Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พูดทุกความรู้สึกของเธอออกมา .. ฉันอยากฟัง

ไม่ว่าเธอจะเรียกร้องสิทธิผู้พิการ สิทธิคนขายบริการทางเพศ สิทธิผู้ใช้แรงงาน สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+ ) สิทธิผู้หญิง ไม่ว่าเธอจะเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ คนต่างจังหวัดหรือคนกรุงฯ พูดความคับข้องใจของเธอออกมาให้หมด เพราะประชาธิปไตยที่เราต้องการคือประชาธิปไตยที่ฟังเสียงทุกคน ไม่ต้องกลัวว่าจะลดทอนสาระสำคัญของการประท้วง ฉันเชื่อว่าประเด็นยิบย่อยนี้คือการขยายความในเรื่อง—คนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน จึงสมควรได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองเสมอกัน และฉันเชื่อมั่นในสติปัญญาของคนในสังคมว่าสามารถรับฟังหลายๆ เรื่องได้

ถ้าเธอเจ็บปวดมาก ก็ร้องไห้ออกมา น้ำตาไม่ใช่บาป ถ้าฉันอยู่ตรงนั้น ฉันจะกอดเธอและคอยเช็ดน้ำตาให้

เธอไม่ต้องพยายามใช้ภาษาดอกไม้ เพื่ออธิบายความเจ็บปวดและความโกรธต่อระบอบอำนาจนิยมที่กดหัวเรา ..แค่ต้องแบกรับมัน ใช้ชีวิตกับมันทุกวัน ก็เหนื่อยพอแล้ว ไม่ต้องใช้พลังงานของเธอประดิษฐ์คำพูดสวยหรูเพื่อเอาใจใคร ฉันเคารพเธอที่ความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ที่ภาษาดอกไม้

เธอไม่ต้องกลัวว่าจะเสียแนวร่วมหากเธออยากตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ เพราะนับตั้งแต่วันที่ทนายอานนท์ นำภา [1] และรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล [2] ขึ้นพูดทะลายเพดานจนพังพินาศ ผู้คนก็ยิ่งตื่น และจำนวนผู้ชุมนุมแต่ละครั้งก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมกับยอดสมาชิกรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวงที่ทะลุ 2 ล้านไปแล้ว

เธอไม่จำเป็นต้องเกรงใจหรือเห็นอกเห็นใจคนรักเจ้า

ประชาชนมือเปล่ามีแค่ปากกับสมอง

ต่อให้เธอ “หยาบคาย” ล้อเลียนผู้มีอำนาจแค่ไหน ก็เทียบไม่ได้เลยกับหมัด เข่า ศอก ปืน และซี่กรงขัง [3] ที่เขาจัดเตรียมไว้โดยภาษีประชาชน เพื่อประชาชน (ที่วิจารณ์สถาบันฯ กษัตริย์) โดยเฉพาะ

เขาอ้างความรัก ความศรัทธา “อย่ามาเหยียบย่ำหัวใจคนไทย” วาทกรรมของคนรักเจ้า

แต่เขาเคยนึกถึงจิตใจของคนที่ถูกทำร้ายให้ดับสูญเพราะวาทกรรม “ความรัก/ความศรัทธา/เหยียบย่ำหัวใจคนไทย” บ้างไหม?

เธอและฉันพูดได้บ้างไหมล่ะว่า ใจกูก็สลายไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง กับกฎหมาย(เผด็จการ)และศีลธรรมอันดีงาม (แบบเปลือกปลอม) ในประเทศนี้!

นักศึกษาที่ถูกสังหารในธรรมศาสตร์ หน้าวัด-หน้าวัง เมื่อ 6 ตุลา 2519

ใจของพวกเขาไม่ได้แค่ถูกเหยียบย่ำ แต่ถูกทำให้หยุดเต้น อย่างป่าเถื่อนเสียด้วย และไม่มีใครต้องรับผิดต่อการสังหารหมู่ในวันนั้นแม้แต่คนเดียว [4]

ชายชราชื่อ อากง อำพล ตั้งนพกุล ที่ต้องติดคุกด้วยมาตรา 112 และเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว—ในคุก—เพราะศาลไม่ยอมให้ประกัน [5] ศพที่โผล่ขึ้นมาในแม่น้ำโขง คนที่ถูกอุ้มหาย คนที่ต้องลี้ภัยระหกระเหินห่างไกลจากแผ่นดินที่เขาคุ้นเคย [6] คนที่ติดคุกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่าง รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์ ภานุพงศ์ จาดนอก และ อานนท์ นำภา รวมถึงครอบครัวและคนที่รักเขา...

เคยคิดถึงหัวใจพวกเขาเหล่านั้นบ้างไหม?

ณ สยามเมืองยิ้ม ความผิดข้อหา “เหยียบย่ำหัวใจคนไทย” จากการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ดูจะเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าคดีทำร้ายร่างกายเด็กอนุบาลและคดีฆาตกรรมเสียอีก

แต่ไม่ว่าจะมีคนต้องติดคุก ลี้ภัย อุ้มหาย หรือ ตาย เท่าไหร่

และไม่ว่าเหล่าคนรักเจ้าจะเจ็บปวดเพราะถูก “เหยียบย่ำหัวใจ” แค่ไหน

สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ก็ยังปลอดภัยดี มีทหารรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีวังให้ประทับ มีเงินสนับสนุนจากภาษีประชาชนหลักหมื่นล้านต่อปี ทั้งยังมีคนถวายเงินให้ใช้ตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย มีรายการข่าวชื่นชมพระเกียรติบนสื่อกระแสหลักในเวลาสองทุ่ม มีป้ายเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ ธ เสด็จไปที่ใดก็สามารถปิดถนนได้ (ยกเว้นวันที่ขบวนเสด็จของพระราชินีเคลื่อนผ่านผู้ชุมชุม โดยที่ผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวอยู่บริเวณนั้นก็ไม่ทราบล่วงหน้า [7]) แถมยังมีกฎหมายคุ้มครอง ตั้งแต่มาตรา 6 ที่ระบุว่าไม่มีใครสามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ มาตรา 112 ที่แม้ในหลวง ร.10 ท่านทรงพระ “เมตตา” ไม่ให้ใช้ [8] แต่กระนั้นก็ยังทรงไม่แนะนำให้ยกเลิกเสีย แถมมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีมาตรา 116 มีข้อหายุยงปลุกปั่น มีรัฐบาลเผด็จการและกระทรวงต่างประเทศออกมาปกป้องและแก้ต่างให้ ...

ฉันคงไม่มีปัญหากับความรักและความศรัทธาของใคร

ถ้าความรักและความศรัทธานั้นไม่ได้จ่ายด้วยสิทธิการพูดและการแสดงออกของคนทั้งหมดในสังคม

ถ้าความรักและความศรัทธานั้นไม่ได้จ่ายด้วยความปลอดภัยในชีวิตของคนที่กล้าตั้งคำถามและไม่ยอมประนีประนอมให้กับกฎหมายและหลักศีลธรรมที่บิดเบี้ยว

ถ้าความรักและความศรัทธานั้นไม่ได้จ่ายด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ของเหล่าประชาชนที่ถูกเปรียบให้เป็นก้อนดิน (อย่างในเพลง “ของขวัญจากก้อนดิน”) เป็นฝุ่น ต้องหมอบกราบ ต้องนั่งให้ต่ำกว่าเสมอ ต้องเอาดวงใจไปฝากไว้ที่ครอบครัวสมมติเทพ ทั้งที่เราต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน (แต่ก็ไม่แน่ใจว่า คนที่สั่งฆ่าและสั่งจับคนอื่นเข้าคุกหน้าด้านๆ นี่ยังมีความเป็นมนุษย์เหลือบ้างหรือไม่)

ถ้าความรักและความศรัทธานั้นไม่ได้แลกมาด้วยคนเซ็นรับรองการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งขัดขวางการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของประชาชนในการเลือกผู้แทนของตนเอง ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่อย่างน้อยมันก็เปิดโอกาสให้คนได้ยืนหลังตรงและลืมตาอ้าปากได้มากกว่าเผด็จการทหารและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าความรักและความศรัทธานั้นไม่ได้จ่ายด้วยภาษีประชาชน 37,228 ล้านบาท [9] ทั้งที่ไทยก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ทั้งที่เบี้ยผู้พิการและคนสูงอายุนั้นไม่เกิน 1000 บาทต่อเดือน [10],[11] ทั้งที่ระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดยังต้องปรับปรุงอีกมาก ทั้งที่รัฐยังไม่สามารถสร้างห้องสมุดที่ดีให้ประชนชนทั้งประเทศได้ ฯลฯ

ก่อนจะอันเชิญดวงวิญญาณพระมหากษัตริย์ผู้ล่วงลับมาทวงบุญคุณเด็กรุ่นใหม่ ควรถามตัวเองสักหน่อยว่า

ประชาชนจ่ายมากเกินไปไหมเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ศูนย์รวมจิตใจคนไทย” แบบนี้?

ประชาชน—ผู้เป็นผู้ให้ ยอมประนีประนอมจนแทบไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว

เมื่อไหร่สถาบันพระมหากษัตริย์จะยอมถอยและลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเสียที?

 

อ้างอิง

[1] อานนท์ นำภา: ปราศรัยด้วยความเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และสถาบันกษัตริย์ https://prachatai.com/journal/2020/08/88898

[2] กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมยื่น 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อสภา

https://prachatai.com/journal/2020/08/89231

[3] ถ้อยคำจากไมค์ เล่าเหตุการณ์ถูก 'ลาก' จากเรือนจำขึ้นรถตำรวจ ก่อนเป็นลมถูกส่งโรงพยาบาล

https://prachatai.com/journal/2020/10/90235

[4] การต่อสู้ของจำเลยคดี 6 ตุลาภายใต้กระบวนการ (อ) ยุติธรรม https://doct6.com/archives/2205

[5] ฐานข้อมูลคดี: องกงเอสเอ็มเอส https://freedom.ilaw.or.th/case/21#progress_of_case

[6] ผู้ลี้ภัยทางการเมือง: คนเห็นต่างหรือพวกหนักแผ่นดินhttps://www.bbc.com/thai/extra/Y0IB3TQXys/thai_exiles

[7] สุทธวรรณ ชี้กรณีขบวนเสด็จฯ เป็นความผิดของรัฐบาล https://prachatai.com/journal/2020/10/90150

[8] วันเฉลิม: นายกฯ เตือนเยาวชนที่เคลื่อนไหวเรื่องผู้ลี้ภัย-ม.112 ระวังเสียอนาคต ด้านผู้นำ นศ.บอก "ไม่กลัว"

https://www.bbc.com/thai/thailand-53046845

[9] งบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ https://prachatai.com/journal/2020/08/89306

[10] จ่ายเบี้ยคนพิการเพิ่มให้อีกคนละ 200 บาท https://www.posttoday.com/finance-stock/news/636297

[11] เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แหล่งเงินหลักต่ออายุผู้มีรายได้น้อยจำนวนหนึ่ง

https://www.bbc.com/thai/thailand-54201687#:~:text=%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%20%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8,%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%20800%20%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net