ปฏิรูปสถาบัน(อุดมศึกษา)! สร้างมหาวิทยาลัยไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แด่ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ผู้กระตือรือร้น ต่อความเปลี่ยนแปลงของประเทศทุกท่าน

หากเทียบการชุมนุมเพื่อต่อต้านการนิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2556  และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี 2563 จะเห็นว่า ท่าทีของผู้บริหารและประชาคมมหาวิทยาลัยในประเทศนี้ แทบจะตั้งอยู่บนคนละมาตรฐาน จากที่เคยเปิดกว้าง และออกหน้าโดยผู้บริหารหลายสถาบัน ก็กลับกลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่ปิด และไม่เป็นมิตรกับการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ยังไม่ต้องนับว่า รัฐประหารปี 2549 และ 2557 อธิการบดีบางมหาวิทยาลัยไปมีตำแหน่งอยู่ในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวให้ตรงกว่านั้นก็คือ พวกเขาไปร่วมผลักดันกฎหมายและสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการนั่นเอง

จึงไม่แปลกที่เราจะไม่เห็นความกล้าหาญใดๆ จากพวกเขาในการต่อต้านอำนาจรัฐประหาร ยังไม่นับว่าการไปนั่งในสนช. มีเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อผลักดันกฎหมายให้มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง “ออกนอกระบบ” ได้สำเร็จ เพราะไม่สามารถทำได้ในระบบรัฐสภาปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ครีมหน้าของก้อนเค้กเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาระดับโครงสร้าง

บทความนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างของมหาวิทยาลัยไทยนั้น มีปัญหาอย่างไรต่อกระบวนการประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาลที่มั่งพร่ำเพ้อกันนักหนา โดยเลือกวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นหลักเพื่อแสดงว่า สถาบันการศึกษาที่มาจากภาษีประชาชนนั้น หลุดลอยจากการตรวจสอบและควบคุมอย่างไร และมันยังพอมีทางออกและแสวงสว่างให้กับมหาวิทยาลัยไทยหรือไม่ สู่หนทางประชาธิปไตย?

 

1. ชำแหละโครงสร้างของมหาวิทยาลัย

การดำเนินการภายในมหาลัย ประกอบไปด้วย 2 องค์กรหลักได้แก่ ฝ่ายนโยบายอันได้แก่ สภามหาวิทยาลัย และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป ทั้งยังมีลักษณะคล้ายกับรัฐสภาของในระดับประเทศ มีนายกสภามหาวิทยาลัยที่นั่งเป็นหัวโต๊ะ ภายในจะประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากทั้งบุคคลภายนอก และบุคลากรภายใน โดยมีที่มา 3 วิธีนั่นคือ โดยตำแหน่ง, จากการสรรหา และการเลือกตั้งโดยตรง โดยสองแบบแรกประชาคมจะมีส่วนร่วมทางอ้อมหรือมีส่วนร่วมน้อยมาก (ลักษณะกล่าวคล้ายกับระบบการเลือกอธิการบดีและคณบดีในทุกมหาวิทยาลัยที่แทบทั้งหมดมิได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง)

เมื่อพิจารณาตัวอย่างจากตารางที่ 1 จะเห็นว่า สัดส่วนที่มากที่สุดคือ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่แทบทั้งหมดมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยนั้นเอง และเมื่อพิจารณาจากบุคลากรภายใน กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาคมก็ยังน้อยกว่ากรรมการที่มาจากตำแหน่งซึ่งแทบทั้งหมดคือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จะมีเพียงตำแหน่งที่เลือกตั้งโดยตรงไม่กี่ตำแหน่ง แม้กระทั่งตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ หรือประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่าบางแห่งก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือบางแห่งไม่มีตำแหน่งนี้ในมหาวิทยาลัยที่จะคอยช่วยเป็นปากเป็นเสียง ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจผู้บริหารเพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

จากตารางที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงจำนวนและสัดส่วนของการดำรงตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยจากตัวอย่าง 12 แห่ง จะเห็นว่าทุกมหาวิทยาลัยตำแหน่งกรรมการสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงไม่มีแห่งใดที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของสภาเลย แม้ม.มหิดลจะมีสัดส่วนของกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งสูงที่สุดก็เพียง 40% เท่านั้น บางมหาวิทยาลัยไม่มีตัวแทนจากผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ ม.นเรศวร, ม.ราชภัฏ และม.เทคโนโลยีราชมงคล หรือบางแห่งอำนาจต่อรองย่ำแย่กระทั่งไม่มีสภาคณาจารย์หรือสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ อันได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี และม.แม่ฟ้าหลวง อย่างม.บูรพาที่มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งน้อยที่สุด เพียง 9.52% หรือ 2 คน (อาจารย์หนึ่งและผู้ปฏิบัติงานหนึ่ง) ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อกลายเป็นคนกลุ่มน้อยทั้งยังมิได้อยู่ในตำแหน่งบริหาร การผนึกกำลังเพื่อตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก สภาหลายแห่ง กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งไปนั่งเป็นเพียงตรายางเท่านั้น

กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งที่สรรหาจากบุคคลภายนอก นอกจากมีจำนวนที่มากกว่าแล้ว ยังพบว่า มาพร้อมกับบารมีและอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย หากไม่นับบุคคลที่มีชื่อเสียง โครงสร้างของบางมหาวิทยาลัยยังเว้นที่ไว้ให้กับข้าราชการชั้นสูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นโดยตำแหน่งใน ม.ขอนแก่น หรือ ม.เทคโนโลยีสุรนารี มีตำแหน่งให้กับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่วน กฎหมายของ ม.แม่ฟ้าหลวง ได้เชิญปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามานั่งเป็นกรรมการ ไม่เพียงเท่านั้น ม.แม่ฟ้าหลวงยังมีโควต้าให้รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ เลือกกรรมการสภาอีกจำนวน 2 ที่นั่ง ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็นั่งเป็นกรรมการด้วย มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีเก้าอี้ให้กับนายกสมาคมศิษย์เก่า

ภายในสภามหาวิทยาลัยมีตำแหน่งแห่งที่ให้มากมายกับบุคคลภายนอก แต่กลับว่า ไม่มีแห่งใดเลยที่นับนักศึกษาหรือองค์กรนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสภาดังกล่าวเลย แม้หลายแห่งจะมีนายกสมาคมศิษย์เก่าอยู่ในสภา แต่ก็มิได้รับประกันได้เลยว่า สมาคมศิษย์เก่าเหล่านั้นจะปกป้องผลประโยชน์ให้กับนักศึกษาปัจจุบัน เพราะมิได้ยึดโยงใดๆ กับนักศึกษาในปัจจุบันผ่านการเลือกตั้ง ยังไม่ต้องนับว่า ยกเว้นม.รามคำแหง และม.ธรรมศาสตร์ นักศึกษาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือมีส่วนร่วมกับกระบวนการสรรหาคณบดี อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเลย ยกเว้นเสียแต่การเลือกตั้งในระบบปิดของนักศึกษาในนามสโมสรนักศึกษาหรือองค์กรนักศึกษาเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จึงเท่ากับว่าเป็นการกีดกันนักศึกษาออกไปจากประชาคมมหาวิทยาลัยไปด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ทั้งที่พวกเขาคือประชากรจำนวนมากที่สุดในมหาวิทยาลัย กลายเป็นว่าในระบบเช่นนี้ สภามหาวิทยาลัยจึงถูกครอบงำด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อาวุโสทั้งในเชิงปริมาณ และในเชิงสมดุลอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาคมอย่างที่ควรจะเป็นในสังคมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับปัญหาของระบบธรรมาภิบาลเอง

 

ตารางที่1 แสดงจำนวนและตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัย

(ในวงเล็บคือจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด)

จำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัย แยกตามประเภท

(ไม่รวมนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี)

จำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

(ในวงเล็บคือสัดส่วนจากทั้งหมด)

ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่งตั้งจากบุคคล

ภายนอก

ประธานสภาคณาจารย์หรือประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า

จากผู้บริหารและหัวหน้างานและตำแหน่งพิเศษอื่นๆ

จากคณาจารย์ประจำ

จากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่อาจารย์

ม.มหิดล (30)[2]

15

1

1

10

1

12 (40%)

จุฬาลงกรณ์ฯ (30)[3]

15

1

1

10

1

11 (36.67%)

ม.รามคำแหง (25)[4]

7

1

8

6

1

7 (28%)

ม.ราชเทคโนโลยีราชมงคล (29)[5]

14

1

6

6

-

7 (24.14%)

ม.เทคโนโลยีสุรนารี (20-23)[6]

9-12

-

4

5

-

5 (21.74-25%)

ม.ราชภัฏ (23)[7]

11

1

5

4

-

5 (21.74%)

ม.สงขลานครินทร์ (33)[8]

15

2

9

4

1

5 (15.15%)

ม.เชียงใหม่ (27) [9]

15

1

5

3

1

4 (14.81%)

ม.ขอนแก่น (29)[10]

15

1

7

3

1

4 (13.79%)

ม.แม่ฟ้าหลวง (23)[11]

13

-

5

3

-

3 (13.04%)

ม.นเรศวร (17)[12]

7

1

5

2

-

2 (11.76%)

ม.ธรรมศาสตร์ (27)[13]

15

2

5

2

1

3 (11.11%)

ม.บูรพา (21)[14]

13

1

3

1

1

2 (9.52%)

 

หมายเหตุ ที่ขีดเส้นใต้หมายถึงเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาคมมหาวิทยาลัย

 

โครงสร้างดังกล่าวหากมองโดยผิวเผินแล้วอาจจะเห็นว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไรมากนัก แต่หากตามข่าวการศึกษาอยู่บ้างจะเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่ถูกตั้งข้อสังเกตอยู่ตลอดมาคือ ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาการไร้การตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีน้ำหนักพอ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “สภาเกาหลัง”[15] เนื่องจากว่า อธิการบดีนั้นมิได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาคม แต่มาจากการ “สรรหา” เช่นเดียวกับ นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ปัญหาคือ ระบบนิเวศน์แห่งอำนาจดังกล่าวเป็นระบบปิดจึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ปัญหาของระบบนี้ทำให้เกิดการปิดโอกาสไม่ให้ผู้มีความสามารถได้มีโอกาสแทรกเข้าไปเป็นตัวเลือกในการบริหารมหาวิทยาลัยได้ แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคม บางกรณีเลวร้ายขนาดที่สร้างเสียหายให้กับการบริหารมหาวิทยาลัยผ่านการทุจริตต่างๆ

 

2. อำนาจคนนอกมหาวิทยาลัย กับ การต้านการตรวจสอบอำนาจคนนอก

จะดีหรือร้ายไม่ทราบ แต่พื้นที่สภามหาวิทยาลัยได้กลายที่นั่งของเครือข่ายชนชั้นนำ-นักวิชาการอาวุโสเราพบว่า บางคนนั่งตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยควบหลายแห่ง แม้ว่าจำนวนมากจะไม่ใช่นักการเมือง แต่ด้วยบารมีและเครือข่ายทำให้พวกเขามีบทบาทและพื้นที่ทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างสูง ในทางตรงกันข้ามคนในมหาวิทยาลัยหรือระบบราชการเอง พยายามปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” และ “นักการเมือง” ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่า โครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยนี่แหละที่เป็นสนามการเมืองเป็นอย่างยิ่ง และกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็คือ “นักการเมือง” ประเภทหนึ่งที่มีบทบาทและอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของประชาคม

เรามาดูกรณีตัวอย่างของนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิกันบ้างว่าดำรงตำแหน่งกันเช่นไร ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาเฉพาะผู้ที่นั่งอยู่ในมหาวิทยาลัยมากกว่า 2 แห่ง ขอเริ่มต้นจาก ประเวศ วะสี (เกิด 2475-อดีตรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน มหาวิทยาลัยมหิดล-สายวิทยาศาสตร์การแพทย์) ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิใน ม.มหิดล[16]-ศรีนครินทรวิโรฒ[17]-ธรรมศาสตร์[18] และม.รังสิต[19]  

คนที่เกิดในทศวรรษ 2470 ที่อาจนับได้ว่าพวกเขาอายุอยู่ราวทศวรรษที่ 9 ของชีวิตแล้ว ยังมีบทบาทอยู่ในสภามหาวิทยาลัย นั่นคือ และวิจิตร ศรีสอ้าน (เกิด 2477-อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2549-2551) นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี[20]-วลัยลักษณ์[21]-สุโขทัยธรรมาธิราช[22]

ส่วนผู้ที่เกิดในทศวรรษ 2480 ที่อายุใกล้ 80 ปี ได้แก่ นรนิติ เศรษฐบุตร (เกิด 2484-อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2534) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภาม.ธรรมศาสตร์[23]-กรรมการสภาม.นวมินทราธิราช[24] (สังกัดกทม.), วิจารณ์ พานิช (2485-อดีตนายกสภาม.มหิดล) นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์[25], กรรมการสภาม.เชียงใหม่[26] -สงขลานครินทร์[27], ปิยะสกล สกลสัตยาทร (2491-อดีตอธิการบดีม.มหิดล) นายกสภาม.มหิดล[28]-กรรมการสภาม.สงขลานครินทร์[29], นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย (2487-อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) กรรมการสภาม.ธรรมศาสตร์[30]-เทคโนโลยีสุรนารี[31]-สงขลานครินทร์[32] และชฎา วัฒนศิริธรรม (เกิด 2488-อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2542-2550) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภาม.ศรีนครินทรวิโรฒ[33]-NIDA[34]

ถัดมาคือ ทศวรรษ 2490 พวกเขามีอายุราวๆ 70 ปี ได้แก่ วรากรณ์ สามโกเศศ (2490-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2550) กรรมการสภาม.นเรศวร[35]-เชียงใหม่[36], ยืน ภู่วรวรรณ (2493-รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) กรรมการสภาม.สงขลานครินทร์[37]-สุโขทัยธรรมาธิราช[38]-รังสิต[39] และเข็มชัย ชุติวงศ์ (2497-อดีตอัยการสูงสุด) กรรมการสภาม.ศรีนครินทรวิโรฒ[40]-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[41]

ทศวรรษ 2500 คือ รุ่นของวัยใกล้เกษียณ-เริ่มต้นเกษียณ สุรพล นิติไกรพจน์ (2503-อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์) กรรมการสภาม.บูรพา[42]-รังสิต[43], สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ (2508-ประธานทีดีอาร์ไอ) กรรมการสภาม.มหิดล[44]-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[45]-สงขลานครินทร์[46]

ก่อนหน้านี้วิษณุ เครืองาม (2494) [47] ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่แห่ง ไม่ว่าจะเป็น นายกสภาม.ราชภัฏสงขลา-นายกสภาสถาบันพัฒนศิลป์-กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[48]-ราชภัฏเชียงราย[49]-เชียงใหม่-ทักษิณ[50]-สงขลานครินทร์[51]แม้แต่มหามกุฏราชวิทยาลัย[52] ความใกล้ชิดกับสถาบันหลังนำไปสู่การหาทางออกให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยดังจะกล่าวต่อไป

นอกจากในเชิงรุ่นแล้ว ในแนวระนาบแล้วเรายังอาจเห็นเครือข่ายทางวิชาการกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายกฎหมาย, สายวิทยาศาสตร์การแพทย์, สายวิศวกรรมศาสตร์ และสายเศรษฐศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญ และพวกเขาไม่เพียงมีบทบาทในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อวงการการศึกษา องค์กรอิสระ และบริษัทเอกชนในฐานะที่ไปนั่งเป็นกรรมการในที่ต่างๆ นั่นอาจหมายถึงว่า อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มิใช่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลที่ควรถูกถ่วงดุลและตรวจสอบ

เมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัย จะเห็นว่าในสภากรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนอยู่ในวัยเกษียณทั้งสิ้น (ควรกล่าวด้วยว่าก็มีในหลายแห่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิยังไม่เกษียณก็มี) สภามหาวิทยาลัยผู้ทรุงคุณวุฒิที่มาจากการคัดสรรจากบุคคลภายนอกจึงมีลักษณะคล้ายกับ “สภาผู้อาวุโส” ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย และบางคนดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งแห่ง อย่างวิจิตร ศรีสอ้านนั่งควบนายกสภาถึง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี-วลัยลักษณ์-สุโขทัยธรรมาธิราช

จุดเด่นของผู้อาวุโส คือ ผู้เปี่ยมประสบการณ์ทั้งด้านการบริหารการศึกษาและทางด้านนโยบายการเมือง และจำนวนมากเป็นอดีตข้าราชการทำให้โลกทัศน์ของพวกเขาต่างจากประชาคมมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันสัดส่วนข้าราชการน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับสวัสดิการเช่นเดิมอีกต่อไป เช่นเดียวกับโจทย์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับสถาบันการอุดมศึกษาที่ผู้อาวุโสเหล่านี้อาจไม่คุ้นเคย นอกจากนั้นด้วยความเป็นคนนอกมหาวิทยาลัยหรืออยู่ห่างไกลจากประชาคมมหาวิทยาลัย หากจะได้รับข้อมูลก็จะมาจากผู้บริหารแทบทั้งนั้น ทำให้จุดยืนของพวกเขาจึงมิได้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลภายในอย่างที่ควรจะเป็น ยังไม่ต้องนับว่ากลไกที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการตรวจสอบการทำงานอีก

เคยมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับการเรียกร้องให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแบบเดียวกับที่ผู้บริหารระดับสูงและนักการเมืองถูกตรวจสอบ จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อปี 2561[53] มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน ฝ่ายสนับสนุนมีเหตุผลหลักอยู่ที่ความโปร่งใสในการตรวจสอบ เนื่องจากการบริหารเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณจำนวนมากและป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือมีข้อสังเกตว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากวงการธุรกิจ หรือมีบารมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เสนอหรืออภิปรายเนื่องจากอยู่นอกวงวิชาการ อนึ่งฝ่ายนี้ส่วนใหญ่มิได้เป็นผู้บริหารหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ส่วนฝ่ายคัดค้าน ก็มีความคิดเห็นไล่มาตั้งแต่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), นายกสภามหาวิทยาลัย หรือตัวกรรมการสภามหาวิทยาลัยเองผู้มีส่วนได้เสีย ก็กล่าวเหตุผลว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัย “ไม่ได้มีส่วนได้เสีย” หรือมีผลตอบแทนเพียงเบี้ยประชุมเท่านั้น แต่หากยื่นบัญชีผิดพลาดโดยมิได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกพิพากษาจำคุกดังที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว ฝ่ายนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า กรรมการมิได้มีบทบาทมากอย่างที่เข้าใจ ซึ่งขัดกับสมดุลอำนาจดังที่กล่าวไปข้างต้น และดังที่ฝ่ายสนับสนุนชี้คือ พวกเขามีอำนาจอนุมัติงบประมาณจำนวนมากบางมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับพันล้านบาท และส่วนหนึ่งคืองบประมาณแผ่นดินที่นำมาจากภาษีของประชาชน[54]

ฝ่ายคัดค้านจำนวนหนึ่งถึงกับลาออกจากตำแหน่ง สัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มีชัย ฤชุพันธ์ นักกฎหมายมือฉมัง และผู้มีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลเผด็จการหลายต่อหลายฉบับ ลาออกจาก กรรมการสภา ม.ราชภัฏสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562[55] จนถูกมองว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ร่างกฎหมายควบคุมและตรวจสอบนักการเมืองมาตลอด

มีชัยยังเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการมีตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2538-2559 ราว 2 ทศวรรษ เขาดำรงตำแหน่งนายกสภาม.มหาสารคาม 7 สมัยรวด, ม.เชียงใหม่ 2 สมัย, นายกม.ราชภัฏราชนครินทร์ (ฉะเชิงเทรา) 2 สมัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.บูรพา, ม.ราชภัฏพระนคร, ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิอย่างละ 1 สมัย[56]

เช่นเดียวกับการลาออกของกรรมการทั้งหลายเช่น วัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม ลาออกจากตำแหน่งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนครพนมโดยเห็นว่า การให้แสดงบัญชีทรัพย์สินจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาส ขาดบุคคลภายนอกในการพัฒนามหาวิทยาลัย[57] วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกคนก็พยายามเขียนบทความชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าวว่า[58] ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ดำรงตำแหน่งไม่ใช่ว่าเกรงกลัวการถูกตรวจสอบ แต่เกรงปัญหาเรื่องการยื่นไม่ครบจะถูกเล่นงานด้วยกฎหมายอาญา หรือข้ออ้างว่าการตรวจสอบเช่นนี้จะหาส่งผลต่อความยากลำบากต่อคนที่มาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และยังมองไปไกลถึงว่า อาจเป็นช่องทางสำหรับการเล่นงานส่วนตัวของผู้ไม่พอใจการทำงานของกรรมการสภาฯ อีกด้วย และส่อจะเป็นเรื่องยุ่งยากเข้าไปอีกเมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัยด้วย[59]

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบด้วยวิธีการแสดงบัญชีทรัพย์สินก็ไม่เกิดขึ้นจริง ในที่สุดสภาวะยกเว้นก็ได้รับการอนุมัติช่วงต้นปี 2562[60] และสิ่งที่เงียบหายไปด้วยก็คือ กลไกการตรวจสอบกรรมการสภามหาวิทยาลัย อนึ่ง การธำรงเครือข่ายของผู้มีบารมีไว้ในมหาวิทยาลัยยังก่อประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยนั่นคือ การจัดการงบประมาณและการผันงบจากรัฐบาลมาลง

3. ไร้การตรวจสอบ ไร้สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ไร้นักศึกษาในฐานะหนึ่งในประชาคม

หลายคนอาจไม่รู้ว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถจะมีสิ่งที่เรียกว่า “สหภาพแรงงาน” ได้ตามตัวกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน สถานการณ์ดังกล่าวอาจแบ่งเป็น 2 ประเด็น ประการแรก คือ ที่ผ่านมามักจะมีการตีความกันว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการจึงไม่อยู่ในกฎหมายดังกล่าว ประการที่สอง สำหรับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ยังตั้งใจที่เขียนในพระราชบัญญัติของตนไว้เลยว่า ไม่ให้ใช้กฎหมายแรงงานในมหาวิทยาลัยของตน ส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างๆ ตามกฎหมาย เป็นหมัน ทั้งที่สถานภาพและการจ้างงานของพนักงานมหาวิทยาลัยมีลักษณะใกล้เคียงกับเอกชนมากขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้อาจไม่แปลกนัก เนื่องจากว่ามันสอดคล้องไปกับความพยายามลดบทบาทการสร้างอำนาจต่อรองของแรงงานในไทยในทุกด้านอยู่แล้วในฝั่งของบริษัทเอกชน ในทางกลับกันบทบาทของนักธุรกิจในมหาวิทยาลัยกลับทวีสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ภายในกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือการกลายเป็นบรรษัทโดยตัวของมหาวิทยาลัยเอง

ภายใต้สภาพการจ้างงานแบบใหม่ที่บุคลากรในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ข้าราชการอีกต่อไปแล้ว พวกเขามีลักษณะคล้ายกับพนักงานบริษัทที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และไม่มีบำเหน็จบำนาญตามแบบข้าราชการ บางมหาวิทยาลัยอาจจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลายแห่งก็ไม่มี ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ที่มีข่าวเร็วๆนี้ก็คือ การที่มหาวิทยาลัยไม่ยอมจ่ายเงิน 1.7/1.5 เท่าของฐานเงินเดือนข้าราชการตามที่พวกเขาสมควรจะได้รับ เรื่องไปถึงศาลปกครองและในเบื้องต้นพวกเขาชนะคดี[61] หากไม่มีการฟ้องศาล เราจะพบว่าผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นยืนกรานที่จะไม่จ่ายเงินเดือนจำนวนดังกล่าว การไปถึงการฟ้องศาลก็เพราะว่าขาดอำนาจการต่อรองภายในสภามหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน พนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงอยู่ในสถานะลูกครึ่ง ระหว่าง “ความเป็นข้าราชการ” และ “พนักงานบริษัทเอกชน” แต่ก็เป็นครึ่งที่รับเอาข้อเสียเสียอย่างนั้น นั่นคือ ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ขณะเดียวกันก็ถูกผลักให้ไปเป็นลูกจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม

ลักษณะหัวมังกุท้ายมังกรของมหาวิทยาลัยไทยเห็นได้จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรณีที่นิสิตและประชาชนแสดงความเห็นต่อระบบการเลือกอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พบว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีไม่ใช่ผู้ได้คะแนนเสียงจากการหยั่งเสียงมากที่สุดว่าไม่เป็นธรรม ก็มีการชี้แจงโดยเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ว่า อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากตำแหน่งอธิการบดีนั้นมิได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยถือว่า เปรียบเทียบได้กับผู้บริหารระดับกระทรวงต่างๆ คือเป็นการเข้ามาของ “ข้าราชการ”[62] ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้วตั้งแต่ปี 2551

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การผนวกให้นิสิต นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ที่ผ่านมานักศึกษาถูกกีดกันออกไปเสมอจากการตัดสินใจผลประโยชน์ร่วมกันของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งองค์กรนิสิต นักศึกษาต่างๆ เป็นเพียงองค์กรที่ไร้อำนาจที่ได้บทบาทในการจัดกิจกรรมสันทนาการ เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการจัดกิจกรรมให้กับมหาวิทยาลัย หรือแย่ไปกว่านั้นคือ ทำตัวเป็นผู้ควบคุมเสรีภาพของนักศึกษาเสียเอง

4. เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยต่างๆ

มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ พบว่า การหยั่งเสียงเพื่อเลือกตั้งอธิการบดีที่เพิ่งสิ้นสุดไป จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าผู้มีสิทธิ์หยั่งเสียงแบ่งเป็น 3 ส่วนนั่นคือ สายคณาจารย์, สายข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง และสุดท้ายคือ สายนักศึกษา ด้วยความที่มีนักศึกษาจำนวนมากที่มีสิทธิ์มากถึง 185,894 คน จึงมีการปรับระบบคะแนนเสียงเป็นสัดส่วนร้อยละแทน ไม่ใจว่าเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศหรือไม่ ที่นักศึกษามีส่วนร่วมในการสรรหาอธิการบดีร่วมไปกับประชาคมมหาวิทยาลัยสายอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า เสียงนักศึกษาถูกนับเป็นหนึ่งในประชาคมมหาวิทยาลัยต่างจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังที่ปรากฏในข้อบังคับม.รามคำแหง[63]  

ที่น่าตกใจไม่น้อยก็คือ โครงสร้างของตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างสภาคณาจารย์, สภาพนักงานมหาวิทยาลัย หรือชื่ออื่นๆ ที่เทียบเท่ากัน มักจะไม่ได้รับความสำคัญ บางมหาวิทยาลัยไม่มีกลไกนี้ บางมหาวิทยาลัยตำแหน่งประธานสภาดังกล่าวก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากการเลือกโดยอ้อม โดยเลือกตัวแทนให้ไปเลือกตำแหน่งกันเอง ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับระบบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทางอ้อม ก่อนการกระจายอำนาจทางการเมืองของสังคมไทยที่มีเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งแรกในปี 2544[64]

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทางตรงยังมีให้เห็นอยู่กรณีตัวอย่างจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ที่ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และที่พึงสังเกตก็คือ ได้ให้บทบาทหน้าที่ของสภามีส่วนสำคัญในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และนำเสนอความเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย ทั้งยังมีตัวบทที่คุ้มครองการทำงานของสภาคณาจารย์และข้าราชการ โดยการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบถือว่าได้รับการคุ้มครองและไม่เป็นเหตุให้เป็นเหตุในการดำเนินการทางวินัย[65]

ภาพที่ 1 ประกาศคณะกรรมการอำนวยการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ผลการลงคะแนนหยั่งเสียงสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

5. ข้อเสนอ เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยไทยกลับมาอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย

เมื่อเราเห็นภาพรวมของปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้างแล้ว จึงขอขมวดข้อเสนอเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้

5.1 ระยะสั้น : แก้ไขข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยที่มานายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ด้วยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมักจะเขียนเปิดช่องทางไว้ว่าในรายละเอียดการสรรหา นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดีนั้นให้ไปว่ากันใน “ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย” ดังนั้น หากมีฉันทามติร่วมกันในระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่สามารถแก้ไขได้เลยก็คือ ข้อบังคับดังกล่าวที่จะสามารถผลักดันให้การคัดเลือกผู้บริหารดังกล่าวเป็นไปอย่างเป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยอาจใช้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นต้นแบบ

ไม่เพียงเท่านั้น รูปธรรมของการเป็นตัวแทนและเป็นปากเสียงของประชาคมมากที่สุดนั่นคือ และเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษามีสิทธิ์เลือกตั้งในทุกระดับของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อธิการบดี คณบดี ที่ส่งผลต่อพวกเขาโดยตรงด้วย เช่นนี้จะทำให้นักศึกษามีอำนาจต่อรองมากขึ้นกว่าเดิม ผู้บริหารเองก็จะต้องเงี่ยหูฟังประชาคมที่รวมนักศึกษาอยู่ด้วย มิใช่เป็นเพียงการให้ความสำคัญกับนักศึกษาแบบหลอกลวงกับเพียงบางคนเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบและแก้ไขระเบียบที่ไม่เป็นธรรมแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรม หรือใดๆ ก็ตามที่ไม่สมเหตุสมผล

ระหว่างนี้การรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม การตรวจสอบและความโปร่งใสควรเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ถูกขัดขวางโดยผู้บริหาร

5.2 ระยะยาว : รื้อพระราชบัญญัติ โครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่ยึดโยงกับประชาคม อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน และให้มีสภาของตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคุ้มครอง

การแก้ไขพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่ และต้องสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางในสังคมไทย อาจมีอย่างน้อย 2 ประเด็นนั่นคือ

1) สำหรับสภามหาวิทยาลัยนั้น จะต้องทำให้ชัดเจนว่าสภาทำงานเพื่อใครเป็นหลัก สัดส่วนของสภาจึงต้องยึดโยงกับประชาคมมหาวิทยาลัยให้มาก นำไปสู่การเสนอให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสภามหาวิทยาลัยเสียใหม่ นั่นคือ จะต้องเพิ่มสัดส่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นคนในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่ควรมีเกินหนึ่งในสาม เช่นเดียวกับ สัดส่วนของตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ควรมากกว่าหรือเท่ากับครึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ที่สำคัญที่นั่งในสภามหาวิทยาลัยควรมีตัวแทนจากองค์การนักศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

2) ไม่เพียงเท่านั้นคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ควรจำกัดอายุไม่ให้มากเกินไป เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้สูงวัยโดยใช่เหตุ พร้อมทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนั้นควรจำกัดสิทธิ์การนั่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ควรจะดำรงแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยซ้ำซ้อนกันกับมหาวิทยาลัยอื่น และสัดส่วนของกรรมการสภามหาวิทยาลัยภายนอก ควรมีบุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดให้มากกว่าเดิม อาจจะมากถึงครึ่งหนึ่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าเดินทางแล้ว กรรมการดังกล่าวในฐานะคนในพื้นที่จะเป็นผู้ที่เข้าใจต่อปัญหาและเห็นโอกาสของการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากรรมการที่มาจากต่างถิ่น ข้ออ้างที่ว่า เกรงจะไม่มีผู้เหมาะสมมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็ไม่สมเหตุสมผล และถือเป็นการดูเบาผู้มีศักยภาพในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ ไปด้วย

3) การยอมรับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้ในมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสหภาพแรงงานไม่เป็นเพียงการเรียกร้องสภาพการจ้างงานให้เหมาะสม แต่มันจะเป็นพื้นที่สำหรับการรักษาดุลอำนาจทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย สหภาพแรงงานจะเป็นกลไกที่ใช้ถ่วงดุลการบริหารมหาวิทยาลัย และตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลอย่างที่พร่ำบ่นว่าอยากจะได้กันนักกันหนา สหภาพแรงงานยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเชื่อมต่อข้ามมหาวิทยาลัยเพื่อเรียกร้องปัญหาใหญ่ร่วมกัน เช่น การแก้กฎหมาย การต่อรองกับรัฐบาล การประท้วงนโยบายที่ไม่สมเหตุสมผลจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา หรือกระทั่งการหยุดงานประท้วงตามสิทธิแรงงาน และที่สำคัญสหภาพแรงงานเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการรวมตัว ความเสมอภาคและเป็นประชาธิปไตย องค์กรนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ร่วมกัน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยด้วย อย่างเช่นที่เคยเกิดปัญหาอย่างการกำหนดตำแหน่งวิชาการที่ประชาคมมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไร้การมีส่วนร่วม รวมไปถึงประเด็นร่วมกันของแรงงานทั่วประเทศ เช่นเรื่องสิทธิประกันสังคมที่มจำนวนคนในกองทุนหลักสิบล้านคน

ภายใต้ปัญหาที่ซับซ้อนและใหญ่โตของสังคมไทยและตัวมหาวิทยาลัยเอง การปฏิรูปสถาบัน (อุดมศึกษา) เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะการสร้างความเป็นประชาธิปไตยและการสร้างธรรมาภิบาลให้กับองค์กร นอกจากการเปิดพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์และอยู่รอดในความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาแล้ว การยืนหยัดหลักการประชาธิปไตยสากลของมหาวิทยาลัยยังจะเป็นป้อมปราการสำคัญในการสร้างภูมิต้านทานรัฐประหาร การตรวจสอบอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลไม่ว่าจะฝั่งฝ่ายไหนอีกด้วย

นี่คือ เหตุผลว่า ทำไมเราต้องปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาไทยให้อยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย และจินตนาการว่า เรามีแนวทางไหนที่จะไปถึงเป้าหมายกันได้บ้าง.

 

อ้างอิง

[1] บทความนี้ผู้เขียนได้ต่อยอดมาจากงานวิจัยส่วนตัวที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของรัฐ (พ.ศ.2490-2562)

[2] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 68 ก, 16 ตุลาคม 2550, หน้า 10-11

[3] “พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 29 ก, 6 กุมภาพันธ์ 2551, หน้า 62-63

[4] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115 ตอนที่ 24 ก, 12 พฤษภาคม 2541, หน้า 4-5 ประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

[5] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 122 ตอนที่ 6 ก, 14 มิถุนายน 2547, หน้า 22

[6] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุรนารี พ.ศ.2533”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 131, 29 กรกฎาคม 2533, ฉบับพิเศษ หน้า 99-100

[7] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 121 ตอนพิเศษ 123 ก, 14 มิถุนายน 2547, หน้า 5-6

[8] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2559”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนที่ 53 ก, 21 มิถุนายน 2559, หน้า 6-7

[9] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 44 ก, 6 มีนาคม 2551, หน้า 34-35

[10] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ.2558”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 66 ก, 17 กรกฎาคม 2558, หน้า 29-30

[11] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ.2541”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115 ตอนที่ 65 ก, 25 กันยายน 2541, หน้า 5

[12] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ.2533”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 131, 29 กรกฎาคม 2533, ฉบับพิเศษ หน้า 5-6

[13] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 66 ก, 17 กรกฎาคม 2558, หน้า 54-55 ตำแหน่งประธานสภาอาจารย์และประธานสภาพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่จะมีการส่งตัวแทนไปเลือกกันเอง

[14] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2550”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 5 ก, 9 มกราคม 2551, หน้า 13-14

[15] อินทรชัย พาณิชกุล. “"แย่งชิงผลประโยชน์-เล่นพวกพ้อง-สองมาตรฐาน" ตีแผ่ด้านมืดวงการอุดมศึกษาไทย”. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563 จาก https://www.posttoday.com/politic/report/433596 (24 พฤษภาคม 2559) และ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์. “ผลัดกันเกาหลังกันเอง กระเตงกันเป็นผู้บริหารผลประโยชน์ทับซ้อนและธรรมาภิบาลเสื่อมในมหาวิทยาลัยไทย”.

สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563 จาก http://as.nida.ac.th/gsas/article/ผลัดกันเกาหลังกันเอง (17 กันยายน 2561)

[16] สภามหาวิทยาลัยมหิดล. “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://uc.mahidol.ac.th/mu-council-structure/prawase-was/

[17] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “นายกสภา และกรรมการสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.swu.ac.th/ucouncil.php

[18] สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. “กรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://org.tu.ac.th/tu_council/sapa59/council_member.html

[19] สภามหาวิทยาลัยรังสิต. “University Council”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www2.rsu.ac.th/info/university-council

[20] สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. “คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://beta.sut.ac.th/ocu/sapa

[21] สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. “คณะกรรมการชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://council.wu.ac.th/คณะกรรมการชุดปัจจุบัน

[22] สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. “กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน ชุดที่ 17 (ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2563)”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.stou.ac.th/main/council.html

[23] สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. “กรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จากhttp://org.tu.ac.th/tu_council/sapa59/council_member.html

[24] สภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช. “กรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://council.nmu.ac.th/คณะผู้บริหาร-สภามหาวิท

[25] สภาสถาบันอาศรมศิลป์. “สภาสถาบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.arsomsilp.ac.th/aboutus-forum/

[26] สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://council.cmu.ac.th/th/members-of-cmu-council/

[27] สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.psu.ac.th/th/university-council

[28] สภามหาวิทยาลัยมหิดล. “รายนามคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://mahidol.ac.th/th/council-structure/

[29] สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.psu.ac.th/th/university-council

[30] สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. “กรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://org.tu.ac.th/tu_council/sapa59/council_member.html

[31] สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. “คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://beta.sut.ac.th/ocu/sapa

[32] สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.psu.ac.th/th/university-council

[33] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “นายกสภา และกรรมการสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.swu.ac.th/ucouncil.php

[34] สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. “กรรมการสภาสถาบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://council.nida.ac.th/2015/index.php/council-authority-2

[35] สภามหาวิทยาลัยนเรศวร. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://office.nu.ac.th/meeting/council.html

[36] สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://council.cmu.ac.th/th/members-of-cmu-council/

[37] สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.psu.ac.th/th/university-council

[38] สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. “กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน ชุดที่ 17 (ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2563)”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.stou.ac.th/main/council.html

[39] สภามหาวิทยาลัยรังสิต. “University Council”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www2.rsu.ac.th/info/university-council

[40] มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “นายกสภา และกรรมการสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.swu.ac.th/ucouncil.php

[41] สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://www.council.chula.ac.th/directors-council.html

[42] สภามหาวิทยาลัยบูรพา. “คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://council.buu.ac.th/index_n.php?value=namespa

[43] สภามหาวิทยาลัยรังสิต. “University Council”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www2.rsu.ac.th/info/university-council

[44] สภามหาวิทยาลัยมหิดล. “รายนามคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://mahidol.ac.th/th/council-structure/

[45] สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://www.council.chula.ac.th/directors-council.html

[46] สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “สภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.psu.ac.th/th/university-council

[47] ไทยรัฐออนไลน์. “วิษณุ เครืองาม”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.thairath.co.th/person/5753

[48] สำนักข่าวอิศรา. “"ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม" พระอัจฉริยภาพแห่งผู้นำในสมเด็จพระปิยมหาราช”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.isranews.org/isranews-article/2365-ศ-กิตติคุณ-ดร-วิษณุ-เครืองาม-พระอัจฉริยภาพแห่งผู้นำในสมเด็จพระปิยมหาราช.html (9 มิถุนายน 2554)

[49] กระทรวงศึกษาธิการ “'วิษณุ'ส่งเทียบร่างพ.ร.บ.มรช.”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.moe.go.th/moe/upload/hotnews/htmlfiles/26582-9996.html (19 มกราคม 2555)

[50] สำนักงานสภามหาวิทยาลัยทักษิณ. “สภามหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://www2.tsu.ac.th/tsuco/page2.php?sid=287&mid=1

[51] ประชาไท. “อาจารย์ มอ.จี้ "วิษณุ-บวรศักดิ์"ลาออกกรรมการสภามหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://prachatai.com/journal/2006/03/7980 (31 มีนาคม 2549)

[52] Alittlebuddhan.com. “ตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์เป็นนายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย"วิษณุ เครืองาม" ติดโผกรรมการคุณวุฒิชุดใหม่”. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก http://www.alittlebuddha.com/News%202011/September%202011/29%20September%202011.html (27 กันยายน 2554)

[53] Workpoint TODAY. "ฟังสองฝั่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://workpointtoday.com/ฟังสองฝั่ง-กรรมการสภามห (30 พฤศจิกายน 2561)

[54] Workpoint TODAY. "ฟังสองฝั่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://workpointtoday.com/ฟังสองฝั่ง-กรรมการสภามห (30 พฤศจิกายน 2561)

[55] ประชาชาติธุรกิจ. "มีชัย ฤชุพันธุ์ ประกาศลาออกจากนายกสภามรร. อย่างเป็นทางการแล้ว". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.prachachat.net/politics/news-251777 (17 พฤศจิกายน 2561)

[56] สำนักข่าวอิศรา. "85.6 ล.ทรัพย์สิน‘มีชัย’ยุคนั่งเก้าอี้ ส.ว. ลาออกนายกสภาฯ 2 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีฯ ". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/71647-scoop-71647.html (1 ธันวาคม 2561)

[57] Workpoint TODAY. "ฟังสองฝั่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://workpointtoday.com/ฟังสองฝั่ง-กรรมการสภามห (30 พฤศจิกายน 2561)

[58] วรากรณ์ สามโกเศศ. "กรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการยื่นบัญชี". สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563 จาก https://thaipublica.org/2018/11/varakorn-274/ (18 พฤศจิกายน 2561)

[59] สยามรัฐ. ""บิ๊กตู่"ส่ง "วิษณุ"ถกปปช.หลัง "นายก-กก.สภามหาวิทยาลัย"แห่ลาออก ". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://siamrath.co.th/n/52021 (6 พฤศจิกายน 2561)

[60] สำนักข่าวอิศรา. "มีผลแล้ว! ประกาศ ป.ป.ช.ใหม่นายก-กก.สภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ". สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563 จาก https://www.isranews.org/isranews-news/73240-isranews-73240.html (25  มกราคม  2562)

[61] สำนักข่าวอิศรา. "ต้องให้ 1.7 เท่าของเงินเดือน ขรก.!ศาล ปค.สั่ง มรภ.บุรีรัมย์จ่ายย้อนหลัง พนง.มหาวิทยาลัย103 ราย ". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.isranews.org/article/isranews-news/91606-brr.html (31 สิงหาคม 2563)

[62] มติชน. "อ.เจษฎาช่วยแจงดราม่าแต่งตั้งอธิการบดีจุฬาฯ ทำไมคนได้คะแนนสูงสุด กลับไม่ได้เป็น?". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2237397 (21 มิถุนายน 2563)

[63] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2541

[64]มรุต วันทนากร. "การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง กับ ระบบพรรคการเมือง". สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 จาก  http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=677(6 มกราคม 2548)

[65] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 121 ตอนพิเศษ 23 ก, 14 มิถุนายน 2547, หน้า 11 “มาตรา 24 สภาคณาจารย์และข้าราชการมีหน้าที่ดังนี้

(1) ให้คําปรึกษาและข้อเสนอแนะในกิจการของมหาวิทยาลัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยต่ออธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัย

(2) แสวงหาแนวทางร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์และข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

(3) พิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

(4) เรียกประชุมคณาจารย์และข้าราชการเพื่อพิจารณากิจกรรมของมหาวิทยาลัยและนําเสนอความคิดเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย

การปฏิบัติหน้าที่ของสภาคณาจารย์และข้าราชการถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและการดําเนินการใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่เป็นเหตุในการดําเนินการทางวินัย”

 

ที่มาภาพ: กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แต่งเป็น 4 ศพ สะท้อนปัญหา การศึกษา "ฆ่า" เด็กได้อย่างไรบ้าง https://www.flickr.com/photos/prachatai/albums/72157711402473941/with/48922524248/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท