Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยกฟ้อง” คดีบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าว Voice TV กรณีทวิตและเผยแพร่ข้อความต่อจากนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับคำพิพากษาคดีแรงงานข้ามชาติ 14 คน ซึ่งมีคำว่า “กรณีใช้แรงงานทาส” อยู่ในข้อความที่ทวิต

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เพจ Human Rights Lawyers Association ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1407/2563 ระหว่าง บริษัทธรรมเกษตรโดยชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง สุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือ สุชาณี คลัวเทรอ เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 จากกรณีที่สุชาณีเผยแพร่ข้อมูลผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ว่า “ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.ลพบุรี อดีตหนึ่งในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส” ซึ่งขณะที่ถูกฟ้องเธอยังได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักข่าวอยู่สำนักข่าว Voice TV และติดตามรายงานข่าวเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตร

ก่อนหน้านั้น คดีนี้ในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 2 ปี 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า “กรณีใช้แรงงานทาส" มีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเป็นความเข้าใจและตีความของจำเลยไปเองโดยสุจริตว่ามีความหมายทำนองเดียวกันกับที่โจทก์ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างทั้ง 14 คน อันมีลักษณะเป็นการพาดหัวข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้อ่านให้ติดตามข่าว ถึงแม้จะใช้ถ้อยคำดังกล่าวเกินเลยไปกว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอันเป็นการไม่เหมาะสมอยู่บ้างก็ตาม แต่หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเองไม่และมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

ดังนั้น จำเลยในฐานะสื่อมวลชนที่มีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติโดยตรงและในฐานะของประชาชน ย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นหรือข้อความอื่นใดอันเป็นประโยชน์ส่วนร่วมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังชี้ 3 ประเด็นน่าสนใจในคดี ดังนี้

1) ก่อนคดีนี้ บริษัทธรรมเกษตร ได้เคยแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.โคกตูม ให้ดำเนินคดีกับนางสุชาณี ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากเหตุการณ์เดียวกันมาแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจังหวัดลพบุรีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ตามคำสั่งไม่ฟ้องเลขที่ อส.0042(ลบ)/3727 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแจ้งข่าวรายงานตามเนื้อหาของคำพิพากษา ประกอบกับเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยโดยศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) และไม่ปรากฏเจตนาโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งจะมีลักษณะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน

2) นอกจากการพยายามดำเนินคดีต่อสุชาณี ถึง 2 ครั้ง บริษัทธรรมเกษตรยังดำเนินคดีทั้งในทางอาญาและแพ่งต่อแรงงานในบริษัท ผู้ที่ติดตามสถานการณ์และสนับสนุนให้กำลังใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกบริษัทธรรมเกษตรฟ้องเป็นจำนวนถึง 22 คน

โดยเริ่มจากการดำเนินคดีต่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ เมื่อปี 2559 ในข้อหาแจ้งความเท็จและข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีที่ลูกจ้าง 14 คน ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนถึงการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ การดำเนินคดีต่อนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ, อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล, อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักข่าวและสำนักข่าว Voice TV ในข้อหาหมิ่นประมาท จากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานการเผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการทวีตข้อความในทวิตเตอร์เพื่อสนับสนุนนักปกป้องสิทธิที่ถูกดำเนินคดี เป็นต้น

3) เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ประเทศไทยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 เพื่อป้องกันการนำกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายตรงข้าม

โดยในมาตรา 161/1 ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจศาลสามารถพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องยกคดีขึ้นพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีปิดปากจะต้องมีภาระในการต่อสู้คดี เพราะการไต่สวนมูลฟ้องเป็นการฟังความข้างเดียวและใช้ระยะเวลาในการไต่สวนค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีภาระทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นจำนวนมาก และเพื่อการลดปริมาณคดีในศาล ส่วนมาตรา 165/2 ได้บัญญัติว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยสามารถแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล และระบุพยานเสนอต่อศาล ซึ่งศาลสามารถเรียกพยานมาไต่สวนได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้น การที่บริษัทธรรมเกษตรสามารถดำเนินคดีต่อบุคคลและองค์กรเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องได้ สะท้อนให้เห็นว่ากลไกกลั่นกรองคดีเพื่อป้องกันการนำกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามของรัฐไทยนั้นยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net