Skip to main content
sharethis

เตรียมจัดตั้งจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอาชีพผู้ต้องขัง พัฒนาทักษะให้มีงานทำเมื่อพ้นโทษ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยว่า ตนได้มีการหารือกับกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลก่อนและหลังการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่พ้นโทษ เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม โดยจะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพราะที่ผ่านมานั้น เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษออกจากเรือนจำหรือเยาวชนที่ออกจากสถานพินิจ งานของกรมจะจบที่ประตูนั้นไม่มีการไปยุ่งเกี่ยว ดูแลหรือติดตามต่อ จะให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นแต่ตนเห็นว่าการที่จะปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำเมื่อพ้นโทษนั้น เราควรจะมีการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้พวกเขามีงานทำและไม่กลับมาทำความผิดซ้ำอีก ตามนโยบายที่ตนได้วางเอาไว้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ทางกรมราชทัณฑ์จึงได้มีการเสนอโครงการสมภพ คนเกิดชีวิตใหม่ จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษมีงานทำ โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว ซึ่งผู้ต้องขังจะได้รับการฝึกอาชีพ และตั้งบิสซิเนส ยูนิต เพื่อแนะแนวอาชีพที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมในการสมัครงาน พัฒนาฝีมือแรงงานและฝึกอบรมให้ความรู้ในการเข้าสังคม

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยังมีการจัดทำข้อมูลของผู้ต้องขังว่ามีความชำนาญในด้านใดและรวบรวมความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการจ้างงาน เพื่อเราจะได้จัดสรรหางานที่เหมาะสมให้ และอาจจะประสานกับทางกระทรวงแรงงานเพื่อรับไปหางานทำ จากนั้นเมื่อออกไปแล้ว เราจะจัดทำฐานข้อมูลติดตามว่าพวกเขาออกไปแล้วทำงานอะไรบ้าง นอกจากนี้ มีการเสนอแผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อเป็นพื้นที่ในการรองรับแรงงานของผู้ต้องขังที่พ้นโทษ โดยในระยะแรกเราจะเน้นไปที่งานด้านเกษตรกรรมและการแปรรูปทางการประมง ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่โควิดระบาดทำให้แรงงานต่างด้าวขาดแคลน ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่ผู้ต้องขังจะได้เข้าไปทำงานตรงนี้ได้ จากนั้นอาจจะเป็นการสร้างโรงงานขึ้นมาเองโดยอาจจะลงทุนร่วมกับเอกชน ซึ่งโครงการนี้จะมีความชัดเจนภายในปีนี้

“ที่ผ่านมา เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษ ครึ่งหนึ่งจะกลับมาติดคุกอีก เพราะออกไปแล้วไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ดังนั้น เราต้องสร้างงานให้พวกเขามีงานทำเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เขาจะได้ไม่กลับมาทำผิดอีก ซึ่งเมื่อพูดถึงกรมราชทัณฑ์คนมักจะมองว่าเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เราต้องเปลี่ยนให้เขามองว่าเป็นแหล่งผลิตแรงงานคุณภาพให้ได้ และต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษไปแล้วสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองและมีชีวิตเหมือนคนปกติได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/11/2563

ขีดเส้นตาย คนต่างด้าวตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2562 ต้องดำเนินการขออนุญาตทำงาน และทำบัตรสีชมพู ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 พ.ย. 2563

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือน นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่จ้างคนต่างด้าวที่ต้องดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562, วันที่ 24 มี.ค. 2563 และวันที่ 15 เม.ย. 2563 ดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานและทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย. 2563 หากพ้นกำหนด คนต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้

นายสุชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีคนต่างด้าวที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 20 ส.ค. 2562 วันที่ 24 มี.ค. 2563 และวันที่ 15 เม.ย. 2563 ยื่นบัญชีรายชื่อไว้ทั้งสิ้น จำนวน 1,266,351 คน ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว จำนวน 1,173,276 คน ดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำงานและทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแล้วเสร็จ จำนวน 1,086,226 คน และที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 180,125 คน ซึ่งปัจจุบันใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวแล้ว จึงขอเตือนให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รีบดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ผ่านระบบออนไลน์ และติดต่อทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะสามารถใช้ได้ถึง วันที่ 31 มี.ค. 2565

“นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่จ้างคนต่างด้าวที่ต้องดำเนินการตามมติครม.ดังกล่าว และได้รับการอนุมัติคำขออนุญาตทำงาน (ตท.2) ในระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th เรียบร้อยแล้ว สามารถนัดคิวเพื่อทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ เพื่อเข้าไปทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ณ สำนักเขต สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์บริหารการทะเบียนภาคจังหวัดสาขา หรือตามที่กรมการปกครองกำหนด สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในจังหวัดอื่น พร้อมย้ำว่า หากพ้นกำหนด คนต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกผลักดันส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 5/11/2563

ก.แรงงาน เพิ่มช่องทางจ้างงานเด็กจบใหม่ Co-Payment ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน

5 พ.ย. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้า โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ว่ายังมีตำแหน่งงานเป็นจำนวนมากพร้อมรองรับ จากข้อมูลวันที่ 1 ต.ค. 2563 – วันที่ 4 พ.ย. 2563 มีนายจ้าง/สถานประกอบการ เข้าร่วมโครงการ 4,414 ราย อัตรา ตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร 82,767 อัตรา

แยกตามวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี 43,973 อัตรา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 10,125 อัตรา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 8,585 อัตรา มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) 19,993 อัตรา และอนุปริญญา 91 อัตรา

มีผู้จบการศึกษาใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 53,650 คน แยกตามวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี 46,044 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 4,261 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1,177 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) 1,639 คน และอนุปริญญา 529 คน ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 2,156 คน

นายสุชาติ กล่าวว่ากระทรวงแรงงานมุ่งหวังส่งเสริมการจ้างงานคนรุ่นใหม่ และผู้ไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีงานทำ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) ซึ่งที่ผ่านมามีนายจ้าง/สถานประกอบการ และนักศึกษาจบใหม่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้

กระทรวงแรงงานได้เพิ่มช่องทางสมัครร่วมโครงการฯ ผ่านทางโมบายแอปพลิเคชันจ้างงานเด็กจบใหม่ อีกหนึ่งช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจเข้าร่วม อีกทั้งยังมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1- 10 สังกัดกรมการจัดหางาน เร่งติดตามความคืบหน้า

รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางและวิธีการร่วมโครงการฯที่ถูกต้อง แก่นายจ้าง/สถานประกอบการและผู้จบการศึกษาใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไข ให้สามารถเข้าร่วมโครงการฯโดยเร็วที่สุด

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนประจำเดือน ต.ค. 2563 ครั้งที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 3,178,163.81 บาท ให้แก่ลูกจ้างตามโครงการฯ ทั้งสิ้น 526 ราย แบ่งตามภูมิภาคดังนี้ ภาคกลาง 281 ราย ภาคเหนือ 69 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 67 ราย ภาคใต้ 59 ราย ภาคตะวันออก 27 ราย และภาคตะวันตก 23 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ย. 2563)

และจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนของเดือน ต.ค. 2563 ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากลูกจ้างท่านใดยังไม่รับเงินให้แจ้งมาที่กรมการจัดหางานได้ พร้อมแนะนำ ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการศึกษาขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านคลิปวีดีโอ หรืออ่านคู่มือสำหรับผู้ประกอบการและผู้จบการศึกษาใหม่ก่อนเริ่มลงทะเบียน ซึ่งมีวิธีใช้งานระบบและเอกสารที่ต้องใช้เพื่อเข้าร่วมโครงการแจ้งไว้อย่างละเอียด บนหน้าเว็บไซต์ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com และโมบายแอปพลิเคชัน จ้างงานเด็กจบใหม่

“เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานพิจารณาคุณสมบัติเพื่ออนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ ตามเอกสารที่แจ้งไว้ หากเอกสารครบถ้วนถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะสามารถอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการได้ทันที เช่น เอกสารในส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการควรเห็นเลขนิติบุคคล ชื่อและลายเซ็นต์ผู้มีอำนาจลงนามชัดเจน ในส่วนนักศึกษาจบใหม่เอกสารใบรายงานผลการศึกษา (Transcript) ต้องเห็นวุฒิการศึกษาและวันที่จบการศึกษาชัดเจน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ที่ต้องการขอคำแนะนำเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย ตลอดจนต้องการตรวจสอบความคืบหน้าการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ระบุเป็นสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วต้องการความช่วยเหลือเรื่องการรับ-จ่ายเงินค่าจ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/11/2563

พนักงานแห่แจ้งความบริษัทไม่จ่ายเงินเดือน ปิดสำนักงานหนี แถมเป็นหนี้

4 พ.ย. 2563 ร.ต.อ.ศักดิ์ดา ตะหริ รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองตรัง ได้รับแจ้งจาก น.ส.ฤกษ์วดี ประเสริฐ อายุ 28 ปี พร้อมด้วยพนักงานจำนวน 25 ราย ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทรับส่งพัสดุทั่วไทยแห่งหนึ่ง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 24/3-4 หมู่ 2 ต.บ้านคลอง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก หลังจากมีการเปิดสาขาและรับพนักงานเข้าทำงานที่ จ.ตรัง ได้เพียงแค่ 1 เดือน แต่กลับไม่จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทั่วประเทศ และไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้

น.ส.ฤกษ์วดี กล่าวว่า วันนี้มาแจ้งความคดีฉ้อโกง ของบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ซึ่งพนักงานทุกคนได้เข้ามาทำงาน แต่ทางบริษัทไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ตนได้เข้ามาสมัครงานหลังจากมีพี่ที่รู้จักแนะนำให้เข้ามาทำงาน ตนได้เข้ามาในตำแหน่งเกี่ยวกับการประสานงาน โดยทางบริษัทได้เปิดรับสมัครงานใน จ.ตรัง จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.พังงา โดยที่มีข้อตกลงให้ค่าจ้างค่าต่ำ 315 บาท ปรากฏว่าทางพนักงานกลับไม่ได้รับเงินเดือนในส่วนนี้ และยังมีเงินสำรองจ่ายค่าน้ำมันก็ไม่ได้ ทั้งยังต้องเสียเงินค่าเงินประกัน GPS ค่าติดสติ๊กเกอร์รถรวมเป็นเงิน 15,500 บาท ซึ่งทางพนักงานได้โอนเงินผ่านบัญชีของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และเริ่มงานในวันที่ 1 ต.ค. มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อย

น.ส.ฤกษ์วดี กล่าวต่อว่า โดยมีข้อตกลงว่าจะได้รับเงินเดือนๆละ 23,000 บาท ทุกกรณี ไม่จำกัดจำนวนขนส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าทุกครั้งที่มีการประชุมผ่านการโทรกลุ่มไลน์บริษัท ทางเจ้าของบริษัทไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ทางพนักงานก็ไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของบริษัท สำหรับจ.ตรังมีผู้เสียหาย 25 ราย รวมค่าเสียหายกว่า 300,000 บาท ก่อนจะมีการปิดทำการ และไม่มีการแจ้งข่าวล่วงหน้าให้กับพนักงาน ทุกคนได้รับความเดือดร้อนกันหมดในหลายจังหวัด อยากฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดช่วยเรียกร้องสิทธิตรงนี้ให้

ขณะที่ นายพาทิศ ยุเด็น อายุ 26 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้น ว่า มีการเปิดรับสมัครของบริษัทแห่งหนึ่ง ตนจึงได้เข้าสมัคร และได้มีการนำโฉนดที่ดินไปจำนองเราคา 50,000 บาท เพื่อนำเงินมาซื้อรถมือสองราคา 300,000 บาท ซึ่งต้องผ่อนทุกเดือนแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ตนก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีเงินผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหลายบาท ได้รับความลำบากมากมีภาระต้องดูแลครอบครัวเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว อยากให้ตำรวจรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด หลายคนเดือดร้อน ก็รู้สึกคับแค้นใจมาก

ที่มา: เดลีนิวส์, 4/11/2563

นศ.สังคมสงเคราะห์ มธ.ร้อง กมธ.แรงงาน คุ้มครองสิทธิ์ ปมแชทหลุดไม่รับนักศึกษาเห็นต่างการเมืองฝึกงาน ลั่นละเมิดสิทธิมนุษยชนในการแสดงออกทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่รัฐสภา นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยนายรชต เอี่ยมตระบุตร พร้อมด้นายพีรกิตติ์ ศรีกุล และน.ส.มาณีรัตน์ จันเทพา เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้คุ้มครองสิทธินักศึกษาฝึกงานไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ จากทัศนคติทางการเมือง หลังเกิดข้อความแชทไลน์ของคณบดีสายสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในลักษณะ จะเกิดการเลือกปฏิบัติไม่พิจารณารับนักศึกษาฝึกงานด้วยเงื่อนไขความเห็นต่างทางการเมือง

ทำให้นักศึกษาหลายคนกังวล ว่าจะถูกเลือกปฏิบัติจากองค์กรและมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองดูแลนักศึกษาฝึกงาน ทำให้เกิดการละเมิดนักศึกษาฝึกงาน รวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนในการแสดงออกทางการเมือง

นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษา ยังขอทวงถามเรื่องการเร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากนักศึกษาฝึกงานปัจจุบันไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการ ทำงานและถูกจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อนักศึกษาฝึกงาน

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.แรงงานกล่าวว่า เตรียมบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมกมธ.ฯในสัปดาห์หน้า โดยจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณบดีสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทลาลัยธรรมศาสตร์ และรุ่นพี่นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นที่ถูกอ้างถึง มาชี้แจงต่อ กมธ.

ที่มา: ข่าวสด, 4/11/2563

สหภาพฯ การบินไทย ขอให้ช่วยพนักงานได้สิทธิ สมัครใจลาออก

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมต่อพนักงานที่เข้าโครงการ “ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร” ตามประกาศของบริษัท จำนวนเกือบ 5,000 คน เนื่องจากไม่นำระเบียบบริษัท ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล กรณีการเกษียณอายุก่อนกำหนดมาปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อการได้รับสิทธิ์เงินชดเชยที่พิจารณาตามอายุงาน พร้อมขอให้ช่วยเหลือพนักงานจำนวน 1,600 คน ให้ได้สิทธิ์ครอบครองเงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีกว่า 3,600 ล้านบาท ตามระเบียบบริษัท ก่อนสิ้นสุดวันสุดท้ายของปี และโอนชื่อพนักงานในกองทุนดังกล่าว ไปเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 สัปดาห์ ก่อนที่คณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ ต้องเสนอแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย แก่ศาลล้มละลายกลาง ตัวแทนสหภาพฯ มีข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาดำเนินการรวมกิจการ หรือ ปิดบริษัทไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย หลังขาดทุนสะสมต่อเนื่อง รวมกว่า 8,000 ล้านบาทด้วย รวมถึงอยากให้มีการเปลี่ยนรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ เนื่องจากควรมีผู้บริหารที่มีความสามารถและธรรมาภิบาลมากกว่าปัจจุบันในการคุ้มครองประโยชน์พนักงาน ในช่วงวิกฤติการบินไทย

ที่มา: ช่อง 7, 3/11/2563

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รับรางวัล ‘บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย’ สองปีซ้อน

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รับรางวัล ‘บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย’ โดย เอชอาร์ เอเชีย ติดต่อกันเป็นเวลาสองปี จากความมุ่งมั่นในการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล ด้วยการสนับสนุนกรอบแนวคิดแบบ growth mindset และการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องขององค์กร

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผมรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ไมโครซอฟท์ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นเวลาสองปีแล้ว ผมขอขอบคุณ เอชอาร์ เอเชียสำหรับรางวัลในครั้งนี้ เมื่อพูดถึงพนักงานของเรา เราเชื่อว่าทุกคนและทุกความคิดมีความหมาย เราได้เรียนรู้จากคนในองค์กรกับแนวคิดแบบ growth mindset โดยผ่านแนวคิดน้ำครึ่งแก้วเพื่อให้พนักงานพร้อมเปิดรับความรู้และมุมมองใหม่ สนับสนุนให้พนักงานกล้าที่จะคิดนอกกรอบ และมองหาโอกาสในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทีมงานของเรามีความสามารถด้านการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี จนกลายมาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของพนักงานที่มีความสามารถของเราในปัจจุบัน"

"เราสนับสนุนให้พนักงานของเราเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงส่งเสริมให้พวกเขามองโลกในแง่บวก ที่สำคัญไปกว่านั้น เราเคารพทุกความคิดเห็นและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ปฏิบัติตัวโดยยึดถือหลักคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงาน และรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของเรา นอกจากนี้เราเชื่อว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือค่านิยมที่เรายึดถืออย่างยาวนาน ซึ่งช่วยให้เราสามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรของเราเอาไว้ภายใต้เป้าหมายร่วมกันของพนักงานทุกคน ในฐานะตัวแทนของฝ่ายบริหาร ผมขอขอบคุณทีมงานในประเทศไทยทุกคนที่ลงมือทำตามความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาในการพัฒนาองค์กรของเราให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการเหล่านี้”

ด้าน ดาววัน โรจนพฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ที่ไมโครซอฟ เรามุ่งมั่นในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม นั่นหมายถึงการยอมรับความแตกต่างและหลากหลายสามารถเกิดขึ้นได้จริง ด้วยการสนับสนุนพนักงานจากหลากหลายที่มาและประสบการณ์ที่แตกต่างกันให้สามารถมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานและส่วนตัว"

"เราเชื่อมั่นว่าความคิดที่หลากหลายเป็นพลังสำคัญที่พลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่พันธกิจของเราเองก็ยังส่งเสริมการอยู่ร่วมกันที่เปิดกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ด้วยความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ทุกคนและทุกองค์ในโลกใบนี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เราคาดหวังให้พนักงานทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับหรือหน่วยงานใดก็ตาม มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ที่มาจากที่ต่างกันพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด นอกจากนี้ เรายังรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นพนักงานของเราเปิดรับมุมมองที่แตกต่างและดึงจุดแข็งของแต่ละคนมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น”

รางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย โดย เอชอาร์ เอเชีย มีที่มาจากผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานภายในองค์กรโดยใช้เกณฑ์การตัดสินด้วยโมเดลการประเมินการมีส่วนร่วมโดยรวม หรือ Total Engagement Assessment Model (TEAM) ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน 3 ประการ ได้แก่ 1. องค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Collective Organization for Real Engagement: CORE) ซึ่งประกอบด้วยการประเมินด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม ความเป็นผู้นำและองค์กร และความคิดริเริ่มที่มีการดำเนินงานอยู่ 2. การมีส่วนร่วมระดับบุคคล (Self: Heart, Mind & Soul) ประกอบด้วยการประเมินการมีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์ ความตั้งใจและแรงจูงใจ และพฤติกรรมและการสนับสนุน และ 3. การมีส่วนร่วมระดับกลุ่ม (Group: Think, Feel & Do) ประกอบด้วยการประเมินการตระหนักรู้ร่วมกัน สภาพอารมณ์ภายในสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมและการทำงานร่วมกันของที

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/11/2563

เปิดรับสมัครแรงงานภาคเกษตรในอิสราเอล ภายใต้โครงการ 'ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน' (TIC) 23-27 พ.ย. 2563 นี้

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ย. 2563 นี้กรมการจัดหางานจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกคนหางานเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ครั้งที่ 15 ตำแหน่งคนงานภาคเกษตร ซึ่งจะมีระยะเวลาการจ้างงาน 2 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการต่ออายุใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงาน ตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐอิสราเอล โดยคนหางานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 48,073 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) คุณสมบัติ มีสัญชาติไทย เพศชายที่พ้นภาระการรับราชการทหาร เกิดระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2524 – 27 พ.ย. 2540 ไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือบิดาและมารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล และไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล สุขภาพแข็งแรง ตาไม่บอดสี ไม่เสพสารเสพติด และต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร

หลักฐานที่ใช้ในการสมัครได้แก่ ใบสมัครที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว รูปถ่ายสีครึ่งตัวพื้นหลังสีฟ้า ขนาด 2 นิ้ว โดยถ่ายครั้งเดียวกันและถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา สำเนาสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ ท.ร.1/ก หรือหลักฐานแสดงผลการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.05) สำเนาใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล(ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของภรรยา สำเนาเอกสารแสดงสถานภาพการสมรสทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หรือใบสำคัญการหย่า สำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยเอกสารทั้งหมดถ่ายสำเนา อย่างละ 2 ชุด และให้ผู้สมัครลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาหลักฐานทุกฉบับ ผู้สนใจติดต่อขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ได้ตั้งแต่วันที่ 23-27 พ.ย. 2563 เวลา 08.30 –16.30 น.

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล เป็นจำนวนเงินประมาณ 55,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ไดแก่ 1.ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปยังอิสราเอล ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด เป็นต้น และ 2.ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงตามกฎหมายแห่งรัฐอิสราเอล จำนวนประมาณ 27,900 บาท

ทั้งนี้ หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ แต่ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 0-2245-0978 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือ เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 2/11/2563

นักวิจัยชี้คนไทยลงทุนเพื่อการเกษียณน้อย แนะรัฐส่งเสริมความรู้การลงทุนระยะยาว

ผศ.ดร. อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณทรงวุฒิ บุรงค์ จากกรมสรรพากร วิเคราะห์ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยฉายภาพการออมและการลงทุนของคนไทยผ่านระบบภาษี เปรียบเทียบนโยบายภาษีในด้านการออมเพื่อการเกษียณของไทยและต่างประเทศ และอธิบายผลกระทบของแรงจูงใจภาษีต่อพฤติกรรมการลงทุนระยะยาว ซึ่งบทความนี้มุ่งศึกษาสิทธิประโยชน์ภาษีในด้านการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของคนไทย และมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

1. ในภาพรวม ผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการออมและการลงทุนค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจาก 52% ในปี 2007 เป็น 63% ในปี 2018 และอัตราการออมผ่านระบบภาษีอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ในปี 2018 เพิ่มขึ้น 32% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา


2. อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่ากังวลคือ คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยมีการลงทุนระยะยาวน้อยมาก โดยสัดส่วนของผู้มีการลงทุนระยะยาวผ่านระบบภาษี (LTF RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) อยู่ที่ประมาณ 20%-30% เท่านั้นของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวต่างจากของผู้มีรายได้สูงราว 70% อย่างชัดเจน (รูปประกอบ) โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือในกลุ่มรายได้ปานกลาง ประมาณ 20-30% ของผู้เสียภาษีเลือกที่จะมีการลดหย่อนภาษีเพื่อการประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่าคนรายได้ปานกลางมีการออมเงิน แต่อาจจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณไม่มากนัก

3. แรงจูงใจภาษีสำคัญมากสำหรับการตัดสินใจลงทุนของผู้ที่มีรายได้ปานกลาง โดยการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษีนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนระยะยาวของคนไทย แต่ความสำคัญสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางมีขนาดใหญ่กว่าของผู้ที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษีจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีสัดส่วนการลงทุนต่อรายได้ไม่สูงนัก

4. แรงจูงใจภาษีมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจลงทุนในกลุ่มผู้มีความรู้ทางการเงินต่ำ (Financial literacy) ทั้งในมิติของความซับซ้อนทางการเงิน (Financial sophistication) และวินัยทางการเงิน (Financial discipline) ผลการศึกษานี้ชี้ถึงศักยภาพของเครื่องมือภาษีในการกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงในแง่ของการเตรียมความพร้อมทางการเงินหลังเกษียณ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อธิภัทร กล่าวสรุปว่าผลการศึกษานี้มีนัยต่อการวางนโยบายของรัฐ 2 ประการ ดังนี้

1. การส่งเสริมความรู้ทางการเงินต้องครอบคลุมถึงความเข้าใจทางเลือกการออมและการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท งานศึกษาชี้ว่ามีเพียง 20%-30% เท่านั้นของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลางที่มีการลงทุนระยะยาว ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่การวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ควรจะทำให้คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการออมและการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะสอดคล้องต่อเป้าหมายทางการเงินหลังเกษียณของตนเองได้

2. ผลการศึกษาสนับสนุนนโยบายการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในปี 2563 แต่รัฐจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนและประสิทธิผลของมาตรการต่อไป งานวิจัยชี้ถึงบทบาทที่สำคัญของแรงจูงใจภาษีในกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อจำกัดทางสภาพคล่อง (Liquidity constraint) ของคนกลุ่มนี้ ข้อค้นพบนี้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปี 2563 ที่ได้ขยายโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย จำกัดวงเงินการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับคนรายได้สูง และผ่อนคลายเงื่อนไขเกณฑ์ลงทุนขั้นต่ำสำหรับ RMF อย่างไรก็ตามรัฐจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยว่าเปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้นโยบายใหม่นี้ รวมถึงศึกษาประสิทธิผลของมาตรการภาษี เพื่อให้นโยบายภาษีตอบโจทย์ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความยั่งยืนทางการคลัง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 1/11/2563

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net