สุรพศ ทวีศักดิ์: ประชาชนมี ‘สิทธิ’ ปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชื่อ “การแก้ปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยปัจจุบัน ข้อเสนอจากมุมมองทางปรัชญาการเมือง” ของสมภาร พรมทา บรรณาธิการ “วารสารก้าวแรก” ฉบับที่ 2 ปี 2563 ได้ใช้ไอเดียปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ยืนยันว่า กษัตริย์คือ “คนเท่ากัน” กับพลเมืองทุกคน ดังนั้นภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย กษัตริย์ในฐานะบุคคลจึงเป็น “พลเมือง” ที่อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนพลเมืองทุกคนด้วย เช่นถ้ากษัตริย์สั่งฆ่าคน เขาก็ต้องรับโทษทางกฎหมายอาญาเหมือนพลเมืองทุกคนเป็นต้น 

แต่ดังที่เราทราบกันทั่วไปว่า โดยตำแหน่งกษัตริย์ก็อาจมีสิทธิพิเศษบางอย่างต่างจากคนทั่วไปได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการรักษาความปลอดภัยในฐานะประมุขของรัฐเหมือนประมุขของรัฐแบบอื่นๆ เป็นต้น แต่สิทธิพิเศษใดๆ ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนเสมอ

ผมแปลกใจที่ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ไปสุดในการยืนยันหลักการเสรีประชาธิปไตยว่า กษัตริย์คือคนเท่ากันที่ต้องอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาคทางกฎหมายเหมือนพลเมืองทุกคน แต่เขากลับแย้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเด็นให้ “ยกเลิกการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศรัย” ด้วยเหตุผล (หน้า 11) ว่า "ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นห้ามกษัตริย์รับเงินบริจาค อันนี้ผมนึกไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไร สิทธิในการรับไมตรีจิตจากผู้อื่นเป็นสิทธิที่สังคมเสรีประชาธิปไตยรับรอง เราไปจำกัดสิทธิอันนี้ของใครไม่ได้หรอกครับ"

ประเด็นนี้เราก็ต้องกลับไปที่หลักการพื้นฐานว่ากษัตริย์คือ “คนเท่ากัน” กับพลเมืองทุกคน ตามหลักการนี้ ถ้าในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ใครจะรับบริจาคด้วยไมตรีจิตจากคนอื่นๆ ก็ได้ แต่เมื่อเขาเข้าสู่ “ตำแหน่ง” ต่างๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อห้ามตามกฎหมายของตำแหน่งนั้นๆ เช่นถ้าใครเลือกที่จะเป็นนักการเมืองก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อห้ามที่ว่าจะรับเงินบริจาคเกินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ ข้อห้ามเช่นนี้เป็นข้อห้ามที่ใช้กับ “ตำแหน่งสาธารณะ” ไม่ใช่ใช้กับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือการแสวงหาอภิสิทธิ์ อำนาจ และผลประโยชน์ต่างๆ จากตำแหน่งสาธารณะนั้นๆ

มาที่ปรัชญาเสรีนิยม สาระสำคัญคือการยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ นักปรัชญาเสรีนิยมส่วนใหญ่ให้คำตอบที่ชัดเจนมานานแล้วว่า ระบบอำนาจศาสนจักร, ระบบกษัตริย์, รัฐศาสนา และระบบเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่สามารถให้หลักประกันการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์แก่ประชาชนได้ ทางแก้ปัญหามีเพียงสองทาง คือ ทางแรกยกเลิกระบบกษัตริย์และรัฐศาสนาทุกรูปแบบที่ตกทอดมาจากยุคกลางหรือยุคสังคมจารีต เพื่อสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ หรือสหพันธรัฐ และทางที่สอง หากยังคงมีสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องเปลี่ยนให้เป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย และประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้

เป็นความจริงว่า ระบบสังคมการเมืองยุคกลางหรือยุคสังคมจารีตส่วนใหญ่เป็น “รัฐศาสนา” ที่ศาสนาหรือศาสนจักรสถาปนาสถานะและอำนาจของธรรมของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นสถานะชนชั้นสูง อำนาจเทวสิทธิ์ สุลต่าน เทวราช สมมติเทพ ธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ศาสนากับรัฐและการเมืองจึงเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นอำนาจเผด็จการและระบบชนชั้นจึงถูกสถาปนาขึ้นโดยศาสนา การยกเลิกอำนาจเผด็จการและระบบชนชั้นดังกล่าวจึงต้องยกเลิกรัฐศาสนาและต้องแยกศาสนากับรัฐ (separation of church and state) ด้วย เพื่อสร้างรัฐเสรีประชาธิปไตยที่เป็นกลางทางศาสนา ไม่ใช้หลักความเชื่อศาสนาใดๆ ในการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย ไม่อุปถัมภ์และส่งเสริมศาสนาใดๆ เพียงแต่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาและการไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนาเท่านั้น

มาถึงประเด็น “สิทธิสนับสนุนสถาบันกษัตริย์” นอกจากปัญญาชนในบ้านเราเราจะไม่ตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ประชาชนคนไทยมีสิทธิสนับสนุนสถาบันกษัตริย์หรือไม่? กลับเคยดีเฟนด์ “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” กันแบบจริงจัง ทั้งๆ ที่จุดยืนเสรีประชาธิปไตยคือการยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง เมื่อยืนยันจุดยืนนี้จึงยืนยัน “สิทธิในการต่อต้านเผด็จการ” ด้วย ดังคำยืนยันของจอห์น ล็อคที่มาปรากฏอยู่ใน “คำประกาศอิสรภาพอเมริกา” เป็นต้น 

เรื่องสิทธิสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ก็คือเรื่องเดียวกับ “สิทธิของคนรักเจ้า” ที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอภิปรายชัดเจนแล้วว่า “สิทธิของคนรักเจ้าไม่มีอยู่จริง” เพราะประชาชนตกอยู่ในสภาพบังคับทางกฎหมายให้แสดงออกได้ทางเดียวคือ แสดงความรัก สรรเสริญสดุดีเจ้าได้เต็มที่ แต่แสดงออกด้านตรงข้ามไม่ได้

ข้อโต้แย้งของสมศักดิ์อยู่บนฐานของการยืนยัน “หลักสิทธิ” ตามแนวคิดเสรีนิยมที่ถือว่า อะไรที่เป็น “สิทธิ” (right) ย่อมหมายถึง การที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจที่จะเลือกได้ว่าจะทำ A หรือ B เช่นเลือกจะแสดงความรักหรือเกลียดก็ได้ เลือกจะติหรือชมก็ได้ โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ สิทธิในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้ามีสิทธิดังกล่าวจริง ประชาชนต้องเลือกที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ในแบบใดๆ ก็ได้ ไม่ใช่ตกอยู่ในสภาพบังคับให้ต้องแสดงการปกป้องสถาบันกษัตริย์แบบคนเสื้อเหลือง หรือแบบกองทัพที่ทำรัฐประหารหารปกป้องสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ส่วนฝ่ายที่เสนอการ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” กลับถูกกล่าวหาว่าล้มสถาบัน เป็นภัยความมั่นคง และถูกจับติดคุก

ภายใต้สภาพบังคับให้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้แนวทางเดียวเช่นนี้ การปกป้องสถาบันไม่อาจนับเป็น “สิทธิ” ได้ แต่เป็น “อภิสิทธิ์” เพราะคนเสื้อเหลืองชุมนุมทางการเมืองแสดงออกในทางปกป้องสถาบันอย่างไรก็ได้ ไม่ผิด ขณะที่อีกฝ่ายชุมนุมอย่างสันติวิธีเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับถูกเอาผิดทางกฎหมายเสมอ ยิ่งกว่านั้น การใช้อภิสิทธิ์ในการปกป้องสถาบันด้วยการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบประชาธิปไตยก็ไม่เคยรับผิดทางกฎหมายใดๆ ถือเป็นพวกคนดี รักชาติ ทำเพื่อชาติ ขณะที่นักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นคนไม่ดี ชังชาติ ทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ย่อมไม่มีข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มสถาบันกษัตริย์” เช่นในอังกฤษนอกจากประชาชนจะมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้เหมือนตรวจสอบบุคคลสาธารณะอื่นๆ แล้ว ยังมีการทำโพลสำรวจว่าประชาชนยังจะเอาหรือไม่เอาสถาบันกษัตริย์ได้ด้วย มีกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกว่า National Secular Society รณรงค์เรียกร้องให้อังกฤษเป็นเสรีประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ให้ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งตามวาระแทนการใช้อภิสิทธิ์ทางการสืบสายเลือดของครอบครัวกษัตริย์ และเรียกร้องให้แยกศาสนากับรัฐเป็นต้น

สำหรับระบบการเมืองการปกครองตามเป็นจริงของไทยที่ยังมีการใช้วาทกรรม “ล้มเจ้า” หรือ “ล้วมสถาบันกษัตริย์” และวาทกรรม “จาบจ้วงเบื้องสูง” เพื่อไล่ล่าเอาผิดทางกฎหมายกับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย แถมยังใช้ข้ออ้างเหล่านี้ทำรัฐประหารปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้เสมอ หรือกองทัพมีอภิสิทธิ์ปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มประชาธิปไตยได้เสมอ ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่าประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยดังที่หลอกตัวเองและลวงโลกมายาวนาน 

ความไม่เป็นประชาธิปไตยภายใต้อภิสิทธิ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างประชาชนฝ่ายต้องการสร้างการเมืองการปกครองให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยได้จริง กับฝ่ายกษัตริย์นิยมเสมอมา

แต่เมื่อพิจารณ์ตามหลัการ เหตุผล และข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา ราษฎรที่เสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ย่อมไม่ใช่ข้อเสนอที่ “สุดโต่ง” ดังที่ถูกล่าวหา หากเป็นข้อเสนอทางออกที่เป็น “สายกลาง” ที่สุดแล้ว เพราะเป็นข้อเสนอให้มี “กติกากลาง” ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ฟรีและแฟร์แก่ทุกฝ่ายที่เห็นต่างกันได้ใช้เวทีรัฐสภาอภิปรายถกเถียงกันว่า จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักการ เหตุผล ข้อเท็จจริงอะไร เมื่อทุกฝ่ายที่เห็นต่างถกเถียงกันอย่างเต็มที่ถึงที่สุดแล้ว ก็ลงมติและต้องยอมรับเสียงข้างมาก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้มี “การทำประชามติ” โดยประชาชนทั้งประเทศ โดยเปิดให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างได้รณรงค์อย่างเสรี สุดท้ายแล้วผลการลงประชามติเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับตามนั้น

ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายปกป้องสถาบันต่างหากที่ “สุดโต่ง” เพราะถืออภิสิทธิ์ห้ามปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเป็นการบังคับให้เป็นไปตามความเห็นของพวกตนแต่ฝ่ายเดียว และที่ประหลาดคือ การกระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การข่มขู่คุกคามฝ่ายเห็นต่าง จนถึงการทำรัฐประหารในนามปกป้องสถาบันเพื่อให้สังคมตกอยู่ในสภาพบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของพวกตนแต่ฝ่ายเดียวกลับหลอกลวงกันมาตลอดว่าเป็นการใช้ “สิทธิ” ปกป้องสถาบัน ทั้งๆ ที่เป็น “อภิสิทธิ์” ในการผูกขาดการปกป้องสถาบันแต่ฝ่ายเดียวมายาวนาน

ทางออกจึงต้องทำให้การปกป้องสถาบันเป็น “สิทธิเท่าเทียม” ของประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเวทีสภาและพื้นที่สาธารณะในการรณรรงค์ของมวลชนเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการลงประชามติภายใต้กติกที่เสรีและเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่มีวันสิ้นสุด!

 

หมายเหตุ: อ่านบทความที่ผู้เขียนอ้างถึงได้ที่ http://csbp.mcu.ac.th/First%20Step%20Journal%20Issue%202.pdf?fbclid=IwAR1RBpDbCK5_MZiglH4jCUE1sQ3svpYOXIdmgqpitSidYRjfdcdsmnnkOUI
 

ที่มาภาพ: https://www.isranews.org/article/isranews-short-news/92980-isranews-219.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท