นักกิจกรรมที่ร่วมม็อบช่วงกันยายน-ตุลาคมเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา 4 คดีจาก 4 สน.ในวันเดียว 2 ดาวดินไม่ได้ร่วมม็อบยังถูกตำรวจออกหมายเรียกโดยคาดเดาจากภาพทั้งที่ไม่ใช่ 1 ใน 2 แสดงหลักฐานยืนยันจนตำรวจไม่แจ้งข้อหาแล้ว
3 พ.ย.2563 เวลา 13.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่สน.ชนะสงคราม นักกิจกรรม 12 คนผู้ถูกออกหมายเรียกและมีรายชื่อว่าจะถูกดำเนินคดีในกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน แยกเป็นคดีปราศรัยและคดีฝังหมุดคณะราษฎร 63 ในเช้าวันที่ 20 ก.ย.
นอกจากการจับกุมแกนนำ ในทั้งสองคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามยังมีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝังหมุดมารับทราบข้อหาเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง โดยนักกิจกรรมบางส่วนก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่ได้รับแจ้งว่าอยู่ในรายชื่อที่ตำรวจออกหมายเรียก รวมจำนวนทั้งหมด 17 ราย
ขณะที่ในวันนี้มีผู้เดินทางมารับทราบข้อหาจำนวน 12 ราย ได้แก่
-
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที
-
ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues”
-
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มนนทบุรีปลดแอก
-
อดิศักดิ์ สมบัติคำ
-
ธานี สะสม
-
ณัฐชนน ไพโรจน์
-
ภัทรพงศ์ น้อยผาง
-
สุวรรณา ตาลเหล็ก
-
วสันต์ เสดสิทธิ์
-
ธนชัย เอื้อฤาชา
-
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
-
สุวิชชา พิทังกร
นักกิจกรรม 12 คน ที่เดินทางมาตามหมายเรียกในวันนี้ ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไป 11 คน
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ถูกออกหมายเรียก 2คน คือ สุวิชชาและวสันต์ สมาชิกดาวดินชี้แจงกับพนักงานสอบสวนว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทั้ง 2 วันแต่อย่างใด กลับถูกออกหมายเรียกมาด้วย โดยเจ้าหน้าที่นำภาพผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวง และมีการคาดเดาว่าเป็นทั้งสองคน ทั้งที่ไม่ใช่แต่อย่างใด
ทั้งนี้สุวิชชามีพยานหลักฐานมาแสดงว่าไม่ได้อยู่ในการชุมนุมดังกล่าวพนักงานสอบสวนจึงไม่แจ้งข้อหา แต่วสันต์ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้ง 2 คนระบุว่าการถูกออกหมายเรียกดังกล่าว เป็นดำเนินการโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุมเลย ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางมาสถานีตำรวจ โดยในส่วนของวสันต์ยังต้องนั่งรถมาจากต่างจังหวัดอีกด้วย และกลับต้องมาต่อสู้คดีต่อ
คดีจากการชุมนุมและปราศรัย 19-20 ก.ย.
ในส่วนคดีการชุมนุม ผู้ต้องหา 8 คน ได้แก่ อรรถพล, ชินวัตร, ธานี, ณัฐชนน, ภัทรพงศ์, สุวรรณา, ธนชัย และ ณวรรษถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวางสิ่งของกีดขวางการจราจร และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้ง 3 ข้อหานี้มีโทษเป็นอัตราโทษปรับ
นอกนจากนั้น 4 ใน 8 คือ ธานี, ณัฐชนน , ภัทรพงศ์ และสุวรรณา นอกจากถูกแจ้ง 3 ข้อหาหลักดังกล่าวแล้วยังถูกแจ้งทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยโดยตำรวจอ้างว่าร่วมขึ้นปราศรัยโจมตีขับไล่นายกรัฐมนตรีด้วย
ขณะที่อีก 3 คนไชยอมร, อดิศักดิ์ และวสันต์ นั้น ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เพียงข้อหาเดียว เรื่องการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพียงข้อหาเดียว จากกรณีพฤติการณ์พั้งรั้วกำแพงของกรุงเทพมหานคร เข้าไปภายในสนามหลวง และกรณีพบการตัดกุญแจรอบสนามหลวง
อดิศักดิ์ ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้เพียงคดีเดียว
คดีจากการฝังหมุดคณะราษฎร
ในส่วนคดีฝังหมุดคณะราษฎร ผู้ต้องหา 4 คน ได้แก่ อรรถพล, ชินวัตร, ธนชัย และณวรรษ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา จากการฝังหมุดลงบนท้องสนามหลวง คือข้อหาร่วมกันแก้ไข ต่อเติม โบราณสถานฯ ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหาติดตั้ง ตากวาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คน คือไชยอมร และวสันต์ ถูกแจ้งเฉพาะข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เพียงข้อหาเดียว
แฟ้มภาพ ภาพขณะทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 63 ที่สนามหลวงเมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย.2563
กรณีธานี, ณัฐชนน, ภัทรพงศ์ และสุวรรณา รวม 4 คน ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เพียงข้อหาเดียว โดยในส่วนของณัฐชนนยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในเอกสารการแจ้งข้อหา เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนอ้าง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 2 คดี และขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน
2 ผู้ต้องหาต้องรายงานตัวปาสีหน้าค่ายทหารอีกคดี
นอกจากคดีเหตุชุมนุมใหญ่ 19-20 ก.ย.แล้ว วันนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานถึงคดีจากเหตุปาสีและไข่หน้าม.พัน 4 พล.1 รอ. เมื่อ 28 ก.ย.2563 ซึ่งสืบเนื่องมาจากกิจกรรม "ตามหานาย" การไปทวงถามความคืบหน้าในการลงโทษทหาร 3 นาย ที่ล็อกคอผู้ชุมนุมเพื่อบังคับลบภาพถ่ายป้ายของค่ายหลังเลิกกิจกรรมเดินขบวนยื่นชื่อแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563
คดีปาสีปาไข่ใส่ค่ายทหารนี้มีผู้ต้องหา 2 คน คือ ธนชัย เอื้อฤาชา จากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (เป็น 2 ผู้ต้องหาจากคดี 19-20 ก.ย.) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.เตาปูน
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาธนชัยและณัฐชนนรวม 5 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมั่วสุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งสองให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือในรายละเอียดภายในเวลา 15 วัน ภายหลังพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายให้มารายงานตัวเพื่อดำเนินการต่อไปในวันที่ 1 ธ.ค. 2563
นอกจากทั้งสองคนนี้แล้ว ในการแจ้งข้อกล่าวหายังระบุผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นตำรวจและทหาร คือ พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ รอง ผกก.ป.สน.เตาปูน และ ร.อ.สำเนา ดำเนื้อดี ปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวร ม.พัน 4 พล.1 รอ. โดยได้รับมอบอำนาจจาก พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 4 พล.1 รอ. ให้ดำเนินคดี ภานุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และบอม (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของทหารได้กล่าวหาว่า ภานุพงศ์กับพวกซึ่งชุมนุมบริเวณหน้าทางประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ได้กระทำความผิดกฎหมายอันเป็นเหตุให้กองทัพบกได้รับความเสียหาย
ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา #ม็อบ16ตุลา
นอกจากนั้น มติชนออนไลน์ยังรายงานอีกว่า ที่ สน.ปทุมวัน อรรถพล บัวพัฒน์ ครูใหญ่ขอนแก่นพอกันที พร้อม นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มามอบตัวกับพนักงานสอบสวนหลังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีไปชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
อรรถพล กล่าวว่า นอกจากหมายจับที่ไปชุมนุมกันที่แยกปทุมวัน ในวันที่ 16 ตุลาคมที่มีการสลายการชุมนุม ยังมีหมายจับ สน.ลุมพินี เพราะไปชุมนุม ที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการลงบันทึกประจำวันเอาไว้ที่ สน. ชนะสงคราม ว่าจะมามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน พอมาถึง ก็ได้ทำบันทึกรับมอบตัวเสร็จก่อนจะก็แจ้งข้อกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือ และนัดพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง จากนั้นก็ปล่อยตัวกลับบ้าน เพราะมามอบตัวเอง
อรรถพล กล่าวอีกว่า ตอนแรกตำรวจเข้าใจผิดคิดว่าการที่มาปรากฏตัวที่ สน.ปทุมวัน คือการจับกุม แต่วันนี้ตนได้เจรจากับรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ว่าการที่มาปรากฏตัวนั้นคือการมามอบตัว
นรเศรษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้สำหรับอรรถพลแล้วหมายเรียกรับทราบข้อหา 2 แห่ง ของ สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ และ หมายจับอีก 2 แห่ง สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี ถือว่าสิ้นสุดแล้ว ดังนั้น จะไม่มีหมายอะไรแล้ว
นอกจาก 2 คดีที่กล่าวไปแล้วบ่ายวันเดียวกันนักกิจกรรม 6 คนยังไปเข้ารับทราบข้อหาคดี #ม็อบ13ตุลา ที่สน.สำราญราษฎร์ด้วยจากการกรณี คณะราษฎรอีสานชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าจับกุมคนถึง 21 คน และมีออกหมายเรียกตามหลังมาอีก 6 คน ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ชาติชาย แกดำ, อรรถพล บัวพัฒน์, กรกช แสงเย็นพันธ์, กฤษณะ ไก่แก้ว และชลธิชา แจ้งเร็ว ด้วย
แสดงความคิดเห็น