เสียงจากเชียงใหม่ถึงเพื่อนๆ คณะราษฎรที่กรุงเทพฯ “เราภูมิใจในตัวพวกคุณมาก แล้วเราจะสู้ไปด้วยกัน”

“เราไม่เคยเจอพวกคุณเลย แต่เราอยากจะบอกว่า เราภูมิใจในตัวพวกคุณมากๆ และติดตามพวกคุณทุกวัน และเราก็อยากขอบคุณมากๆ ขอบคุณจริงๆ”

 

“ถึงเพื่อนๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ จากเราที่อยู่เชียงใหม่ ขอบคุณม็อบที่มีความสุดยอดมากๆ เลย ซึ่งเราไม่เคยเจอม็อบแบบนี้มาก่อน มันเจ๋งมากๆ แล้วเราจะสู้ไปด้วยกัน”

 

นั่นคือเสียงของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน จากเชียงใหม่ ที่ร่วมกันชุมนุมกันที่เชียงใหม่ สื่อสารไปยังกลุ่มคณะราษฎร ที่ชุมนุมอยู่ในเมืองหลวง

ในขณะที่คณะราษฎร มีการชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ กันเรือนหมื่นเรือนแสน ก็ยังมีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในนามคณะราษฎร จัดชุมนุมเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดไปทั่วประเทศ

เชียงใหม่ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่จัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน  ที่ประตูท่าแพ, การชุมนุมที่บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์  รวมทั้งการชุมนุมภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กันอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

แม้ว่าช่วงหลังสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากคดีการชุมนุม “เชียงใหม่จะไม่ทน” ที่ประตูท่าแพ แต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในพื้นที่เชียงใหม่ก็ยังคงปักหลักชุมนุมและแสดงกิจกรรมเรียกร้อง กันอย่างต่อเนื่อง โดยต่อมาประสิทธิ์ได้รับการประกันตัวในวันที่ 21 ต.ค.

คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง
ปรับรูปแบบการชุมนุมกับแบบ Active Citizen

แฟ้มภาพการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 18 ต.ค. 63

สุภวรา ทองเอก นักศึกษาปีที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุผลที่ร่วมชุมนุมว่า เรามองเห็นความอยุติธรรมการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ  ในฐานะนักศึกษา ในฐานะประชาชน ไม่มีตำแหน่ง สถานะอะไรทางการเมือง ดังนั้น การที่เราออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ซึ่งถือว่าเราทำได้ และทำได้ดีด้วย

“อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามองเห็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  คือไม่ว่าเราเกิดมาจะเป็นอะไร แน่นอนว่าเราอาจไม่มีฐานะ ไม่มีเงินเท่าๆ กัน แต่สิทธิของการใช้ชีวิตของคนเรามันควรจะเท่ากัน กฎหมายก็ต้องเป็นธรรมและต้องไม่ถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ”

เธอบอกเล่าถึงรูปแบบการชุมนุมในเชียงใหม่ และในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ก็คือในเรื่องของการสื่อสาร การกระจายข่าวมันทำได้ไวมาก 

“ยกตัวอย่างเช่น พอเขาแจ้งนัดกันบ่ายสองโมง ว่าจะมีการชุมนุมบ่ายสามโมง เพียงไม่ถึงชั่วโมงทุกคนก็จะมากันเต็มเลย ซึ่งนักศึกษาจะกลายเป็น Active Citizen จะมารวมตัวกันเร็วมาก อาจเป็นเพราะเรามีเพื่อนนักศึกษา มช. ที่ถูกจับตัวไปด้วย ซึ่งทำให้เราคิดกันว่า นักศึกษาถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ทำไมผู้บริหารมหาวิทยาลัยนิ่งเฉย ไม่ยอมออกปกป้องหรือทำอะไรเลย มันทำให้มาคิดว่า สักวันหนึ่งก็อาจเป็นเพื่อนเรา หรือเป็นตัวเราบ้าง เราจะทำอย่างไร จนทำให้พวกเราออกมาปกป้องกันเอง ทำให้บางครั้ง พอรู้ว่ามีการนัดชุมนุมกัน เราก็เดินออกจากห้องเรียนมาร่วมชุมนุมด้วยเลย” 

ยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องเหมือนเดิม

สุภวรา บอกว่า เรายังคงเรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้องหลักๆ คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายก็คือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ ไม่ได้บอกเลยว่าจะล้มล้าง นอกจากนี้เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูป ซึ่งมีผลดีต่อการค้าการลงทุนด้วย

“ในขณะที่ธุรกิจในประเทศเรามันกำลังอ่อนแอ จนไม่สามารถจะฟื้นฟูให้เศรษฐกิจภายในมันกลับมาแข็งแรงได้นั้น ถ้าเราไม่ทำให้รัฐเกิดความมั่นคง รวมทั้งไม่มีกฎหมายที่เป็นธรรมแล้ว  เราไม่สามารถจะดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้เลย ซึ่งเรามองว่า ประเทศไม่สามารถจะพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปได้มากกว่านี้แล้ว”

ย้ำทุกคนรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีอนาคต หากรัฐบาลยังเป็นแบบนี้

สุภวรา บอกอีกว่า ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า โตไป เรียนจบไปเราจะมีงานทำกันไหม ดูได้จากตอนนี้ บริษัทไล่คนงานออกมากขึ้นทุกปี ทำให้อัตราคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องพูดถึงเด็กเรียนจบใหม่ เพราะคนงานเก่า บริษัทเขาก็ยังพยายามตัดคนที่ทำงานซ้ำๆ ออกให้เหลือคนเดียว เพราะฉะนั้น ขนาดคนที่มีประสบการณ์เขายังตกงานเลย แล้วเด็กเรียนจบใหม่ มันจะไปมีตำแหน่งอะไรมาทำงาน

“คือตอนนี้ เราไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคตเลย เคยคุยกับแม่ที่บ้านว่า ต่อให้เราตั้งใจเรียนเหมือนกับที่แม่บอก  จบมาจะได้มีงานทำ  ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันก็พึ่งพาอาศัยกลไกลการบริหารรัฐบาล การบริหารประเทศนั้นอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าหากรัฐบาลยังเป็นแบบนี้  ต่อให้เราทำตัวในส่วนของเราให้ดีแค่ไหน สุดท้าย อนาคตของเราก็คงไม่ก้าวไปไหนได้ไกลเท่าที่เราอยากจะไป” 

ถูกหลอก หรือถูกทำให้ตาสว่าง?!

แฟ้มภาพการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 18 ต.ค. 63

ในขณะสังคมไทย อีกฝั่งหนึ่ง ก็ยังคงโจมตีนักเรียน นักศึกษาว่า ที่มาชุมนุมก็เพราะโดนนักการเมืองหลอก รู้ไม่เท่าทันหรือเปล่า?!

กรณ์ธนัตด์ รามณรงค์ นักศึกษาปีที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่ได้ถูกหลอกมาชุมนุม เหมือนที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามใส่ร้ายโจมตีเรา และพยายามจะบอกว่า เด็กพวกนี้มันพวกไม้อ่อนดัดง่าย อะไรพวกนี้ ถ้าอย่างนั้น ผมอยากตั้งคำถามกลับไปยังผู้ที่เห็นต่างเหมือนกันว่า ที่ผ่านมา พวกคุณก็โดนหลอกมาหรือเปล่า

“แต่ถ้าจะบอกว่าผมโดนหลอก ผมคิดว่านี่เป็นการถูกหลอกมาเพื่อให้หูตาสว่างสุดๆ เลย.. เพราะทำให้เราได้เห็นความจริง  เพราะยิ่งมาบอกว่าเราโดนหลอก ทำให้เราคิดว่า เฮ้ยเราโดนหลอกจริงหรือ ก็ยิ่งทำให้เราค้นหาข้อเท็จจริงมากขึ้นๆ  ที่ผ่านมา เราอาจโดนระบบการศึกษา บอกว่าเรื่องนี้เป็นแบบนี้ๆ เลยทำให้ทุกคนนั้นโลกสวย มองเห็นแต่ทุ่งลาเวนเดอร์  อาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนนั้นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่ากับโลกยุคนี้ และถึงแม้มาถึงยุคปัจจุบันนี้ พอเราเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงให้เขา เขาก็ไม่รับฟัง ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องเท็จตลอด อาจเป็นเพราะพวกเขาถูกเรียนถูกสั่งสมให้เชื่อมาอย่างนั้น ว่าสิ่งที่เขาเชื่อมานั้นถูกต้องเสมอ”

กรณ์ธนัตด์ บอกว่า การชุมนุมทุกวันนี้ นอกจากจะมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ยังมีนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมทั้งประชาชนมารวมตัวกัน ซึ่งการชุมนุมในช่วงก่อนหน้านี้ไม่มีแกนนำ แต่ให้ผู้คนออกมาพูดถึงปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งเขาคิดว่า มาถึงตอนนี้ มันไม่ได้เป็นการชุมนุมในนามของนักศึกษาแล้ว แต่เป็นการชุมนุมในนามของประชาชนผู้มีอุดมการณ์

ทั้งนี้ ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้กล่าวชื่นชมถึงความกล้าหาญของเพื่อนคณะราษฎรที่ขับเคลื่อนชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้

“เราไม่เคยเจอพวกคุณเลย แต่เราอยากจะบอกว่า เราภูมิใจในตัวพวกคุณมากๆ และติดตามพวกคุณทุกวัน และเราก็รู้สึกขอบคุณมากๆ ขอบคุณจริงๆ”

“ถึงเพื่อนๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ จากเราที่อยู่เชียงใหม่ ขอบคุณม็อบที่มีความสุดยอดมากๆ เลย ซึ่งเราไม่เคยเจอม็อบแบบนี้มาก่อน มันเจ๋งมากๆ แล้วเราจะสู้ไปด้วยกัน” 

นักวิชาการ ย้ำความรุนแรงไม่ใช่ทางออก

พศุตม์ ลาศุขะ

ด้านพศุตม์ ลาศุขะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งมีทั้งเด็กนักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ว่า น่าสนใจ ถ้าเปรียบเทียบกับการประท้วงในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการนัดชุมนุมและเคลื่อนย้ายกันไปได้อย่างรวดเร็ว รูปแบบการชุมนุม จะเป็นแบบจัดไว ไปเร็ว อาจเป็นเพราะการสื่อสารยุคใหม่ และน่าสนใจ ที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน

“และเมื่อหันมามองการชุมนุมตามมหาวิทยาลัยในตอนนี้ ผมเห็นว่า เป็นการชุมนุมกันตามปกติอยู่แล้วของนักศึกษา ซึ่งเราในฐานะนักวิชาการก็มองว่า ถ้าเขารู้สึกอึดอัด คับข้องใจ อยากสื่อสาร อยากมีพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เราก็สนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการขยายการชุมนุมออกไปข้างนอกด้วย อย่างเช่น ลานข่วงประตูท่าแพ หรือลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก็มีทั้งประชาชน นักเรียน นักศึกษา จากหลายๆ สถาบันที่ร่วมชุมนุมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนที่ไปร่วมชุมนุม ก็เพราะคับข้องใจ และอึดอัดและโตมาในโครงสร้างแบบเก่า เช่น โครงสร้างทางครอบครัว โครงสร้างการศึกษา ที่ก้าวไม่ทันกับยุคนี้” 

ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม  ย้ำต้องหาทางออกร่วมกัน

พศุตม์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ถึงแม้มันอาจดูผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่นี่เป็นประเด็นทางการเมือง ถ้ารัฐมองว่า จำเป็นต้องยกระดับในการสลายม็อบ โดยใช้รถแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีแบบนั้น เขาคิดว่า มันรุนแรงเกินไป เพราะจากที่เราเฝ้าดู ผู้ชุมนุมที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรที่มันรุนแรง เหมือนที่รัฐบาลกล่าวอ้าง  ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ประกาศแล้วว่าจะชุมนุมไม่ยืดเยื้อ พอ 4 ทุ่มหรือเที่ยงคืน ก็หยุด กลับบ้านกันหมดแล้ว โอเค มันอาจมีปัญหาเรื่องรถติด แต่เขาคิดว่ามันไม่น่าถึงกับต้องมีการสลายการชุมชนด้วยความรุนแรงแบบนั้น

“ดังนั้น ในมุมมองส่วนตัว เมื่อพูดถึงทางออก ก็ทำให้นึกไปถึงคำกล่าวที่ว่า การเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง  แต่ถ้าถามว่า ทางออกคือการการยกระดับความรุนแรง ผมคิดว่าแบบนั้นไม่น่าจะจบ ซึ่งผมคิดว่า เรายังอยู่ในช่วงที่มีการเจรจาพูดคุยกันได้  ถามว่าทางออกจะเป็นอย่างไร ตนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่วิธีที่จะนำไปสู่ทางออก ก็คงจะต้องมีการคุยกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุม ก็มีการเรียกร้องชัดเจน ว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เราก็ยังไม่เห็นท่าทีของฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล ได้ออกมาอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย ซึ่งตนคิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งว่า ควรจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผ่านกลไกทางรัฐสภา ให้มันรวดเร็ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะจบแบบไหน”

สมชาย ปรีชาศิลปกุลชี้ “ประยุทธ์ออกไป” เป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปิดทางแก้ไขปัญหา

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล (แฟ้มภาพ)

ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่บทความผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯมหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนกระทั่งกลายเป็นการชุมนุมแบบดาวกระจายของ “ราษฎร” ในขณะนี้ ก็คือการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับต่อรัฐบาลและมีผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์ ซึ่งกระเหี้ยนกระหือรือต่อการใช้อำนาจแบบรุนแรงกับกลุ่มผู้มาชุมนุมนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ด้วยความเข้าใจที่ตื้นเขินว่าเมื่อมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำของการเคลื่อนไหวแล้วก็คงสามารถยุติการชุมนุมได้เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยใช้แนวทางนี้กับกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนผู้ต่อต้านรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม การชุมนุมแบบดาวกระจายของราษฎรทำให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการรับมือกับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะด้วยการกระทำด้วยเจตจำนงของตนเองหรืออยู่ใต้คำสั่งของพญามัจจุราช แต่ความล้มเหลวและความผิดในการบริหารงานที่ดำเนินมาตั้งการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ท่าทีต่อกลุ่มคนที่ได้วิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในแง่ร้าย รวมทั้งยังคงมุ่งใช้กำลังและกฎหมายตามอำเภอใจ ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ก็จะต้องตกอยู่ในภาวะของการ “มีอำนาจ แต่ไม่อาจปกครอง” และจะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งสู่ความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น

“ประยุทธ์ออกไป” จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปิดให้สามารถการแก้ไขปัญหานานัปการมีความเป็นไปได้ และเช่นเดียวกันหากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่ยังคงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีชื่อ ประยุทธ์ ก็ควรต้องออกไปจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

‘อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ เขียนจดหมายถึง “ชนชั้นนำ” 
สังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ “ไม่อาจจะหวนคืนกลับได้”

ด้านอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้เขียนบทความ “จดหมายถึง ชนชั้นนำ” ผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เอาไว้ว่า ลึกลงไปในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเด็กนักเรียนและนักศึกษาที่ได้ชุมนุมประท้วง ก็คือ ความจงรักต่อ “จริยธรรมทางสังคม” ที่พวกคุณซึ่งเป็นชนชั้นนำทั้งหลายได้พร่ำสอนมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ความไม่คดโกง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาสิ่งที่เป็นทรัพย์สินของส่วนรวมมาเป็นของตนเองอย่างปราศจากความละอาย ฯลฯ เหล่านี้คือ “ความดี” ทุกอย่างที่พวกคุณอยากให้พวกเขายึดถือเป็นสรณะในการใช้ชีวิต
พวกเขาได้เป็นอย่างที่พวกคุณต้องการแล้ว พวกเขาจึงพากันต่อต้าน “โครงสร้าง” หรือ “ระบบ” ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใช้อำนาจในทางที่ผิดหลักจริยธรรมเหล่านี้ และเรียกร้องให้ปฏิรูปให้ “โครงสร้าง” หรือ “ระบบ” ดีขึ้น

ลองคิดกันให้ดีนะครับ ประเด็นการเรียกร้องทุกประการของนักเรียนนักศึกษาสัมพันธ์อยู่กับ “จริยธรรมทางสังคม” ที่จะผูกคนทุกคนให้อยู่ในสังคมร่วมกันอย่างราบรื่น โดยที่จะยึดโยงผู้มีอำนาจทุกกลุ่มให้เข้ากับ “ระเบียบใหม่” ที่ดีกว่าเดิม เพื่อทำให้อำนาจกระจายออกไปสู่คนทุกกลุ่มอย่างเสมอหน้าและเสมอภาค สามารถกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ปล่อยให้ “คณะบุคคล” กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเถลิงอำนาจและผูกขาดอำนาจตัดสินใจในการใช้ “สมบัติส่วนกลาง”

กลุ่มชนชั้นนำได้ “ทรยศ” ต่อ “จริยธรรมของสังคม” ที่พวกเขาเองปลูกฝัง และใช้ความรุนแรงปราบปรามนักเรียนและนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อให้จริยธรรมเหล่านี้กลับคืนมาเป็นหลักการร่วมกันของทุกคนในสังคม เป็นการใช้กลไกอำนาจที่สร้างความรุนแรงอย่างไร้ยางอาย

กลุ่มชนชั้นนำครับ อำนาจของพวกคุณขึ้นตรงต่อความชอบธรรมและความชอบธรรมนั้นขึ้นตรงต่อระบอบ “จริยธรรมทางสังคม” พวกคุณสร้างขึ้นมาจากน้ำลาย โดยที่พวกคุณไม่คิดแม้แต่จะระลึกถึงมันบ้าง อย่าว่าแต่พวกคุณคิดจะทำตามเลย และที่สำคัญ พวกคุณได้ลบและล้าง “จริยธรรม”ที่พวกคุณสร้างด้วยความรุนแรง

น้ำตาที่หลั่งไหลของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยไม่ใช่เพียงแต่ความเจ็บปวด คับแค้น จากความรุนแรงที่เกิดแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่มาชุมนุม ในค่ำคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เท่านั้น แต่มันคือความรู้สึกเจ็บลึกกับการ “ทรยศ”อย่างหน้าด้านไร้ยางอายของคนอย่างพวกคุณ

พวกคุณกำลังทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่บรรพบุรุษของเราทั้งหมดได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาต้องพังทลายลงไปอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้ พวกคุณคิดเพียงแค่การใช้อำนาจดิบ แต่ประวัติศาสตร์การมีอำนาจของชนชั้นนำที่ผ่านมา ไม่เคยให้เวลาของความรุนแรงนานนัก อำนาจดิบของความรุนแรงไม่เคยครอง “ชาติ” ได้

สังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ “ไม่อาจจะหวนคืนกลับได้” การทำให้ “ชาติ” เป็นสมบัติร่วมของทุกคน และทำให้ “ระเบียบใหม่” ที่จะจรรโลง “จริยธรรมทางสังคม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาลแล้ว) ย่อมเป็นหนทางเดียวและเป็นหนทางที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะรักษา “ชาติ” ไว้ได้ มิฉะนั้นแล้ว วิกฤติที่เกิดขึ้น จะนำพา “ชาติ” ไปสู่หายนะในเร็ววัน ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นทั้ง “คำร้องขอ” จากพลเมืองคนหนึ่ง และ “คำเตือน”ต่อพวกท่านทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท