Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.ทฤษฎีการชุมนุม

การชุมนุมเป็นสมการของ “ความกลัว” กับ “ความต้องการการเปลี่ยนแปลง” ถ้าหากความกลัวมีมากกว่าหรือเท่ากับความต้องการการเปลี่ยนแปลง การชุมนุมจะไม่เกิด แต่ถ้าหากความต้องการการเปลี่ยนแปลงมีมากกว่าความกลัว จะเกิดการชุมนุม ยิ่งมีความต้องการการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ปริมาณและคุณภาพของการชุมนุมก็มีมากเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรทางสถาบันและสภาพแวดล้อมทาง การเมืองประกอบ เช่น สถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสถาบันทางการเมือง


2.ความชอบธรรมของการชุมนุม

ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” เมื่อเลือกตั้งผู้แทนราษฎรไปแล้ว อำนาจอธิปไตยไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับตัวของประชาชน โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1980
เป็นต้นมา ผู้คนในโลกมีความศรัทธาต่อพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎรน้อยลง เช่น เป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยลง ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎรน้อยลง วิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกถึงการเสื่อมศรัทธาต่อพฤติกรรมของนักการเมืองและฝ่ายบริหารมากขึ้นและดังขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การใช้สิทธิทางตรงของประชาชนบนท้องถนนจึงมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องตามประเด็น เช่น การต่อต้านหรือเรียกร้องนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อรัฐบาล หรือการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมปรากฏต่อสาธารณะ ดังนั้น โลกสมัยใหม่จึงไม่ได้ถือว่า “ประชาธิปไตยมีเฉพาะในรัฐสภา” 

ส่วนทางด้านนโยบายสาธารณะตามหลักตัวแบบการตลาด (market model) ถือว่า ประชาชนก็คือลูกค้า เขามีสิทธิโวยวาย (voice) เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้ขายที่จะต้องหาทางออก (exit) หรือเพิ่มทางเลือกให้เขา เหมือนลูกค้าโวยวายว่า “เขาอยากกินสุกี้ แถมแมลงสาปให้เขาทำไม” บริกรของร้านก็ต้องเข้ามาขอโทษ เปลี่ยนชามใหม่ให้ เป็นต้น


3.การชุมนุมกับความขัดแย้ง

การชุมนุมมีสองส่วนหลักๆ คือ เหตุผลกับอารมณ์ ส่วนของเหตุผลมีพื้นฐานมาจากปัญหาที่สังคมเผชิญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่จะต้องเล่าเรื่องราวและสรุปออกมา สำหรับด้านอารมณ์เป็นความจำเป็นที่การชุมนุมต้องจัดให้มี เพื่อหล่อเลี้ยงการชุมนุมให้มีชีวิตชีวา การกระตุ้นอารมณ์นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเพิ่มพลังมวลชน ผู้ปราศรัยต้องมีวาทศิลป์และพูดเร้าใจคนฟัง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา หากปราศจากเสียซึ่งส่วนหนึ่งส่วนใด การชุมนุมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ตามหลักการเคลื่อนไหวมวลชนสมัยใหม่ ยิ่งต้องสร้างความฝันที่สัมผัสได้ (memes) ฝันนั้น หาก ผู้สื่อความหมายฉลาดเฉลียวในการเล่าเรื่องราวเท่าใด การเคลื่อนไหวมวลชนก็ยิ่งฉลาดเท่านั้น ดังที่เรียกสถาบันที่ศึกษาการเคลื่อนไหวมวลชนของตะวันตก ว่า “SmartMeme” 

การชุมนุมย่อมมีความขัดแย้งทั้งในตัวเองและผลกระทบที่ตามมา เมื่อใดก็ตามที่การชุมนุม ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอะไรเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมนั้นไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ใดๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการชุมนุมเพื่อยับยั้ง (deter) ฝ่ายตรงกันข้ามเสียมากกว่า


4.ยุทธศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระดับโลก

ในหนังสือ ชื่อ “Information Operations Planning” เขียนโดย Patrick D. Allen ปี 2007 อธิบายว่า สหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายกองกำลังผสมและเสนาธิการทหาร ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหาความขัดแย้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2006 เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ EBO” (Effects-Based Operations) สรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่างๆ ของโลก ยุทธศาสตร์ที่ได้ผลที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่ควรกระทำเพื่อสร้างและธำรงรักษากำลังอำนาจของชาติ คือ “DIME” ซึ่งย่อมาจาก Diplomatic, Information Operations, Military, และ Economic หมายความว่า ควรเริ่มต้นจากการทูตก่อน แล้วค่อยไปปฏิบัติการข่าวสาร กองกำลังทหาร และเศรษฐกิจ ตามลำดับ

กล่าวง่ายๆ ว่า ต้องเจรจากันก่อน แล้วค่อยปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งปฏิบัติการข่าวสารนี้ยังแยกออกเป็นระยะสั้น ได้แก่ เชิงรุก (offensive operations) กับเชิงรับ (defensive operations) และระยะยาว ได้แก่ การสร้างอิทธิพล (influence operations) ถัดจากนั้น จึงเป็นการใช้กำลังทหาร ดังตัวอย่างเช่น ในสงครามอ่าว สงครามโคโซโว สุดท้าย คือ มาตรการทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

ข้อที่น่าสังเกต คือ ในยุทธศาสตร์ใหม่นี้ สหรัฐอเมริกาได้ตัดการเมือง (political) สังคม (social) และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ออกไป แตกต่างไปจากตัวแบบเดิมที่ยึดถือกันมายาวนานที่เรียกว่า “PMESII” ซึ่งย่อมาจาก Political, Military, Economic, Social, Information, และ Infrastructure เนื่องจากมองว่าการพัฒนาการเมือง สังคม และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ตามแนวคิดในการพัฒนาที่สหรัฐอเมริกาผลักดันผ่านองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ทศวรรษ 1950 นั้น ใช้เวลานานและเห็นผลช้า รวมทั้งสิ้นเปลืองมาก


5.การเจรจากับบริบทของการเจรจาอันไหนสำคัญกว่ากัน

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความขัดแย้งในการชุมนุมที่ทั่วโลกยอมรับ จึงได้แก่ การเจรจา ปัญหาหลักของการเจรจามี 3 ประการ คือ (1) ใครจะเจรจากัน (2) เขาจะเจรจากันเรื่องอะไร และ (3) ในบริบทอะไร ซึ่งนอกจากศิลปะทางการทูตแล้ว ยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ทางการเมืองและกฎหมาย ทั้งในระดับรัฐและระดับโลกด้วย

หลักการเจรจาเริ่มจากการสร้างบริบทของการเจรจาก่อน ถัดมา จึงกำหนดเรื่องที่เจรจา สุดท้าย จึงเป็นการกำหนดผู้เจรจา

บริบทของการเจรจา หมายความว่า ทุกฝ่ายต้องพร้อมเจรจากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติม เช่น ต้องลดหรือบรรเทาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้ชุมนุม เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมุมมองที่แคบ เช่น ปฏิบัติตามคำสั่งหรือหนังสือสั่งการ ซึ่งกฎหมายบังคับให้เขาทำ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เห็นกรอบที่ใหญ่กว่า คือ การผ่อนคลายสถานการณ์ความรุนแรง ปัญหานี้จะเกิดขึ้นมากกับรัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลัก (Bureaucratic Polity) 

ตัวอย่างของรัฐแบบนี้ คือ 

   ถาม   ท่านคิดว่าเรื่องนี้มีความเป็นมาเป็นอย่างไรคะ
   ตอบ   ผมยังไม่ได้รับรายงาน
   ถาม   ท่านลงมือแก้ปัญหานี้อย่างไรคะ
   ตอบ   ผมสั่งไปแล้ว
   ถาม   ท่านคิดว่าทำไมผู้ปฏิบัติถึงไปกระทำผิดกฎหมายเสียเองคะ
   ตอบ   มันเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติรายนั้นต้องรับผิดชอบเอง
 
รัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลักจะเน้นการสร้างกลไก เช่น แผน การจัดโครงสร้าง ตั้งกรรมการ แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงผล ข้อสำคัญ คือ ขาดการมองปัญหาระยะยาวและขาดการมีส่วนร่วม

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกระบวนการเจรจากับบริบทของการเจรจาแล้ว บริบทของการเจรจาย่อมมาก่อนและสำคัญกว่ากระบวนการเจรจา เพราะหากเราไม่สามารถสร้างบริบทของการเจรจาได้ เรื่องอื่นๆ ย่อมตามมาไม่ได้ เช่น ประเด็นเจรจาและผู้เจรจา เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องสร้างบรรยากาศให้เห็นถึงความพร้อมในการเจรจาและความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามผลของการเจรจา

ในทางกลับกัน หากไปเริ่มต้นที่การกำหนดแผน การจัดโครงสร้าง หรือการตั้งกรรมการ เวทีของการเจรจาที่สร้างขึ้นนั้น ย่อมไม่น่าจะเชื้อเชิญให้ใครมาร่วมเจรจาได้ เพราะผู้เจรจาหรือฝ่ายเจรจาย่อมเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล (rational man) เขาย่อมคาดการณ์ถึงผลของการเจรจาได้

ทั้งนี้ย่อมไม่ต้องพูดถึงคู่หรือฝ่ายที่จะเข้าร่วมเจรจา ยิ่งถ้าหากฝ่ายหนึ่งมีสมมติฐานว่า ไม่ต้องการยกระดับอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาเป็นคู่เจรจา หรือต้องการเอาคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่งมาอยู่ในวงล้อมของพรรคพวกของฝ่ายเขา เพื่อบีบบังคับให้ผลการเจรจาไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ การเจรจานั้นย่อมล้มเหลว และเท่ากับเป็นการก่อสงครามขึ้นมาใหม่ ทั้งสะท้อนถึงความไม่ตั้งใจที่จะเจรจา


6.ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้อยู่ที่ประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งฝ่ายเรียกร้องมองว่ามีปัญหานี้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ไม่มี ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การแตกหักในสังคมไทย

ที่เห็นได้ชัด คือ การแบ่งฝ่ายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่สื่อต่างประเทศ เรียกฝ่ายหนึ่งว่า pro-democracy เรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า pro-military หรือบางสื่อเรียกว่า “ultra-royalist” สะท้อนถึงค่านิยมโลกที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย แน่ละว่า การที่สื่อต่างประเทศใช้ชื่อแบ่งฝ่ายเช่นนี้เป็นหลักฐานที่ประจักษ์ชัดถึงความสนับสนุนจากนอกประเทศที่มีต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย นอกเหนือไปความสนับสนุนอื่นๆ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐใช้นั้นเป็นยุทธศาสตร์โลกอย่างหนึ่งในยุคสงครามเย็น ชื่อ “ยุทธศาสตร์การตอบโต้” (countervailing strategy) ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การลงโทษ (punitive strategy) และ (2) ยุทธศาสตร์การปฏิเสธ (denial strategy ตามทฤษฎีการยับยั้งการโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้าม (deterrence theory) ผู้เขียนขอข้ามเรื่องนี้ไป แต่ขอตั้งขอสังเกตว่า ยุทธศาสตร์นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน

หลักของยุทธศาสตร์การตอบโต้ มาจากการต่อสู้ในสงครามนิวเคลียร์ พื้นฐานของความคิด คือหากฝ่ายหนึ่งยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ออกมา อีกฝ่ายหนึ่งจะยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ และสื่อว่าขีปนาวุธ ลูกหลังนี้มีอำนาจทำลายล้างมากกว่าลูกแรกของฝ่ายแรกอย่างมหาศาล เพื่อทำให้ฝ่ายแรกกลัวการสูญเสียด้วยกัน เมื่อฝ่ายแรกกลัวขีปนาวุธนิวเคลียร์ลูกที่สอง ก็ย่อมไม่กล้ายิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ลูกแรกออกมา

เมื่อย้อนมาดูสถานการณ์ชุมนุมในประเทศไทย การสร้างม็อบอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาตอบโต้จึงเป็นตามยุทธศาสตร์นี้ เพื่อปรามว่า ฝ่ายข้าพเจ้าก็มีกำลังไม่แพ้กัน และหรือมากกว่าท่านหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม การสร้างม็อบของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาตอบโต้นั้น มีผลทางลบตามมา และสะท้อนถึงความคิดบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา ผลที่เกิดจากการสร้างม็อบมาตอบโต้ ได้แก่ การเบียดขับหรือผลักไสอีกฝ่ายหนึ่งออกไปจากพื้นที่ของการเจรจา ดังที่ภาษารัฐศาสตร์ เรียกว่า “social exclusion” ซึ่งเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำหลักทางการเมืองโลกในปัจจุบัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงความคิดลึกๆ ทำนองว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยกท่านขึ้นมาเป็นคู่เจรจาได้ ข้าพเจ้ายังขอยืนยันในจุดที่ข้าพเจ้าอยู่ ณ เวลานี้”

นักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ดี มองว่า การสร้างม็อบตอบโต้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อตบอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ากรอบและบีบให้ฝ่ายนั้นลดข้อเรียกร้องที่เป็นจุดสูงสุดลงมาอยู่ในจุดที่เป็นไปได้ เช่น ยกประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป เหลือเพียงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้เขียน มองว่า หากผล จบลงตามนั้น ย่อมเป็นผลดีของประเทศและทุกฝ่ายอย่างไม่ต้องสงสัย

ทว่าเมื่อคิดต่อไปอีกว่า หากอีกฝ่ายยังยืนกรานในข้อเรียกร้องข้อสามของตัวเอง การสร้างม็อบ ตอบโต้ดังกล่าว น่าจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายเพิ่มกำลังตอบโต้ เพื่อให้แรงเหวี่ยงทางการเมืองหันเข้าหาตัวเอง (gain momentum) ก็จะยิ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มพลังม็อบและเผชิญหน้ากัน ไม่ต่างจากการเพิ่มพลังอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีการเมืองระดับโลก 

เมื่อไปถึงจุดที่ไม่มีใครกลัวกัน การเมืองไทยจึงเหลือทางออกเพียงทางเดียว คือ การปฏิวัติ แต่ก็เป็นไปได้ทั้งสองด้าน ได้แก่ (1) การทำรัฐประหารโดยรัฐ และ (2) การผลักดันให้เกิดการปฏิวัติสี (color revolution) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันภายในและภายนอกประเทศ กล่าวคือ การทำรัฐประหารโดยรัฐย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐไทยที่จะตัดสินใจ โดยเฉพาะการเตรียมรับกับปัญหาที่จะเผชิญในสังคมโลก ส่วนการปฏิวัติสีก็ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันจากภายนอก ซึ่งอาจกลายเป็นสงครามมวลชนที่ยืดเยื้อและทำลายประเทศ ดังที่รัฐบาลคาดการณ์ หรือเป็นเพียงเครื่องมือของต่างชาติ ฮือฮาชั่วครู่แล้วอ่อนกำลังลง ดังที่สื่อจีนคาดการณ์


7.ทางออกของรัฐไทย

การแก้ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่มีทางอื่นนอกจากหันกลับมาทบทวนสมการของการชุมนุม ซึ่งพบว่า การชุมนุมเป็นสมการของความกลัวกับความต้องการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น 
จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐไทยต้องหันกลับมาดูว่าผู้ชุมนุมต้องการอะไร และรัฐบาลจะตอบสนองได้อย่างไร

ดังที่ผู้เขียนกล่าวแล้วว่า รัฐไทยในปัจจุบันเป็นรัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลัก ซึ่งมีมุมมองที่แคบ และไม่สนองตอบ (responsive) ต่อความต้องการของประชาชน การแสวงหาทางออกของรัฐไทยจึงต้องสลัดตัวเองออกจากกรอบความคิดของรัฐที่ยึดระบบราชการเป็นหลักก่อน อาจต้องถึงขั้นเอาเทคโนแครตออกไปก่อน เพราะเทคโนแครตจะพูดถึงแต่ข้อจำกัดของการแก้ไขปัญหา เสร็จแล้วรัฐบาลก็หันมารับฟัง เด็กๆ ดังตัวอย่างที่นักข่าวถามว่า “หนูอยากได้อะไร” เด็กตอบว่า “อยากให้รัฐบาลเห็นหัวคน” 

ประเด็นของการเรียกร้องมี 3 ข้อ คือ (1) ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก (2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ (3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่า ข้อเรียกร้องข้อแรกไม่สู้จะเป็นปัญหา เพราะทำไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย (legal technicality) ดังที่เทคโนแครตชั้นนำของประเทศอธิบายว่า หากรัฐบาลลาออกก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อที่สองและข้อที่สาม สมมติฐานที่เหลือจึงมีเพียง 2 ข้อ ว่า จริงๆ แล้วเป้าของการเรียกร้องอยู่ที่ข้อที่สองหรือข้อที่สาม หากเป็นข้อที่สอง ปัญหาของประเทศก็น่าจะจบลงได้ในไม่ช้า แต่ถ้าเป้าจริงๆ อยู่ที่ข้อสาม ก็น่าคิดว่าปัญหาของประเทศจะจบลงอย่างไร เพราะฝ่ายนักศึกษาและเยาวชนย่อมต้องการยืดการประท้วงออกไปให้ยาวนานที่สุด (prolong protests) เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไร้ประสิทธิภาพ (ineffective) และเป็นง่อยในเชิงยุทธศาสตร์ (strategic paralysis) ตามหลักการรบในสงครามจิตวิทยา 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า แม้ว่าเป้าจริงๆ อยู่ที่ข้อสาม รัฐบาลก็ต้องฟัง และน่าจะหาทางออกได้เหมือนกัน ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่า รัฐไทยควรหันกลับมาไตร่ตรอง คือ ต้นธารของกระแสความคิดของนักศึกษาและเยาวชนมาจากไหน เขาต้องการอะไร ทำไมเราจะตอบสนองเขาไม่ได้ เพราะอะไร

สำหรับผู้เขียน นั้น คิดว่า ข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุด คือ การยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้เขียนขอยกเหตุผลมาสนับสนุน 4 ประการ ดังนี้ ประการแรก เป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต่างประเทศต้องการมากที่สุด ประการที่สอง เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอัญเชิญมากล่าวต่อสาธารณะเนืองๆ ว่า พระองค์ท่านไม่ประสงค์ที่จะใช้มาตรานี้ดำเนินคดีกับใคร ประการที่สาม มีกฎหมายอื่นคุ้มครองประมุขของรัฐอยู่แล้ว และประการที่สี่ จะทำให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐไทยควรพิจารณาต่อไปอีกว่าสมควรออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีมาตรา 112 หรือไม่ อาจขยายไปถึงกรณีอื่นๆ ด้วย เพื่อให้คนเหล่านั้นเข้ามาพูดคุยกันอย่างสันติและมีวาระ (agenda) อย่างชัดเจน หากสามารถกระทำได้ดังนี้ จะเป็นการแสดงน้ำใจอันใหญ่หลวงต่อฝ่ายต่อต้าน และเป็นการสร้างบริบทของการเจรจาที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เขียน เห็นว่า “บิ๊กเซอร์ไพร์ส์” จริงๆ อยู่ตรงนี้!!!!

ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่า “ได้คืบ แล้วจะเอาศอก” นั้น ผู้เขียนคิดว่าสังคมไทยต้องช่วยกันหาทางลดความเป็น ultra-royalist ลงก่อนแล้วมองปัญหาตามความเป็นจริง ประกอบกับรัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ เช่น รู้จักเตรียมการและหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน สังคมจะตัดสินใจเอง และเมื่อถึง วันนั้น รัฐบาลและรัฐไทยก็น่าจะได้ใจคนกลับคืนมา ต่อจากนั้น เราก็ค่อยปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างจริงใจ โดยเน้นที่ “ผล” มากกว่า “แผน” โดยมีกระบวนการ “เห็นหัวคน” เป็นตัวหล่อเลี้ยงไปตลอดเส้นทาง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net