Skip to main content
sharethis

เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... ของกระทรวงยุติธรรมต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน

5 พ.ย.2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า วันนี้ ตัวแทนเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... ของกระทรวงยุติธรรมต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน เข้าสู่การพิจารณาให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ชักช้าหรือเร็วที่สุดเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองข้อหานี้ได้อย่างจริงจัง  

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งอนุวัติการสำเร็จเรียบร้อยแล้วในวันที่ 17 ก.ย.2563 ตามที่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 มีมติครม.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้ตรวจทานอีกครั้ง ทั้งๆ ที่นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ร่างกฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านการตรวจแก้ไขทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลายรอบแล้วก็ตาม  โดยที่ขณะเดียวกันมีร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ. ที่เป็นชื่อเดียวกันเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยเป็นเวลาสามเดือนเศษมาแล้ว

เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชนทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้นำ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..... (ฉบับประชาชน) มาปรับปรุงรายมาตราสำเร็จเป็นร่างกฎหมายสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2562 และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆ ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อ ฯพณฯ ประธานรัฐสภาไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นพรรคการเมืองบางพรรค โดยสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดเช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติ ก็ได้ยื่นร่างกฎหมายชื่อเดียวกันเข้าสู่การพิจาณาของรัฐสภาด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นฉันทามติของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมาย ที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ที่ทุกคนปลอดพ้นจากการทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถือว่าการกระทำทรมานหรืออุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม โดยจะกระทำต่อบุคคลใดๆมิได้ ไม่ว่าโดยข้ออ้าง เหตุผลหรือภายใต้สถานการณ์ใดๆ เช่นภาวะสงคราม    กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ที่ห้ามผลักดันบุคคลใดๆออกออกราชอาณาจักรหากบุคคลนั้นอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ที่ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจจะต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่กำหนดมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหายโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ ให้สิทธิในการพบญาติ พบและปรึกษาทนายความ ที่ให้ศาลพลเรือนเท่านั้นมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหาย มีอำนาจตรวจสอบและสั่งระงับการกระทำผิด รวมทั้งเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายเป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวตัวแทนเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชนจึงขอให้ท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ... ของกระทรวงยุติธรรมต่อสภาผู้แทนราษฎรความจำเป็นเร่งด่วน เข้าสู่การพิจารณาให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ชักช้าหรือเร็วที่สุดเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองข้อหานี้ได้อย่างจริงจัง 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุหมายเหตุ ไว้ด้วยว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) สมัชชาสหประชาชาติ โดยข้อมติที่ 65/209  ได้แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่การบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย)  ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆของโลก ประชาชนที่ถูกจับกุม คุมขัง ลักพาตัว ข่มขู่คุกคามโดยมิชอบ การข่มขู่พยานคดีอุ้มหายหรือญาติผู้ถูกอุ้มหาย มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมด้วย  สมัชชาสหประชาชาติ จึงได้มีมติรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และได้ประกาศให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายสากล

การอุ้มหายมักจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน ไม่เพียงครอบครัวและชุมชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการอุ้มหาย โดยเฉพาะสมาชิกผู้หาเลี้ยงครอบครัว จนทำให้เกิดการพังทลายของเศรษฐกิจครอบครัว และเกิดการแปลกแยกต่อสังคม แต่ยังส่งผลต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย การจัดให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกทรมานและอุ้มหาย และมีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมอุ้มหาย จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นและเร่งด่วน

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 รัฐบาลไทยหลายสมัย ได้จัดทำร่างกฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาทั้งสองฉบับนั้น แต่ด้วยเหตุผลนานัปการ เวลาผ่านไปเกือบสิบปี จนบัดนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการดังกล่าว แม้ว่าจะมีการเรียกร้องและผลักดัน ทั้งจากในประเทศและนานาชาติให้ประเทศไทยดำเนินการโดยไม่ชักช้าตลอดมาก็ตาม

รายชื่อองค์กรและบุคคลที่ร่วมกันยื่นหนังสือ 1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS 2. กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย 3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) 4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) 5. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 6. เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) 7. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) 8. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) 9. กลุ่มด้วยใจ (Duayjai) 10. เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) 11. สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.) 12. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) 13. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 14. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 15. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (ศพช.) และ รายชื่อบุคคล 1. กัญญาและเสถียร ธีรวุฒิ (สยาม ธีรวุฒิ) 2. อดิศร โพธิ์อ่าน (ทนง โพธิ์อ่าน) 3. ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ (สุรชัย แซ่ด่าน) 4. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ (เตียง ศิริขันธ์) 5. สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) 6.   สมศักดิ์ ชื่นจิตร ( ผู้เสียหายจากการทรมาน ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร) เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net