Skip to main content
sharethis

ทีดีอาร์ไอ แนะ ปรับรูปแบบการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง รักษาแรงงานไว้ ขณะผู้หญิงยิ่งมีอายุยิ่งเสี่ยงตกงาน

งานศึกษาล่าสุด ภายใต้ชื่อ ‘ผลกระทบ โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน: กรณีศึกษาแรงงานหญิง’ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ พบสถิติน่ากังวลประเด็น 'การว่างงานแฝง' หรือภาวะที่ไม่ได้ทำงานแม้มีงานประจำ ในประชากรเพศหญิงของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1.9 แสนคน ช่วงไตรมาส 2/2562 เป็น 1.1 ล้านคน ในไตรมาส 3/2563 คิดเป็นการปรับตัวสูงขึ้น 503.3%

เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขการว่างงานในไตรมาสที่สองของปีนี้พบว่า ผู้หญิงว่างงานทั้งสิ้น 3.5 แสนคน หรือคิดเป็น 2.12% ของตัวเลขแรงงานเพศหญิงทั้ง 16 ล้านคนในระบบ คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 94.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถิติว่างงานของเพศชายมากกว่าเล็กน้อยที่ 4.1 แสนคน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า สาเหตุที่ทำให้แรงงานหญิงมีตัวเลขว่างงานน้อยกว่าผู้ชายไม่ได้มากจากความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่เป็นเพราะอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต่ำลง ด้วยเหตุนี้ ชั่วโมงการทำงานรวมของแรงงานหญิงจึงลดลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของแรงงานเหล่านี้

เมื่อประเมินความเสี่ยงของการว่างงานในอนาคต นักวิจัยพบว่า หากนำอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นตัวตั้ง ในปี 2562 ที่จีดีพีของประเทศโต 4% มีตัวเลขผู้ว่างงานเพศหญิงทั้งสิ้น 2.3 แสนคน ด้วยเหตุนี้ หากนำจีดีพี ไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบถึง 12.14% มาคำนวณ ผู้หญิงว่างงานจะเพิ่มเป็น 3.3 แสนคน

ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบช้า ๆ (L-shaped) และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ก่อนจะกลับเข้าสู้ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ตัวเลขบ่งชี้ว่า ในไตรมาส 2/2564 ผู้หญิงในประเทศอาจต้องว่างงานเพิ่มเป็น 3.7 ก่อนลดลงราว ๆ 2 หมื่นคน มาอยู่ที่ระดับการว่างงาน 3.5 แสนคน ในไตรมาส 2/2565

วิจัยยังพบว่า อาชีพพนักงานบริการและขายของหน้าร้าน ที่มีสัดส่วนการว่างเงินเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 283% ตามมาด้วยอาชีพเสมียน ที่สัดส่วน 241% โดยสัดส่วนอายุมีผลต่อการว่างงานเช่นเดียวกัน ข้อมูลสะท้อนว่า ยิ่งแรงงานหญิงมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเธอยิ่งมีโอกาสว่างงานมากขึ้นเท่านั้น

ข้อเสนอสำคัญที่ทีดีอาร์ไอชี้นอกจากการพัฒนาทักษะแรงงาน คือรูปแบบการปรับเปลี่ยนการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อรักษาคนงานไว้ในระบบให้ได้มากที่สุด และไม่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการมากจนเกินไป ทว่าข้อแนะนำดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับกฎหมายต่าง ๆ ให้เหมาะสม และอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

ที่มา: Voice online, 31/10/2563

ส่องสถิติแรงงานประสบอันตรายปี 2558-2562 จาก 95,674 ราย เหลือ 94,906 ราย

ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่าสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ปี 2558 – 2562 พบว่ามี จำนวนลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทางานลดลง โดยปี 2558 มีลูกจ้างประสบอันตราย 95,674 ราย และลดลงเป็น 94,906 ราย ในปี 2562 และเมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงของการประสบอันตราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วัน ร้อยละ 68.73 ต่อปี รองลงมา คือ กรณีหยุดงานเกิน 3 วัน ร้อยละ 29.30 ต่อปี กรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วน ร้อยละ 1.28 ต่อปี กรณีตาย ร้อยละ 0.67 ต่อปี และกรณีทุพพลภาพ ร้อยละ 0.01 ตามลำดับ

นอกจากนี้การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทางานของลูกจ้าง ปี 2558 - 2562 ยังพบว่า ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมากที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 27.47 ต่อปี สาเหตุที่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุด คือ วัตถุหรือสิ่งของตัด/บาด/ทิ่มแทง เฉลี่ยร้อยละ 23.91 ต่อปี อวัยวะที่ลูกจ้างได้รับอันตรายสูงสุด คือ นิ้วมือ/นิ้วหัวแม่มือ เฉลี่ยร้อยละ 29.47 ต่อปี กลุ่มอายุของลูกจ้างที่ประสบอันตรายสูงสุด คือ กลุ่มอายุระหว่าง 25 - 29 ปี เฉลี่ยร้อยละ 17.71 ต่อปี ขนาดสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1,000 คน มีการประสบอันตรายสูงสุด เฉลี่ยร้อยละ 23.52 ต่อปี ตำแหน่งหน้าที่ที่มีจำนวนการประสบอันตรายสูงสุด คือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ เฉลี่ยร้อยละ 28.09 ต่อปี และโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือ เนื่องจากการทางานที่เกิดกับลูกจ้างสูงสุด คือ โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน เฉลี่ยร้อยละ 1.67 ต่อปี

ล่าสุดเกิดกรณีท่อส่งแก๊ส NGV ระเบิดที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 ราย และเสียชีวิต 3 รายนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตนให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า ผู้เสียชีวิต 3 รายไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 ราย เป็นผู้ประกันตน 10 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคมต่อไป

นายสุชาติ กล่าวว่า จากสถิติ 10 เดือนแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.สำนักงานประกันสังคม ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองลูกจ้างผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงานทั้งสิ้น 69,075 คน คิดเป็นเงินที่จ่ายประโยชน์ทดแทน 1,225 ล้านบาท โดยแยกเป็นรายละเอียด ดังนี้ 1.กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต มีจำนวน 470 คน จ่ายประโยชน์ทดแทน 469 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 4.79 ล้านบาท ค่าทำศพ 6.9 ล้านบาท 2.กรณีพิการ สูญเสียอวัยวะ มีจำนวน 608 คน จ่ายประโยชน์ทดแทน 88 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 19 ล้านบาท 3. กรณีเจ็บป่วย มีจำนวน 67,997 คน จ่ายประโยชน์ทดแทน 153 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาล 471 ล้านบาท

ที่มา: เดลีนิวส์, 31/10/2563

ธุรกิจ 40% ส่งสัญญาณลดชั่วโมงการทำงานต่อ ธปท.ห่วงกำลังซื้อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย รายงานผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย จากผลความสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจระหว่างวันที่ 1-26 เดือนตุลาคม 2563 โดยสำรวจผู้ประกอบการรายใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน 274 ราย

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ พบว่าความเชื่อมั่นในเดือนตุลาคม 2563 ในส่วนของภาคการค้าฟื้นตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงปลายปีของภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแย่ลง โดยการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่า 50% สะท้อนว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

ส่วนด้านภาคธุรกิจอื่น ๆ ยังทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาคการผลิต, การค้าและบริการนอกภาคการท่องเที่ยวจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับ 71-80% ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 51-70%

ขณะที่ จำนวนการจ้างงานกลับมามากกว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยธุรกิจถึง 40% ยังคงมีการใช้นโยบายอื่น ๆ อาทิ การให้สลับกันมาทำงานและการลดชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น เพื่อลดการจ้างงานอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งธุรกิจในภาคการผลิตมีการใช้นโยบายเหล่านี้เพิ่มขึ้นในเดือนนี้

โดยรายได้ของแรงงานจึงยังอยู่ในระดับต่ำ และจะเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อเพิ่มเติม หลังหมดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ สอดคล้องกับที่ภาคธุรกิจมองว่ากำลังซื้ออ่อนแอเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 โดยสัดส่วนอยู่ที่ 68.3% เพิ่มจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 48.9%

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/10/2563

ช่อง 3 ประกาศปรับลดองค์กร-เลิกจ้างพนักงาน 30 % มีผลสิ้นเดือน ธ.ค. 2563 จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์จะเป็นไปตามกฎหมาย

วันที่ 30 ต.ค. 2563 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.บีอีซี เวิลด์ ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทศัน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกคำชี้แจงกรณีเลิกจ้างพนักงานพนักงานครั้งสำคัญอีกครั้ง เนื่องจากความจำเป็นที่บริษัทจะต้องปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทที่มีจำนวนมากลง โดยหนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญที่จะสามารถทำให้ต้นทนุหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถลดลงได้

บริษัทเล็งเห็นแล้วว่า การปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมสำหรับการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ขณะนี้หลือเพียงช่อง 33 ดิจิทัลเพียงช่องเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในเวลานี้เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถดถอยและปัจจัยแวดล้อม รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป

ด้วยเหตผุลดังกล่าว บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปรับลดและเลิกจ้างพนักงานในทุกส่วนลง ซึ่งจะมีผลสิ้นเดือน ธ.ค.2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นไปตามกฎหมาย และอยู่บนหลักของความถูกต้องและเป็นธรรมทุกประการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับลดพนักงานในครั้งนี้ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ตั้งเป้าปรับลดพนักงานลง 30 เปอร์เซ็นต์ จากพนักงานที่มีอยู่ประมาณ 1,200 คน

ที่มา: ข่าวสด, 30/10/2563

เผยพนักงานการบินไทยร่วมเออร์ลี่ 5 พันจาก 1.9 หมื่นคน ย้ำเป็นไปตามเป้า

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการเปิดรับสมัครโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (เออร์ลี่) เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้สามารถใช้ได้ถึงเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งเปิดให้พนักงานบริษัทสมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 19 ต.ค.-28 ต.ค. 2563 มีพนักงานให้ความสนใจและร่วมกันเสียสละเข้าร่วมโครงการเกือบ 5 พันคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท ต้องขอขอบคุณพนักงานทุกคนที่มีจิตอาสาและช่วยกันเสียสละเพื่อองค์กรด้วย โดยหลังจากนี้บริษัทจะต้องวางแผนเรื่องระยะเวลาและการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากขณะนี้มีกระแสเงินสดไม่มาก และไม่สามารถกู้ยืมเงินได้

ทั้งนี้บริษัทจะพิจารณาเรื่องการจัดสรรเงินสำหรับพนักงานล็อตแรกก่อน โดยจำนวนพนักงานที่จะออกต้องสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานภาพรวม เพราะบริษัทจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานตามอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงการจ่ายคืนเงินกองทุนบำเหน็จที่ต้องจ่ายพร้อมกันทั้งก้อน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 1.9 หมื่นคน ล่าสุดได้ยื่นขอเข้าร่วมโครงการเสียสละประมาณ 5 พันคน จึงเหลือพนักงานแสดงความจำนงที่จะอยู่ต่อประมาณ 1.4 หมื่นคน สำหรับโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (เออร์ลี่) ของบริษัทนั้น แบ่งเป็น 2 โครงการคือโครงการร่วมใจจากองค์กร แผน A โดยการสมัครในลาออก หรือ Mutual Separation Plan A (MSP A) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 และ 2.โครงการลาระยะยาว (LW20) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563-30 เม.ย.2564 โดยจ่ายเงินรายเดือนตลอดระยะเวลาในอัตรา 20% ของเงินเดือนสุดท้าย

สำหรับพนักงานสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือทั้งสมัคร 2 โครงการก็ได้ และสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ LW20 บริษัทยังจะให้สิทธิพิเศษสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร แผน B หรือการสมัครใจลาออกรอบ 2 ที่บริษัทจะเปิดโครงการอีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค. 2564 ได้อีก

ที่มา: สยามรัฐ, 29/10/2563

เตรียมจ้างแรงงานหีบอ้อยชั่วคราวฤดู 2563/64 กว่า 30,000 อัตรา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเร่งเดินหน้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียมงบประมาณเพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงของการหีบอ้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,342 อัตรา เป็นเงิน จำนวน 83,360,800 บาท จากเงิน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
ถือเป็นการนำเงินจากกองทุนฯ มากระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชากรในชุมชนท้องถิ่น

ซึ่งการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในการดำเนินการในช่วงของการหีบอ้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ดำเนินการจ้างแรงงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูการหีบอ้อย ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ นอกจากในส่วนของภาครัฐที่มีการจ้างแรงงานชั่วคราวในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วงของการหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะเปิดหีบในช่วงเดือนธันวาคมแล้วนั้น ทางโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 แห่ง ก็ได้เตรียมแผนการจ้างงานเพื่อเข้ามาทำงานในช่วงของการหีบอ้อย

โดยคาดว่าแต่ละโรงงานจะมีการจ้างแรงงานชั่วคราวกว่า 500 อัตรา รวมการจ้างแรงงานชั่วคราวทั่วประเทศในโรงงานน้ำตาลกว่า 29,000 อัตรา สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 800 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/10/2563

สอศ.เตรียมจับมือ ก.แรงงาน ยกระดับมาตรฐานนักศึกษาอาชีวะสาขาวิชาช่าง เรียนจบรับใบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทันที

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือกับดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการมว.แรงงาน ถึงการยกระดับฝีมือนักศึกษาวิชาช่างของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยในเดือนพ.ย.นี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงแรงงาน จะร่วมลงนามความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานนักศึกษาอาชีวะสาขาช่างฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้นายณัฐฎพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มีการพูดคุยกันในระดับนโยบายแล้ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ถือเป็นหน่วยงานระดับปฎิบัติพร้อมที่จะดำเนินการตามความร่วมมือนี้ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

“สำหรับความร่วมมือดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้นั้นถือเป็นการปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง ตามนโยบายของนายณัฏฐพลในเรื่องการศึกษายกกำลังสองอย่างแท้จริง เพราะเราจะทำให้นักศึกษาอาชีวะสาขาวิชาช่าง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างแอร์ เป็นต้น เมื่อเรียนจบการศึกษาแล้วจะได้ใบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ของกรมส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทันทีโดยที่ไม่ต้องไปฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่จะประกอบอาชีพช่างฝีมือได้จะต้องเข้ารับการฝีกอบรม เพื่อให้มีใบผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น เพราะหากไปประกอบอาชีพเองโดยที่ไม่ใบรับรองถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเรามองว่าเด็กอาชีวศึกษาได้เรียนตามหลักสูตรมีประสบการณ์ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติมาตลอด 3 ปีของการเรียนในสถาบันแล้วจึงถือว่ามีทักษะที่มากพอ โดยไม่จำเป็นต้องไปอบรมใหม่ให้มีความซ้ำซ้อนไปอีก อีกทั้งผู้ประเมินให้ได้ใบรับรองและฝึกอบรมจากกระทรวงแรงงานก็เป็นครูอาชีวศึกษา ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจะร่วมบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อที่เด็กอาชีวะสาขาวิชาช่างสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ทันที” เลขาธิการกอศ.กล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 28/10/2563

แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ขอทาน ปักหลักค้างคืนหน้ารัฐสภารอพบนายก จี้ออก พ.ร.ก.เยียวยาผู้ประกันตน ขู่เตรียมแก้ผ้าเดินจากทำเนียบมาสภา

เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 27 ต.ค.2563 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศด้านหน้าอาคารัฐสภา ฝั่งจันทรา มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ขอคืนไม่ได้ขอทาน นำโดย นายสัตวแพทย์บูรณ์ อารยพล แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน พร้อมด้วย นายประวัติ รองเดช ชาวบ้าน จ.สงขลา กำลังทำกิจวัตรประจำวันในช่วงเช้า ล้างหน้า แปรงฟัน และอาบน้ำ

เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปสอบถาม นสพ.บูรณ์ ระบุว่า พวกตนได้มาปักหลักกางเต็นท์นอนค้างคืน ตั้งเเต่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรอที่จะพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยมาเรียกร้องให้นายกฯใช้อำนาจออก พ.ร.ก.เยียวผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 33

"เราเคยไปคุยกับสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเจ้ากระทรวงที่ดูแลเรื่องนี้มาหลายครั้ง เเต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงตัดสินใจว่า จากนี้ถ้านายกฯไปไหน เราไปด้วย ล่าสุดทราบว่านายกฯจะไป จ.ภูเก็ต เราก็จะตามไป ตามจนกว่าท่านจะออกพ.ร.ก.ให้เรา ขนาดโครงการคนละครึ่ง ใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นายกฯยังทำได้ นี่เรามาเรียกร้องเงินที่เป็นของเราเองเเท้ ๆ เป็นการขอในสิ่งที่ไม่เกินอำนาจนายกฯเลย เพื่อเยียวยาผลกระทบให้ผู้ที่ตกงานช่วงโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ หากยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ อีก ผมจะอารยะขัดขืน ด้วยการไม่ใส่เสื้อผ้าอะไรเลย แล้วเดินจากหน้าทำเนียบมายังรัฐสภาอีกครั้ง" นสพ.บูรณ์ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 27/10/2563

"สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่" ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง กมธ.แรงงาน

26 ต.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากนายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย โดยได้ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง คือ 1. ให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โดยอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) รับจ้างผ่านแอพพิเคชั่น หรือระบบอื่นใดได้ 2.ให้ยกร่างกฎหมายรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) และขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โดยการขยายอายุรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) จากเดิม 9 ปีให้ขยายเป็น 12 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน

3.ให้ทบทวนประกาศ ข้อบังคับ ที่กรมการขนส่งทางบก บังคับให้รถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ ระบบ GPS และ Taxi OK ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง 4.ขอให้ทบทวน เรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่มีสูงอยู่ในขณะนี้ อาทิ ค่าก๊าซ NGV ควรกำหนดให้มีอัตราคงที่ ไม่เกินลิตรละ10 บาท เป็นต้น 5. ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการเช่าซื้อรถแท็กซี่ โดยให้ไฟแนนซ์ หรือลีสซิ่งต่าง ๆ คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เกิน ร้อยละ 5 ต่อปี หรือ เทียบเท่ากับรถยนต์ทั่วไป และ 6. ขอให้ปรับลดเบี้ยค่าประกันภัย และ พ.ร.บ. รถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่ ซึ่งมีอัตราสูงอยู่ในขณะนี้ ให้เทียบเท่ากับ ค่าประกันภัยและพ.ร.บ.รถยนต์ทั่วไป

นายสุเทพ กล่าวว่า ตนทราบมาว่าได้ยื่นหนังสือเรื่องนี้ต่อรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้กมธ. เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างสาธารณะและผู้รับบริการ โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกมธ.เพื่อพิจารณา โดยจะเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 26/10/2563

สั่งทูตแรงงานเร่งประสานช่วยเหลือแรงงานไทยประสบเหตุเรือล่มที่ไต้หวัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานไทยที่ประสบเหตุเรือล่มนอกชายฝั่งเกาสง ของไต้หวัน จำนวน 10 คน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและมีความห่วงใยแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บและสูญหายจากอุบัติเหตุดังกล่าว จึงได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เร่งประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องกับทางการไต้หวันเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่บาดเจ็บและติดตามความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายอย่างใกล้ชิด

นายสุชาติ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลซึ่งได้รับรายงานจากอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง ว่า สำนักงานแรงงาน เกาสงได้รับรายงานจากกรมตระเวนทางทะเลของคณะกรรมาธิการมหาสมุทร ไต้หวัน ถึงสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือบรรทุกสินค้าที่จดทะเบียนในตูวาลู ซึ่งมีลูกเรือไทยรวม 10 คน ว่ามีเหตุเรือล่มในน่านน้ำเมืองเกาสง จึงได้ส่งเรือลาดตระเวนทางทะเล 4 ลำ และเรือช่วยเหลือ 4 ลำ ไปให้การช่วยเหลือ ลูกเรือ 5 คน ที่สวมเสื้อชูชีพในที่เกิดเหตุ และได้นำลูกเรือ 5 คนขึ้นฝั่งท่าเรือเกาสงและนำตัวไปพบแพทย์ พบว่าแรงงานไทยจำนวน 3 คนอาการไม่หนัก จึงพาไปพักที่โรงแรมกักตัว (State Quarantine) และแรงงานไทยอีก 2 ราย นำส่งโรงพยาบาล Kaohsiung Medical University เพื่อรักษาตัว สำหรับอาการในเบื้องต้น นายวรเดช จันทร์ทอง ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ นายษิริพล โคตรษิริ ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าซ้าย ส่วนแรงงานไทยที่เหลือ 5 คน กำลังอยู่ระหว่างการค้นหา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไต้หวันแจ้งว่า ได้ส่งกำลังเพื่อค้นหาโดยเครื่องบินลาดตระเวนบริเวณที่เรือล่ม ส่วนลูกเรือที่รอดชีวิต ทางเอเยนต์เรือได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างดีและพยายามตามหาลูกเรือที่สูญหายอีก 5 คน อย่างเต็มที่ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/10/2563

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net