Skip to main content
sharethis

'ประยุทธ์' เซ็นร่างพ.ร.บ.ประชามติแก้ไข รธน. 'วิษณุ' ปัดตอบปม กก.สมานฉันท์ โยนเป็นเรื่องของสภา ด้าน ‘ราษฎร’ ไม่ร่วม กก.สมานฉันท์ ชี้หากจริงใจอยากเจรจาต้องยกเลิกดำเนินคดีผู้ชุมนุม ยัน 3 ข้อเรียกร้อง 'ประยุทธ์' ลาออก, รธน.ฉบับประชาชน, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

4 พ.ย. 2563 วันนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นแล้ว และส่งไปสภาแล้ววันนี้ แต่สภาจะนำเข้าพิจารณาวันใดนั้นอยู่ที่อำนาจของประธานสภาเพราะต้องประชุมร่วม 2 สภา คำถามจะมีอันเดียวว่า ท่านจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการผ่านวาระ 3 แล้วนี้ หรือไม่เท่านั้น ส่วนจะพ่วงคำถามอะไรเข้าไป ไม่ใช่เรื่องของ กกต. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใดก็แล้วแต่ตั้งคำถาม แล้วค่อยมาเป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166

เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปถามทางสภา เพราะชวน หลีกภัย ประธานสภา กรุณารับดำเนินการเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลย ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เพราะข้อเสนอที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดจากสภา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมติของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาจะเป็นผลอะไรหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่จะมอบหมายภาระหน้าที่ให้คณะกรรมการนี้ไปทำอะไร อย่างไร ส่วนจะออกมาเป็นผลอย่างไรหรือไม่ ไม่ทราบ และถามย้ำว่า ความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 เห็นไปในทางเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม วิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า ผู้ชุมนุมควรเข้ามามีส่วนในกรรมการชุดนี้ด้วยหรือไม่ เพราะหากผู้ชุมนุมไม่ได้เข้ามาจะมีผลอะไรหรือ วิษณุ กล่าวว่า ไมีความเห็นในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลจะเข้าหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เขาจะเชิญหรือไม่ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป เวลานี้อยู่ที่ประธานรัฐสภาประสานกับทุกฝ่าย ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะออกมาเป็นชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วยซ้ำ แต่เพราะเคยมีคณะกรรมการลักษณะนี้ในอดีต ซึ่งคิดว่า ผลจะออกมาในรูปของการแนะนำมากกว่า แล้วคงจะทำให้ได้ข้อสรุปที่มหาชนมีความเห็นคล้อยตาม ถ้าคณะกรรมการชุดนี้สามารถทำให้ประชาชนคล้อยตามได้ก็จะทำให้เกิดพลังในทางกดดันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ทั้งอะไรก็ตาม อยู่ที่ว่าข้อเสนอแนะเขามีผลไปถึงใคร เขาอาจจะเสนอข้อเสนอหลายข้อ ซึ่งอาจจะเสนอเป็นทางเลือก กับแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร โดยผู้เกี่ยวข้องอาจจะรับไปปฏิบัติสองข้อ สามข้อ ก็ยังดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางออกที่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้มีประสบการณ์ และมีความเป็นกลาง

เมื่อถามว่า คำถามพ่วงประชามติต้องให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนตั้งคำถามหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้จะกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นผู้ตั้งคำถามพ่วง ซึ่งไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้เสนอก็จะทำให้สิ้นข้อสงสัย เพราะอำนาจในการตั้งคำถามพ่วงประชามติเป็นของครม. ตามมาตรา 166

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะทำประชามติพ่วงกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วิษณุ กล่าวว่า เราเคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันนี้ยังห่วง เพราะเราเหลือเวลาอีก 50 วันก็จะเลือกตั้ง อบจ. แล้วก็ยังไม่เห็นวี่แวว ถ้าเร่งเข้าก็อาจจะได้ แต่ถ้าช้าอยู่ก็อาจจะไม่ทัน เพราะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของคำถามเสียก่อน ดังนั้น โอกาสที่จะไม่ทันก็สูง

 

‘ราษฎร’ ไม่สังฆกรรมกก.สมานฉันท์ ชี้หากอยากเจรจาต้องยกเลิกดำเนินคดี ยัน 3 ข้อเรียกร้อง

4 พ.ย. 2563 วันนี้ เวลาประมาณ 16.00 น. ที่ท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่ม ‘ราษฎร’ จัดแถลงข่าวโดยมีบุคคลกว่า 20 รายเป็นตัวแทน อาทิ จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน, ธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย YPD, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที และสุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู เป็นต้น โดยทั้งหมดอ่านแถลงการณ์พร้อมกัน มีเนื้อหาโดยสรุป ไม่ยอมรับคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์ เพราะไม่ใช่ทางแก้ปัญหา การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คืออุปสรรคใหญ่ที่สุด จึงขอประกาศจุดยืน ไม่ยอมรับ โดยยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง

แถลงการณ์ มีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์จากราษฎร

ดังที่ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรมการปรองดอง-สมานฉันท์ขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมืองในสังคม และหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาตินั้น พวกเราเห็นว่า การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมิอาจนำมา ซึ่งหนทางแก้ปัญหาใดๆ ดังที่กล่าวอ้างได้ เพราะแท้จริงแล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอุปสรรคประการใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งปวงของประเทศชาติ นอกจากนี้ ยังปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าสู่อำนาจโดยมิชอบตั้งแต่แรก จึงนับได้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล เพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์เพียงเท่านั้น

พวกเราขอประกาศจุดยืนว่าจะไม่ยอมรับ และจะไม่สังฆกรรมกับคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้น และขอยืนยันว่าปัญหาทั้งปวงของประเทศชาติจะเริ่มต้นมิได้เลย หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พวกเราขอยืนยันในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

3.ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ณัฐชนน ไพโรจน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ กรรมการดังกล่าว หากปรองดองจริง รัฐมีสิทธิแสดงออกที่จริงใจได้ ณ ปัจจุบัน รัฐยังไม่เลิกดำเนินคดี จากการไป สน.เป็นการรวมตัวของแกนนำด้วยซ้ำ หากอยากปรองดองจริง การดำเนินการนี้จะไม่เกิด สิ่งที่แสดงสะท้อนว่ารัฐไม่อยากเจรจาอย่างแท้จริง เราก็ไม่อยากเจรจา ในเมื่อรัฐไม่ยอมเช่นกัน

“หากอยากเจรจา คุยกันรู้เรื่อง ที่ผ่านมา ประชาชนเป็นฝ่ายถูกดันให้หลังพิงฝาตลอด เป็นรัฐที่รุกคืบสิทธิของประชาชนตลอด ครั้งนี้เราไม่ยอมถอย ชนักติดฝาแล้ว อย่างแรกที่ต้องทำ และองคาพยพ ลาออกจากตำแหน่งบริหาร นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ดีในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน”  ณัฐชนนกล่าว

อ้างอิง: มติชน, มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net