Skip to main content
sharethis

แพทย์ชนบทหวัง บอร์ด สปสช.มีความชัดเจนเรื่องโอนงบประมาณให้โรงพยาบาล ชี้หลักเกณฑ์ก็เหมือนปีก่อนๆ แต่เพราะที่ปรึกษารัฐมนตรีตีความต่างกัน ทำให้รัฐมนตรีไม่กล้าลงนามอนุมัติ ตอนนี้โดนดองงบมาแล้ว 1 เดือนหลายโรงพยาบาลเริ่มขาดสภาพคล่อง

5 พ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" ได้โพสต์ข้อความว่า ดองงบโดยไม่สมเหตุสมผล ส่งผลลบต่อเครดิตรัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล และรัฐบาล

งบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช.ปี 2564 ถูกที่ปรึกษา รมต.สกัดหัวตุง ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศได้รับเงินงบประมาณล่าช้าไปอย่างน้อย 1 เดือนแล้ว หลายโรงพยาบาลเริ่มบ่นเรื่องขาดสภาพคล่อง โอทีเริ่มสะดุด ทั้งๆ ที่ปีที่ผ่านๆ มาพอต้นตุลาคมทุกโรงพยาบาลก็จะได้รับเงินจัดสรรงวดแรกเสมอมา แต่ปีนี้เงินงบประมาณไม่มาตามนั

ทั้งนี้เป็นเพราะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีอนุทิน พันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข มีทัศนะที่แปลกๆ และตีความระเบียบอย่างไม่เข้าใจ แถมยังยืนยันให้รัฐมนตรีไม่ลงนามในประกาศ รัฐมนตรีอนุทินก็กล้าๆ กลัวๆ เลยดองเรื่องเอาไว้

ทราบว่าในวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ย. 2563 นี้จะมีการประชุมบอร์ด สปสช. ชมรมแพทย์ชนบทในนามของตัวแทนโรงพยาบาลทั่วประเทศหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงเพื่อให้งบประมาณที่ล่าช้าไปของปี 64 นั้น จะมีมติให้โอนให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยเร็ว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามโพสต์ข้างต้นคือโดยปกติ ช่วงต้นเดือน ต.ค. งบประมาณต้องจัดสรรมาแล้ว แต่ปีนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีเสนอไม่ให้ลงนาม ดังนั้นต้องไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ว่าทำไมถึงมีความเห็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีก็ลงนามมาโดยตลอด และปีนี้กติกาต่างๆ ก็เหมือนเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

"พอจะทราบว่ามีทัศนะในการตีความตามกฎหมายที่ต่างกันของที่ปรึกษาฯ ซึ่งเราเห็นรายละเอียดการตีความแล้วรู้สึกว่าการตีความแบบนี้ไม่ถูกและเกินกว่าเหตุ สรุปคือโดยหลักเกณฑ์ก็เป็นแบบนี้ทุกปีอยู่แล้ว ปีนี้ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรเป็นพิเศษ" นพ.สุภัทร กล่าว

นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็แล้วแต่ ควรโอนเงินงบประมาณงวดที่ 1 มาให้โรงพยาบาลก่อนเพราะสภาพคล่องในโรงพยายาบาลหลายๆ แห่งก็ไม่ได้ดีอะไร โรงพยาบาลที่รวยก็ไม่เป็นไร แต่ยังมีโรงพยาบาลที่ลำบาก ผลคือทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และยิ่งถ้าภายในเดือน พ.ย.นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มีมติที่ชัดเจน การจัดสรรเงินต้องชะลอไปอีกเดือน อาจจะกลายเป็น 2-3 เดือน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับการจัดบริการของโรงพยาบาล

"หนี้สินค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ยังพอค้างได้ แต่ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ โอที เงินเดือนลูกจ้าง ค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าซ่อมบำรุงสารพัดก็เป็นภาระที่ต้องจ่ายทุกเดือน ดังนั้นก็ต้องรอดูวันที่ 5 พ.ย. 2563 นี้ว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่ ถ้ามีมติชัดเจนก็จะได้จบโดยสมานฉันท์" นพ.สุภัทร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net