Skip to main content
sharethis

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ล้างมือออกจากเว็บไซต์ ย้อนรอยที่มา “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดี

5 พ.ย.2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงวิกฤตวิด 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีความปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น

ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม2563 บริษัทรีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 
โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”

ในวันนี้ (5 พ.ย.63) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้ 

1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา

2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ 
ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค 

และ 4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา

ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการ ความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้า และเผยแพร่ผลการทดสอบ ผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา

การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบ ตามมาตรฐาน โดยใช้ ห้อง ทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณี สินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ  การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น

พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผู้บริโภคทุกคนสามารถส่งกำลังใจด้วยการใช้ข้อมูลนิตยสารฉลาดซื้อ และแสดงออกถึงการสนับสนุนให้มูลนิธิฯ เดินหน้าในการทดสอบสินค้าและเปิดเผยชื่อยี่ห้อสินค้า เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภคในสังคมไทยต่อไป ด้วยการร่วมบริจาคเพื่อต่อสู้คดี ทางเลขที่บัญชี 319-2-62124-9 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (3) ธนาคารไทยพาณิชย์ (สามารถนำใบเสร็จหักลดหย่อนภาษีประจำปี
ได้ตามประกาศของกระทรวงการคลัง ลำดับที่ 576)

ย้อนรอยที่มา “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดี

ก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ (เจลโลชั่นครีมโฟมสเปรย์สารละลาย)เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ(alcohol-bases hand sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ได้แก่เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอลหรือเอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น-โพรพานอลและมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่น ๆ ประกอบด้วยได้เช่นสารแต่งกลิ่นสารกันเสีย

เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 
ได้ประกาศยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือขายพ.ศ.2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ    

“เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่า 70% โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่10 มีนาคม 2563

ท่ามกลางสถานการณ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือขาดแคลนและมีราคาแพง อีกทั้ง ผู้บริโภคยังขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา ไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย และได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศดังกล่าว

ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 17 เมษายน 2563  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างจากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 26 ตัวอย่าง และจากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 13 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค 

ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีความปริมาณแอลกอฮอลต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 

1. จำนวน 17  ตัวอย่าง(ร้อยละ 62.9) ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563

2. จำนวน 7 ตัวอย่าง(ร้อยละ 25.9) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ จึงยังไม่ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ผ่านเกณฑ์ 

3. จำนวน 3 ตัวอย่าง(ร้อยละ 11.1) ไม่ระบุวันผลิต

จากนั้น นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค และมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบและสามารถเลือกซื้อสินค้าตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 20 ปี

ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม2563 บริษัทรีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ ดังที่เป็นข่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net