Skip to main content
sharethis

อดีตนักวิชาการจาก ศปช. เล่าความรู้สึกหลอนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จากการสลายการชุมนุมกลางเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งใน 10 ปีต่อมา ที่รัฐไม่เคยได้เรียนรู้จากอดีตต่อสิ่งที่ตัวเองเคยทำ

29 ต.ค.2563 ในกิจกรรม “รัฐร้าวเราไม่ลืม” ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ขวัญระวี วังอุดม อดีตนักวิชาการที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษาฯ-พฤษภาฯ 53 (ศปช.) เล่าถึงการถูกหลอกหลอนจากเหตุสลายชุมนุมในคืนวันที่ 16 ต.ค.2563 ในสถานที่เดียวกันนี้ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเมษาฯ-พฤษภาฯ ปี 53

ขวัญระวี วังอุดม

ขวัญระวีเริ่มจากการเล่าถึงที่มาว่าเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันระหว่างนักกิจกรรมและนักวิชาการเพราะว่า ในเวลานั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ตั้ง คอป.ซึ่งเป็นคณะที่ตั้งขึ้นมาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเมื่อ 2553 ทั้งที่รัฐบาลเองเป็นคู่ขัดแย้งในเหตุการณ์นั้นเอง ศปช.จึงเกิดมาจากความไม่ไว้ใจการทำงานของรัฐ

ขวัญระวีบอกว่าที่มาในวันนี้เพราะอยากเล่าความหลอนของตัวเองจากที่เธอเคยเข้าไปอยู่ในเหตุการณืสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แล้วก้ยังได้เห้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและคณะราษฎรมันมีหลายอย่างที่นำพาเรากลับไปสู่ความทรงจำที่ปกติเราก็ไม่ได้นึกถึงมันแต่มันก็โผล่ขึ้นมาเอง แล้วมันส่งผลต่อภายในของเราและทำให้รู้สึกไม่สงบรู้สึกว่าต้องมาวันนี้

ขวัญระวีเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เหมือนกันว่า เมื่อวันก่อนที่ไปสถานทูตเยอรมันเพื่อนคนนี้ก็ยังเล่าว่าเมื่อมองขึ้นไปบนตึกก็เห็นชายลักษณะหัวเกรียนก็ทำให้นึกถึงสไนเปอร์(พลซุ่มยิง) ที่อยู่บนตึก เขาเห็นนักข่าว ผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่บนสะพานไทย-เบลเยี่ยมเขากลัวเห็นเป็นภาพทหารยืนอยู่ข้างล่างเป็นภาพผุ้ชุมนุมกลิ้งยาง สิ่งเหล่านี้มันคือความหลอน ความหลอนมันทำอะไรกับเรามันกำลังบอกอะไรกับเรา

ขวัญระวีเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค.ที่แม้ว่าเธอจะไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่ก็ได้ติดตามการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน และมีสิ่งที่ทำให้เธอที่ทำให้นึกถึงการสลายการชุมนุมทั้ง 2 ครั้งที่เหมือนกันแม้จะผ่านมาแล้ว 10 ปีว่า

“ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวก็พูดอย่างติดปากว่านี่เป็น “การกระชับพื้นที่” มันเป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในการชุมนุมปี 53 “กระชับพื้นที่” กับ “ขอคืนพื้นที่” มันฟังดูนุ่มนวลใช่ไหมคะ แต่มันคือการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังและมีคนบาดเจ็บคนตาย”

ขวัญระวีเล่าต่อว่าจากนั้นแล้วสื่อก็แพนกล้องไปยังใบหน้าที่ตำรวจตระเวณชายแดนที่ถือโล่และกระบองอยู่ได้เห็นสีหน้าได้เห็นว่า ตชด.ที่มาจากต่างจังหวัดหลายคนอายุไม่มากมายืนอยู่ใจกลางเมืองหลวงแห่งนี้ที่ก็เคยมีการชุมนุมเหมือนกัน หลังจากนั้นมีเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุมถอยโดยมีการนับถอยหลัง ก่อนที่จะมีการฉีดน้ำ แต่สิ่งที่ติดอยู่ในใจไม่ใช่เพียงแค่ภาพของผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่อย่างสงบถูกฉีดน้ำเท่านั้น แต่ยังมีภาพที่รถฉีดน้ำใส่ศีรษะของตำรวจที่ยืนอยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นน้ำที่ผสมสารเคมีตีใส่หน้าของตำรวจที่ยืนอยู่ตรงนั้นเองด้วย ซึ่งมันเป็นภาพที่ติดอยู่ในใจเรา

ขวัญระวีอธิบายถึงสิ่งที่ติดอยู่ในใจนั้นว่าเมื่อ 10 เม.ย.53 ระหว่างที่เดินไปแยกคอกวัว บรรยากาศบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จาตุรนต์ ฉายแสงพูดบนเวทีเพื่อขอให้มวลชนไปเสริมที่ข้างในเพราะมีการปะทะเกิดขึ้น เธอเดินเข้าไปกับเพื่อนบริเวณนั้นวังเวงมาก ท้องฟ้าเป็นสีเทาขมุกขมัวที่ไม่รู้ว่าเพราะท้องฟ้าคืนนั้นเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วหรือว่าเป็นเพราะแก๊ซน้ำตาที่ถูกปล่อยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่มีมากกว่า 200 ลูก

“เราและเพื่อนก็โดนแก๊ซน้ำตาในวันนั้นแล้วก็เราล้างหน้าเดินผ่านเข้ามา เราได้ยินเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงใกล้รุ่ง เขาเปิดทำไม เขาเปิดไม่นานแล้วการปะทะก็เกิดขึ้น มันเป็นฉากที่มันเหนือจริง แต่มันมีคนตายจริงคนเจ็บจริง เราคอยวิ่งเข้าไปดูมีคนถูกหามออกมาที่บาดเจ็บแล้วถูกหามออกมาที่เต๊นท์พยาบาล”

ขวัญระวีเล่าต่อว่าเมื่อการปะทะสิ้นสุดลง เธอตามไปที่โรงพยาบาลเพื่อสัมภาษณ์ได้เห็นบาดแผลขงอผู้คนซึ่งบอกอะไรได้หลายอย่างว่าเขาถูกกระทำอย่างไร การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักสากลจริงหรือไม่ ทำไมบางถูกกระสุนยิงเข้าที่ตา มีคนเสียชีวิตสมองออกมากองอยู่ข้างนอกมันเกิดอะไรขึ้น

ขวัญระวีกล่าวว่าจากเหตุการณ์วันนั้นจึงเป็นที่มาที่ทำให้เธอรวมตัวกับเพื่อนๆ จัดทำรายงาน ศปช. และเฮเล่าถึงสิ่งที่ทั้งถูกเขียนและไม่ถูกเขียนไว้ในรายงานครั้งนั้นว่ามีอยู่ 3 กรณี

ขวัญระวีเริ่มเล่าจากเรื่องของทหาร 3 นาย ซึ่งในเวลานั้นเป็นเรื่องยากเพราะไม่รู้ว่าจะเล่าอย่างไรให้พวกเขาไม่เดือดร้อน ทหารทั้ง 3 นายนี้ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เข้ากู้รถดับเพลิงจากบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงที่ถูกผู้ชุมนุมยึดพื้นที่ไว้แล้ว ทหารทั้ง 3 คนถูกทำร้ายบาดเจ็บโดยผู้ชุมนุม แต่เมื่อได้ติดตามสัมภาษณ์พวกเขา พวกเขาบอกว่าไม่โกรธผู้ชุมนุม เลยเขารู้ว่าผู้ชุมนุมยังโกรธอยู่ แต่ความผิดพลาดอยู่ที่ข่าวกรองทำให้พวกเขาเข้าไปโดยที่เข้าใจว่าบริเวณนั้นผู้ชุมนุมออกไปหมดแล้ว

เรื่องที่สอง คือเรื่องราวของชุมชนบวรรังษีซึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 เธอได้กลับไปสัมภาษณ์คนในชุมชน คนที่อาศัยในชุมชนเล่าว่ามีนายทหารเด็กๆ จากต่างจังหวัดที่หลงเข้าไปในชุมชนแล้วหาทางออกไม่ได้คืนนั้นมันมืดมากและการสลายการชุมนุมก็เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เส้นทางในชุมชนที่ทั้งแคบและซับซ้อนมาก ชาวบ้านเล่าว่าทหารคนนี้กลัวจนตัวสั่นจนชาวบ้านต้องพาหนีออกไป

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ถูกยิงในซอยงามดูพลี(ถนนพระราม 4) ตอนที่เอารถพยายาบาลเข้าไปตั้งไว้เผื่อมีคนได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ชีพเล่าให้ขวัญระวีฟังว่ามีทหารวิ่งไล่ตามผู้ชุมนุมเข้ามาในซอย ทหารบอกให้พวกเขายกมือขึ้นแล้วเดินออกจากรถแล้วก็เปิดให้ดูว่าไม่มีใครซ่อนอยู่ แต่ตอนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพออกไปก็มีทหารคนหนึ่งยิงเข้าไปนรถ โดนแขนของเจ้าหน้าที่กู้ชีพ เธอได้ไปเยี่ยมเขาสองครั้งแล้ว แต่หลังจากนั้นอภิสิทธิ์ก็ไปเยี่ยมเขา พอพวกเธอไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่คนนี้เป็นครั้งที่สาม เขาบอกว่าขอไม่พูดอะไรอีกแล้ว

'รัฐร้าวเราไม่ลืม' ความรุนแรงโดยรัฐที่อยากลืมก็ลืมไม่ได้และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

ขวัญระวีบอกว่าเหตุการณ์ทั้งสามเรื่องนี้ กับวันที่ 16 ต.ค. ที่มีช่วงที่รถฉีดน้ำดันฉีดใส่ศีรษะเจ้าหน้าที่ และมีช่วงที่เจ้าหน้าที่โดนน้ำผสมสารเคมีตีกลับไปโดนตัวเอง ซึ่งคงทำให้มึนพอสมควร มันทำให้เรานึกถึงทั้งสามเหตุการณ์ที่ติดอยู่ในใจ เพราะมันมีคำถามคือกองทัพและผู้บัญชาการเคยรับรู้สิ่งเหล่านี้หรือเปล่า กองทัพมีกลไกช่องทางอะไรหรือไม่ที่ให้ทหารปฏิบัติการเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วถ้ามี กองทัพจัดการอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ แล้วภาพมันก็ตัดกลับมาวันที่ 16 ที่อยู่ก็มีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วนถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการทำตามหลักสากล แต่มันไม่ใช่ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธไม่มีการคุกคามใดๆ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แถมน้ำดันฉีดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเองด้วย โดยที่ในมือก็มีอาวุธกระบองแล้วถ้าวันนั้นยังมีการปะทะกันอยู่ มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสภาพจะเละเทะแค่ไหน

“สิ่งเหล่านี้กองทัพเคยรับรู้เคยคิดแก้ไขไหมคะ มันไม่มีเพราะมันก็กลับมาวันที่ 16 ที่เหมือนเขาไม่ได้เรียนรู้อะไร

“ที่พูดถึงความหลอนนี้เพราะความหลอนจากเหตุการณ์มันทำให้ดิฉันได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ เพื่อบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ความหลอนไม่ใช่แค่สะท้อนสภาพสังคมบริบทที่เราเติบโตมาหรือได้ประสบมา แต่อาจทำให้เราจินตนาการไปถึงบริบทสภาพสังคมที่คนรุ่นก่อนหน้าก็อาจจะเคยประสบมาเหมือนกัน แต่ก็อาจจะไม่เคยรู้ก็ได้ ความหลอนยังบอกเราด้วยว่ามันบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมนี้ว่ามันอาจจะมีบางอย่างเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้รับรู้ไม่เคยเห็น มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มันฝังลึกอยู่ที่ไหนสักแห่งในสังคม เป็นเรื่องที่รอให้เราทำความเข้าใจ รอให้เราสะสางและแก้ไข เรื่องที่จำเป็นต้องถูกบอกในสังคมที่มันเต็มไปด้วยบาดแผลแห่งนี้” ขวัญระวีกล่าวสรุปถึงสิ่งเห็นจากความหลอนผ่านเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น

อ่านการปราศรัยใน "รัฐร้าวเราไม่ลืม" คนอื่นๆ ที่

16 ปีตากใบ ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึงและจะมาไม่ถึงถ้าไม่แก้โครงสร้างอำนาจรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net