90 ปีชาตกาล 'จิตร ภูมิศักดิ์' สโมสรนิสิตจุฬาฯ แถลงขอโทษกรณีโยนบก

กิจกรรมรำลึกในโอกาส 90 ปีชาตกาลจิตร ภูมิศักดิ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ แถลงขอโทษกรณี "โยนบก" ขณะที่ในวงเสวนา 'วิทิต มันตาภรณ์' ชี้โลกวิจารณ์รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำกัดสิทธิคนเห็นต่างมากกว่าคุม Covid-19 เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และขอให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน และเจรจากับทุกฝ่าย

28 ต.ค. 63 ที่ลานประชุมกร ข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดกิจกรรมในโอกาส 90 ปีชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ ประกอบด้วยการปาฐกถาโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เสวนาหัวข้อ "สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน" วิทยากรโดย สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์ว็อช ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และวิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้มีเสวนาเรื่อง "การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดในสังคม" วิทยากรโดย จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมือง, สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, แร็ปเตอร์ สิรภพ อัตโตหิ แกนนำกลุ่มเสรีเทยพลัสประชาชนปลดแอก, เฟลอร์ สิรินทร์ มุ่งเจริญ จาก spring movement และฟลุ๊ค พชร ธรรมมล ศิลปินนักร้อง

นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ่านคำแถลงขอโทษแด่จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี "โยนบก"

ทั้งนี้ รัฐกร ใจเย็น นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อ่านคำแถลงขอโทษแด่จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี "โยนบก" ในโอกาสครบรอบ 67 ปีเหตุการณ์โยนบก เนื่องจากเขาจิตรนำเสนอหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ ทำให้ถูกนิสิตหัวรุนแรง "โยนบก"  ลงมาจากเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2496 และคณาจารย์ยังลงโทษพักการเรียนจิตรเป็นเวลา 1 ปี

ในคำแถลงขอโทษของนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งเขาระบุว่าผลงานหนังสือ บทเพลง และบทกวีต่างๆ ของจิตร ภูมิศักดิ์ "ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำและเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ทุกข์ยากในสังคม" ผลงานเหล่านี้เป็นเสมือนดวงประทีปอันรุ่งโรจน์ที่คอยจุดแรงบันดาลใจแก่ประชาราษฎร์ผู้แสวงหาเสรีภาพและความเสมภาคมานานหลายทศวรรษ

"สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรารถนาให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้บริหารและนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนไทยทุกคนเคารพและรับฟังผู้เห็นต่างทางความคิด ไม่ลุแก่อำนาจใช้กำลังประทุษร้ายข่มเหงผู้เห็นต่าง ขอให้เหตุการณ์อันเป็นอุทาหรณ์นี้จงแนบแน่นอยู่ในมโนสำนึก เพื่อเป็นพลังให้เราทุกผู้ร่วมใจป้องกันขัดขวางมิให้เกิดความอัปยศเช่นนี้อีก และเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเราช่วยกันธำรงความเป็นมนุษย์ไว้ให้ "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" สืบไปชั่วกัลปาวสาน" ตอนหนึ่งของคำแถลงขอโทษระบุ

หนังสือคำแถลงขอโทษแด่ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี “โยนบก” โดยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 (ที่มา: Facebook/องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เสวนาหัวข้อ "สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน"
วิทยากรโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, สุนัย ผาสุก และ วิทิต มันตาภรณ์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นบุคลากรคนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้งหนึ่งนักวิชาการต่างประเทศเคยเปรยกับตนว่า 100 ปี อาจจะมีคนอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์เกิดในสยามเพียง 1 หรือ 2 คน อีกหนึ่งบทบาทคือการปฏิวัติแวดวงวรรณกรรมตนเห็นว่าคุณค่าของหนังสือโฉมหน้าศักดินาในปัจจุบัน เรียกได้ว่าอมตะเรื่อยมาให้คนพูดถึงชนชั้นปกครองจนถึงปัจจุบัน 

ในการเสวนา วิทิต มันตาภรณ์ วิจารณ์การใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลว่า ถูกเวทีโลกวิจารณ์ว่าใช้จำกัดสิทธิผู้คนเห็นต่าง มากกว่าควบคุมโรคระบาดโควิด-19 จึงขอให้ปล่อยตัวผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติทุกกรณี และให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมถึงไม่ทำรัฐประหาร เน้นการเจรจาจากหลายฝ่าย เพื่อหาจุดร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย

ด้านสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันเฉลิมถูกอุ้มหายไป 5 เดือน เธอร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน มีข้าราชการหลายคนบอกว่าทำไมยังเสียเวลาตามหา อยากบอกว่าสิ่งที่เรียกร้องก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับที่เกิดกับครอบครัวของเธออีก และยังเชื่อว่าสังคมไทย สามารถพูดคุยและอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการใช้สติวิเคราะห์ แยกแยะข้อเท็จจริง เปิดรับข้อมูลโดยไม่มีอคติ แม้จะมีความคิดเห็นต่างขั้วกัน

ด้านสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กล่าวว่าเขาเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกทำร้ายเพราะมีอุดมการณ์เห็นต่างจากฝ่ายผู้มีอำนาจ รัฐมักใช้อำนาจปราบปรามคนแตกต่าง ในช่วงเวลานี้ประชาชนต้องร่วมมือกันเปิดเพดานความคิด เพื่อประโยชน์ของคนทุกคนอย่างเสมอหน้า อย่าตกเป็นเครื่องมือชนชั้นนำ ที่ต้องการใช้ความแตกแยกยึดกุมอำนาจต่อไป

ขณะที่สิรภพ อัตโตหิ แกนนำเสรีไทยพลัสและคณะประชาชนปลดแอก กล่าวว่าการต่อสู้ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการต่อต้านอำนาจนิยมทั้งระบบ ตั้งแต่ทรงนักเรียน จนถึงความหลากหลายทางเพศที่ถูกกดทับ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง คณะประชาชนปลดแอกจึงยึดถือหลักการต่อสู้ทางความคิดที่ไม่ใช่การทำลายฝ่ายตรงข้าม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท