รัฐร้าวเราไม่ลืม : จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยุติธรรมได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ณัชปกร นามเมือง หรือถา จากไอลอว์ กล่าวถึงความสำคัญในการวางโครงสร้างทางการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมในประเทศ เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงโดยรัฐและทำให้รัฐต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงที่ตัวเองเป็นคนก่อ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

29 ต.ค.2563 ในกิจกรรม “รัฐร้าวเราไม่ลืม” ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ณัชปกร นามเมือง หรือถา จากไอลอว์ เริ่มจากการเล่าถึงความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ 2 เหตุการณ์คือการตายของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่และกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่ต่างก็ถูกทหารยิงจนเสียชีวิต เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเป็นในการยุติความรุนแรงโดยรัฐและการจะหยุดได้ต้องทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

ณัชปกรกล่าวว่าเราจะยุติความรุนแรงของรัฐด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะกล่าวถึงหน้าตาของความรุนแรงของรัฐว่าเป็นอย่างไร โดยเขาได้ยกตัวอย่างกรณีของชัยภูมิ ป่าแสที่ศาลแพ่งเพิ่งมีคำพิพากษายกฟ้องของครอบครัวชัยภูมิเป็นโจทก์ในคดีเรียกค่าเสียหายจากกองทัพที่ทำการวิสามัญฆาตกรรมที่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา กรณีของชัยภูมิมีชุดข้อเท็จจริงอยู่ 2 ชุดคือข้อเท็จจริงจากญาติ และข้อเท็จจริงจากฝั่งรัฐ

ณัชปกร นามเมือง ภาพจาก iLaw

ณัชปกรอธิบายว่า ข้อเท็จจริงชุดแรกจากครอบครัวและคนรู้จักของชัยภูมิคือ เขาเป็นเด็กหนุ่มเยาวชนคนหนึ่ง เขามีกลุ่มสังกัดของเขา คือ กลุ่มรักลาหู่ เขาเป็นชาวลาหู่ซึ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในสังคมไทย แต่ก็เป็นคนเหมือนกับเรานี่แหละ เขาตั้งชื่อกลุ่มรักลาหู่ขึ้นมา เพื่อทำการเผยแพร่วัฒนธรรมตัวตนกลุ่มคนที่เป็นเหมือนเขา อีกบทบาทคือเขาเป็นคนที่มีความสามารถทางศิลปะอย่างมาก ชัยภูมิเคยทำหนังสารคดีและเคยถูกฉายทางไทยพีบีเอส และยังได้รับรางวัลช้างเผือก นอกจากยังได้รางวัลหนังสั้นมูนิธิหนังไทย

แต่ข้อเท็จจริงจากรัฐ เหตุการณ์การตายของชัยภูมิ คนที่ทำหนังจนได้รางวัลถูกกล่าวหากลับถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าครอบครองยาเสพติดถึง 2,800 เม็ด และพยายามต่อสู่กับรัฐเป็นเหตุให้กองทัพใช้ปืน M-16 ยิงจนเสียชีวิต จนวันนี้ข้อเท็จจริงนี้ยังไม่มีใครทราบ สิ่งที่น่าสนใจคือแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นกองทัพที่รับผิดชอบเขตพื้นที่เกิดเหตุบอกว่าถ้าเกิดเขาอยู่ในเหตุการณ์เขาจะยิงเช่นเดียวกัน โดยณัชปกรได้ชี้ประเด็นปัญหาเรื่องพยานหลักฐานในเหตุการณ์นี้ว่า

“ประเด็นสำคัญก็คือว่าหลักฐานอะไรที่ทำให้คุณวิสามัญเขาได้ หลักฐานนั้นคือกล้องวงจรปิด แม่ทัพภาค 3 บอกว่าเขาดูกล้องวงจรปิดถ้าเขาอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเขาจะยิงจนดหมดแม็ค เชื่อหรือไม่ว่าตอนไต่สวนการตายภาพกล้องวงจรปิดหายไป อยู่ดีๆ ก็หายไปดื้อๆ ไม่มีหลักฐานชิ้นนี้ปรากฏออกมา และในการไต่สวนการตายก็ไม่มีหยิบหลักฐานชิ้นนี้ขึ้นมาพิสูจน์แม้ว่าทางทนายความและญาติของผู้เสียชีวิตพยายามจะเรียกร้องกองทัพให้เปิดเผยหลักฐานชิ้นนี้ก็ไม่เคยเปิดเผยก็ยังหาไม่เจอ พูดง่ายๆ ว่ายิงคนตายไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องพิสูจน์ความถูกความผิดของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ นี่เป็นตัวอย่างหน้าตาความรุนแรงของรัฐ”

ณัชปกรระบุอีกว่าด้วยการที่ไม่มีภาพว่าชัยภูมิมีการต่อสู้จริงหรือไม่ สุดท้ายการฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สำเร็จและกองทัพก็ไม่รับผิดชอบอะไร ไม่ทำแม้กระทั่งขอโทษกับญาติผู้เสียชีวิต

ณัชปกรบอกว่ากรณีของขชัยภูมิทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของกมนเกด อัคฮาดในวัดปทุมวนาราม กมนเกดเป็นพยาบาลอาสาที่ช่วยดูแลผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ปี 2553 และเป็นที่เข้าใจกันทั่วโลกว่าพยาบาลนั้นเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องเสี่ยงชีวิตมากที่สุด

“แต่กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เข้าไปดูแลผู้ชุมนุมในวัดปทุมฯ ถูกกระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารยิงถึง 11 นัด นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างความรุนแรงของรัฐและจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับการกระทำดังกล่าว กองทัพเองก็ไม่เคยสอบสวนว่าทำไมมีพยาบาลผู้บริสุทธิ์ถึงถูกกระสุนจากฝั่งทหารยิงถึง 11 นัด”

ณัชปกรเล่าต่อว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้พยายามฟ้องร้องดำเนินคดีหลายคนทั้งอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ศอฉ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ก็ยังเสวยสุขอยู่บนเก้าอี้รัฐมนตรีโดยไม่ต้องสำนึกผิดอะไร

ณัชปกรบอกว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งที่พูดกันน้อยและไม่เคยปฏิรูปจริงจังและทำได้สำเร็จเลยคือปฏิรูปกองทัพ และหนักกว่านั้นคือศาลไม่เคยเป็นสิ่งที่ปฏิรูปได้ และล่าสุดพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวินพยายามวิจารณ์ศาล

ภาพจาก iLaw

“ทั่วโลกการวิจารณ์ศาลวิจารณ์คำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องปกติ มีแค่ประเทศนี้ที่ทำไม่ได้ ศาลประเทศนี้ศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน ในอเมริกาสามารถวิจารณ์เป็นคำหยาบคายก็ได้ด่าพ่อล่อแม่ศาลก็ยังได้แต่ไทยทำไม่ได้ แล้วบอกว่าเป็นขัดขวางการพิจารณาคดี ผมถามว่าเพนกวินเขาไปยื้อมือผู้พิพากษาเหรอ ก็ไม่ใช่แต่ทำไม่ได้แล้วก็มาบีบบังคับเพนกวินให้ขอโทษเพื่อให้เขาไม่ต้องติดคุก นี่คือกระบวนการยุติธรรมไทยทุกวันนี้”

ณัชปกรสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าตาความรุนแรงของรัฐ คำถามก็คือว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงเกิดซ้ำซาก ในทางวิชาการมีคำว่า “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” ที่เป็นแนวคิดที่ถูกใช้ในหลายประเทศที่เคยเป็นเผด็จการอำนาจนิยมมาก่อนซึ่งมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจแล้วเปลี่ยนกลับมาเป็นประชาธิปไตยก็มีการดำเนินการเอาผิดผู้นำเผด็จการ แต่เขาคิดว่าสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดเปลี่ยนผ่านของความยุติธรรมในไทยเนื่องจากมีการเข้าใจผิดกันมาตลอด

'รัฐร้าวเราไม่ลืม' ความรุนแรงโดยรัฐที่อยากลืมก็ลืมไม่ได้และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

“ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่าจะต้องมีการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เราต้องมีข้อเท็จจริงหลักฐานอย่างละเอียดเราถึงจะเอาผิดได้ ผมถามว่าทุกวันนี้มีใครบ้างไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เรารู้ดีและเรารู้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณืนี้บ้าง แต่มันเอาผิดไม่ได้ เหตุการณ์ปี 53 รายงานของ ศปช.มีรายงานถึง 1,200 หน้า ก็ล้วนมีรายละเอียดแทบทั้งสิ้น แต่มันก็เอาผิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราขาดการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน การมีพยานหลักฐานมีข้อมูลอย่างละเอียดนั้นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมีรัฐบางที่เห็นหัวประชาชน ซึ่งเราไม่เคยมีเลย” ณัชปกรขยายความถึงเหตุผลที่ทำให้ไทยไม่สามารถมีความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้

ณัชปกรกล่าวว่าการจะนำไปสู่ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านได้คือ “เราต้องสร้างอำนาจสถาปนาให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เท่านั้น ตราบใดที่ประชาชนไม่สามารถกำกับรัฐบาล บุคคลในสภา องค์กรอิสระให้ทำหน้าที่ได้ เมื่อนั้นก็จะมีแต่ความอยุติธรรมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

ณัชปกรกล่าวอีกว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้เราจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่และ ยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และต้องมาจาการเลือกตั้ง แล้วต้องรื้อองค์กรอิสระใหม่ทั้งหมดจะผ่านสภาหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาและต้องกดดันให้รัฐบาลปัจจุบันผ่านกฎหมายให้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน แต่ก็มีข้อควรระวังว่ารัฐบาลพยายามบอกว่าเขาพยายามแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญของเขาคือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)มีการให้ทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง แต่การแต่งตั้งทั้งหมดมาจากพวกเขาแต่งตั้งเองทั้งหมด ซึ่ง ส.ว.จะมีตัวแทนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญแน่นอนถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลผ่าน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราก็คือการส่งเสียงว่า เราไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลแต่เราจะเอารัฐธรรมนูญที่ สสร.มาจากการเลือกตั้ง 100% และรัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ทุกมาตราในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการแก้หมวด 1 และ 2 มาโดยตลอด

“ผมคิดว่าผมไม่ได้มีหน้าที่มาสอนคนบางคนที่แยกไม่ออกระหว่างปฏิรูปกับล้มล้าง มันเป็นความโง่ของคุณเองที่แยกไม่ออก คนส่วนใหญ่เขารู้ว่าปฏิรูปคืออะไรล้มล้างคืออะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่คือปลายทางที่เราต้องไป ผมคิดว่าการจะไปถึงวันนั้นได้มันต้องอาศัยพลังของพวกเราทุกคน” ณัชปกรกล่าว

อ่านการปราศรัยใน "รัฐร้าวเราไม่ลืม" คนอื่นๆ ที่

16 ปีตากใบ ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึงและจะมาไม่ถึงถ้าไม่แก้โครงสร้างอำนาจรัฐ

รัฐร้าวเราไม่ลืม : ความหลอน 10 ปีสลายชุมนุมจาก “ขอคืนพื้นที่” สู่ “กระชับพื้นที่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท