ทำไมยุโรปสงวนท่าทีต่อการชุมนุมในไทย

นักวิเคราะห์ประเมินยุโรปสงวนท่าทีต่อการประท้วงในไทยเพื่อรักษาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลโจมตีกลุ่มผู้ประท้วงว่ารับเงินต่างชาติให้เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย อนาคตอาจกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยยังตามหลังสิงคโปร์และเวียดนาม

เดวิด ฮุตต์ นักข่าวการเมืองที่รายงานเรื่องความสัมพันธ์ยุโรปกับเอเชียวิเคราะห์ผ่านสื่อเอเชียไทม์ว่า ตั้งแต่ที่มีการชุมนุมครึ่งปีหลัง 2563 สหภาพยุโรปเคยแสดงความเห็นต่อการประท้วงในไทยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยมาจากถ้อยแถลงต่อสื่อหลังการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปและไทยในวันที่ 28 ต.ค. 2563

ถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านสำนักงานการต่างประเทศของสหภาพยุโรประบุว่า ระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป "ได้ย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ ท่ามกลางกระแสการประท้วงในประเทศไทย"

ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุอีกว่า "สหภาพยุโรปได้เน้นย้ำว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมควรจะได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว"

ฮุตต์มองว่า เป็นเรื่องคาดหมายได้ที่รัฐบาลโลกตะะวันตก ไม่เฉพาะในยุโรป จะสงวนท่าทีต่อการประท้วงที่นำโดยเยาวชน ท่ามกลางผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเคยเป็นประเด็นต้องห้ามในสังคมไทย

ฮุตต์ให้ข้อมูลว่า ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ต่างรีบยอมรับการเลือกตั้งปี 2562 ว่าชอบด้วยกฎหมายและบริสุทธิ์ยุติธรรม หลังตัดความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ทั้งที่ก่อนการลงคะแนนเสียงมีข้อร้องเรียนเรื่องการเอนเอียงเข้าข้างพรรคฝ่ายรัฐบาลทหารอย่างเห็นได้ชัด และยังมีปัญหาซับซ้อนหลังการนับคะแนน

สหภาพยุโรปแสดงท่าทีเช่นนี้ในการแถลงเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2562 โดยระบุว่า จะเริ่มกลับมาเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยอีกครั้ง หลังถูกเลื่อนไปเนื่องจากการรัฐประหารในปี 2557

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปเคยแสดงท่าทีชัดเจนว่า การเจรจากับไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยเหตุผลเรื่องการกู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค

แถลงการณ์โดยผู้แทนด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงระบุว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ถือเป็น "การถอยหลังของความหลากหลายทางการเมืองในไทย" รวมถึงเรียกร้องให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถปฏิบัติหน้าที่สมาชิกรัฐสภาต่อไปได้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม

ทว่าหลังจากนั้นก็ไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยจากสหภาพยุโรปอีก ขณะที่ผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาลทหารในคราบพลเรือนสร้างเรื่องว่า กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และไอลอว์ ได้รับเงินสนับสนุนจากยุโรปและอเมริกัน ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย ซึ่งฮุตต์มองว่าเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯและ สหภาพยุโรปต้องการรักษาระยะห่างจากการประท้วง

นอกจากนี้ ฮุตต์ยังตั้งข้อสังเกตว่าทางการไทยมีความอดกลั้นมากกว่าที่คิด ผู้ชุมนุมถูกจับกุมแต่ก็ได้รับการปล่อยตัวหรือประกันตัว กรณีความรุนแรงขั้นเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ ครั้งที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมช่วงกลางเดือนตุลาคม

ฮุตต์มองว่า ถ้าจะมีท่าทีที่ชวนให้ขบคิดมากที่สุดจากยุโรปก็น่าจะมาจากคำแถลงของไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มักใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ในแคว้นบาวาเรีย โดยระบุว่า "เราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าเรื่องการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยไม่ควรถูกควบคุมจากแผ่นดินของเยอรมัน" และระบุว่าถ้าหากมีการกระทำเช่นนี้อาจจะมีมาตรการโต้ตอบจากรัฐบาลเยอรมนี

นอกจากนี้ มาสยังระบุอีกว่า การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทยเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีอาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ และยืนยันว่าการเลื่อนการเจรจาอีกครั้งเคยเป็น "ทางเลือก"

แหล่งข่าวของฮุตต์กล่าวว่า สหภาพยุโรปกำลังเตรียมพร้อมในกรณีที่สถานการณ์ในประเทศไทยเลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข่าวลือในทางลับเกี่ยวกับการก่อรัฐประหารอีกครั้งมีส่วนจริง แต่ที่ยังสงวนท่าทีเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปแย่ลงโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 25 ของสหภาพยุโรป มูลค่าการค้าทวิภาคีในปี 2561 ประมาณ 3.8 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยราว 1.38 ล้านล้านบาท ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนามให้สัตยาบันข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปแล้ว ส่วนการเจรจากับมาเลเซียและฟิลิปปินส์หยุดชะงักมานานหลายปี ขณะที่การเจรจากับอินโดนีเซีย แม้จะมีความคืบหน้า แต่น่าจะยังไม่ประสบผล จนกว่าหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องน้ำมันปาล์ม

อินโดนีเซียเริ่มยื่นคำร้องโจมตีสหภาพยุโรปต่อองค์การการค้าโลก เกี่ยวกับแผนการยุติการนำเข้าน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลอินโดนีเซียโต้แย้งว่า แท้จริงแล้วเป็นการปกป้องผู้ผลิตน้ำมันในยุโรป ข้อตกลงทางการค้ากับไทยซึ่งเป็นอันดับที่สามในภูมิภาคจะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อยุโรปที่พยายามจะสร้างอิทธิพลในเอเชีย

ฮุตต์ระบุว่า สภาพต่างๆ อาจเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยผู้ชุมนุมยังคงได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปและรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างหวังว่าจะมีทางแก้ปัญหาอย่างสันติ แม้จะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แต่สามารถฝ่าทางตัน ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่การรัฐประหารและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท