'รัฐร้าวเราไม่ลืม' ความรุนแรงโดยรัฐที่อยากลืมก็ลืมไม่ได้และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

กลุ่มคณะจุฬาฯ จัดกิจกรรม 'รัฐร้าวเราไม่ลืม' โดยกิจกรรมนี้การปราศรัยหลักอยู่ในประเด็นปัญหาการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งการเมืองเสื้อสีและความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการสูญเสียต่างๆ เกิดขึ้นโดยรัฐไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางการเมืองที่เปิดช่องให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

29 ต.ค.2563 ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน กลุ่มคณะจุฬาฯ จัดกิจกรรม 'รัฐร้าวเราไม่ลืม' ซึ่งมีผู้ปราศรัยขึ้นพูดประเด็นความรุนแรงโดยการใช้อำนาจของรัฐทั้งการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตและปัจจุบัน ปัญหาโครงสร้างอำนาจรัฐที่ทำให้รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

เมื่อถึงเวลา 17.30 น. ผู้จัดกิจกรรมประกาศเลื่อนเวลาทำกิจกรรมออกไปเป็น 18.00 น. เนื่องจากต้องรอขบวนเสด็จผ่านบริเวณนั้นไปก่อน และอธิบายกิจกรรมที่ให้นักศึกษาหลายคนนั่งบนเก้าอี้แดงและถูกพันธนาการไว้กับเก้าอี้เพื่อต้องการสื่อให้เห็นปัญหาที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่างมาทุกยุคทุกสมัย และเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 16 ต.ค.2563 อีกทั้งยังมีนักข่าวถูกจับกุมขณะพยายามเข้าไปถ่ายภาพผู้ชุมนุมที่กำลังถูกจับกุมจนตัวเองถูกจับไปด้วย และยังถูกใช้เคเบิลไทล์มัดมือไพล่หลังไว้กว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นประเด็นหลักของกิจกรรมในวันนี้ทั้งการสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค. 2563 สลายชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

มายมิ้นท์ จากกลุ่มคณะจุฬาฯ ปราศรัยเป็นคนแรกในประเด็นการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมของที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจับกุมดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลตอนตี 4 ของวันที่ 15 ต.ค.2563 เป็นต้นมา

มายมิ้นท์กล่าวถึงมาตรการของรัฐในการสลายการชุมนุมวันที่ 16 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกโกรธมากทั้งการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงจนมีนักเรียนที่เข้ารวมชุมนุมหนีเข้ามาในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เตรียมไว้เป็นพื้นที่ปลอดภัย นักเรียนเหล่านี้เข้ามาขอน้ำเปล่าเพื่อล้างตัวเนื่องจากถูกตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำที่ผสมสารเคมีฉีดใส่จนแสบไปหมด มีผู้สูงอายุที่หลงทางและกลับบ้านไม่ได้เพราะการปิดเส้นทางคมนาคมอย่างรถไฟฟ้าในวันนั้น และในการสลายการชุมนุมก็มีรุ่นพี่ของเธอถูกจับกุมไปด้วย และจนถึงวันนี้ก็รัฐบาลก็ยังไม่ตอบคำถามว่าทำไมถึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและสารเคมีที่ผสมในน้ำคืออะไรกันแน่

มายมิ้นท์

มายมิ้นท์ยังกล่าวอีกว่าความรุนแรงโดยรัฐนั้นมีหลายอย่างทั้งการใช้กำลัง กฎหมาย การลอยนวลพ้นผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด การมารวมตัวกันในวันนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งการสลายชุมนุม 16 ตุลาคม วันเฉลิมที่หายไปผู้พิพากษา ที่ยิงตัวตาย ชัยภูมิ ป่าแส และการสลายการชุมนุมปี 53 การสลายการชุมนุมที่กรือเซะ การสังหารหมู่หกตุลาคม ห้าสิบปีถีบลงเขา เผาลงถังแดง นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่รัฐกระทำ ปราศจากการรับผิด พวกเราทุกคนต่างถูกพันธนาการโดยรัฐ ถูกจองจำในเรือนจำกฎหมายที่ทำให้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ สื่อมวลชนถูกรัฐควบคุมให้ทำข่าวไม่ได้

“การคุกคามของรัฐมีอยู่ทุกลมหายใจ มีแต่เราที่จะปลดพันธนาการของรัฐเฮงซวยนี้” มายมิ้นท์กล่าว

แอมมี่ The Bottom Blues

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues เล่าเหตุการณ์และความรู้สึกต่อกระบวนการยุติธรรมจากการถูกจับกุมและถูกคุมขังจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่เขาจะเล่าเขาได้ขอให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมว่า อย่าได้ลืมเพื่อนที่ยังถูกจองจำ การที่ตนและจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดินได้รับการปล่อยตัวอาจเป็นเพียงเพื่อลดกระแสต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น

แอมมี่เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ว่าวันนั้นเป็นเพียงการเตรียมการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ซึ่งมีพี่น้องจากหลายจังหวัดที่เดินทางมาล่วงหน้าก่อนซึ่งตนและไผ่มีหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุมที่เดินทางมา และไม่ได้ตั้งเครื่องเสียงขวางการจราจรและขบวนเสด็จโดยตั้งแค่หน้าแม็คโดนัลด์เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ที่มาเจรจาบอกว่าไม่อยากเห็นอะไรขวางทางเลยและยังสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมซึ่งมีจำนวนถึง 3 กองร้อย แต่พวกเขาที่ชุมนุมกันอยู่มีกำลังคนอยู่แค่ราว 30 คน ที่เป็นนักกิจกรรม โดยตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุมปิดชื่อด้วยผ้าสีดำทุกคน แล้วก็มีตำรวจ 6 คนมาจับตัวเพื่อนนักกิจกรรมทั้งกระทืบแล้วก็ลากไป มีนักข่าวสื่อวิ่งตามหลายคนย่อมมีหลักฐาน ตนก็วิ่งเข้าไปจับแขนตำรวจและขอให้อย่าทำแบบนั้นเลยแต่ก็ยังลากไปที่รถห้องขังแล้วก็กระทืบไปด้วย โดยที่เขาทำได้แค่คุกเข่าร้องไห้เสียใจที่ปกป้องน้องไม่ได้ จากนั้นตัวเขาเองก็ถูกอุ้มขึ้นรถไปกับไผ่ถูกใส่กุญแจมือโดยเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งว่าจะพาไปที่ไหนและไม่แจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นตำรวจก็จับกุมตัวคนตามขึ้นรถมาอีกหลายคน จนกระทั่งถูกนำตัวไป ตชด.ภาค 1 และถูกคุมตัวนานหลายชั่วโมงโดยไม่ได้พบทนายความจนกระทั่ง 5 ทุ่มถึงได้พบกับ ส.ส.หลายคนโดยหนึ่งในนั้นคือ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จนกระทั่งเช้าถึงถูกนำตัวส่งศาลและถูกศาลฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คลองเปรม

แอมมี่เล่าความรู้สึกว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกว่าอำนาจตุลาการพังไปหมดทั้งกระบวนการยุติธรรม และระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำเขาต้องขอบคุณ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่คอยช่วยเหลือทั้งเรื่องอาหารและคอยให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกจับกุมทุกคนและยังกล่าวกับพวกเขาว่าพวกเขาไม่ใช่นักโทษแต่เป็นนักสู้ และเมื่อเขาได้ออกมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกดีใจ เด็กช่างกลที่ไม่เคยจับมือกันได้พวกเขาก็นวมตัวกันบอกว่าจะมาปกป้องน้องๆ ที่ออกมาต่อสู้ เด็กแว๊นที่เอามอไซค์ของตนมาเป็นแนวกั้นให้กับผู้ชุมนุม

แอมมี่กล่าวทิ้งท้ายว่า “คงเห็นกันแล้วว่าระบบความยุติธรรมมันพังไปแค่ไหน แต่อย่าเพิ่งท้อใจ เราจะเอาชัยชนะนั้นกลับมา มาเปลี่ยนแปลง แก้ไขทำมันอย่างดีที่สุด ไม่จบในรุ่นผมก็ขอให้จบในรุ่นคุณ ไม่จบในรุ่นคุณก็ขอให้จบในรุ่นลูกผม คำว่าให้มันจบที่รุ่นเรามันเป็น Eternity มันไม่สิ้นสุด เราอาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์แรก แต่มันจะไม่สูญเปล่า ที่วันนี้ทุกคนมานั่งอยู่ตรงนี้จะไม่สูญเปล่าเชื่อผม การต่อสู้ของทุกคนผมเรียกมันว่าการพลีชีพ พลีชีพในที่นี้ไม่ใช่ฉันต้องการไปรับกระสุนพระราชทานหรือว่าใดๆ มันคือการสละทั้งหน้าที่การงาน ทั้งสังคม ทั้งทุกอย่างที่จะมายืนอยู่ตรงนี้ ผมเข้าใจดีว่า cost (สิ่งที่ต้องจ่าย) มันสูงแค่ไหน”

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ สมาชิกพลเมืองโต้กลับ และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม นปช. เมื่อเมษาฯ-พฤษภาฯ 53 เขาเล่าถึงเหตุการณ์นั้นว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) หรือคนเสื้อแดงในเวลานั้นไม่พอใจการขึ้นมาสู่อำนาจของรัฐบบาลอภิสิทธิ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาภายในค่ายทหารจากการอาศัย ส.ส.งูเห่าที่เคยอยู่ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลของพลังประชาชนที่ชนะเลือกตั้งมาจนได้เป็นรัฐบาลก่อนหน้านั้นจนเกิดการสลายการชุมนุมครั้งในเดือนเมษายน 2552 ไปก่อนแล้วแต่ก็ยังกลับมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องยุบสภาอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2553 ก่อนจะถูกสลายชุมนุมในวันที่ 10 เมษายนด้วยแก๊ซน้ำตาและกระสุนจริงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 20 กว่าคน จนทำให้ผู้ชุมนุม นปช.เรียกร้องเพิ่มขึ้นนอกจากยุบสภาแล้วต้องมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม โดยการชุมนุมที่ราชดำเนินได้ย้ายเวทีมารวมกันที่เวทีชุมนุมแยกราชประสงค์

จากเหตุการณ์ดังกล่าวก็รัฐบาลก็ได้สร้างวาทกรรมเสื้อแดงมีกองกำลังทำให้รัฐบาลต้องเลือกใช้กระสุนจริง รถหุ้มเกราะ และพลซุ่มยิงในการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมาคือเหตุการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม จากนั้นรัฐก็สร้างวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองให้คนเสื้อแดงอีกทั้งที่ภาพที่ปรากฏในข่าวมีควันดำลอยทั่วเมืองก็เป็นเพียงควันจากการเผายางเพื่อบังสายตาของพลซุ่มยิง และเซนทรัลเวิลด์ก็ถูกเผาหลังจากการชุมนุมถูกสลายแล้วและเจ้าหน้าที่ทหารเข้าคุมพื้นที่ได้แล้วอีก หรือกรณีที่มีการเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่นคนที่ถูกตั้งข้อหาว่าเผาศาลากลางก็ยังเป็นคนที่ถูกยิงในเหตุการณ์แต่ก็ยังมาถูกตั้งข้อหาภายหลังว่าเป็นคนเผา

ขวัญระวี วังอุดม

ขวัญระวี วังอุดม อดีตนักวิชาการที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษาฯ-พฤษภาฯ 53 ว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาทำให้เธอรู้สึกหลอนและอาจจะมีหลายคนที่รู้สึกเช่นเดียวกัน จนทำให้เธอรู้ไม่สงบจนทำเธอมาพูดในวันนี้

ขวัญระวีเริ่มเล่าว่าเมื่อการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมันมีเพื่อนของเธอรู้สึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 53 บริเวณดังกล่าวเห็นคนบนตึกสูงก็ทำให้นึกถึงพลซุ่มยิง และเห็นนักข่าวก็ทำให้นึกภาพทหารที่อยู่บนสะพานข้ามแยกไทย-ญี่ปุ่น และการรายงานข่าวสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ก็ทำให้เธอหลอนไปถึงการรายงานข่าวในปี 53 ที่มีการใช้คำว่ากระชับพื้นที่ซึ่งความหมายของมันก็คือการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน ซึ่งในครั้ง 53 นั้นมีทั้งคนเจ็บคนตายและจากการที่เธอไปติดตามสัมภาษณ์ทั้งคนบาดเจ็บและเจ้าหน้าที่ทหารภาพหลักฐานต่างๆ ก็ทำให้เห็นว่าการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักสากลจริงหรือไม่

ขวัญระวีกล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค.อีกว่าเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติการก็ทั้งถูกรถฉีดน้ำใส่เสียเองและการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธจนเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่รัฐก็เหมือนไม่ได้เรียนรู้อะไร

ขวัญระวีกล่าวสรุปว่า ความหลอนจากเหตุการณ์เมื่อ 2553 ทำให้เธอมาที่นี่ในวันนี้เพื่อเล่าเหตุการณ์ในอดีต ไม่ใช่แค่สภาพสังคมที่เราเติบโตมาเท่านั้นที่อาจทำให้เรานึกถึงบริบทที่คนรุ่นก่อนหน้าประสบมาเหมือนกัน ความหลอนยังบอกเราด้วยว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างในสังคมนี้ที่เราไม่ได้รับรู้ไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่าอาจจะฝังลึกในสังคม รอให้เราทำความเข้าใจและแก้ไข เรื่องที่จำเป็นต้องถูกบอกเล่า ในสังคมที่มีบาดแผลเต็มไปหมดนี้

อับดุลเลาะ สิเดะ จากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH) เล่าถึงเหตุการณ์ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อ 25 ต.ค.2547 และการจับกุมควบคุมตัวคนจากการชุมนุมดังกล่าวไปโดยการให้นอนซ้อนกันบนรถทหารจนให้มีคนถูกทับและขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตถึง 85 คน ว่าจากเหตุการณ์นั้นสุดท้ายแล้วแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการตายระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากการขาดอากาศแต่ไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งที่ประชาชนรู้ว่าใครเป็นฆาตกรในเหตุการณ์ตากใบ เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ มันถูกจารึกไว้ในใจคนปัตตานี

“เราไม่ได้รำลึกด้วยความโกรธแค้น แต่เราลืมไม่ได้เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม” อับดุลเลาะกล่าว “เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับแค่ในสามจังหวัด แต่เราไม่อยากให้มันเกิดในที่ไหนจังหวัดไหน กับใครก็ตามในประเทศนี้” แม้ว่าภายหลังจะมีการเยียวยาเป็นเงินเพื่อปลอบขวัญแต่การเยียวยาเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอเพราะรัฐเป็นคนสร้างเงื่อนไข เป็นคนก่อปัญหาแต่ที่ประชาชนเรียกร้องคือความยุติธรรมแต่รัฐก็ไม่เคยให้ ทำให้ผิดหวังกับความยุติธรรมห่วยๆ ที่ไม่เห็นหัวประชาชนและรัฐก็ยังคงคุกคามประชาชน รัฐยังสามารถหาตัวคนที่ถือป้ายรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบได้แต่หาคนที่กระทำความผิดในเหตุการณ์นั้นไม่ได้ อีกทั้งยังมีการคุกคามประชาชนในพื้นที่ด้วยการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปทั้งที่พวกเขาไม่ใช่ผู้ต้องหา

อับดุลเลาะกล่าวถึงปัญหาโครงสร้างอำนาจของรัฐว่า “ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนไม่เคยได้รับรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สามจังหวัดที่มีปัญหาก็เพราะรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแต่มีส่วนผสมของเผด็จการอยู่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไข ปัญหาของประเทศก็จะอยู่แบบนี้และไม่ได้รับการแก้ไข”

ณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะยุติความรุนแรงของรัฐได้อย่างไร โดยเขายกการเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส ชาวลาหู่ นักทำสารคดีที่ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารและถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าที่ต้องยิงเพราะพยายามต่อสู้หลบหนีระหว่างการตรวจค้นยาเสพติดซึ่งพบว่ามีการครอบครองถึงสองพันกว่าเม็ด แต่ฝ่ายทหารกลับไม่สามารถนำหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดมาแสดงต่อศาลในั้ชนไต่สวนการตายได้ ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญก็หายไปทั้งที่แม่ทัพภาคที่ 3 เคยอ้างว่าได้ดูภาพวงจรปิดดังกล่าวจนถึงขนาดที่กล่าวอ้างว่าเมื่อได้ดูจากภาพแล้วถ้าเป็นตนเองจะไม่ยิงแค่นัดเดียวแต่ยิงออโต้ สุดท้ายกองทัพก็ยิงคนตายโยไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องพิสูจน์ การฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สำเร็จและกองทัพก็ไม่ต้องทำอะไรแม้แต่ขอโทษ

ณัชปกรเทียบกับเหตุการณ์ที่ทหารยิงเข้าไปในวัดปทุมวนารามในการสลายการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก เหตุการณ์นี้มีพยาบาลอาสาชื่อกมนเกด อัคฮาดที่มาช่วยผู้ชุมนุมถูกทหารยิงถึงสิบเอ็ดนัด ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับปผิดชอบกองทัพก็ไม่เคยสอบสวนว่าทำไมถึงมีคนถูกยิงถึงสิบเอ็ดนัดได้ ญาติของกมนเกดก็ฟ้องผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้นหลายคนทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาและอีกคนคือพล.องประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่พวกเขาเหล่านี้ก็ยังเสวยสุขบนเก้าอี้รัฐมนตรีได้โดยไม่สำนึกผิดอะไร ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน การปฏิรูปกองทัพที่ไม่เคยสำเร็จและศาลไม่เคยเป็นสิ่งที่ปฏิรูปได้แม้กระทั่งจะวิจารณ์ก็ทำไม่ได้และยังจะถูกดำเนินคดีเช่นกรณีพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวินที่ถูกดำเนินคดีจากการวิจารณ์ศาล เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าตาของความรุนแรงโดยรัฐเป็นเรื่องต่ำทรามที่เกิดซ้ำๆ

ณัชปกรเล่าถึงกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านว่าเป็นแนวคิดในหลายประเทศที่เคยเป็นเผด็จการอำนาจนิยมมาก่อน เขาเคยเชื่อว่าการจะเปลี่ยนผ่านได้ปัจจัยหนึ่งคือการทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของรัฐถึงเอาผิดได้ แต่เมื่อคิดดูแล้วเราต่างรู้รายละเอียดเหตุการณ์ หกตุลาฯ หรือการสลายการชุมนุม 53 อย่างละเอียด สิ่งที่เราขาดไม่ใช่ข้อมูล แต่ต้องการรัฐที่เห็นหัวประชาชน แต่เราไม่เคยรัฐแบบนั้นเลย

“ข้อเสนอคือเราต้องสร้างอำนาจสถาปนาให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เท่านั้น ตราบใดที่ประชาชนกำกับรัฐบาล สภา องค์กรอสิระไม่ได้ เราก็จะมีแต่ความอยุติธรรม" ณัชปกรกล่าว เพราะฉะนั้นในระยะอันใกล้นี้ต้องกดดันให้รัฐบาลปัจจุบันผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้ หน้าที่เราคือไม่เอาร่างรัฐบาลเพื่อให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง 100% และต้องยืนยันว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ทุกมาตราเพราะในประงัติศาสตร์ก็เคยแก้หมวดหนึ่งและหมวดสองมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาอ้างว่าแก้ทั้งสองหมวดนี้ไม่ได้ สุดท้ายคิดว่าการไปสู่วันนั้นได้ มันจำเป็นต้องใช้พลังของทุกคน มีคนบอกว่า ม็บอที่มามกาสุดหนึ่งแสนคน นั้นยังไม่พ และแสนคนต้องคุยกับอีกห้าคน อีกหาสานคุยกับห้าแสนเพื่อสองล้านห้า และสองร้านห้าคุยกับ

ญาณิศา วรารักษพงศ์(กลาง)

ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตจากหลักสูตร Political and Global Studies คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านแถลงการณ์คณะจุฬาฯ “เรื่องข้อเรียกร้องต่อกรณีความรุนแรง และการกำจัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐ” โดยมีใจความว่า จากเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงและการกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ เช่นกรณีการสลายการชุมนุมด้วยการใช้น้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมีกับประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ ซึ่งปราศจากอาวุธ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมไปถึงการควบคุมคุกคามสื่อมวลชน แม้กระทั่งความรุนแรงในอดีต แม้ว่ารัฐจะพยายามทำให้เหตุการณ์หายไปจากประวัติศาสตร์ก็ไม่สามารถลบหายไปจากความทรงจำที่ฝังลึกในจิตใจคนไทยได้

ญาณิศา ยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น ถีบลงเขา เผาลงถังแดงในปี 2510 การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2519 เหตุการณ์สลายการชุมนุม “ตากใบ-กรือเซะ” จนมีผู้เสียชีวิตถึง 85 ราย บิลลี่ พอละจีที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ถูกฆาตกรรมเผาลงถังในปี 57ซึ่งเสมือนกับเหตุการณ์เผาลงถังแดง ซึ่งยังมีอีกนับไม่ถ้วนที่ฝ่ายรัฐเลือกจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

ดังนั้นทางคณะจุฬาฯ จึงขอยกข้อเสนอของ วิทิต มันตาภรณ์ ประกอบด้วยรัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง และยุติการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมทั้งหมด, เคารพสิทธิมนุษยชน, สนับสนุนให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และสุดท้ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับ ที่ได้รับตำแหน่งมาโดยมิชอบ จะต้องลาออกและคืนอำนาจให้กับประชาชนทันที” ญาณิศา กล่าว

1. เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังและยกเลิกการฟ้องร้องกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ

2. ขอให้เคารพสิทธิมนุษยชนและการสิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่มโดยสันติ ถ้ารัฐจะจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องมีเงื่อไน 4 อย่างดังนี้

2.1 ต้องใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสากล หลักนิติธรรม ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือเป็นการใช้ที่มิชอบ

2.2 ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความจำเป็นหรือมีภัยจริงๆ

2.3 ต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของตนสมเหตุสมผลและได้สัดส่วนกับมาตรการที่เลือกใช้

2.4 ถ้ารัฐจะใช้มาตรการบางอย่าง จะต้องรายงานต่อสหประชาชาติ ตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

3. สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. ขอให้นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้นำท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งที่ต้องยึดโยงกับประชาชน และใครที่เข้าสู่ตำแหน่งมาโดยมิชอบต้องคืนอำนาจแก่ประชาชน

5. สร้างดุลอำนาจของกระบวนการทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ การบริหารประเทศต้องโปร่งใส เปิดการเจรจาโดยเป็นไปอย่างสันติวิธี
 

ผู้ชุมนุมที่มาร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาก่อนสิ้นสุดกิจกรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท