณเข้าเป็นอยู่ในเครือข่ายทางอำนาจนั้น จริงๆ แล้วเราควรทำให้งานรับปริญญาบัตรเป็นงานรื่นเริงงานหนึ่ง เพราะคุณเรียนจบแล้วอาจจะเจอกันทั้งรุ่นได้ยาก งานรับปริญญามันควรเป็นโอกาสที่คุณจะได้มาสังสรรค์ คุณควรจะได้แต่งตัวแบบที่คุณอยากแต่ง จะแปลกแหวกแนวแค่ไหนก็ตามคุณก็ควรจะใส่มันเพื่อเข้ารับปริญญาได้ เมื่อออกมาคุณก็จะมาถ่ายรูปกับเพื่อนๆ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งตัวแข็งในหอประชุมในพิธีกรรมจารีต ซึ่งมันไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขเลย ตรงกันข้ามมันทำให้คุณมีความทุกข์ เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่ บางคนไม่ได้นอน แล้วกว่าจะได้ออกบางครั้งทุ่มหนึ่ง มันไม่มีความสุขเลย มันกลายเป็นพิธีกรรมที่ทุกคนทรมานมากกว่า ส่วนคนมอบปริญญาบัตรก็ควรเป็นสามัญชน และเป็นคนที่มีส่วนในความสำเร็จของบัณฑิตจริงๆ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net