รัฐร้าวเราไม่ลืม : 16 ปีตากใบ ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึงและจะมาไม่ถึงถ้าไม่แก้โครงสร้างอำนาจรัฐ

ตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้และความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อ 25 ต.ค.2547 ที่ผ่านมาแล้ว 16 ปี ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และระบบยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาดำเนินคดีได้

อับดุลเลาะ สิเดะ จากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH) กล่าวว่าถ้าประชาชนที่เคยถูกสลายการชุมนุม เมื่อ 25 ต.ค.2547 ได้มาเล่าถึงเหตุการณ์และความไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่ทำกับประชาชนเชาอาจจะดีใจไม่น้อย แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรงทั้งส่วนตัวและไม่มีครอบครัวเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเขาและทุกคนในที่นี้อยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างอำนาจรัฐเดียวกัน

อับดุลเลาะ สิเดะ ภาพจาก iLaw

การสลายการชุมนุมตากใบเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐได้คุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 นายไปและพวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีการยักยอกอาวุธราชการ หลังถูกคุมตัวไปได้ 1 สัปดาห์ วันที่ 25 ต.ค.2547 กลุ่มชาวบ้านออกมาชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อย ชรบ.ทั้ง 6 นาย เพราะชาวบ้านเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนทำและไม่ใช่คนผิด เหตุการณ์เริ่มตอนแปดโมงเช้า เจ้าหน้าที่เจรจาให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่ ผู้ชุมนุมไม่ยอมจนกว่าเจ้าหน้าที่จะปล่อย ชรบ.ทั้ง 6 นายมาก่อน

จนสิบโมงเช้าเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น แต่ประชาชนก็ปักหลักจนถึงเที่ยงมีการละหมาดร่วมกันและต่อมา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ประกาศสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำและแก๊ซน้ำตา ไล่กระทืบชกต่อยผู้ชุมนุมและมีการยิงนาน 30 นาที ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนในเหตุวันนั้นและ 5 คนถูกยิงที่ศีรษะด้วย มีเจ้าหน้าที่ 14 คนบาดเจ็บ หลังจากเจ้าหน้าที่คุมสถานการณ์ได้ แล้วได้คุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมด 1370 คนมัดมือไพล่หลังขึ้นรถ ทหาร 24-28 คันตกคันละ 50 คนโดยให้นอนซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น

อับดุลเลาะเล่าถึงสภาพของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมวันนั้นว่า “ผู้ชุมนุมที่ถูกมัดมือไพล่หลังอยู่บนรถจีเอ็มซีไม่สามารถที่จะขยับได้แม้กระทั่งจะเรียกตะโกนบอกว่าหิวน้ำก็ยังถูกขู่โดยทหารด้วยกระบอกปืนและที่สำคัญเป็นเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนของการถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิม แน่นอนว่าตั้งแต่เช้าถึงเวลานั้นผู้ชุมนุมทุกคนแทบเกือบทุกคนในวันนั้นไม่ได้ทานข้าวและน้ำสักนิดเดียว และเจ้าหน้าที่รัฐคนย้ายผู้ชุมนุมทั้ง1,300 กว่าคนจาก สภงตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ใช้เวลา 6ชั่วโมงในการขนย้ายเป็นระยะทาง 150 กิโลเมตร สิ่งที่เรารับไม่ได้ก็คือมีผุ้ชุมนุมเสียชีวิตในขณะขนย้าย 77 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1คน มีผู้พิการทั้งหมด 8 คน”

'รัฐร้าวเราไม่ลืม' ความรุนแรงโดยรัฐที่อยากลืมก็ลืมไม่ได้และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

อับดุลเลาะเล่าถึงการไต่สวนการตายที่เกิดขึ้นในปี 2552ว่า ศาลจังหวัดสงขลาระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่สามารถหาคนกระทำผิดได้ทั้งที่ประชาชนรู้ว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดที่ตายในวันนั้นใครคือฆาตกร

“ตากใบอาชญากรรมโดยรัฐ มันถูกจารึกไว้ในใจคนปัตตานี เราไม่ได้รำลึกด้วยความโกรธเราไม่ได้รำลึกเพื่อความแค้น แต่เราลืมไม่ได้เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เรารำลึกไม่ใช่เพื่อตอกย้ำความโศกเศร้า เรารำลึกไม่ใช่เพื่อตอกย้ำความเจ็บปวดของเหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่เราตอกย้ำแล้วก็ตอกย้ำอีกว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังมีอยู่อีกหรือเปล่า แล้วถ้ามีมันยุติธรรมจริงหรือเปล่า และสิ่งนี้เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับแค่ภายในสามจังหวัด เราไม่อยากให้มันเกิดไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ จังหวัดไหน กับใครก็ตามในประเทศนี้” อับดุลเลาะกล่าว

อับดุลเลาะระบุว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเคยได้รับการเยียวยาในปี 2552 รัฐมีการเยียวยา 42 ล้านบาทและปี 2555รัฐเยียวยาอีก 700กว่าล้าน

”การเยียวยาไม่ใช่ของขวัญที่จะให้ประชาชน ประชาชนไม่ควรที่จะต้องเรียกร้องการเยียวยาเหล่านั้น เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำอยู่แล้ว เพราะรัฐเป็นคนสร้างเงื่อนไข เพราะรัฐเป็นผู้ก่อปัญหา รัฐจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคือความยุติธรรม แต่เขาไม่เคยให้เราเลย”

อับดุลเลาะกล่าวต่อว่าเราไม่ได้เจ็บปวดแต่ผิดหวังกับระบบยุติธรรมห่วยๆ ที่ไม่เห็นหัวประชาชน และสิ่งเหล่านี้โครงสร้างที่เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ในวันนั้นแต่ยังมีจนถึงทุกวันนี้ ล่าสุดเพื่อนของเขาก็เขียนป้ายเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมตากใบ แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ไปคุกคามถึงบ้าน ทั้งที่รัฐหาคนกระทำความผิดในเหตุการณ์นั้นไม่ได้ แต่รัฐกลับหาคนเขียนป้ายตากใบได้มันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ รัฐพยายามบิดเบือน แต่เราไม่เคยลืมฝังอยู่ในใจพวกเราทุกคน

อับดุลเลาะกล่าวถึงปัญหารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยว่า ปัญหาของ 3 จังหวัดที่มีอยู่ทุกวันนี้เพราะรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีส่วนผสมของเผด็จการอยู่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไขปัญหาของประเทศก็จะอยู่แบบนี้และไม่ได้รับการแก้ไข

อับดุลเลาะพูดถึงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีขึ้นตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้วมีมากถึง 20,000 กว่าครั้งมีคนเสียชีวิต7,000กว่าคน มีผู้บาดเจ็บอีก 13,000 กว่าคน ใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วเกือบ 2,000ล้านต่อปี งบประมาณเหล่านั้นเขาไม่เคยได้อะไรจากมันเลย ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจังเพราะการคอรัปชั่น ปัญหาจะถูกแก้ได้จริงมันก็คงถูกแก้ได้นานแล้ว แล้วปี 2562 งบดับไฟใต้มีมากกว่า 20,000ล้านบาท

อับดุลเลาะยังวิจารณ์นโยบายรัฐอีกว่าที่ผ่านมารัฐไม่เคยถามคนสามจังหวัดว่าต้องการอะไรมีแต่เอานโยบายส่วนกลางลงไป เหมือนกับที่รัฐไทยในตอนนี้ที่ไม่เคยถามประชาชนว่าต้องการอะไร รัฐทำแต่ในสิ่งที่ตนอยากได้ที่ไม่ใช่เพื่อประชาชน

อับดุลเลาะกล่าวถึงการคุกคามประชาชนในสามจังหวัดที่มีเยอะมากและเขาได้ยกตัวอย่างการคุกคามล่าสุดที่เกิดกับประชาชนในสามจังหวัดว่า รัฐมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ที่ไปเกณฑ์ทหารทั้งที่ไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดี ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการแจ้งประกาศและไม่มีการให้ข้อมูลกับประชาชน แต่ทุกคนในวันนั้นตกเป็นเหยื่อและการเก็บดีเอ็นเอไปจะเป็นอันตรายแค่ไหนถ้ารัฐใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง นี่คือการคุกคามที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็กแต่คนในพื้นที่รู้สึกอัดอั้น

“ผมก็ยังคงเชื่อว่าระบบโครงสร้างอำนาจรัฐที่ยังเป็นอยู่แบบนี้มันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้หากเรื่องหลักๆ ยังไม่แก้ไขเช่น แก้รัฐธรรมนูญและตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย สันติภาพปัตตานีก็จะไม่เกิด” อับดุลเลาะกล่าวปิดท้าย

อับดุลเลาะ สิเดะ ภาพจาก iLaw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท