Skip to main content
sharethis

ในการประชุมหารือถึงรูปแบบโครงสร้างกรรมการปรองดอง ชวน หลีกภัยระบุยังไม่ได้หารือว่าจะใช้รูปแบบใด ด้านวิปฝ่ายค้านไม่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแต่ต้องฟังเสียงผู้ชุมนุมและประชาชนไม่ยอมรับก็ไม่เข้าร่วม ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนชวนแจ้งว่ามีผู้ลงชื่อในร่างเป็นแสนจึงจะบรรจุเข้าวาระประชุมร่วมรัฐสภา 17 พ.ย.นี้

3 พ.ย.2563 หลังจากเมื่อวานนี้(2 พ.ย.) ชวน หลีกภัยในฐานประธานสภาผู้แทนราษฎรแถลงว่าทางสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาโดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 รูปแบบ แบบแรกคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ 7 ฝ่าย และแบบที่สองหาคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ ซึ่งชวนได้เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภาด้วย

มติชนออนไลน์รายงานถึงการประชุมวันนี้ที่มีการหารือถึงรูปแบบโครงสร้างกรรมการปรองดองที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอไว้ทั้ง 2 แนวทางโดยมีผู้ร่วม ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รวมทั้ง วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน

ชวนให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ได้หารือว่าจะใช้รูปแบบคณะกรรมการรูปแบบใด แต่จะนำความเห็นที่ได้จากการหารือส่งให้สถาบันพระปกเกล้ารับทราบอีกครั้ง และตนเห็นว่าไม่ควรรับเป็นประธานคณะกรรมการนี้ ควรรับภาระประสานให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน แต่กรณีใดที่ตนทำแล้วเป็นประโยชน์ก็ยินดีทำ

ชวนตอบประเด็นที่เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภาตามที่ให้ข่าวไว้เมื่อวานนี้ วันนี้ชวนได้ระบุชื่ออดีตนายกฯ ที่ตนประสานทางโทรศัพท์แล้วทั้งหมด 4 คนคืออานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 3 คนแรกยินดีเข้าร่วมและจะพบเป็นการส่วนตัวอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถติดต่อสมชายได้เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสุขภาพ

สุทิน คลังแสงกล่าวว่าฝ่ายค้านจะเข้าร่วมคณะกรรมการหรือไม่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนแรกที่เชิญทุกฝ่ายมาหารือ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับให้มีคณะกรรมการชุดนี้จึงจะไปสู่ขั้นที่สองคือโครงสร้างคณะกรรมการ แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ยอมรับฝ่ายค้านก็คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วม โดยเฉพาะความเห็นจากฝ่ายผู้ชุมนุมถ้าไม่ยอมรับคณะกรรมการฝ่ายค้านก็จะไม่ร่วมด้วย เพราะการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ต้องเอาผู้ชุมนุมและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่สุทินชื่อว่าการหารือขั้นตอนแรกจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการหารือไม่กี่คน คือมี ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม นักวิชาการ และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อนำมาข้อเสนอทั้ง 2 แบบของสถาบันพระปกเกล้ามาพิจารณา ซึ่งอาจมีการสร้างรูปแบบที่ 3 ขึ้นมาเอง

ในประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย สุทินกล่าวว่าต้องดูว่ากรรมการชุดนี้ ผู้ชุมุนมหรือประชาชนคิดว่ากรรมการชุดนี้จะเป็นทางออก เขาก็จะรอว่านายกฯ จะลาออกหรือไม่ ถ้ากรรมการชุดนี้ครอบคลุมเงื่อนไข ฝ่ายค้านก็ต้องพิจารณาไปตามของตกลงที่แต่ละฝ่ายพิจารณาร่วมกัน

ในรายละเอียดของคณะกรรมการทั้ง 2 รูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอไว้เมื่อวานนี้ ข่าวสดออนไลน์รายงานตามที่ชวนให้สัมภาษณ์ว่ารูปแบบแรกที่ให้ตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่าย ที่เสนอโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์นั้นจะมีตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เช่น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น ถ้ามองผิวเผินจะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ถือว่าน่ากังวล และหากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุม ก็จะไม่ครบองค์ประชุม หรือหารือไม่นานก็อาจจะล่ม

ชวนกล่าวถึงรูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหาหรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่เราไปทาบทามจะรับหรือไม่ เพราะด้วยเป้าหมายของงาน เขาก็ต้องดูปัญหาที่เขาจะเข้ามาดูนั้นมันคือเรื่องอะไร

ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์จะถูกบรรจุเข้าวาระประชุมร่วมแก้รัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นวันนี้เดลินิวส์รายงานถึงประเด็นการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณษร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับและร่างฉบบับไอลอว์ว่าจากการหารือทุกฝ่ายแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์จะถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาได้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.เป็นต้นไป เนื่องจากมีผู้แจ้งว่ามีผู้ลงชื่อในร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นแสนคน โดยมีเพียง 400 กว่าคนที่ไม่ได้มีการลงชื่อแก้ไข จึงไม่มีปัญหาอะไร

ชวนกล่าวว่าได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เข้าบรรจุวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมต้องแจ้งวาระให้ที่ประชุมทราบล่วงหน้า 3 วัน ดังนั้นจึงเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 14-16 พ.ย.นี้ ทำให้จะเริ่มประชุมได้ในวันที่ 17 พ.ย. ส่วนอีก 6 ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...)พ.ศ. ... ก่อนรับหลักการ รัฐสภา พิจารณาเสร็จแล้วจะพิจารณาในวันที่ 17 เช่นเดียวกัน โดยหลังจากพิจารณาร่างแก้ไข 6 ฉบับเสร็จแล้วจึงจะนำฉบับของไอลอว์เข้าพิจารณาต่อ ซึ่งมีการหารือว่าการพิจารณาวันที่ 17 พ.ย.วันเดียวจะพอหรือไม่เพราะการลงมติต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ถ้าไม่ทันจะพิจารณาในวันที่ 18 ต่อ

วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลกล่าวถึงการการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 2-3 ว่าจะใช้เวลา 30 วันหรือ 45 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net