รอบโลกแรงงาน ตุลาคม 2020

จำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันร่วงลงต่ำกว่า 700,000 คน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ข้อมูลจากทางการไต้หวัน พบว่าหากจำแนกตามประเภทของแรงงานต่างชาติ ภาคการผลิตลดลง 11,683 คน หรือลดลง 2.6% จากเมื่อเดือน ก.พ. 2020 อยู่ที่ 455,934 คน เมื่อสิ้นเดือน ส.ค. 2020 ที่ผ่านมาเหลือ 444,251 คน ส่วนภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้าน ลดลงจาก 263,553 คน เหลือ 254,903 คน ลดลงในสัดส่วน 3.3%

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานไต้หวันกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติลดน้อยลง มาจากการเดินทางโยกย้ายแรงงานข้ามประเทศลดลง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 วิธีแก้ปัญหาของกระทรวงแรงงานคือ ขยายระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติภาคการผลิตที่ครบกำหนด 12 ปี และภาคสวัสดิการสังคมที่ครบกำหนด 14 ปี สามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 3 เดือนไปแล้ว 2 ครั้ง และล่าสุดขยายระยะเวลาสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะครบสัญญาก่อนวันที่ 17 มี.ค. 2020 สามารถต่อสัญญาได้อีก 6 เดือน ขณะเดียวกันส่งเสริมให้นายจ้างรับโอนย้ายแรงงานต่างชาติที่ยังไม่ครบสัญญา แต่นายจ้างประสบปัญหาลดขนาดหรือปิดกิจการ

จากข้อมูลของกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันพบว่า นับตั้งแต่ดำเนินนโยบายส่งเสริมให้นายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติในไต้หวันต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 จากการเดินทางโยกย้ายข้ามประเทศเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2020 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ช่วงเวลา 3 เดือนเศษ มีนายจ้างไต้หวันต่อสัญญากับแรงงานต่างชาติคนเดิม หรือรับโอนย้ายแรงงานต่างชาติคนใหม่แล้วกว่า 82,300 คน

ที่มา: Radio Taiwan International, 2/10/2020

Amazon ยอมรับมีพนักงานเกือบ 20,000 คน ติดเชื้อ COVID-19

บริษัท Amazon รายงานว่ามีพนักงานของ Amazon กับของซุปเปอร์มาร์เก็ต Whole Foods ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรวม 19,816 คนซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ รายงานการติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-19 ก.ย. 2020 โดยตัวเลขดังกล่าวนับเป็นสัดส่วน 1.44% ของพนักงานราว 1.37 ล้านคนของบริษัท Amazon

เมื่อหลายเดือนที่แล้วกลุ่มพนักงานคลังสินค้าของ Amazon ได้แสดงความกังวลว่าทางบริษัทไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อใช้มาตรการช่วยป้องกันพนักงานไม่ให้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และหลังจากที่ทางบริษัทไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขพนักงานที่ติดเชื้อถึงแม้จะมีการเรียกร้องกดดันจากกลุ่มแรงงาน หน่วยงานกำกับดูแลและบรรดานักการเมืองก็ตาม พนักงานของ Amazon จึงใช้วิธีรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อในสถานที่ทำงานต่าง ๆ ของบริษัทผ่านทางระบบ crowdsourced database

ในปีนี้มีพนักงานของบริษัท Amazon เสียชีวิตจาก COVID-19 อย่างน้อยแปดคนอย่างไรก็ตามทางบริษัทระบุว่าอัตราการติดเชื้อของพนักงานในสถานที่ทำงานของตนยังต่ำกว่าในหมู่ประชากรโดยทั่วไปถึง 42% และว่าหากใช้ตัวเลขการติดเชื้อในชุมชนเป็นเกณฑ์แล้วพนักงานของ Amazon จะติดเชื้อ COVID-19 สูงถึง 33,952 คน

บริษัท Amazon ประกาศด้วยว่าทางบริษัทได้ให้ความสนใจเรื่องการตรวจหาเชื้อในกลุ่มพนักงานในสถานที่ทำงานต่าง ๆ และขณะนี้สามารถทำการตรวจหาเชื้อได้วันละหลายหมื่นครั้งด้วยกัน รวมทั้งตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อขึ้นเป็นราว 5 หมื่นครั้งต่อวันภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และว่าทางบริษัทจะใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์จากผลกำไรที่คาดว่าจะทำได้ 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสที่สองสำหรับแผนงานการตรวจหาเชื้อที่ว่านี้ด้วย

บริษัท Amazon ไม่ได้เป็นนายจ้างรายใหญ่ของสหรัฐฯ รายเดียวซึ่งคนทำงานติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก เพราะ Walmart บริษัทผู้ค้าปลีกและผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐก็ได้ประกาศเมื่อเดือน เม.ย. 2020 ที่ผ่านมาว่ามีพนักงานของบริษัทไม่ถึง 1% จากคนทำงานทั้งหมดราว 1.5 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรค COVID-19

ที่มา: VOA, 3/10/2020

Philippine Airlines เตรียมปลดพนักงาน 35% ภายในปี 2020

Philippine Airlines สายการบินแห่งชาติของฟิลิปปินส์เตรียมปลดพนักงานประมาณ 2,500 คน คิดเป็น 35% จากพนักงานทั้งหมดกว่า 7,000 คน ภายในสิ้นปี 2020 นี้ เพื่อปรับโครงสร้างรับมือสถานการณ์ COVID-19  และยังระบุว่าสายการบินให้บริการเที่ยวบินได้ไม่ถึง 15% ของจำนวนเที่ยวบินรายวันทั้งหมดในช่วงก่อน COVID-19 ระบาด หลังทางการฟิลิปปินส์ใช้มาตรการเข้มงวดมาเป็นเวลา 8 เดือน ขณะที่ PAL Holdings บริษัทแม่ของฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วงครึ่งปี 2020

ที่มา: rappler.com, 5/10/2020

แรงงานอินโดนีเซียประท้วงกฎหมายแรงงานฉบับใหม่

ชาวอินโดนีเซียนำโดยผู้นำสหภาพแรงงานและนักศึกษาเดินขบวนในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งกรุงจาการ์ตา รวมทั้งอีกหลายเมืองบนเกาะสุมาตรา และสุลาเวสีเพื่อประท้วงรัฐบาลซึ่งได้ออกกฎหมายใหม่ที่กลุ่มดังกล่าวเห็นว่าเอื้อต่อนายทุนและมีการปรับปรุงกฎหมายมากกว่า 70 มาตราเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยกลุ่มแรงงานในอินโดนีเซียเห็นว่ากฎหมายใหม่ดังกล่าวจะกระทบต่อการจ้างงาน เนื่องจากจะทำให้แรงงานสูญเสียเงินบำนาญและเงินประกัน หากมีการทำสัญญาเป็นพนักงานตลอดชีพกับบริษัท ขณะที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นกฎหมายที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนวันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง และผลประโยชน์จ่ายเงินชดเชยจากเดิม 32 เท่าเหลือเพียง 23 เท่า โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าการมอบเงินชดจำนวนมากนั้นเป็นการเอื้อเฟื้อต่อแรงงานที่มากเกินไป และขัดขวางไม่ให้เกิดการจ้างงานในอนาคต

กฎหมายฉบับนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อกลุ่มแรงงาน และนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ โดยผู้นำสหภาพแรงงานคาดว่าจะมีแรงงานเข้าร่วมการชุมนุมราว 2 ล้านคนในการประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน อย่างไรก็ตามหลังจากการชุมนุมผ่านไปได้ไม่ถึงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียได้ใช้แก๊สน้ำและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มแรงงานและนักศึกษาที่ออกมาประท้วง

ที่มา: Channel News Asia, 7/10/2020

ศรีลังกาพบคนงานในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ติด COVID-19

ศรีลังกาพบคนงานในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ส่งออกให้สหรัฐฯ ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวน 1,026 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเภทไม่แสดงอาการ ทั้งนี้โรงงานตั้งอยู่ใกล้กรุงโคลอมโบ และจ้างงานทั้งหมด 1,700 คน

ที่มา: news.yahoo.com, 7/10/2020

3 สนามบินในอังกฤษ เตรียมปลดพนักงาน 900 ตำแหน่ง

8 ต.ค. สนามบิน 3 แห่งในอังกฤษ เตรียมปลดพนักงาน 900 ตำแหน่ง หลังจำนวนผู้เดินทางลดลง และมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลใกล้สิ้นสุด โดยกลุ่ม MAG ได้เริ่มเจรจากับสหภาพแรงงาน  โดยจะมีการลดพนักงานในสนามบิน Manchester 465 ตำแหน่ง ในสนามบินแมนเชสเตอร์ สนามบิน London Stansted 376 ตำแหน่ง และสนามบิน East Midlands อีก 51 ตำแหน่ง MAG ยัรงระบุว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มุ่งลดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจการบินหลังจากนี้ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค. 2020 สนามบินทั้ง 3 แห่งมีจำนวนผู้โดยสาร 2.8 ล้านราย ลดลงจาก 30.8 ล้านราย ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา: theguardian.com, 7/10/2020

ไต้หวันยังไม่อนุญาตเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติมาทำงานก่อสร้างภาคเอกชน

กระทรวงเศรษฐการไต้หวันได้เสนอให้งานก่อสร้างภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ อาคารพาณิชย์ อาคารบ้านที่มีพื้นที่ก่อสร้างมากกว่า 5,000 ตร.เมตร หรือ 20,000 ผิงขึ้นไป ระยะเวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ เพื่อผ่อนคลายภาวะขาดแคลนแรงงาน และเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านแพงขึ้น แต่ข้อเสนอข้างต้น ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานหรือกลุ่ม NGO อย่างหนัก ผลก็คือที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและที่ปรึกษาด้านนโยบายกำลังแรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2020 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ

จากสถิติของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2020 ในไต้หวันมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวน 699,154 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่หรือ 427,565 คน ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาเป็นภาคสวัสดิการสังคมมีจำนวน 254,903 คน ตามมาด้วยการเกษตรและประมง 11,753 คน ส่วนภาคการก่อสร้างมีจำนวน 4,933 คน ในจำนวนนี้ เป็นคนงานไทยมากที่สุด 3,200 คน หรือครองสัดส่วนร้อยละ 65 ตามด้วยเวียดนาม 1,211 คน อินโดนีเซีย 485 คนและฟิลิปปินส์ 37 คน 

ที่มา: Radio Taiwan International, 9/10/2020

COVID-19 ส่งผลให้แรงงานภาคท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ตกงาน 4.8 ล้านราย

กระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการท่องเที่ยวของประเทศกว่า 4.8 ล้านราย จากแรงงานในทั้งอุตสาหกรรมที่ 5.7 ล้านคน

ทั้งนี้การสั่งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศยังทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปถึง 77% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเมื่อปี 2019 ฟิลิปปินส์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 8.26 ล้านราย และมีนักท่องเที่ยวในประเทศ 110 ล้านราย

ที่มา: daijiworld.com, 14/10/2020

นายจ้างไต้หวันเรียกร้องแก้กฎหมาย อนุญาตแรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมืออยู่ทำงานในไต้หวันได้เกินกว่า 12 ปี

ข้อกำหนดที่จำกัดแรงงานต่างชาติทำงานในไต้หวันได้ไม่เกิน 12 ปี เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการแล้ว มีนายจ้างจำนวนมากโอดครวญแรงงานต่างชาติของตน ฝึกฝนมาจนเชี่ยวชาญในหน้าที่การงาน แต่ต้องเดินทางกลับประเทศเพราะครบกำหนดระยะเวลาทำงาน 12 ปี และไม่สามารถกลับมาทำงานที่ไต้หวันได้อีก นายจ้างต้องนำเข้าแรงงานคนใหม่มาฝึกฝนต่อ กลายเป็นความสูญเสียใหญ่หลวงของภาคอุตสาหกรรมไต้หวัน

แรงงานเนื่องจากอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไต้หวันต้องเผชิญกับปัญหาและภาวะวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การปันผลทางประชากร หรือการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรหมดสิ้นลงไปในปี 2027 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ทำให้ไต้หวันประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือระดับปานกลาง หรือแรงงานกึ่งฝีมือ เช่นพนักงานประกอบเครื่องจักร พนักงานควบคุมเครื่องจักร และพนักงานการผลิตเป็นต้น จากการสำรวจของกระทรวงเศรษฐการพบว่า ภาคการผลิตของไต้หวันขาดแคลนแรงงานระดับปานกลางสูงถึง 210,000 คน ส่วนใหญ่เป็น ดังนั้นคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน ได้ร่างกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มการว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือ ได้แก่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมือและทำงานในไต้หวันครบ 6 ปีขึ้นไป ยกระดับให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ หรือนักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาในไต้หวันระดับมัธยมปลายหรืออาชีวศึกษาสามารถเข้าทำงานได้ โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 41,393 เหรียญไต้หวัน สำหรับแรงงานในภาคการผลิต และผู้อนุบาลในครัวเรือนจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 32,000 เหรียญ เพื่อยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ซึ่งจะไม่ถูกจำกัดระยะเวลาทำงานเหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไปอีกต่อไป แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ

นางเฉินเหม่ยหลิง อดีตประธานคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติแถลงว่า ปัจจุบันหลายประเทศใช้มาตรการและเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ ดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะฝีมือเดินทางไปทำงานในประเทศ ไต้หวันจะมีความคิดต่อต้านหรือไม่ต้อนรับชาวต่างชาติไม่ได้ เนื่องจากทุกวันนี้ ไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะแรงงานกึ่งฝีมือ จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ขาดแคลนกว่า 210,000 คน แต่ตามกฎหมายการจ้างงานในปัจจุบัน แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตทำงานได้ไม่เกิน 12 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ต้องเดินทางกลับประเทศ ไม่สามารถอยู่ทำงานในไต้หวันได้ต่อไป จึงมีนายจ้างจำนวนมากสะท้อนว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่เราได้ฝึกและสอนเทนิคการทำงานให้แรงงานต่างชาติมาเป็นเวลา 12 ปี จนมีทักษะฝีมือและเชี่ยวชาญในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก แต่แล้วไม่ให้อยู่ทำงานต่อไป สุดท้ายพวกเขาก็ถูกประเทศอื่น ๆ แย่งตัวไป นอกจากแรงงานภาคการผลิตแล้ว แรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม เช่นผู้อนุบาลในครัวเรือน ซึ่งทำงานได้ไม่เกิน 14 ปี ผู้อนุบาลต่างชาติเหล่านี้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ถูกดูแล มีความไว้วางใจและมีความผูกพันซึ่งกันและกัน กฎหมายกลับบังคับให้พวกเขาอยู่ทำงานในไต้หวันต่อไปไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล ทำไมไม่ให้แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตและภาคสวัสดิการสังคมซึ่งไต้หวันมีความต้องการเป็นอย่างมาก ยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ อยู่ทำงานในไต้หวันต่อไปได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะถูกหลักสิทธิมนุษชน ยังสอดคล้องกับความต้องการของชาวไต้หวันและอุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวันด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ระยะเวลาทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติยังเหมือนเดิม ภาคการผลิต รวมสะสมแล้วไม่เกิน 12 ปี ภาคสวัสดิการสังคมไม่เกิน 14 ปี

ที่มา: Radio Taiwan International, 14/10/2020

Cathay Pacific เตรียมลดพนักงานทั่วโลก 8,500 ตำแหน่ง

สายการบิน  Cathay Pacific ประกาศแผนลดพนักงานทั่วโลก 8,500 ตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งงานในฮ่องกงถึง 5,300 ตำแหน่ง และงดรับพนักงานใหม่ รวมทั้งปิดสายการบินในเครือ เพื่อให้รอดจากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID-19

ที่มา: scmp.com, 21/10/2020

ILO กังวลต่อพิษเศรษฐกิจที่กระทบแรงงานผลิตเสื้อผ้า

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่าสตรีที่ทำงานโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบเชิงลบจากวิกฤต COVID-19

ILO กล่าวว่าคนงาน 40% ถูกพักงานหรือเลิกจ้าง เนื่องจากวิกฤต COVID-19 และ 1 ใน 3 ของพวกเขายังไม่ได้กลับไปทำงาน ส่วนผู้ที่กลับไปทำงานแล้วสูญเสียการคุ้มครองสิทธิ์ด้านแรงงานที่เคยได้มาอย่างยากลำบาก

ผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ลดการผลิต และทำให้คนงานขาดรายได้รวมกันคิดเป็นเงิน 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามรายงานขององค์กร Clean Clothes Campaign

องค์การสหประชาชาติรายงานว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีคนงานโรงงานเครื่องนุ่งห่มราว 65 ล้านคน คำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ฝั่งตะวันตกลดลงรุนแรงในระดับที่อาจสูงถึง 70% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020

แม้ว่าทิศทางขาลงอาจจะไม่รุนแรงเท่าเมื่อต้นปีในหลายศูนย์การผลิต แต่ขณะนี้คนงานในบางประเทศเช่นบังคลาเทศที่มีแรงงานโรงงานเสื้อผ้า 70,000 คนถูกเลิกจ้าง เผชิญกับความเสี่ยงต่อสภาพความยากจนอย่างรุนแรง

นักรณรงค์ด้านสิทธิคนงานยังกังวลด้วยว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลดทอนความเข้มเเข็งของสหภาพแรงงานในกัมพูชา ไทยและเมียนมา

ที่มา: VOA, 22/10/2020

ผลโพลระบุชาวอเมริกันราว 1 ใน 4 คิดอยากลาออกช่วง COVID-19

ผลสำรวจจาก AP ร่วมกับศูนย์วิจัย NORC และบริษัทซอฟต์แวร์ SAP พบว่า 25% ของแรงงานอเมริกัน พิจารณาแผนลาออกจากงานช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

โดยกลุ่มแรงงานรายได้น้อย มีแนวโน้มจะลาออกจากงานมากกว่า โดย 39% ของลูกจ้างที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ต่อปี คิดอยากออกจากงานช่วงโควิด ขณะที่ 23% ของผู้ที่มีรายได้ครัวเรือนสูงกว่านั้นคิดอยากออกจากงาน

ในการสำรวจพบว่า 7 ใน 10 ของพนักงานชาวอเมริกัน มองว่า การรับมือกับงานพร้อมๆกับภาระอื่นๆ ช่วงโควิด-19 ระบาด สร้างความเครียดให้กับพวกเขามากขึ้น และความกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดระหว่างทำงานนอกบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจ

เมื่อถามถึงความพึงพอใจในการรับมือโควิด-19 ของนายจ้างอเมริกันช่วงนี้ 57% ของชาวอเมริกันในการสำรวจ บอกว่า นายจ้างของพวกเขา รับมือกับช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสได้ดี ส่วนอีก 24% บอกว่าทำได้ดีกว่าที่คาดหวัง และอีก 18% บอกว่า นายจ้างยังมีการรับมือโควิดได้ไม่เพียงพอ ในการป้องกันพนักงานจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากการทำงาน

ส่วนชาวอเมริกันที่ทำงานจากบ้านในการสำรวจนี้ ราว 65% บอกว่านายจ้างคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพของลูกจ้างได้ดี แต่มีเพียง 50% ของชาวอเมริกันที่ต้องทำงานนอกสถานที่ช่วงโควิดมองแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันในการสำรวจ เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มวันลาป่วยให้ลูกจ้างมากขึ้น เพิ่มการสนับสนุนเรื่องบริการการดูแลบุตรและบริการที่ปรึกษาด้านปัญหาสุขภาพจิต ช่วงการระบาดของโควิด-19

ที่มา: VOA, 22/10/2020

KFC เตรียมจ้างงานในสหราชอาณาจักร 5,400 ตำแหน่ง ภายในสิ้นปี 2020

KFC เปิดเผยว่ามีแผนที่จะสร้างงาน 5,400 ตำแหน่ง ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ภายในสิ้นปี 2020 แม้ว่าร้านสาขาของ KFC หลายสาขาอยู่ในพื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19  ปัจจุบัน KFC มีร้านอยู่ 965 สาขาทั่วสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ทั้งนี้บางส่วนของงานใหม่จะได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ Kickstart ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยคนหนุ่มสาวจ้างงานกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุ 16-24 ปีต้องตกงานเป็นจำนวนมากในวิกฤต COVID-19

ที่มา: BBC, 23/10/2020

ANA ประกาศแผนลดพนักงาน 3,500 คน ภายในปี 2022

สายการบิน All Nippon Airways หรือ ANA ประกาศแผนลดพนักงาน 3,500 คน ภายในปี 2022 พร้อมทั้งจะถ่ายโอนพนักงานไปให้ Toyota Motor Corp และค่ายรถยนต์อื่น ๆ เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรที่จะรวมถึง การลดต้นทุน การเลิกจ้างงานพนักงานใหม่ และการลดต้นทุนด้านบุคลากร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของค่าใช้จ่ายตายตัวของบริษัท

ที่มา: investing.com, 24/10/2020

ญี่ปุ่นเผยตำแหน่งงานว่างเดือน ก.ย. 2020 ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี

กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตำแหน่งงานว่างของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. 2020 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยแรงงานจำนวนมากกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ เริ่มกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่อัตราตำแหน่งงานว่างลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.03 จากระดับ 1.04 ในเดือน ส.ค. 2020 ซึ่งปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน และเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2013

ที่มา: kyodonews.net, 30/10/2020

อินโดนีเซียผ่านกฎหมายสร้างงานรับผลกระทบ COVID-19

รัฐบาลอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเปิดประเทศต้อนรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน ด้วยจุดประสงค์ที่จะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจ แต่ยังมีการต้านท้านจากภายในประเทศที่ีมองว่า นโยบายนี้ส่งผลเสียต่อแรงงาน

กฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า Omnibus Bill on Job Creation และมีความยาว 905 หน้า จะเปิดโอกาสให้ชาวอินโดนีเซียที่อายุยังไม่มากได้หางานทำ โดยรวมถึงงานตำแหน่งที่หายาก เป็นเพราะกฎหมายฉบับเก่าของประเทศที่ไม่เอื้อให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมาตั้งโรงงานใหม่ ตามความเห็นของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่เพราะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการปิดกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้ประชาชนขาดรายได้ ขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกและการส่งออกของประเทศประสบภาวะยอดขายดิ่งมาตลอด

โยเซ ริซาล ดามูริ หัวหน้าแผนกเศรษฐศาสตร์ จากศูนย์ Center for Strategic and International Studies ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า คาดกันว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เข้าไปยังส่วนงานที่เน้นการใช้แรงงาน เพื่อที่จะสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพและอยู่ถาวร ไม่ใช่เพียงงานชั่วคราว

ริซาล กล่าวต่อว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด้ มองว่า กฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อประชากร 270 ล้านคนของประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีองค์ประกอบหลักเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำมัน และการเกษตร ขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานยังเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนสูงเกินไปในสายตานักลงทุน จนทำให้มีสัดส่วนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนในประเทศ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนในหมวดเสื้อผ้า รองเท้า และสิ่งทอ จากต่างประเทศที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมักไหลไปสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำ และมีกฎหมายเอื้ออำนวย เช่น เวียดนาม จนทำให้ระดับความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการจังหวัดบางรายได้ร้องขอให้ปธน.วิโดโด้ ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้แล้ว ขณะที่มีการเดินประท้วงต่อต้านเรื่องนี้เช่นกัน โดย ปารามิตา สุปามิโจโต อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย บินา นุซานตารา กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้ลดอำนาจของสหภาพแรงงาน และ Amnesty International หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า กฎหมายนี้ จำกัดแรงสนับสนุนด้านกฎหมายในการรับประกันการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่ปลอดภัย และป้องกันการใช้งานล่วงเวลาเกินความจำเป็น

ที่มา: VOA, 30/10/2020

สิงคโปร์เผยอัตราว่างงานไตรมาส 3/2020 พุ่ง 3.6% สูงสุดในรอบ 17 ปี

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower) เผยอัตราวการว่างงานของประชาชนในไตรมาสที่ 3 ปี 2020 ว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% นับเป็นอัตราว่างงานที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ขณะที่หน่วยงานการเงินของสิงคโปร์ เผยว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มไปในแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่สม่ำเสมอ แต่คาดว่าตลาดแรงงานของสิงคโปร์จะขยายตัวในปีหน้า หลังจากที่ธนาคารกลางสิงคโปร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวที่ 5-7% ในปีนี้

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์ได้ใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ไปแล้วมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2 ล้านล้านบาท) โดยรวมการอุดหนุนค่าแรง และการผ่อนผันค่าเช่าให้เจ้าของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนที่จะเพิ่มมาตรการสนับสนุนทางการเงินในช่วงต้นปีหน้าอีกด้วย

ที่มา: malaymail.com, 30/10/2020

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท