Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดีที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตจร เหยื่อถูกซ้อมทรมาน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องกลับ อ้างเบิกความเท็จ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ตั้งข้อสังเกตก่อนที่ศาลจะสืบพยานคดีหลัก มีความพยายามจะไกล่เกลี่ยให้ฤทธิรงค์ถอนฟ้องตำรวจ แต่เมื่อไม่ถอนฟ้องจึงถูกฟ้องกลับ

2 พ.ย. 2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อถูกซ้อมทรมาน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องกลับ ซึ่งศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ดาบตำรวจนายหนึ่ง(โจทก์)ทำร้ายร่างกายฤทธิรงค์(จำเลย) โดยใช้มือตบที่ศีรษะของฤทธิรงค์  ดังนั้นการที่ฤทธิรงค์ฟ้องคดีกล่าวหาว่าดาบตำรวจนายนั้นทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้ฤทธิรงค์ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ  จึงเป็นการฟ้องไปตามข้อเท็จจริง การกระทำของฤทธิรงค์ย่อมไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ และเมื่อไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 ดาบตำรวจนายหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องกลับฤทธิรงค์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 สาเหตุเนื่องมาจากกรณีฤทธิรงค์ได้เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 925/2558 ว่าเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ(ซ้อมทรมาน) และในคำฟ้องฤทธิรงค์ได้กล่าวหาว่าดาบตำรวจนายหนึ่งทำร้ายร่างกายตนโดยใช้มือตบศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ  ดาบตำรวจนายนี้ได้ฟ้องกลับฤทธิรงค์ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 925/2558 ยังอยู่ระหว่างศาลนัดสืบพยาน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 ศาลจังหวัดปราจีนบุรี(ชั้นต้น)พิพากษาว่า ฤทธิรงค์มีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จตามคำฟ้องของดาบตำรวจดังกล่าว ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี  คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรีอ่านนั้นระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตรวจสำนวนประชุมคดีแล้ว ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะในคำฟ้องของคดีอาญาหมายเลขดำที่ 925/2558 ซึ่งฤทธิรงค์ได้กล่าวหาว่า เมื่อวันที่  28 ม.ค. 2552 ดาบตำรวจนายนี้ทำร้ายร่างกายตนโดยใช้มือตบศีรษะนั้น ศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่ฤทธิรงค์กล่าวหา แต่เป็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เท่านั้น ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี เมื่อเหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 แต่ฤทธิรงค์นำคดีมาฟ้องในปี 2558 จึงเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันกระทำผิดตามฟ้อง คดีจึงขาดอายุความ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ข้อเท้จจริงย่อมรับฟังได้ว่า การที่ฤทธิรงค์ฟ้องคดีกล่าวหาดาบตำรวจดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องตามข้อเท็จจริง ย่อมไม่ผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีนี้ ตำรวจฟ้องกลับฤทธิรงค์ ในระหว่างที่ศาลนัดสืบพยานในคดีหลักซึ่งฤทธิรงค์ฟ้องว่าตนถูกตำรวจหลายนายซ้อมทรมานตนในห้องสอบสวนของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยศพันตำรวจตรีรวมอยู่ด้วย การฟ้องกลับจึงเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน เพราะดาบตำรวจนายนี้ทราบดีอยู่แล้วว่าศาลให้ตนพ้นความผิดเพราะคดีขาดอายุความ โดยศาลเห็นว่าได้มีการทำร้ายร่างกายฤทธิรงค์แต่มาฟ้องเกิน 1 ปีจึงขาดอายุความ มีข้อน่าสังเกตว่าก่อนที่ศาลจะสืบพยานคดีหลักนั้น ได้มีความพยายามจะไกล่เกลี่ยให้ฤทธิรงค์ถอนฟ้องตำรวจที่ตกเป็นจำเลยซึ่งฤทธิรงค์กล่าวหาว่าซ้อมทรมาน แต่ฤทธิรงค์ไม่ถอนฟ้อง ต่อมาดาบตำรวจนายนี้จึงฟ้องกลับฤทธิรงค์  ต่อมาคดีหลักดังกล่าวทั้งศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกและปรับตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ลงมือซ้อมทรมานฤทธิรงค์ แล้ว แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา

พรเพ็ญ กล่าวอีกว่า การซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของประเทศไทย ดังกรณีฤทธิรงค์ กว่าจะได้มาซึ่งคำพิพากษาศาลลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดนั้น ยุ่งยากลำบากและยาวนานในการดิ้นรนเรียกร้องหาความยุติธรรม กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของฤทธิรงค์ ได้พาลูกซึ่งตกเป็นเหยื่อซ้อมทรมาน เดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐหลายสิบหน่วยงาน รวมทั้ง ป.ป.ช. ป.ป.ท. ด้วย แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเพื่อจัดหาทนายความมาช่วยดำเนินคดีให้ฤทธิรงค์เป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง  นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากทั่วประเทศที่ยังไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมจากการถูกซ้อมทรมาน และมิได้มีการนำเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องตระหนักและจริงจังกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในปัญหาการซ้อมทรมานมิให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดดังเช่นคดีนี้ รวมถึงกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายด้วย ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนได้พยายามผลักดันให้รัฐตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยมีร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่รัฐสภาแล้ว ก็อยากเรียกร้องให้รัฐสภาได้เร่งพิจารณาเพื่อตรากฎหมายดังกล่าวให้ออกมาใช้บังคับโดยเร็วต่อไป” พรเพ็ญกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net