Skip to main content
sharethis

เลขาธิการสหประชาชาติแถลงเมื่อ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันหยุดยั้งการลอยนวลของอาชญากรรมต่อนักข่าวโลก งานวิจัยยูเนสโกเผยปี 49-61 มีการสังหารนักข่าวรวมกว่า 1,100 ราย ร้อยละ 90 ของกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่ายังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด


แฟ้มภาพ

อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแถลงว่า "ถ้าหากปราศจากนักข่าวผู้ที่สามารถทำงานของตัวเองอย่างปลอดภัยได้แล้ว พวกเขาจะต้องเผชิญกับโลกที่สับสนและข้อมูลบิดเบือน" 

ถ้อยแถลงนี้เป็นถ้อยแถลงเนื่องในวันหยุดยั้งการลอยนวลของอาชญากรรมต่อนักข่าวโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา กูแตร์เรสกล่าวอีกว่า ถ้าหากนักข่าวตกเป็นเป้าหมายถูกคุกคามก็จะส่งผลเสียโดยรวมต่อสังคมทั้งหมด "ถ้าหากพวกเขาไร้ซึ่งความสามารถในการคุ้มครองผู้สื่อข่าวแล้ว การที่พวกเขาจะยังคงได้รับรู้ข่อมูลข่าวสารและได้ข้อมูลที่มีส่วนในการตัดสินใจก็จะถูกขัดขวางอย่างหนัก"

จากงานวิจัยล่าสุดขององค์กรยูเนสโกระบุว่า นักข่าวต้องเผชิญกับภัยคุกคามโดยที่ผู้ก่อเหตุจำนวนมากลอยนวลไม่ต้องรับผิด จากการสำรวจเมื่อปี 2549-2561 พบว่าผู้ก่อเหตุสังหารนักข่าวรวมแล้วมากกว่า 1,100 ราย ร้อยละ 90 ของกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านี้ยังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด

ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุอีกว่าในช่วงระหว่างปี 2557-2561 มีกรณีการสังหารข่าวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 18 รายเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้านี้ สถิติระบุว่าพื้นที่ที่อันตรายมากที่สุดสำหรับนักข่าวคือพื้นที่รัฐอาหรับ ซึ่งมีกรณีการสังหารนักข่าวในอัตรา 1 ใน 3 ของทั้งหมด รองลงมาคือละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน (ร้อยละ 26) และเอเชียกับแปซิฟิก (ร้อยละ 24)

ไม่เพียงแค่ในพื้นที่ขัดแย้งเท่านั้นที่ทำให้นักข่าวเผชิญอันตราย ผู้สื่อข่าวมักจะถูกสังหารเนื่องจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเมือง, อาชญากรรม และการทุจริตคอร์รัปชันด้วย เรื่องนี้สะท้อนอยู่ในงานวิจัยซึ่งระบุว่าในปี 2560-2561 การเสียชีวิตของนักข่าวครึ่งหนึ่งมาจากพื้นที่ๆ ไม่ได้เป็นพื้นที่ขัดแย้ง

นอกจากเรื่องการสังหารแล้วแถลงการณ์ของเลขาธิการยูเอ็นยังพูดถึงเรื่องการใช้วิธีกาหรือมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ผู้สื่อข่าวทำงานยากลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "การข่มขู่เอาผิดทางกฎหมาย, การจับกุม, การคุมขัง, การปฏิเสธไม่ให้สื่อเข้าถึงแหล่งข่าว และความล้มเหลวในการสืบสวนและเอาผิดกับผู้ก่ออาชญากรรมต่อนักข่าว"

หนึ่งในกรณีอื้อฉาวที่สุดคือการสังหารนักข่าวชาวมอลตา ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย ในปี 2560 คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แอกเนส คัลลามาร์ด คอยติดตามอยู่ คัลลามาร์ดกล่าวว่าทางการมอลตาดำเนินการน้อยมากเกินไปในการสืบสวนสอบสวนกรณีการสังหารกาลิเซีย

นอกจากนี้ในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเฮติเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมาก็มีนักข่าวเป็นหนึ่งในจำนวนประชาชน 42 รายที่เสียชีวิตด้วย ทำให้มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเลิกใช้ความรุนแรงกับนักข่าว ซึ่งนอกจากผู้เสียชีวิตแล้วยังมีนักข่าวได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยอีก 9 รายจากผู้บาดเจ็บ 86 ราย

ในปีนี้ ยูเนสโก ยังได้นำเสนอโครงการรณรงค์ทางโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า #KeepTruthAlive หรือ "ทำให้ความจริงมีชีวิตรอด" พูดถึงการที่ผู้สื่อข่าวต้องเผชิญกับอันตรายใกล้ตัวพวกเขา มีร้อยละ 93 ที่เสียชีวิตจากการทำงานในพื้นที่ของตัวเอง นอกจากนี้โครงการยังได้นำเสนอแผนที่เชิงโต้ตอบที่ให้ข้อมูลว่าผู้สื่อข่าวทั้วโลกต้องเผชิญกับอันตรายในระดับใดและครอบคลุมขอบเขตมากแค่ไหน

ทั้งนี้เนื่องในวันหยุดยั้งการลอยนวลของอาชญากรรมต่อนักข่าวโลก ยังจะมีการจัดงานรำลึก 15 ประเทศทั่วโลกในวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นงานรำลึกถึงผู้สื่อข่าวชาวฝรั่งเศสสองคนที่ถูกสังหารในประเทศมาลีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2556 โดยจะมีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ รวมถึงมีงานเสวนานานาชาติเกี่ยวกับประเด็นการเสริมความร่วมมือเพื่อยับยั้งอาชญากรรมและความรุนแรงแต่นักข่าวในละตินอเมริกาที่เม็กซืโกซิตี


เรียบเรียงจาก

‘When journalists are targeted, societies as a whole, pay a price’: UN chief, UN News, 01-11-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net