Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร. วันที่ 3 พ.ย.นี้ กรณีตำรวจปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เป็นธรรม

1 พ.ย. 2563 น.ส.คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าเครือข่ายองค์กรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ทำหนังสือนัดหมายเพื่อเข้าพบ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 3 พ.ย. 2563 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจากการชุมนุม ซึ่งในชั้นพนักงานสอบสวน ระหว่างผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการ ตชด.ภาค 1 คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กระบวนการอนุญาตให้ทนายความเข้าพบลูกความมีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถพบและปรึกษาทนายความโดยสะดวก รวมถึงกรณีผู้ปกครองที่ไปรอเยี่ยม หรือผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างเรื่องระเบียบและการปฏิบัติหน้าที่ 

น.ส.คอรีเยาะมองว่าการสร้างระเบียบดังกล่าวเป็นการสร้างเงื่อนไขและสร้างอุปสรรคที่ทำให้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถพบและปรึกษาทนายความโดยสะดวก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการสั่งการการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะต้องรับทราบพฤติการณ์ที่เป็นการกีดกันหรือสร้างอุปสรรคให้ผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งจะต้องอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้เสียหายและทนายความได้พบปะและหารือกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น

"ผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรที่จะต้องมีการเข้มงวดแบบนั้น จริงๆ กฎหมายก็มีมาตรฐานของมันอยู่แล้ว ตำรวจจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนั้น โดยการไม่เลือกปฏิบัติว่านี่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ความมั่นคง ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูง และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ควรแก่เหตุ ไม่ใช่เกินเหตุ จนเรารู้สึกว่าถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร แล้วกรณีตำรวจใช้วิธีการอายัดตัว หลังจากที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิ่งต่างๆ แบบนี้ เราถือว่ามันเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับตัวผู้ต้องหา" น.ส.คอรีเยาะ กล่าว

นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตำรวจมีสิทธิที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาในกรณีที่มีหมายจับ แต่ต้องไปดูกฎหมายให้ชัดเจน เมื่อผู้ต้องหาคนใดที่มีหมายจับและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเรียบร้อยแล้ว ผลของหมายจับก็ต้องสิ้นผลแล้ว ตำรวจก็เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน ก็ต้องถือกฎหมายฉบับเดียวกัน การใช้หมายจับทีละใบๆ ก็ส่อเจตนาว่าตำรวจอาจมีการใช้เจตนาไม่สุจริตเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอากฎหมายมาเพื่อที่จะเป็นการคุกคามในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

"โดยหลักการแล้ว กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้ไปโดยเจตนาอื่นเราเห็นชัดเจนมากว่ามีการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เป็นไปโดยเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน" น.ส.คอรีเยาะ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net