Skip to main content
sharethis

“เถ้ากระดูกเขายังอยู่ ยังไม่ได้ลอยอังคาร เพราะความหวังของแม่คือวันที่คนที่ฆ่าเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วศาลตัดสินให้มีความผิด วันนั้นแม่เกดจะเอาเขาไปลอยอังคาร” ฟังพะเยาว์ อัคฮาดเล่าถึงการต่อสู้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลังไม่นานมานี้อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อการตายของลูกสาวเธอทั้งหมดในเหตุสลายชุมนุมปี 53

10 ปีการสลายชุมนุมผ่านพ้นไป คือ 10 ปีเดียวกันที่แม่คนหนึ่งยังคงหยัดยืนด้วยความหวังว่าสักวันกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับการตายของลูกสาวเธอเสียที

“ลูกดิฉันถูกฆาตกรรม” พะเยาว์ อัคฮาด ย้ำคำเดิมอย่างหนักแน่น เธอคือแม่ของ กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 วันที่มีการสลายการชุมนุม

“เขาไม่ได้ตายเพราะการสลายการชุมนุม อย่ามาอ้างคำว่าสลายการชุมนุม เพราะเขาตายหลังจากการยึดพื้นที่ตรงนั้นหมดแล้วโดยทหาร เพราะฉะนั้น 6 ศพวัดปทุมฯ ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยทหาร การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนเขามองว่าฆ่าคนแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ คำสั่งมาปุ๊บ ฆ่าได้เลยโดยไม่ต้องคิดอะไร เพราะถือว่าเป็นคำสั่ง มันกลายเป็นวัฒนธรรมของกองทัพใช่หรือไม่” พะเยาว์ย้อนถามกองทัพ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พะเยาว์เดินหน้าทวงหาความยุติธรรมให้ลูกสาวเธอทุกทางเท่าที่จะทำได้ เธอไปทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีของลูกสาว กองบังคับการปราบปราม, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักอัยการ และศาล เคยจัดเวทีทุกเดือนที่แยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้คดีคืบหน้า เคยแสดงละครใบ้หลายต่อหลายครั้งเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ลูกสาวถูกฆ่า เพื่อไม่ให้คนลืมเลือนว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น แต่สิ่งที่เธอได้รับคือข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

จากการต่อสู้มายาวนาน จนถึงวันนี้ สิ่งที่เธอได้รับคือกระดาษไม่กี่แผ่นจากอัยการศาลทหารที่ระบุว่าสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตายของลูกสาวเธอ

ความน่าฉงนคือก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งชี้มูลการตายของคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร และผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน และการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง รวมทั้งกรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว

น่าแปลกที่คดีที่ศาลอาญามีคำสั่งชี้มูลการตายแล้ว ศาลตัดสินว่าทหารเป็นผู้กระทำแล้ว แต่หลังมีการรัฐประหารในปี 2557 ความคืบหน้าคดีก็หยุดลง และแย่ไปกว่านั้นคือจู่ๆ คดีได้ถูกโอนย้ายไปที่ศาลทหาร และมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวออกมา

ประชาไทคุยกับพะเยาว์ อัคฮาด ถึงการต่อสู้ทั้งหมดที่ผ่านมาและความหวังที่ไม่เคยสั่นคลอนของเธอ เพื่อให้วงจรลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยสูญหายไปเสียที

00000


รู้สึกท้อบ้างไหม จากการต่อสู้ยาวนาน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ได้รับคำตอบแบบนี้จากอัยการศาลทหาร มันเหมือนสิ่งที่เราสู้มาทั้งหมดมันหายวับไปไหม

ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่สู้มามันหายไป แม่ไม่ท้อ เราคิดว่านี่คือการต่อสู้ระลอกใหม่ คลื่นมันมาละ เราต้องโต้คลื่น สำหรับแม่มันเป็นพลัง ดีกว่ามันนิ่งไม่มีคลื่นเลย เราไม่รู้ทิศทาง แต่นี่เรารู้ว่าเขาร้อนตัวแล้วทำในสิ่งที่สวนทางกับกระบวนการยุติธรรมจริงๆ ความอยุติธรรมที่เขาแสดงออกมา ก็ให้สังคมรับรู้เยอะๆ ว่านี่ไงกระบวนการยุติธรรมมันไม่มีจริง ณ เวลานี้กระบวนการยุติธรรมมันตายไปแล้ว เหลือแต่ความอยุติธรรม เหลือแต่อำนาจของรัฐที่จะชี้เป็นชี้ตายยังไงก็ได้


เหนื่อยไหมที่ต้องเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ ให้สื่อฟัง

ไม่เหนื่อย เพียงแต่บางทีถ้าเรานึกไปแล้ว ความอ่อนแอก็จะเกิด มันเหมือนเราย้อนอดีตไปสู่ความเจ็บปวดของเรา สิ่งที่เราพยายามจะเก็บมันไว้ เราพยายามไม่ร้องไห้ เราต้องเข้มแข็ง ต้องปรับให้ได้ พูดกี่ครั้งๆ เราก็ต้องให้เหมือนเดิม ให้ความเสียใจมันน้อยลง ให้ความเสียใจมาเป็นพลังการต่อสู้ดีกว่า เอาความจริงที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จก่อนที่คดีจะหมดอายุความ


ย้อนไปตั้งแต่ที่รู้ว่าลูกเสียชีวิตเกิดอะไรขึ้นบ้าง

วันแรกที่เราไปรับศพ เราถามหมอว่า "คุณหมอคะลูกดิฉันโดนยิงกี่นัด" หมอไม่มองหน้าเราเลยนะ หมอก้มหน้าแล้วพูดว่า "สองนัด"ผิดปกติตั้งแต่หมอไม่กล้าสบตาเรา

ศอฉ. แถลงข่าว มีสรรเสริญ (แก้วกำเนิด) กับหมอพรทิพย์ เขาบอกว่า 6 ศพถูกยิงจากข้างนอกแล้วลากเข้าไปข้างใน คนทั่วไปอาจจะคิดว่ายิงจากนอกวัด แต่ไม่ใช่ คือถูกยิงในวัด ในเขตอภัยทาน แต่มีคนย้ายศพไปไว้ข้างในเต๊นท์เพื่อไม่ให้ศพหาย หลังจากเหตุการณ์นั้นก็มีคนพูดเลยว่ามีคนตายมากกว่านั้น คนรอบนอกวัดก็มี แต่ศพหาย ซึ่งอันนี้เราก็ได้ยินกับปาก ไม่ได้เห็นกับตาเรา แล้วหมอพรทิพย์ก็แถลงว่า พยาบาลเกดถูกยิงสองนัด ไม่มีหัวกระสุนในตัว 

ตกเย็นวันนั้นเราสวดงานศพลูก ก็มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิหนึ่งที่เขาเป็นคนไปเอาศพน้องเกดจากวัดไปส่งโรงพยาบาล เขาบอกว่า "แม่ครับ น้องไม่ได้โดนยิงสองนัดหรอก แม่ลองไปเปิดแผลดูซิ" พอคนกลับปุ๊บ เราก็เลยให้น้องชายเกด ให้ญาติดึงออกมาดู เขาถูกยิงตั้งแต่เข่า ไล่ขึ้นไป ลักษณะของการยิงคือยิงเหยื่อไม่ให้หนี นัดสุดท้ายที่มีวิดีโอถ่ายให้เห็นคือเข้าข้างหลังหัว ทำลายสมอง 

เราไม่เชื่อแล้วว่าลูกเราโดนยิงสองนัด พอเราเห็นปุ๊บเราบอกนักข่าวเลยว่า หมอพรทิพย์ถ้าแน่จริงให้ออกมาแถลงใหม่ แล้วแถลงด้วยว่าลูกฉันโดนยิงกี่นัดกันแน่ เขาก็เงียบ

ตอนนั้นฉันไม่คิดอะไรแล้ว ฉันจะฟัดกับคุณแล้ว ฉันจะต้องทำทุกอย่างเพื่อกระชากหน้ากากของคนพวกนี้ออกมา เอาความจริงออกมา ว่าลูกฉันตายเพราะใคร เขาอ้างว่าช่วงเวลานั้นเป็นเวลาชุลมุน เป็นการปราบจราจล ซึ่งมันไม่ใช่ น้องตายหลังจากที่แกนนำมอบตัวแล้ว เขามอบตัวตั้งแต่บ่ายสอง สี่โมงเย็นทหารคุมพื้นที่ได้หมดแล้ว แต่เจ้าเกดตายตอนหกโมงกว่า แล้วอย่างนี้ไม่ให้เรียกว่าเขาถูกฆาตกรรมเหรอ

ภาพมันฟ้องว่าคุณยืนยิงเขาอยู่บนรางรถไฟฟ้า แล้วคุณอ้างว่ามีชายชุดดำยิงสวนขึ้นมา สวนยังไง เราดูวิดีโอ ภาพทหารที่ยิงลงไป ไม่มีการเบี่ยง การหลบเลย คุณเล็งแล้วยิงเลย คำพูดมันสวนกับความเป็นจริง

ลูกเราถูกฆ่า ฆ่าในเวลาที่ทหารคุมพื้นที่ไว้หมดแล้ว มันเหมือนยิงเหยื่อให้ตายทีละศพ โหดไหมล่ะ เขาไม่ได้มีอาวุธ แล้วลองดูว่ากระบวนการยุติธรรมที่ดิฉันโดนมามันบิดเบี้ยวไหม

 

 

ทำไมเราถึงรู้สึกว่าต้องสู้

มันถือเป็นประวัติศาสตร์มีที่มีคนถูกฆ่าตายมากที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ ดิฉันถือว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรง มันควรจะจบได้แล้ว ลูกเราถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกฆ่าตาย จะต้องไม่ตายฟรี

คุณต้องเรียนรู้จากอดีต เวลาประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลแล้วเขาเสียชีวิต ไม่เคยมีการสอบสวน หรือหาผู้กระทำผิดใดๆ มารับผิดชอบการตายของประชาชน มีแต่เก็บซุกใต้พรม แล้วให้ทุกอย่างจบๆ ไป ลืมๆ กันไปเถอะ อภัยๆ กันไปเถอะ ประเทศจะได้เดินหน้าได้ แล้วมันก็เป็นวังวน 

พอถึงเวลามันก็เกิดความเคยชิน ทหารเกิดความเคยชิน ฆ่าคนตายแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ คุณสามารถทำตามคำสั่งนายได้โดยที่ไม่ต้องมีจิตสำนึกเลยว่าคนที่คุณฆ่าคือคนไทย คือลูกหลานของคุณเอง ไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่สงคราม คุณรบกับคนไทยเอง ที่เป็นเจ้าของภาษี ที่คุณกินเงินเดือน เราต้องเสียภาษี แต่ให้เขามาฆ่าเราเหรอ เขาเอาภาษีของเราไปซื้ออาวุธปืน ซื้อรถถัง ซื้อมาเพื่ออะไร มาฆ่าเราใช่ไหม คุณคิดในแง่นี้นะว่ามันเจ็บปวดไหม

ทุกวันนี้เราอยู่ในระบอบแบบนี้นะ อยากให้สังคมรับรู้ว่าทำยังไงเราถึงจะเปลี่ยนมันได้ ทำยังไงคดีปี 53 ถึงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด ให้มันเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ถูกกดอยู่ในอำนาจทหาร เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว

ดิฉันจึงตั้งใจทำทุกอย่างไม่ให้เหตุการณ์นี้มันซุกใต้พรม ทำทุกอย่างให้โลกได้รับรู้ ว่ามันมีคนตาย เขาไม่ใช่กบฎ เขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เขาคือประชาชนที่มาเรียกร้องในสิ่งที่เขาเดือดร้อน

 

แล้วเราสู้ยังไงบ้าง

หลังเสร็จงานศพเขา เราไปแจ้งความร้องทุกข์กับกองปราบ ตอนนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปรากฎดีเอสไอเขาไปรวบคดีตอนปี 53 ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในมือเขา เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาหาข้อมูล ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดนั้นก็ดูมีความตั้งใจ เขาบอกจะมีแถลงข่าวเป็นระยะ เราก็รอ เป็นเดือน ก็เงียบ แล้วเขาก็มีการตั้งคณะ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ขึ้นมาค้นหาความจริงด้วย

ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้เรื่องม็อบ เรื่องการเมือง แต่เรารู้ว่าลูกฉันตายต้องมีคนรับผิดชอบ ใครฆ่าลูกเรา เราต้องตามหาคนนั้น สองเดือนก็เงียบ พอเงียบ เราก็คิดแล้วเราจะสู้ยังไง เราเลยบอกน้องชายเจ้าเกดว่าไปกับแม่หน่อย ไปดีเอสไอ เอาครกเอาสากไป ตอนนั้น คอป. บอกกับสื่อว่าเก็บหลักฐานมาได้เยอะ แต่คุณก็เงียบไม่ยอมเปิดหลักฐาน เหมือนส้มตำ เครื่องเยอะแล้ว ไม่โขลกสักที ส่วนดีเอสไอคุณเงียบเป็นเป่าสาก ฉันก็รออยู่ว่าจะเป็นยังไง นั่นคือความหมายที่ฉันเอาครกกับสากไปให้

พอเราไปดีเอสไอปรากฎว่าทหารคุกคามเรา วิ่งมาล้อมเรา เราก็ชี้หน้าเขาบอกคุณมาข่มขู่ฉันเหรอ ฉันมานี่ฉันมาถามความคืบหน้าของคดีลูกฉัน พวกคุณฆ่าลูกฉันแล้วคุณยังข่มขู่ฉันอีกเหรอ คุณถ่ายรูปฉัน ฉันก็ให้นักข่าวถ่ายรูปคุณกลับ ทหารยั๊วะ โมโห เดินหนีเลย แล้วตั้งแต่นั้นมาดิฉันก็โดนคุกคามมาตลอด คุกคามทุกรูปแบบ โดนตาม โดนถ่ายรูป

พอยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล 20 กว่าศพก็เป็นคดีเข้าสู่การชี้มูลการตาย ส่วนอีก 70 กว่าศพค้างอยู่ที่ดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอไม่ทำเลย คดีของน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ก็ยังอยู่ดีเอสไอ

เมื่อชี้มูลการตายแล้ว อัยการคดีพิเศษจะต้องเป็นคนส่งคดีต่อไปที่ศาล แต่คดีมันถูกม้วนไปที่ ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) คดีไม่ไปไหน ดิฉันก็ไปทวงถามกับอัยการ อัยการก็งึมงำๆ 

พอหลังรัฐประหาร คดีก็ถูกเก็บดอง เราทำอะไรไม่ได้ หลายคนบอกเราว่าตอนนี้ทหารคุมหมด เราไม่สามารถขยับเขยื้อนได้หรอก เราก็ดูจังหวะ พอมันนานเราก็ไปทวงถามที่อัยการอีก ก่อนที่เราจะไปทวงถามมีการเปลี่ยน ผบ.ทบ. มาเป็นอภิรัชต์ (คงสมพงษ์) หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวว่ามีนายพลเข้าไปที่สำนักอัยการพิเศษ ไปร้องขอว่าสำนวนของคนที่ตายปี 53 ให้อัยการตีเป็นสำนวนมุมดำ คือหาผู้กระทำผิดไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการชี้มูลการตายไปแล้ว ว่าตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่คนไหนบ้าง

พอข่าวรั่วออกมาเราก็ไปที่อัยการ ไปขอคุย ครั้งแรกคนมารับหนังสือก็ขอเวลาไปเช็คให้ เราก็รอ แล้วเราก็ไปรอบสอง เอาสื่อไปด้วย เขาก็บอกว่า คดี 6 ศพวัดปทุมฯ ไม่ได้อยู่ที่เขาแล้ว หลังจาก ปปช. ส่งให้อัยการพิเศษ เขาต้องส่งต่อไปที่ดีเอสไอ เพื่อให้ดีเอสไอสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะนำส่งกลับไปให้อัยการอีกที เราก็ไปดีเอสไอ ดีเอสไอก็เงียบ เราก็บอกว่าถ้าคุณไม่ทำอะไรเลยดิฉันก็จะฟ้อง 157 ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ต้น ม.ค. ปี 62 ดีเอสไอโทรมาขอให้เข้าพบสอบปากคำเพิ่ม ญาติ 6 ศพคนอื่นๆ ก็โทรมาเล่าว่าโดนเรียกไปเหมือนกัน แต่เขาให้สอบคนละห้อง เราถามเขาว่า ในกรณีของดิฉันที่มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้งอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) สุเทพ (เทือกสุบรรณ) แล้วมีเจ้าหน้าที่ทหารด้วยหรือไม่ เขาบอกไม่มี เราก็ไม่ยอม ถามเขาว่าถ้าเป็นไปได้ดิฉันจะขอร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริเวณวัดปทุมฯ บนรางรถไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่ทหารพื้นราบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ไหม เขาก็โอเค 

ประมาณเดือนหนึ่งเขาก็ขอให้ไปอีก เขาก็แจ้งว่าสำนวนที่คุณร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม มีรายชื่อดังนี้ ถูกต้องไหม เราบอกถูกต้อง เขาก็รับไป

หลายเดือนต่อมาก็มีหนังสือนี้มา อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง ดิฉันกับพี่เหน่ง (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) กับทนายอานนท์ (นำภา) อ่านแล้วก็ อ้าว อัยการศาลทหารเกี่ยวอะไรด้วย เพราะคดีลูกสาวดิฉันขึ้นศาลพลเรือนมาตลอด อัยการศาลทหารเกี่ยวอะไรด้วย เขาบอกว่าอันนี้ฟ้องทหาร แต่ดิฉันบอกว่าทหารเขาทำผิดกับพลเรือน เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานต้องขึ้นศาลพลเรือน อัยการศาลทหารมีสิทธิอะไร

ดิฉันก็ไปดีเอสไอใหม่ เขาบอกว่าต้องหยุดสอบสวนเพราะอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง เราคิดว่านี่คือการพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ของดีเอสไอ ทั้งที่ความเป็นจริงคุณย่อมรู้อยู่ดีว่าคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอัยการศาลทหาร แต่อำนาจของทหารกดหัวพวกคุณอยู่ ทำให้เรารู้เลยว่าตอนนี้รัฐนี้เป็นรัฐของทหาร ทุกสิ่งทุกอย่างของคดีเมื่อปี 53 ทหารต้องการให้จบ พยายามลากยาวที่สุด 

ถามว่าเราจะยอมได้ยังไง ในเมื่อฉันสู้มา 10 ปีแล้ว ฉันจะไม่ยอม ถึงจะดูว่างูๆ ปลาๆ ผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ฉันก็จะสู้จนกว่าฉันจะหมดลมหายใจ ฉันไม่ต้องการให้คนมาตาย ไม่อยากให้ใครมาเจอะมาเจอแบบนี้อีกแล้ว

เขาอ้างไปต่างๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอะไรก็แล้วแต่ แต่ดิฉันเห็นว่านายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ มันมีอยู่แล้วที่ปฏิบัติเกินหน้าที่ เขาจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ มันต้องมีเส้นแบ่งอยู่แล้ว ดิฉันต้องเน้นตรงนี้ว่าเขาปฏิบัติเกินหน้าที่ เกินคำสั่ง เกินกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่คุณอ้าง ดิฉันต่อสู้เรื่องนี้

 

ยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่ไหม

ดิฉันเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมีจริง เชื่อในคำว่า 'ศาลสถิตยุติธรรม' แต่อำนาจที่อยู่ตรงนี้ที่เข้าไปแทรกแซงเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด คิดดูขนาดผู้พิพากษายังทนไม่ไหวต้องยิงตัวตาย แล้วบอกว่า ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ เราประชาชนโดนความอยุติธรรมบีบคั้นแบบนี้เราทำไง ได้แต่สู้ ไม่มีอาวุธ สู้ไปก็โดนจับไป สู้ไปก็โดนคุกคามไป

ตอนนี้ดิฉันก็โดนหนึ่งคดีข้อหาหมิ่น กกต. ตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมก็โดนมาแล้ว ที่ไปแสดงละครให้ลูก คุณคิดดูกฎหมายบอกห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ทำกิจกรรมกัน 4 คน ไม่ได้พูดสักคน (แสดงละครใบ้) แต่เวลาแจ้งความดิฉันเป็นจำเลยคนเดียว นี่กลายเป็นว่าคนเดียวก็จับ

จากความรู้สึกเราที่เคยคิดว่าเป็นเวรกรรม เรามานั่งนึก คนพวกนี้บางครั้งจะรอให้เวรกรรมตามทันมันคงช้าไป มันต้องเป็นการที่เราเอาเวรกรรมที่เขากระทำมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้

ตอนเหตุการณ์เกิดใหม่ๆ มีคนถามดิฉันว่า อยากได้อนุสาวรีย์ไหม ดิฉันบอกไม่อยากได้ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ต่อให้สร้างอนุสาวรีย์ย่อมุมเล็กๆ รอบท้องสนามหลวงก็ไม่พอ เพราะประเทศไทยมันจะทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าดิฉันอยากได้ก็อยากได้อนุสาวรีย์ทรราชย์ ให้เด็กไปทัศนศึกษาดูว่าใครเป็นทรราชย์ในประเทศ ให้เขาไปศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วอย่าทำตาม อยากได้แบบนี้ 

 

เคยถูกคุกคามแบบไหนบ้าง

เราอยู่หมู่บ้าน เวลาเรียกแท๊กซี่ รปภ. จะเรียกให้ วันนั้นเราเรียกปุ๊บ แป๊บเดียวมา พอขึ้นรถแล้ว พ่อน้องเกดก็โทรมาบอกว่ารถแท๊กซี่ที่เธอเรียกเพิ่งจะมา รถที่เธอนั่งออกไปไม่ใช่ เราก็บอกฉันเริ่มเอะใจตั้งแต่ขึ้นรถ ปิดประตูปุ๊บ เขาทักเลย สบายดีเหรอแม่น้องเกด เรารู้เลยว่าไม่ใช่แท๊กซี่ธรรมดา เราก็เฉย ไม่พูดอะไร แล้วโทรไปบอกคนในบ้านว่าจะไปที่ไหน เราจะบอกคนในบ้านตลอดว่าอยู่ที่ไหน ไปกับใคร ถ้าหายไปก็รู้เลย

ตอนที่เกิดเหตุใหม่ๆ มีมอเตอร์ไซค์มาประกบคู่กับรถเราเลย เขาไม่ได้จะยิง แต่เขาจะทำให้เราเกิดอุบัติเหตุ ต้องระวังตัว แล้วเขามาได้ทุกรูปแบบ เราเป็นพ่อค้า แม่ค้า มันก็เป็นพ่อค้า แม่ค้าได้ แค่ให้เราอยู่ในสายตา แล้วคอยถ่ายรูปเราตลอด บางทีเรานั่งขายของอยู่ฝั่งนี้ มันอยู่ฝั่งนู้นถ่ายรูป เราก็ถ่ายกลับ มาถึงหน้าบ้าน เราก็บอกว่า มีอะไร บ้านนี้ไม่เคยต้อนรับทั้งตำรวจ ทหาร ให้มาหาที่ร้าน เราไม่ปิดกั้นใคร เพราะเรารู้ว่าคนที่มาก็คือชั้นผู้น้อย ได้คำสั่งมา เราก็แยกแยะ ไม่ด่าว่าสะเปะสะปะ 

แต่ขอร้องถ้าเป็นไปได้ ทหารทุกกรมกองให้คุณมีจิตสำนึก การที่คุณสวมเครื่องแบบ มีหน้าที่เป็นรั้วของชาติ คุณต้องรักประชาชน มองว่าเขาเป็นญาติพี่น้อง เป็นลูกเป็นหลาน ไม่ใช่ศัตรู เวลามีคำสั่ง คุณลองมองดูว่าคำสั่งคืออะไร คุณทำได้แค่ไหน ถ้าขัดคำสั่งไม่ได้ ก็อย่ายิงคน อย่ายิงประชาชน รักเขาเถอะ คุณอยู่ได้ คุณมีเงินเดือนได้จากประชาชน แต่ประชาชนไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ มีแต่สิทธิ 30 บาท แต่เขาก็เสียภาษีให้คุณได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซื้อของเขาก็เสียแล้ว นั้นคือภาษีที่เขาเสีย เขาเรียกคืนไม่ได้ 

 

มีช่วงที่จัดกิจกรรมให้ลูกทุกเดือนด้วย

พอมีการเลือกตั้งแล้ว คุณยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล เราก็ทำเวทีขึ้นมาที่ราชประสงค์ทุกเดือน ก็เอาเงินที่ได้จากเงินเยียวยา (เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตในเหตุสลายชุมนุมปี 53) นี่แหละมาจัด เจอเจ้าหน้าที่ของห้างอีกฝั่งหนึ่งถือป้ายมาแอนตี้เรา เราก็พูดใส่ไมค์บอกคุณไม่ต้องยกป้ายหรอก ดิฉันไม่ใช่แกนนำนปช. เวทีนี้ไม่ใช่ของ นปช. แต่เวทีนี้เป็นแม่ของน้องเกด พยาบาลอาสาที่ตายในวันปทุมฯ ดิฉันคือประชาชนที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมที่ลูกฉันถูกฆ่า ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ไม่เคยมายุ่งกับเราอีกเลย

 

เคยเข้าไปเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการปรองดองโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหารด้วย ตอนนั้นเป็นยังไง

ตั้งแต่ปี 53 มันมีสองกลุ่มความคิด กลุ่มหนึ่งมองว่าเสื้อแดงสมควรตาย เป็นผู้ก่อการร้าย กบฎ ไม่รักชาติ เราก็คิดว่าจะทำยังไงดี เราเลยเข้าไปเป็นอนุกรรมการ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเราไม่เปิดใจ มันจะไม่ได้อะไร ต่างคนต่างเชื่อข้อมูลฝั่งตัวเอง เราเลยคิดว่าจะเอาข้อมูลจริงๆ ที่เราเจอเข้าไป เอาความจริงไปวางบนโต๊ะ แล้วคุย 

ตอนนั้นยังมีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดงติดคุกอยู่ เราเสนอให้ลองเข้าไปในเรือนจำ ไปฟังผู้ต้องหาที่อยู่ในนั้น เขาสนใจกัน เราก็พาเขาเข้าไป เอาทั้งเหลืองทั้งแดงมา ทุกคนอยากพูดอะไรพูดเลย 

เสื้อแดงคนหนึ่งเขาก็บอกว่าที่เขามาม็อบ ไม่ใช่มาล้มเจ้า แต่อยากให้ยุบสภา เปลี่ยนนายกฯใหม่ เปลี่ยนเพื่ออะไรๆ มันจะดีขึ้น ถ้าเปลี่ยนได้ตั้งแต่วันนั้น อภิสิทธิ์ลาออก ยุบสภา ไม่มีการล้มตาย มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ถามว่าพวกเขาได้อะไรไหม พวกเขาก็ไม่ได้อะไร พวกเขาก็ได้กลับบ้านไปทำนา ทำไร่ ทำมาหากินของเขา มันแค่นี้เอง พวกกรรมการฟัง เขาก็อึ้ง 

เราเลยว่ามันต้องเปิดใจฟังกัน ทุกฝ่าย ทุกสี เราต้องให้โอกาสเขา ประชาชนมันหัวอกเดียวกัน ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้มีหลักฐานจริงๆ ว่าคนนี้ยิง คนนี้วางระเบิด คุณต้องนิรโทษเขา เพราะกฎหมายประเทศไทยมันเป็นระบบกล่าวหากันอยู่แล้ว ง่ายที่จะถูกกล่าวหา

ดิฉันและพ่อน้องเฌอเคยขอให้ทนายทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ซึ่งขอให้นิรโทษประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ให้เหลือแต่แกนนำกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราก็เอาตรงนี้เสนอในอนุกรรมการ เราคิดว่าประชาชนคือเหยื่อของการเมือง สิ่งที่เขาอยากได้คือ อยากทำมาหากินได้คล่องตัว มีสวัสดิการ มีการรักษาพยาบาล และได้รับความยุติธรรม ซึ่งในชุดอนุกรรมการทุกคนก็เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ตอนเป็นอนุกรรมการเราได้ไปเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า มีทั้งแกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดง เราก็เข้าไปเรียนกับเขา อีกฝั่งเขาก็จะตั้งธงกับเรา ว่าเป็นเสื้อแดง เป็นพวกล้มเจ้า เป็นพวกก่อการร้าย หลังจากนั้นเขามีให้แยกเป็นกลุ่ม แล้วให้แสดงความคิดเห็นกันในกลุ่ม เราก็อธิบายให้เขาฟัง เขาก็ อ้าว พี่เข้าใจผิดเหรอ นึกว่าล้มเจ้า เราก็บอกว่า มันมีการปั่นกระแสให้เกิดการเข้าใจผิด เขาก็บอกว่า อ้าวเหรอ พี่ไม่รู้ ขอโทษ

คุยเรื่องเงินเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตตอนปี 53 ที่ได้ 7.5 ล้าน ถามเขาว่าคิดยังไง เขาบอก มากเกินไป ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราก็บอกว่า พี่รู้ไหม คนที่ตายเขาก็มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะฉะนั้นเอามาเปรียบเทียบกับตัวเลขไม่ได้ พี่มีค่ามากกว่าตัวเลขนั้น ทุกคนมีค่ามากกว่าตัวเลขนั้น เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นสิบล้านมันไม่มีประโยชน์อะไรทั้งนั้น ถ้าเขายังอยู่ เขาจะทำประโยชน์ให้ประเทศได้มากกว่าเงินตรงนี้

พอเราคุยไปๆ ก็มีคนเข้ามาจับมือ คือเขาเข้าใจบรรยากาศของการสูญเสีย เราถึงบอกว่าถ้าจะให้มีการปรองดองจริงๆ คุณต้องเอาทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะ เปิดพื้นที่ให้เขา ไม่ใช่ยุยงปลุกปั่น คำนี้ต้องใช้กับรัฐบาลทหาร เขากำลังแบ่งแยกและปลุกปั่นให้คนเกลียดกัน ให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากัน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชนเลย เราดีใจที่เด็กรุ่นใหม่แยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริง คนที่ไม่เคยคิดที่จะออกมา เขากล้าออกมา นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทหารนี้กลัว

 

ปัจจุบันม็อบก็ถูกข้อหาล้มเจ้าเหมือนกัน

คำว่าล้มเจ้าถูกใช้ในปี 53 ถามว่าเจ็บปวดไหม เจ็บปวด ศอฉ. ทำผังล้มเจ้าขึ้นมา ผังนี้แหละที่เป็นใบการันตีให้เขาฆ่าคนโดยที่คนในประเทศนั่งดูเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร หลังจากนั้นพออ.ยิ้ม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ) ไปฟ้อง ไก่อู (สรรเสริญ แก้วกำเนิด) ถึงออกมาสารภาพว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริง แต่คนมันตายจริงไง มีหน้าไหนมารับผิดชอบไหม ก็ไม่มี แล้วตอนนี้มันกลับมา ก็อยากให้สังคมได้รับรู้ว่าผังล้มเจ้ามันเกิดจากอะไร และเป้าหมายของรัฐบาลทหารมันต้องการอะไร ถึงได้เอาผังนี้ขึ้นมา 

การที่เด็กพูดถึงเรื่องกษัตริย์ ที่ทนายอานนท์พูด เรามองว่าเขาไม่ได้ล้ม เพียงแต่เขาขอให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญต้องใหญ่สุด ตรงนี้ถือว่าไม่ผิดนะ แต่คนที่กลัวที่สุดคือรัฐทหาร เพราะรัฐทหารจะใช้คำว่าปกปักคุ้มครองสถาบันเป็นตัวหลักเลยในการกระทำกับประชาชน

คุณดูในอดีตประชาชนเคยล้มเจ้าเหรอ มีแต่คนใกล้ตัวทั้งนั้น ทหารนี่แหละตัวดี ทุกวันนี้เวลาทหารจะทำอะไร อ้างท่านตลอด คนที่ดึงฟ้าลงมาต่ำคือทหารนะ

 

มองม็อบรุ่นใหม่ยังไง ข้อเรียกร้องของเขาจะประสบความสำเร็จไหม

มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจะเดินหน้า มันจะไปทีละสเต็ป มันไม่มีอะไรจะสามารถพลิกฟ้าพลิกดินได้ แต่อย่างน้อยมันยังได้เปลี่ยน

ยอมรับว่าเรากังวล เราเชื่อว่าทหารยังไงก็คือทหาร วัฒนธรรมในการฆ่าของเขา จิตสำนึกของเขามันไม่มี เพราะขนาดปี 53 ยังลากยาวมาได้ 10 ปี แล้วถ้าฆ่าใหม่จะเป็นยังไง เขาก็ไม่ติดคุกไง เขาคิดแบบนี้

เราก็ไปร่วมเหมือนกัน แต่ไปเงียบๆ เราถือว่าเป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดเหตุการณ์มันพีคถึงขั้นที่เด็กจะอยู่ในอันตราย แม่เกดจะออกไปอยู่ข้างหน้า คนแก่ๆ จะออกไปอยู่ข้างหน้าเพื่อปกป้องเด็ก ปกป้องลูก ปกป้องหลาน เรามองว่าเด็กที่มาร่วมเขาก็เหมือนกับลูกเรา ถ้าลูกเราอยู่ก็อยู่ในวัยนี้ ถึงเวลานั้นเราก็ต้องตาย ถ้าเราจะตาย เราตายปกป้องเขาดีกว่า ให้เขารอด ให้เขาอยู่ อยู่เพื่อทำให้ประเทศมันมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

มันคือเหตุผลที่เราต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ

ใช่ เราไม่อยู่นิ่ง เพียงแต่ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมมันไม่สามารถให้เราไปทำอะไรได้เลย เราถือว่าเรายังมีเวลาเหลือ ปี 53 ผีวีรชนเขาแรง ประวัติศาสตร์ของปี 53 จะต้องได้สะสาง คนที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กรรมที่เขาทำอยู่จะต้องถึงเขา คนรุ่นใหม่จะได้รับรู้ และมันจะต้องไม่มีการฆ่ากันแบบที่ไม่ต้องรับผิดชอบ จะต้องไม่มีการสั่งใดๆ โดยที่รู้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นคือคนจะตายเป็นร้อยๆ คุณจะหนีความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ คุณคือฆาตกร ทั้งคนสั่งและคนยิง คนสั่งก็เหี้ยม คนยิงเหี้ยมกว่า เขาจะต้องได้รับกรรมในสิ่งที่เขาทำ ตรงนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง องค์กรอิสระที่ไม่มีประโยชน์อะไรต้องเอาออก มีไว้ก็เหมือนใช้กลั่นแกล้งประชาชน

ถ้าคนเราไม่มีจิตสำนึก สังคมก็ไม่ควรต้อนรับคนพวกนี้ ต้องกระตุ้นจิตสำนึกของคน ควรจะไม่ให้เขามีที่ยืนไปเลยด้วยซ้ำไป

ตอนนี้กองทัพหมดความน่าเชื่อถือ ต่อให้คุณบอกว่าพื้นตรงนี้ใช้กระสุนยาง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับที่วัดปทุม ป้ายตัวเบ่อเร่อเขียนว่าเขตอภัยทาน มันคืออะไร เพราะฉะนั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดีที่สุด ให้เป็นกองทัพของประชาชนจริงๆ ที่มองประชาชนเป็นประชาชนของเขาที่จะดูแลคุ้มครอง ไม่ใช่มีกองทัพไว้เพื่อฆ่าประชาชนในประเทศ

 

รักษาบาดแผลในใจกันยังไง

เราก็ยอมรับความจริง ลูกเรามีสามคน ตอนนี้เหลือสอง แต่เกดก็ยังอยู่ เถ้ากระดูกเขายังอยู่ ยังไม่ได้ลอยอังคาร เพราะความหวังของแม่คือวันที่คนที่ฆ่าเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วศาลตัดสินให้มีความผิด วันนั้นแม่เกดจะเอาเขาไปลอยอังคาร ทุกวันนี้เขายังอยู่ แม่เชื่อว่าแม่ทำได้ แม่ไม่อยากให้ใครมาเป็นอย่างแม่ ไม่อยากให้พ่อแม่ของเด็กรุ่นใหม่ต้องมาสูญเสียลูกจากการที่ลูกเขามากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเขา

 

เคยฝันถึงเกดไหม

นานมาก (ยิ้ม) เขาคงจะมีความสุขของเขา เวลามาเขาก็จะสวย เขาจะยิ้ม แต่ในความรู้สึกของเราไม่ต้องฝัน รูปของเจ้าเกดแม่ทำไว้ใหญ่เบ่อเร้อ ทั้งข้างล่างและในห้องนอน ตุ๊กตาก็ยังอยู่ในตู้ ของใช้เขายังอยู่ในห้อง เวลาซื้ออะไรมาก็เอาใส่ไว้ในตู้ให้เขา ก็เหมือนกับมีเขาอยู่นั่นแหละ ลูกยังอยู่กับเรา ไม่ได้ไปไหน อยู่ในใจของเราตลอดเวลา เถ้ากระดูกก็ยังอยู่ ก็ยังอยู่ทั้งตัวนั้นแหละ เพียงแต่มาพูดกับเราไม่ได้เท่านั้นเอง เราคิดว่าเราก็มีความสุขของเราแบบนี้ และความหวังเราเราก็บอกเขาว่าแม่ต้องทำให้ได้ เป็นกำลังใจให้แม่ ให้แม่รอดปลอดภัย

 

แสดงละครล่าสุดในม็อบวันที่ 19 ก.ย. (#99DEAD ละครรำลึกสลายชุมนุมเมษา-พฤษภา 53) รู้สึกยังไงบ้าง

เด็กๆ ชวนไป ตอนเล่นมันมีความรู้สึกว่า เรารับรู้ความเจ็บปวดของเขา แล้วเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันแย่นะ เรารับรู้ถึงความเจ็บปวดของคนที่ร่วงตายทีละคน เขาไม่ได้ทำผิดอะไรทำไมเขาต้องมาตาย มันแสดงออกไปในสิ่งที่เรารู้สึก เด็กๆ รุ่นใหม่ที่แสดง เขาอาจจะไม่เคยอยู่ตรงนั้น แต่เหมือนเขาอินมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เราเองทุกครั้งที่สวมเสื้อลูกแล้วมาแสดง น้ำตามันจะไหล แต่เราพยายามไม่ให้มันไหล เหมือนน้ำตาตกใน คือไม่อยากจะร้องแล้ว มันร้องแล้วเหมือนเราอ่อนแอ แต่ถ้าเราจะสู้กับพวกทรราชย์ เราจะอ่อนแอไม่ได้ มันต้องกล้ำกลืนอยู่ข้างใน เราต้องไม่อ่อนแอ 

เวลาทำบุญครบรอบแต่ละปี แม่เกดทำบุญยากที่สุด วัดปทุมฯ ไม่เคยต้อนรับ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน คุณเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ว่าที่นี่ไม่เคยมีคนตาย และถ้าเป็นไปได้ฉันก็ไม่ได้อยากให้ลูกมาตายที่นี่ แต่ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไม่ได้ คุณก็ต้องเดินตามครรลองของมันไป คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทำบุญแต่ละครั้ง จองศาลาต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน คนอื่นเขาจองอาทิตย์เดียวได้ แล้วพอจองเป็นเดือน บางทีเขาโทรมายกเลิก พระติดธุระ ไม่ว่าง หรือพอได้ศาลา เจ้าหน้าที่นำสวดไม่ทำให้ บอกให้เราทำเอง ทุกสิ่งทุกอย่างคือไม่เต็มใจให้เราทำ พอหนักเข้าเราก็เลยไม่ทำบุญก็ได้ ทำสังฆทานแทน พอเราบอกจะทำสังฆทาน 4 โมงเย็น บ่าย 2 โมงศาลาปิด ล่าสุดปีนี้ปิดวัด อ้างเรื่องโควิด อะไรจะปานนั้น 10 ปีแล้วนะ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net